“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันอังคารที่ 5 เมษายน 2016

สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลปัสกา

กจ 4:32-37…..
32กลุ่มผู้มีความเชื่อดำเนินชีวิตเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่คิดว่าสิ่งที่ตนมีเป็นกรรมสิทธิ์ของตน แต่ทุกสิ่งเป็นของส่วนรวม
33บรรดาอัครสาวกยังคงเป็นพยานยืนยันถึงการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซู องค์พระผู้เป็นเจ้าด้วยเครื่องหมายอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ และทุกคนได้รับความเคารพนับถืออย่างสูง 34ในกลุ่มของเขาไม่มีใครขัดสน ผู้ใดมีที่ดินหรือบ้านก็ขายและมอบเงินที่ได้ 35ให้บรรดาอัครสาวก เพื่อแจกจ่ายให้ผู้มีความเชื่อแต่ละคนตามความต้องการ


36ชายคนหนึ่งชื่อโยเซฟ บรรดาอัครสาวกเรียกเขาว่า บารนาบัส ซึ่งแปลว่า บุตรแห่งการให้กำลังใจ เขาเป็นคนเผ่าเลวีชาวเกาะไซปรัส 37เขามีที่ดินแปลงหนึ่งซึ่งเขาขาย นำเงินมามอบให้บรรดาอัครสาวกด้วย

อรรถาธิบาย และไตร่ตรองประสบการณ์

• เพื่อเข้าใจพระวาจาวันนี้ ซึ่งชัดเจนในเนื้อหา เพียงพ่อขอเล่าถึงความหมายและประสบการณ์คำสอนของพระศาสนจักร อันที่จริงเป็นคำสอนของนักบุญพระสันตะปาปายอห์นปอลที่สอง ในช่วงเวลาที่ข้ามสู่พันปีที่สาม ชื่อเอกสารคือ “Novo Millennio in Eunte” ก้าวสู่สหัสวรรษใหม่ พระองค์ได้สอนเน้น เรื่อง “ชีวิตแห่งความเป็นหนี่งเดียวของคริสตชน” เพราะการได้รับพระวาจาของพระเจ้า เราต้องเจริญชีวิตจิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังเช่นพระวาจาจากกิจการอัครสาวกวันนี้ได้ยืนยัน... ก่อนอื่นเราทำความเข้าใจเรื่องนี้จากประสบการณ์กันหน่อยครับ

• “Spirituality of Communion” ชีวิตจิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียว.... หรือภาพลักษณ์ของคริสตชนที่แท้จริง “กลุ่มผู้มีความเชื่อดำเนินชีวิตเป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน”....
o หลายคนเรียกสิ่งนี้ว่า Utopia (ยูโตเปีย) หรือความฝันแห่งอนาคตที่ไม่มีความแตกแยก ไม่มีสงคราม ไม่มีรอยร้าวในชีวิตสังคมของโลกของเรา... สังคมของเรา ประเทศของเรา บ้านของเรา เมื่อจะเกิดความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกันแบบที่เรียกว่า สิงโตกับโคหนุ่มจะเดินออกหากินด้วยกัน เป็นเพื่อนกัน.. ไม่มีการทำร้ายกันหรือความแตกแยกในโลกใบนี้อีก....
o วันเวลานี้จะมาถึงเมื่อใด จนใครๆ เรียกว่า ยูโตเปีย หรือเรียกง่ายว่า “ฝันไปไกลๆ ก่อนเถอะ หรือเพ้อฝันไปเถิด...” ก็ว่าได้
o หรือบางคนอาจบอกว่า รอให้โลกแตกก่อนแล้วจะเกิดวันนั้น แบบนั้นได้...
o ครับ ฝันก็ฝันครับ... แต่ลักษณะนี้จะเกิดได้แน่นอนครับ.... ถ้าโลกใบนี้ไม่มีความ “เห็นแก่ตัว” เจ้าตัวนี้แหละครับ ร้ายกาจที่สุดแล้ว... มีแต่เห็นแก่ตัว มีแต่ผลประโยชน์ เอาแต่ได้ และสังคมกระแสก็แตกแยกทางการเมืองก็สาหัสเหลือเกิน

• “รากเหง้า” ของความชั่วร้ายและความแตกแยกนี้มาจากไหน อะไรคือรากเหง้า “Root Cause” ของปัญหาความแตกแยก
o คำตอบคือการแบ่งพวก แบ่งพรรค และความทะเลาะเบาะแว้งของสังคมโลก สังคมไทยเราก็หลายปีมาแล้ว ร้าวลึกเหลือเกิน แยกพวก แยกพรรค แยกสี ตอนนี้ก็แยกขันสีที่มีข้อความแทรกไว้แจกช่วงสงกรานต์โผล่เข้ามาอีก... อะไรกันนี่ นึกว่าจะสงบจบๆกันไปสักที แต่อำนาจ ผลประโยชน์ ไม่มีวันยอมปล่อยกันไปได้ง่ายๆเลย และ
o ที่ร้ายคือการทำร้ายกันเอง เพื่อโปรโหมดตนเอง พวกตนเอง เห็นประโยชน์คือความถูกใจมากกว่าความถูกต้อง

• ความถูกต้องกลับกลายเป็นเรื่อง “ประโยชน์” เท่านั้น....
o ชั่วก็พูดให้ดูดีได้
o เลวสุดๆ ก็ทำให้ดูมีหน้าตาในสังคมและได้รับความเคารพได้ เรียกว่าบูชากันให้เป็นตัวพ่อ ตัวแม่กันเลยก็ทำได้ ไม่ได้รักเท่านั้น แต่ “ลุ่มหลง งมงาย จนถึงขึ้น ทำให้ชาติเรากำลังงมโข่งกันยาวนานมิได้หยุดกันเลย”...
o ประเทศชาติถอยหลัง หนี้ท่วมหัวแต่ดูดีว่ามีเครดิต การศึกษาของเด็กๆถดทอย ภาษาอังกฤษที่น่าจะดีให้ได้แต่ก็ไม่เคได้ดีกับคนส่วนใหญ่
o ทุกอย่างมีความเร็วสูงขึ้นหมดยกเว้นคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม ความดี ถดถอยขั้นไร้คุณธรรม...
o สังคมเรา สังคมโลก สังคมครอบครัว พังหมด คำโบราณที่ดีคือเห็นกงจักรเป็นดอกบัวกันไปหมดแล้ว...

• พ่อยอมรับไม่ไหวแล้วจริงๆ ต้องประกาศ ถ้าไม่ประกาศ ไม่ยืนยัน อกจะระเบิดเหมือนไฟอัดแน่นอยู่ในกระดูกจนทนไม่ไหว (เทียบ ประสบการณ์ของเยเรมีย์) เพราะความยากลำบากทางศีลธรรมจรรยาที่ถูกละเมิดและขาดประจักษ์พยานแห่งพระวรสาร ทั้งนี้เพราะว่า
o คนดีๆ คนมีการศึกษา คนมีศีลธรรม ต้องเงียบ ปิดปาก หรือปิดหู ปิดตาได้หรือ...
o พ่อคิดว่า เรายอมไม่ได้หรอกครับ บุตรของพระเจ้าองค์ความรักจะปล่อยไปโดยไม่รู้สึกรู้สากับสังคมได้อย่างไร...
o คนชั่วลอยนวล ล้มบนฟูกกันหมด แต่คนดีไร้ที่ซุกหัวนอน หรือต้องไปนอนรวมกันเป็นทาสทางสังคมของคนชั่ว หรือทาสของคนเลวที่มีเสียง มีอำนาจ กระนั้นหรือ...
o เสียงข้างมากที่ได้มาจากการเลือกตั้ง (อย่างไม่ค่อยถูกต้องหรือซื้อมา เพราะมีนายทุนลงทุนเพื่อกำไรทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ) การแบบนี้จะเรียกว่า ประชาธิปไตย.. ได้จริงๆ หรือ
o เท่าที่พ่อรู้และมั่นใจ คำว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่เรียกว่าเลวน้อยที่สุดก็ว่าได้ หรืออาจเลวได้งดงามที่สุดไม่ดูน่าเกลียดเพราะมีเสียงสวนใหญ่ที่ซื้อไว้ได้สนับสนุน...เรื่องนี้คงต้องไปศึกษากันในระดับปรัชญาการเมืองกันอีกมากมาย อันที่จริงประชาธิปไตยจะเลวน้อยที่สุด หรืออาจดีได้ก็ต่อเมื่อใช้กับสังคมของคนที่มีการศึกษาและวุฒิภาวะในการตัดสินใจเลือกและลงคะแนนเท่านั้น
o แต่อันที่จริง ประเทศของเรากำลังไปกันใหญ่ ระบบเล็กๆ การเมืองระดับท้องถิ่นก็ต้องมีซื้อ จ่าย เพื่อให้ได้มาซึ่งพ่อไม่อยากเรียกว่าอำนาจทางการเมือง และก็ขยายบารมีกันอีก แปลกมากๆมากจริงๆ บริษัทโทรศัพท์หนึ่งสามารถส่งโทรศัพท์และผู้รับทั่วประเทศสามารถไปติดต่อรับได้ที่สถานที่ราชการใกล้บ้าน เออ แปลกดี สถานที่ราชการตอนนี้อารายได้พิเศษจากการจ่ายโทรศัพท์ไปแล้ว... และนี่จะเป็นการซื้อเสียงแบบใหม่หรือเปล่าหนอ เพราะเจ้าของเดิมของโทรศัพท์นี้ก็เคยเป็นนักการเมืองซึ่งเวลานี้พลัดถิ่นอยู่
o การสอบครูผู้ช่วยทั่วประเทศ การแต่งกายยังต้องชุดบังคับเครื่องแบบบังคับในการแต่งกายเข้าสอบคือ เสื้อยืดขาว กางเกงวอร์ม ทุกคนเพื่อป้องกัน “การทุจริต” โออะไรนี่ นี่คือแม่พิมพ์ของชาติระดับต้นในการสอนชีวิต ศีลธรรมจรรยา ยังไม่สามารถไว้ใจได้เลยสอบตำรวจ ก็ต้องระวังสุด เพราะจะมีการทุจริต ทุกวงการจริงๆ ยากจริงๆ สังคมที่เป็นเหยื่อของความเห็นแก่ตัวและฉ้อโกง...
o น่าเสียดายจนคนดีๆ จริงๆ ไม่ได้มีโอกาส หรือถ้ามีโอกาส ก็อยู่ยาก... หรือไม่ก็ไม่ได้อยู่แม้แต่ในชีวิตนี้... ถูกเก็บเสียก็ได้ เกิดขึ้นแทบจะรายวันรายสัปดาห์แต่คนก็รู้สึกรู้สาน้อยมาก..

• วิจารณ์ต่อไป วิเคราะห์ต่อไปก็คงเข้าเป้าและถูกต้องมากขึ้น จนพ่อคงสมควรได้ปริญญาเอกอีกสักกี่ใบเรื่องสังคม การเมือง และประเทศของเรา วิจัยกันสุดๆอีกกี่วิจัยงบประมาณเท่าไร จะพูดอะไรก็ต้องถามว่ามีผลวิจัยรองรับไหม... ยากเนอะประเทศเรา... เท่าที่พ่อรู้ ผลวิจัยนั้น เชื่อได้ร้อยละห้าสิบเท่านั้น ถ้าการวิจัยนั้นดีจริงๆ (ขำ)

• แต่การวิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ จะได้ปริญญาแท้จริงๆต้องชี้ทางออกได้ด้วยสินะจึงจะเรียกว่าควรแก่ปริญญาที่ควรจะได้

• พี่น้องที่รักครับ วันนี้พ่อขอปริญญาเอกสักใบจากใจของผู้อ่านหน่อยเถอะครับ...

• พ่อขอเสนอทางออก... ให้กับสังคมครับ...
o ในเมื่อ “รากเหง้า” ของความชั่วร้ายของสังคมเราคือ... “ความเห็นแก่ตัว” เจ้าปีศาจตัวโตคือตัวตนของคนที่ไม่ค่อยรู้ตัว จนหลงเหลิงเจิ้งอยู่กับตัวเอง หลงระเริงเหลิง จนถึงขั้น “เหลิงเจ้ง” ไปกับตัวตน อำนาจ และไม่ได้แลเห็นคนอื่นเป็นมนุษย์เหมือนตน... เหลิง.... เจิ้ง... ไปกับอำนาจ
o เจ้าปีศาจตัวนี้ คือ “ตัวกู” นี้ร้ายที่สุดแล้ว ความเห็นแก่ตัว... แก้ยากที่สุด

• พ่อเสนอทางแก้ด้วยรากเหง้าแห่งความดีแท้จริง รากเหง้าแห่งความเชื่อของเราคริสตชนแท้จริง คือ “พระเยซู”
o จงให้พระเยซู ชีวิตและคำสอนของพระองค์ “พระวาจา ข่าวดี” เป็นคำตอบ เปลี่ยนรากเหง้าจากความเห็นแก่ตัวมาเห็นแก่พระเจ้า เห็นแก่พระเยซู เห็นแก่ความรัก ...
o ถ้าสามารถจริง โดยทันทีเราจะต้องเริ่มลงมือทำทุกอย่างด้วยความเมตตา เมตตาธรรมและต้องรู้สึกรู้สากับคนยากจน คนชายขอบสังคม และอาการหลงตัวเอง เห็นแก่ตัวจะค่อยๆ หายไปได้...
o ต้องสร้างระบบการศึกษา ชีวิต การประกาศข่าวดี เราคริสตชนต้องประกาศครับ ไม่ประกาศไม่ได้ ต้องเป็นประจักษ์พยาน ต้องกล้าทัดทานกระแส ต้องกล้าเจริญชีวิตพอเพียงและเพียงพอ และไม่ยอมขายตัว ขายเสียงสิทธิ์ และอิสรภาพ ให้กับความเท็จเทียมโดยเด็ดขาด

• พี่น้องที่รักครับ... ขอให้เราเจริญชีวิตในความรักที่จะทัดทานกระแสโลกได้อย่างแท้จริงนะครับ...
• เราต้องสู้ครับ ต้องสู้ด้วยความรักของพระเยซู...
• มีตัวอย่างที่ทำได้ตั้งแต่สมัยอัครสาวกครับ บรรดาศิษย์ ผู้มีความเชื่อดำเนินชีวิตเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน...

• นี่คือผลของความรักครับ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันครับ...”
o ขอให้เราเจริญชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันเสมอนะครับ
o กระแสโลกที่แตกแยก มันจำเป็นต้องเจอของจริงครับ คริสตชนจริงๆ รักจริงๆ เป็นหนึ่งเดียวกันจริงๆ นี่คือชีวิตจิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันครับ...
o โลกปัจจุบันต้องการมากครับสันติภาพและความเป็นหนึ่งเดียว แต่ที่สำคัญต้องรักจริงนะครับ ห้ามเทียมเด็ดขาด....

• สุดท้าย วันนี้ พ่ออยากนำสรุปคำสอนของนักบุญพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่สอง มาให้อ่านเป็นการเสริมความเป็นไปได้ในเรื่องชีวิตจิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียว เพื่อสะท้อน กิจการอัครสาวกให้ชัดเจนขึ้น และสามารถนำเราไปสู่การปฏิบัติได้มากขึ้นก็จะเป็นการดีครับ

• นักบุญพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ได้เขียนสมณสาสน์ “สู่สหัสวรรษใหม่” (Novo Millennio Ineunte) ถึงคริสตชนทุกคน
o อันดับแรก เราได้รับเชิญให้พิศเพ่งพระพักตร์ของพระคริสต์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเป็นประจักษ์พยานของเรา (NMI 16) เราควรสำนึกว่า การพิศเพ่งนี้ เรียกร้องความพยายามของเรา แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นพระพรของพระเจ้าซึ่งเราสามารถพบได้ในความเงียบและการภาวนา (NMI 20)
o พระคริสตเจ้าพระบุตรของพระเจ้า แสดงพระพักตร์แห่งความโศกเศร้าให้เราได้เห็นในความทุกข์ทรมานและความตายของพระองค์ โดยเฉพาะในการร้องบนไม้กางเขน “พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า เหตุไฉนพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้า” (NMI 25-27) ในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็ได้เผยแสดงให้เราเห็นพระพักตร์แห่งพระสิริรุ่งโรจน์ในการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ (NMI 28)
o การพิศเพ่งถึงพระคริสตเจ้า เป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนทุกชนิดสำหรับชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร (NMI 29)
o เราต้องสำนึกถึงหน้าที่ของคริสตชน ที่จะเติบโตในความศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตประจำวัน (NMI 30-31) อาศัยการภาวนาที่ร้อนรน เราเปิดใจต่อความรักของพระเจ้า และยังเปิดใจสู่ความรักของพี่น้องด้วย (NMI 32-33) การอบรมและการฝึกฝนในการภาวนาเป็นเรื่องสำคัญมากในการวางแผนของเรา (NMI 34)

• การมีส่วนร่วมในการถวายมิสซาบูชาทุกวันอาทิตย์เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ทำให้ชีวิตคริสตชนเข้มแข็ง และยังเป็นการป้องกันการแยกตัวออกจากพระศาสนจักรของคริสตชนแต่ละคน (NMI 35-36)
o บรรดาศาสนบริกรของพระศาสนจักรควรแนะนำ ศีลแห่งการคืนดี ให้กับประชากรของพระเจ้าด้วยความมั่นใจและด้วยความพากเพียร (NMI 37)
o เราควรตระหนักเสมอถึง ความเป็นเอกของพระหรรษทาน (NMI 38) ซึ่งผลักดันเราให้รับฟังพระวาจาของพระองค์ ด้วยจิตใจใหม่ (NMI 39) การฟังพระวาจานำเราสู่การประกาศพระวาจานั้น ผู้ที่มาสัมผัสกับพระคริสตเจ้าด้วยความจริงใจไม่สามารถเก็บพระองค์สำหรับตัวเอง เขาต้องประกาศพระองค์… แต่จะต้องคำนึงถึงหนทางของบุคคลต่างๆ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน (NMI 40)
o ถ้าเราได้ลงรากของชีวิตเราในความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับพระคริสตเจ้า ชีวิตของเราจะกลายเป็นการเป็นพยานถึงความรักอย่างชัดเจนและจะแสดงถึงแก่นแท้ของพระศาสนจักร คือ ความสัมพันธ์ในความรักที่นำสู่ความเป็นหนึ่งเดียว (Communion) (NMI 42)

• เพราะเหตุนี้พระสันตะปาปาจึงเชิญชวนให้ คริสตชนทุกคนสร้างพระศาสนจักให้เป็นบ้านและโรงเรียนแห่งความเป็นหนึ่งเดียว โดยส่งเสริมชีวิตจิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียว (Spirituality of Communion) (NMI 43) ข้อเดียวกันนี้ยังอธิบายอีกว่า ชีวิตจิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวคือ
1. เหนือสิ่งอื่นใดขอให้เน้นถึงการเพ่งรำพึงของหัวใจถึงธรรมล้ำลึกของพระตรีเอกภาพผู้ประทับอยู่ในตัวเราและเราจะต้องเห็นแสงสว่างของพระองค์ฉายอยู่บนใบหน้าของพี่น้องรอบตัวเรา
2. ชีวิตจิตแห่งความเป็นเหนึ่งเดียวกันยังหมายถึงความสามารถที่จะคิดถึงพี่น้องของเราในความเชื่อ ภายในความเป็นหนึ่งเดียวอันลึกซึ้งแห่งพระกายทิพย์ซึ่งหมายความว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของเราด้วย ดังนี้เราจึงสามารถมีส่วนร่วมในความยินดีและความทุกข์ของเขา
3. ชีวิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวยังหมายถึงความสามารถที่จะมองเห็นสิ่งที่ดีในคนอื่นโดยที่ถือว่าเป็นพระพรสำหรับตัวฉัน
4. ชีวิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน หมายความว่า เรารู้จักที่จะเตรียมพื้นที่สำหรับพี่น้องในใจของเรา โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขัน แก่งแย่งชิงดี และอิจฉาริษยากันและกัน

• หากปราศจากชีวิตจิตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน โครงสร้างภายนอกของพระศาสนจักรก็เปล่าประโยชน์ จะกลายเป็นเหมือนหน้ากากของความเป็นหนึ่งเดียว (NMI 43)

• การพิศเพ่งถึงพระพักตร์ของพระคริสต์ควรจะนำคริสตชนให้แสวงหาพระพักตร์ของพระองค์ในใบหน้าของพี่น้องทุกคน โดยเฉพาะคนยากจน รวมทั้งคริสตชนนิกายอื่นๆ และผู้นับถือศาสนาอื่นๆ ด้วย (NMI 48-50) ในกลุ่มคริสตชนทุกคนควรจะรู้สึกเหมือนว่าอยู่ในบ้านของตน โดยเฉพาะคนยากจน

• การท้าทายในปัจจุบันที่พระศาสนจักรควรจะตอบรับคือ วิกฤตของสิ่งแวดล้อม ปัญหาเรื่องสันติภาพและความรุนแรง การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็กๆ เรามีหน้าที่อุทิศตนส่งเสริมคุณค่าชีวิตมนุษย์ในทุกระดับ (NMI 51-52)

• การเสวนากับศาสนาอื่นเป็นอีกข้อหนึ่งที่ท้าทายเราในปัจจุบัน การเสวนาไม่สามารถวางอยู่บนความไม่สนใจใยดีด้านศาสนา เราคริสตชนย่อมมีหน้าที่เป็นประจักษ์พยานเด่นชัดถึงความหวังที่มีอยู่ในตัวเรา ด้วยความเคารพเราควรจะประกาศถึงพระพรแห่งการเผยแสดงของพระเจ้า ซึ่งพระองค์รักโลกจนกระทั่งได้มอบพระบุตรแต่องค์เดียวให้กับเรา (NMI 55-56)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก