หนังสือปัญญาจารย์

 

1 1ถ้อยคำของปัญญาจารย์a พระโอรสของดาวิด กษัตริย์ที่กรุงเยรูซาเล็มb

ภาคที่หนึ่ง

 

อารัมภบทc

            2ปัญญาจารย์พูดว่า

ไม่เที่ยงแท้dที่สุด

ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงแท้

3มีประโยชน์อะไรที่มนุษย์ทำงาน

ลำบากตรากตรำeอยู่กลางแดด

4ชั่วอายุคนรุ่นหนึ่งล่วงไป อีกรุ่นหนึ่งก็มา

แต่แผ่นดินยังคงอยู่เหมือนเดิมเสมอ

5ดวงอาทิตย์ขึ้น ดวงอาทิตย์ตก

แล้วรีบไปยังที่ซึ่งจะขึ้นมาอีก

6ลมพัดไปทางใต้

แล้วพัดกลับมาทางเหนือ

ลมพัดหมุนเวียนไปมา

พัดกลับมาและหมุนเวียนอยู่เช่นนั้น

7แม่น้ำทั้งหลายไหลลงสู่ทะเล แต่ทะเลก็ไม่เคยเต็มเลย

แม่น้ำยังไหลต่อไปจากต้นน้ำ

8ทุกสิ่งน่าเบื่อหน่าย

ไม่มีผู้ใดอธิบายเหตุผลได้

นัยน์ตาดูไม่อิ่ม

หูก็ฟังไม่พอf

9สิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วก็จะเกิดขึ้นอีก

สิ่งที่เคยทำแล้วก็จะทำอีก

ไม่มีสิ่งใดใหม่ภายใต้ดวงอาทิตย์

10มีสิ่งใดบ้างที่จะพูดได้ว่า “ดูซิ สิ่งนี้ใหม่”

สิ่งนั้นเคยมีอยู่นานมาแล้วก่อนที่เราจะเกิด

11ไม่มีใครจดจำสิ่งต่างๆ ในอดีต

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะถูกลืมจากผู้ที่จะมาในภายหลังด้วย

 

ประสบการณ์ของปัญญาจารย์g

          12ข้าพเจ้า ปัญญาจารย์ เคยเป็นกษัตริย์ปกครองอิสราเอลที่กรุงเยรูซาเล็ม 13ข้าพเจ้าตั้งใจใช้ปรีชาญาณค้นคว้าและแสวงหาทุกสิ่งที่ทำกันภายใต้ท้องฟ้า นี่เป็นงานยากลำบากhที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์มีงานทำ 14ข้าพเจ้าเคยเห็นทุกสิ่งที่เขาทำกันภายใต้ดวงอาทิตย์ ดูเถิด ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยงแท้ เป็นการวิ่งไล่ตามลมi

          15สิ่งใดคดจะทำให้ตรงไม่ได้

                   สิ่งใดขาดไปก็นับไม่ได้

16ข้าพเจ้าคิดในใจว่า “ดูซิ ข้าพเจ้าได้มาและเพิ่มพูนปรีชาญาณมากกว่าผู้ใดที่เคยปกครองกรุงเยรูซาเล็มก่อนข้าพเจ้า ใจข้าพเจ้ามีประสบการณ์มากในปรีชาญาณและศาสตร์ต่างๆ” 17ข้าพเจ้าตั้งใจจะรู้ปรีชาญาณและศาสตร์ รู้ความบ้าj และความโง่เขลา แล้วข้าพเจ้าก็รู้ว่านี่ก็เป็นการวิ่งไล่ตามลมด้วย

          18เพราะมีปรีชาญาณมาก ก็มีความทุกข์มาก

                   ผู้ที่เพิ่มความรู้ก็เพิ่มความเศร้าโศกด้วย

 

1 a “ปัญญาจารย์” ชื่อภาษาฮีบรูว่า “Qoheleth” (= ผู้มีหน้าที่ดูแลการชุมนุม [ฮบ: qahal]) ตรงกับภาษากรีกว่า “Ecclesiastes” (ekklesia = การชุมนุม) น่าจะหมายถึงผู้เป็นประธานการชุมนุม หรือผู้พูดแทนที่ประชุม (ซึ่งหมายถึง “ประชาชน”) ที่รู้สึกระอาต่อคำสอนที่เคยสอนต่อๆ กันมา บัดนี้จึงเชิญชวนให้ประชาชนฟังคำสอนของตน

b “กษัตริย์ที่กรุงเยรูซาเล็ม” เป็นการสมมติทางวรรณกรรมที่อ้างว่าผู้แต่งคือกษัตริย์ซาโลมอน แบบฉบับของผู้มีปรีชาทั้งหลาย (1 พกษ 5:9-14)

c กฎตายตัวที่กำหนดไว้แล้วของจักรวาลเป็นกรอบสำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์ ชวนให้ปัญญาจารย์เบื่อหน่ายต่อสิ่งต่างๆ ในโลกต่างจากโยบ (โยบ บทที่ 38-40) และผู้ประพันธ์เพลงสดุดีที่ 104 ซึ่งรู้สึกพิศวงและให้ความเคารพต่อสิ่งสร้างต่างๆ

d “ไม่เที่ยงแท้” คำภาษาฮีบรู (hebel) ที่เราแปลว่า “ไม่เที่ยงแท้” เป็นคำที่หมายความว่า “หมอก” “ไอน้ำ” “ลมหายใจ” ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งในกลุ่มภาพพจน์ต่างๆ (น้ำ เงา ควัน ฯลฯ) ซึ่งคำประพันธ์ภาษาฮีบรูใช้เพื่อหมายถึงความไม่แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง ความไม่จีรังยั่งยืนของธรรมชาติมนุษย์ ใน ปญจ คำนี้ไม่มีความหมายทางรูปธรรมอีกต่อไป แต่หมายถึงธรรมชาติที่ไม่จีรังยั่งยืนของสิ่งต่างๆ และดังนี้จึงทำให้มนุษย์เกิดความผิดหวังต่อทุกสิ่ง

e “ลำบากตรากตรำ” (ภาษาฮีบรูว่า ‘amal) หมายถึงงานหนักเช่นที่บรรดาทาสต้องทำ (ดู ฉธบ 26:7) ฉะนั้น จึงหมายถึง “ความยากลำบาก ความทุกข์” คำนี้พบได้บ่อยมากในหนังสือ ปญจ (20 ครั้งเป็นคำนาม 13 ครั้งเป็นคำกริยา)

f ข้อนี้ยังแปลได้อีกว่า “ทุกสิ่งน่าเบื่อหน่ายมากกว่าที่จะบรรยายได้ นัยน์ตาไม่พอใจกับสิ่งที่แลเห็นได้ หูไม่อิ่มจากสิ่งที่ได้ยิน”

g แม้กษัตริย์ซาโลมอนเอง ทั้งๆ ที่ทรงดำเนินชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อหรูหรา (1 พกษ 10:4ฯ) และทรงปรีชา ก็ยังไม่มีความสุข

h “งานยากลำบาก” (ฮบ cinyan) คำนี้พบในหนังสือปัญญาจารย์เท่านั้น (1:3; 2:26; 5:2) มีความหมายในทางลบ หมายถึงการงานที่ทำให้เหนื่อยและกังวล

i “การวิ่งไล่ตามลม” หมายความว่าเป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์ เสียเวลาเปล่าๆ

j “ความบ้า” (เทียบ 7:25; 10:13) เราแปลตามสำนวนแปลโบราณต่างๆ แปลตามตัวอักษรว่า “การกระทำโง่ๆ”