คำปราศรัยของปรีชาญาณa

8 1ปรีชาญาณร้องเชิญให้ฟัง

ความเข้าใจเปล่งเสียงเรียก

2ปรีชาญาณยืนอยู่บนที่สูงตามถนน

อยู่ตามสี่แยก

3ข้างประตูหน้าเมือง

ที่ปากทางเข้า ปรีชาญาณร้องเสียงดังว่าb

4“ชายทั้งหลายเอ๋ย ดิฉันเรียกท่าน

เสียงเรียกของดิฉันมุ่งถึงมนุษย์ทุกคน

5คนขาดสติเอ๋ย จงเรียนรู้ให้มีไหวพริบเถิด

คนโง่เอ๋ย จงหาความเข้าใจเถิดc

6จงฟังเถิด ดิฉันจะพูดถึงเรื่องสำคัญ

ริมฝีปากของดิฉันจะกล่าวถึงความถูกต้อง

7เพราะปากของดิฉันพูดความจริง

ริมฝีปากของดิฉันเกลียดความชั่ว

8ถ้อยคำทั้งหลายจากปากของดิฉันนั้นถูกต้อง

ไม่มีคำใดไม่ตรงหรือมุ่งร้าย

9คำทั้งหลายของดิฉันตรงสำหรับผู้ที่เข้าใจ

ถูกต้องสำหรับผู้ที่มีความรู้

10จงรับคำสั่งสอนของดิฉันแทนที่จะรับเงิน

จงรับความรู้แทนที่จะรับทองคำบริสุทธิ์

11เพราะปรีชาญาณมีค่ามากกว่าไข่มุก

ไม่มีสิ่งใดน่าปรารถนาเท่ากับปรีชาญาณ”

 

ปรีชาญาณยกย่องตนเอง แนะนำบรรดากษัตริย์

12“ดิฉันคือปรีชาญาณ พำนักอยู่กับความรอบคอบ

ดิฉันพบความรู้และความรู้จักคิด

13ความยำเกรงพระยาห์เวห์คือการเกลียดชังความชั่วร้าย

ดิฉันเกลียดความเย่อหยิ่งและความจองหอง

เกลียดความประพฤติชั่วร้ายและวาจาตลบตะแลง

14ดิฉันมีคำแนะนำและสามัญสำนึก

ดิฉันมีความเข้าใจและมีพลัง

15อาศัยดิฉัน บรรดากษัตริย์ทรงครองราชย์

และผู้ปกครองออกกฎหมายที่ยุติธรรม

16อาศัยดิฉัน บรรดาเจ้านายปกครอง

รวมทั้งบรรดาหัวหน้าและผู้พิพากษาของแผ่นดินd

17ดิฉันรักผู้ที่รักดิฉัน

ผู้ที่แสวงหาก็จะพบดิฉัน

18ความร่ำรวยและเกียรติยศอยู่กับดิฉัน

รวมทั้งความมั่งคั่งถาวรและความรุ่งเรือง

19ผลของดิฉันดีกว่าทองคำ แม้ทองนพคุณด้วย

ผลกำไรของดิฉันดีกว่าเงินบริสุทธิ์

20ดิฉันเดินในหนทางแห่งความชอบธรรม

ในวิถีทางแห่งความยุติธรรม

21เพื่อให้ทรัพย์สมบัติแก่ผู้ที่รักดิฉัน

ทำให้คลังสมบัติของเขาเต็มเปี่ยม”

 

ปรีชาญาณร่วมเนรมิตสร้างจักรวาลกับพระเจ้าe

            22“พระยาห์เวห์ทรงสร้างดิฉันตั้งแต่แรก ก่อนสร้างสิ่งใดๆf

ดิฉันเป็นผลแรกในบรรดาพระราชกิจดั้งเดิมของพระองค์

23ดิฉันได้รับการสถาปนาไว้ตั้งแต่นิรันดรg

ตั้งแต่แรกเริ่ม ก่อนที่แผ่นดินจะมีขึ้น

24ดิฉันถือกำเนิดมาเมื่อยังไม่มีมหาสมุทรh

เมื่อยังไม่มีพุน้ำที่มีน้ำมากมาย

25ดิฉันถือกำเนิดมาแล้วก่อนที่ฐานของภูเขาจะถูกวาง

และก่อนเนินเขาทั้งหลาย

26ก่อนที่พระเจ้าทรงสร้างแผ่นดินและท้องทุ่ง

ก่อนทรงสร้างผงคลีแรกของโลก

27เมื่อทรงจัดวางท้องฟ้า ดิฉันก็อยู่ที่นั่นแล้ว

เมื่อทรงลากเส้นรอบวงบนพื้นผิวมหาสมุทร

28เมื่อทรงรวบรวมเมฆเบื้องบนให้อยู่ด้วยกัน

เมื่อทรงบันดาลให้น้ำพุขึ้นจากขุมลึกของมหาสมุทร

29เมื่อทรงกำหนดเขตจำกัดให้แก่ทะเล

เพื่อน้ำจะไม่ล่วงล้ำเลยเขตที่ทรงกำหนดไว้

เมื่อพระองค์ทรงวางรากฐานของแผ่นดิน

30เวลานั้นดิฉันอยู่เคียงข้างพระองค์เหมือนนายช่างi

ทำให้พระองค์ทรงยินดีทุกวัน

ดิฉันชื่นชมเฉพาะพระพักตร์พระองค์ทุกเวลา

31ร่าเริงอยู่ทั่วแผ่นดินที่มีคนอาศัย

ปีติยินดีที่จะอยู่กับมวลมนุษย์”

 

ผู้เชื่อฟังปรีชาญาณย่อมเป็นสุข

            32“ลูกทั้งหลายเอ๋ย บัดนี้จงฟังดิฉันเถิด

ผู้ที่เดินตามหนทางของดิฉันย่อมเป็นสุข

33จงฟังคำสั่งสอน และจงฉลาด

อย่าละเลยคำสั่งสอนนี้

34ผู้ใดฟังดิฉันย่อมเป็นสุข

คือผู้ที่เฝ้าอยู่ที่ประตูทุกวัน

และรอคอยจะเข้าประตูบ้านของดิฉัน

35เพราะผู้ใดพบดิฉัน ผู้นั้นก็พบชีวิต

และได้รับความโปรดปรานจากพระยาห์เวห์

36แต่ผู้ทำบาปผิดต่อดิฉันก็ทำร้ายตนเอง

ผู้ที่เกลียดดิฉันก็รักความตาย”

 

8 a บทที่ 8-9 เป็นยอดคำสอนเกี่ยวกับปรีชาญาณในหนังสือสุภาษิต (ดู 8:22 เชิงอรรถ e) คำสอนเรื่องนี้จะพัฒนาขึ้นในสมัยต่อมาใน บสร 1:1-20; 24; ปชญ 6-9 (ดู โยบ 28 ด้วย)

b “ร้องเสียงดัง” คงจะเหมือนกับพ่อค้าเร่ร้องตะโกนกล่าวถึงคุณภาพของสินค้าที่ตนนำมาเสนอขาย เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ

c “ความเข้าใจ” แปลตามตัวอักษรว่า “เข้าใจหัวใจ”

d “ผู้พิพากษาของแผ่นดิน” แปลตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูไม่มีคำว่า “ของแผ่นดิน” บางคนเสนอแนะให้อ่านข้อ 17 ก่อนข้อ 15 เพราะคิดว่าเรียงลำดับความคิดได้ดีกว่า

e ความคิดที่ว่าปรีชาญาณมีบุคลิกเฉพาะของตนเป็นบุคคลหนึ่ง (ซึ่งใน สภษ 14:1 เป็นเพียงสำนวนพูดทางวรรณกรรม) ได้รับการพัฒนาขึ้นในสมัยหลังกลับจากการเนรเทศที่กรุงบาบิโลน ในเวลานั้นลัทธิพหุเทวนิยม (Polytheism) ไม่เป็นการคุกคามต่อศาสนาเที่ยงแท้ที่เชื่อในพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว (Monotheism) อีกต่อไปแล้ว โยบ 28 และ บรค 3:9–4:4 กล่าวถึงปรีชาญาณว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากพระเจ้าหรือมนุษย์ เป็นสิ่งน่าปรารถนาในตัวเอง สภษ 1:20-23; 3:16-19; และ 8-9 กล่าวถึงปรีชาญาณเป็นเสมือนบุคคลหนึ่ง ที่ตรงนี้ ปรีชาญาณเองเปิดเผยต้นกำเนิดของตนว่าถูกสร้างขึ้นก่อนสิ่งสร้างทั้งมวล (ข้อ 22-26) กล่าวว่าตนมีบทบาทร่วมกับพระเจ้าในการเนรมิตสร้าง (ข้อ 27-30) และมีบทบาทในการนำมนุษย์มาพบพระเจ้า (ข้อ 35-36) คำสอนเรื่องนี้จะได้รับการพัฒนาต่อไปในหนังสือบุตรสิรา (บสร 1:1-10) ชวนให้เราคิดถึง โยบ 28 แต่ บสร 4:11-19; 14:20–15:10 และโดยเฉพาะ 24:1-29 (ดู บสร 24:1 เชิงอรรถ a) เป็นคำสอนในแนวเดียวกันกับ สภษ 8 นี้ ข้อความเหล่านี้กล่าวถึงปรีชาญาณเป็นเสมือนบุคคลหนึ่ง เหมือนกับพระวจนาตถ์หรือพระจิตเจ้า จึงเป็นการยากที่จะแยกแยะว่าข้อความส่วนไหนเป็นเพียงเทคนิคของคำประพันธ์ ส่วนไหนเป็นความคิดทางศาสนาแบบดั้งเดิม และส่วนไหนเป็นความเข้าใจถึงความจริงใหม่ที่เพิ่งได้รับการเปิดเผยจากพระเจ้า ในที่สุด ปชญ 7:22–8:1 ให้ความรู้สึกแก่เราว่าปรีชาญาณเป็น “การไหลล้นของพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า” มีส่วนร่วมในพระธรรมชาติของพระเจ้า แม้ว่าถ้อยคำแบบนามธรรมที่ใช้นี้อาจใช้ได้เช่นเดียวกันกับคุณลักษณะของพระเจ้าในฐานะที่เป็น “บุคคล” ที่แยกออกมาต่างหากด้วย คำสอนเกี่ยวกับปรีชาญาณซึ่งมีกล่าวถึงเป็นแนวทางเช่นนี้ในพันธสัญญาเดิมจะได้รับการกล่าวถึงอีกในพันธสัญญาใหม่ และจะได้รับความสมบูรณ์ใหม่แท้จริงโดยนำความคิดนี้มาใช้กับพระบุคคลของพระคริสตเจ้า พันธสัญญาใหม่กล่าวถึงพระเยซูเจ้าว่าทรงเป็น “พระปรีชาญาณ” ในพระองค์เอง ทรงเป็น “พระปรีชาญาณ” ของพระเจ้า (มธ 11:19//; ลก 11:49 เทียบ มธ 23:34-36; 1 คร 1:24-30) เช่นเดียวกับ “พระปรีชาญาณ” พระคริสตเจ้าทรงมีส่วนร่วมกับพระเจ้าในการเนรมิตสร้างและบำรุงรักษาโลกจักรวาล (คส 1:16-17) และในการปกป้องชนชาติอิสราเอล (1 คร 10:4 เทียบ ปชญ 10:17ฯ) ในที่สุด ในอารัมภบทของพระวรสารฉบับที่สี่ นักบุญยอห์นนำคุณสมบัติของปรีชาญาณที่มีส่วนร่วมในการเนรมิตสร้างจักรวาลมาใช้กับ “พระวจนาตถ์” และตลอดพระวรสารฉบับนี้ก็กล่าวถึงพระคริสตเจ้าว่าทรงเป็น “พระปรีชาญาณ” ของพระเจ้า (ดู ยน 6:35 เชิงอรรถ k) เพราะฉะนั้น ธรรมประเพณีของคริสตชนนับตั้งแต่นักบุญจัสตินเป็นต้นมาจึงเห็นพระบุคคลของพระคริสตเจ้าใน “ปรีชาญาณ” ของพันธสัญญาเดิม

f “ทรงสร้างดิฉัน” สำนวนแปลโบราณภาษากรีก ซีเรียค และอาราเมอิก (Targum) แปลกริยาภาษาฮีบรู (qanani) ว่า “ทรงสร้างดิฉัน” (เทียบ บสร 1:4, 9; 24:8, 9) ส่วนคำแปลว่า “ได้ดิฉันมา” หรือ “เป็นเจ้าของของดิฉัน” (ตามสำนวนแปลโบราณของ Aquila, Symmachus และ Theodotion) นั้นเป็นคำแปลที่นักบุญเยโรมรับมาไว้ในสำนวนแปลภาษาละติน (Vg) การใช้คำแปลเช่นนี้อาจมีเจตนาเพื่อหลีกเลี่ยงคำสอนผิดของ Arius ที่สอนว่า “พระวจนาตถ์” หรือ “พระปรีชาญาณ” ทรงเป็นสิ่งสร้างจากพระเจ้า สำนวน “ตั้งแต่แรกก่อนสิ่งสร้างใดๆ” (ตามตัวอักษรว่า “ผลิตผลแรกของวิถีทางของพระองค์”) มีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่ง “บุคคลแรกในบรรดาสิ่งสร้างทั้งปวง” (คส 1:15) และกับตำแหน่ง “ปฐมเหตุของทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง” (วว 3:14)

g “ได้รับการสถาปนาไว้” คำกริยาภาษาฮีบรู (nasak) คำนี้มีความหมายหลายอย่าง บางคนแปลว่า “ได้รับเจิม” บางคนแปลว่า “ถูกเท” บางคนยังแปลอีกว่า “ดิฉันถูกซ่อน” หรือ “ถูกสงวนไว้”

h “มหาสมุทร” คือห้วงน้ำลึกใต้โลกซึ่งลอยอยู่เหนือน้ำของมหาสมุทรนี้ รวมทั้งน้ำที่อยู่เบื้องบนในท้องฟ้าด้วย (ดู ปฐก 1; โยบ 38; สดด 104)

i “นายช่าง” คำนี้ในภาษาฮีบรู ( ‘amon) ไม่สู้จะพบได้บ่อยนัก ความหมายว่า “นายช่าง” (หรือ “ผู้ควบคุมงาน”) พบได้ใน ยรม 52:15; ปชญ 7:2 ตรงกับคำแปลในภาษากรีกด้วย เรื่องการที่ปรีชาญาณร่วมงานกับพระเจ้าในการเนรมิตสร้าง (ดู ปชญ 7:22) คำแปลอีกแบบหนึ่ง (โดยเปลี่ยนสระเล็กน้อย) มีความหมายว่า “ลูกรัก” หรือ “ศิษย์ผู้ซื่อสัตย์” ของพระผู้สร้าง