“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2015
สัปดาห์ที่แปด เทศกาลธรรมดา
มก 10:46-52…

46พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์ ขณะที่พระองค์เสด็จออกจากเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์และประชาชนจำนวนมาก บารทิเมอัสบุตรของทิเมอัส คนขอทานตาบอดนั่งอยู่ริมทาง 47เมื่อได้ยินว่าพระเยซูชาวนาซาเร็ธกำลังเสด็จผ่านมา เขาเริ่มส่งเสียงร้องตะโกนว่า “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิด เจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด”

48หลายคนดุเขาให้เงียบ แต่เขากลับตะโกนดังยิ่งกว่าเดิมว่า “พระโอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” 49พระเยซูเจ้าทรงหยุด ตรัสว่า “ไปเรียกเขามาซิ” เขาก็เรียกคนตาบอดพลางกล่าวว่า “ทำใจดี ๆ ไว้ ลุกขึ้น พระองค์กำลังเรียกเจ้าแล้ว” 50คนตาบอดสลัดเสื้อคลุมทิ้ง กระโดดเข้าไปเฝ้าพระเยซูเจ้า 51พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ท่านอยากให้เราทำอะไรให้” คนตาบอดทูลว่า “รับโบนี ให้ข้าพเจ้าแลเห็นเถิด” 52พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ไปเถิด ความเชื่อของท่านได้ช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว” ทันใดนั้น เขากลับแลเห็นและเดินทางติดตามพระองค์ไป

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• ประเด็นสำคัญ มาระโกได้เล่าเรื่องเพื่อจบการเดินทางของพระเยซูเจ้าจากกาลิลีสู่เยรูซาเล็ม ด้วยเรื่องราวของการรักษาคนตาบอด และเป็นการจบส่วนที่เป็นส่วนกลางของพระวรสาร คือ บทที่ 8:28-10:52 ในช่วงแรกของพระวรสารก็จบลงด้วยเรื่องของคนตาบอดเช่นกัน คนตาบอดที่เบธไซดา 8:22-26 ตามที่ได้ให้ข้อสังเกตมาเมือวันก่อนหน้านี้แล้ว

• “เยรีโค” เมื่อเปรียบกับมัทธิวและลูก มีแต่มาระโกที่กล่าวถึงเยรีโคถึงสองครั้ง ซึ่งเยรีโคนี้เป็นดินแดนที่เป็นโอเอซิสระหว่างถิ่นทุรกันดารยูเดียและเยรูซา แล็ม และแน่นอนที่สุด ทุกคนที่ลงมาจากทางเหนือเพื่อจะไปเยรูซาแล็มจะต้องแวะที่นี่เพื่อพัก หาอาหาร และเตรียมตัวข้ามถิ่นทุรกันดารไปเยรูซาแล็ม

• “พร้อมกับบรรดาศิษย์” มาระโกเน้นสองครั้งทั้งขาเข้าและขาออกเมืองเยรีโค ท่านเน้นเสมอมาและเข้มข้นมากในย่อหน้าสุดท้ายก่อนจะไปเยรูซาแล็ม

• “ขณะที่พระองค์เสด็จออกจากเมืองเยรีโคพร้อมกับบรรดาศิษย์ และประชาชนจำนวนมาก” ยืนยันถึงสิ่งที่ตั้งสมมติฐานไว้ว่า นี่เป็นขบวนของคนมากมายที่กำลังติดตามกันไปเยรูซาเล็ม และดูเหมือนว่ากลุ่มคนนี้กำลังทำให้ความคิด เรื่องการปราบดาภิเษกของพระคริสต์ที่เยรูซาเล็มเพื่อเป็นกษัตริย์แทนที่ อำนาจโรมันน่าจะเป็นความจริง

• “บารทิเมอัสบุตรของทิเมอัส” (Barthimaeus) สังเกตว่า มีแต่มาระโกเท่านั้นที่ให้ชื่อของคนขอทานตาบอดคนนี้ สิ่งที่ต้องสังเกตอย่างมากๆ คือ มีใครในพระวรสารที่เป็นคนเจ็บหรือพิการ หรือคนที่มารับการรักษาอย่างอัศจรรย์จากพระเยซูเจ้านั้นได้รับการเผยชื่อแบบ คนตาบอดคนนี้บ้างไหม... ชื่อ บาร์ Bar ขึ้นต้นนี้สำคัญมาก เราต้องศึกษาดีๆ

o Bar จากภาษาอารามายอิก แปลว่า “ลูกชาย”

o ที่ต้องสังเกตให้มากที่สุดคือ ในพระคัมภีร์นั้น... “มีแต่คนที่ถูกเรียกให้เป็นศิษย์เท่านั้น ที่ผู้ถูกเรียกถูกขนามนามด้วยสำนวนเช่นนี้ คือ ชื่อพร้อมนามสกุลที่ว่า “บุตรของใคร...”” (ซีโมน บาร์โยนา/ยากอบและยอห์น บาร์เศเบดี)

o มาระโกมีเจตนาแน่ๆที่กำหนดชื่อของคนตาบอดคนนี้ว่า “บาร์+ทิเมอัส” และที่สำคัญที่สุด กำหนดชื่อโดยสำนวนแนวการเรียกพร้อมนามสกุลแบบเดียวกับที่ใช้เรียกบรรดาอัคร สาวกของพระเยซูเจ้า เมื่อแรกเริ่มที่เรียกพวกเขาให้ติดตามพระองค์ (เมื่อทรงพระดำเนินไปอีกเล็กน้อย พระองค์ทอดพระเนตรเห็นยากอบบุตรของเศเบดี และยอห์นน้องชาย มก 1:19 เทียบ 10:35) 

o วิธีเรียกแบบนี้ใช้กับผู้ที่ถูกเรียกให้ติดตามเป็นศิษย์ของพระองค์โดยฉพาะ ในบริบทของพระวรสาร (1:16-20; 2:14; 3:16-19)

o ไม่เคยใช้เรียกคนทีพระเยซูเจ้ารักษาทั่วไปเลย นอกจากในกรณีนี้เท่านั้น (กรณีลูกของไยรัส 5:22 ให้เฉพาะชื่อของบิดาของผู้ที่รับการรักษาเท่านั้น ไม่ได้เรียกแบบชื่อ “บาร์”)

• เขาเป็นคนที่เยรีโค... “คนขอทานตาบอดนั่งอยู่ริมทาง”

o เราพบสภาพสองอย่างของเขาที่ไปไม่รอด หรือเป็นความจำกัดที่สุด สภาพสองประการของบารทิเมอัสที่น่าสนใจมากๆ คือ
1.ทั้งขอทาน และ
2.ทั้งตาบอด เขานั่งขอทานริมถนนที่เขานั่งอยู่นี้คือ ริมถนนหน้าประตูเมืองเยรีโคขาออกที่มุ่งไปเยรูซาเล็ม (คนที่ออกมาทางประตูนี้เพิ่งพักผ่อน ซื้อหาเสบียงจากเยรีโคเพื่อข้ามถิ่นทุรกันดารยูเดียไปเยรูซาเล็ม เขานั่งถูกที่ ที่ต้องถือว่าฉลาดที่นั่งอยู่ที่นี้ คนเดินทางมีเศษเงินเหลือก็ให้เขา)

• เราลองเปรียบอาการของคนนี้ก่อนและหลังพระเยซูเจ้าเรียกเขาและรักษาเขา 

o ข้อ 46 บารทิเมอัสบุตรของทิเมอัส คนขอทานตาบอดนั่งอยู่ริมทาง 

o ข้อ 52 ทันใดนั้น เขากลับแลเห็นและเดินทางติดตามพระองค์ไป

o คนตาบอดคนนี้ซึ่งเพียงแต่ได้พบพระเยซูเจ้าระหว่างทาง ได้รับแสงสว่าง และสามารถที่จะแลเห็นอีกครั้ง สามารถเดินตามพระเยซูเจ้าร่วมทางกับพระองค์

• “อาการตาบอด” สำหรับเฉพาะในมาระโก 8:22,23; 10:46,49,51 ถือว่าเป็นความบาปหรือความโชคร้ายอย่างที่สุด จำกัดที่สุด ไม่ได้เห็นพระคริสตเจ้าองค์ความสว่าง คือ สภาพที่จำกัดและหมดหนทางจริงๆ ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ

• เขาเริ่มส่งเสียงร้องตะโกนว่า “ข้าแต่พระเยซู โอรสของกษัตริย์ดาวิดเจ้าข้า โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” 

o ข้อความที่คนตาบอดใช้ “โอรสของดาวิด” (10:47,48; 12:35) เสียงเรียกนี้เป็นการเตรียมการเข้ากรุงเยรูซาแล็มในบทที่ 11 แสดงให้เห็นความเป็นพระคริสต์ หรือพระแมสซียาห์ของพระองค์ 

o คนตาบอดนี้รู้ได้อย่างไรว่า “พระเยซูเจ้าคือพระแมสซียาห์” ในเมื่อคำร้องของเขาเป็นการประกาศความรู้ ความเชื่อมั่น กล่าวได้ว่าเขาประกาศได้เนื้อหาคำจำกัดความของพระเยซูเจ้าได้ดีเท่ากับเปโตร ที่ประกาศที่ซีซารียาห์ ฟิลิปปีทีเดียว แต่ที่ดูว่าจะเหนือกว่าเปโตรคือ เขาร้องขอความเมตตา “โปรดเมตตาข้าพเจ้าเถิด” “eleison moi” คำกริยา “eleein” (ในมาระโก 5:19; 10:47,48; 5:19 พร้อมกับคำ “Kyrie”)

o การร้องเช่นนี้เป็นการเรียกร้องให้ปลดปล่อยจากชะตากรรมหรือความโชคร้าย ในกรณีนี้คือ “ความบอดของดวงตา”

• ลักษณะของการร้องตะโกนของเขา ร้องขอ ร้องเพื่อจะให้พระองค์สนใจ แม้จะโดนดุ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ลักษณะการร้องตะโกนแบบนี้เป็นลักษณะของเด็กเล็กๆ ใช่หรือไม่ เพราะว่า“หลายคนดุเขาให้เงียบ” (epitiman ภาษากรีก แปลว่า ดุ) 

o ไม่ปรากฏเหตุผลว่าทำไมหลายคนจึงดุเขาให้เงียบ น่าจะเป็นไปได้ว่าหลายคนต้องการติดตามไปกับพระเยซูในขบวนของพระองค์ที่กำลัง มุ่งไปเยรูซาแล็ม พวกเขาคงไม่อยากให้เสียเวลาพระองค์ที่จะไปเยรูซาแล็ม 

o ใครดุเขากันแน่??? ความเห็นส่วนตัวคือน่าจะเป็นศิษย์บางคนของพระองค์ก็เป็นได้ เพราะกริยาคำนี้ใช้กับพระเยซูเจ้าเมื่อสำทับปีศาจ และใช้อีกกับเปโตรเมื่อสำทับพระองค์ (8: 32)

ต่อไปนี้เป็นช่วงสำคัญ เป็น โมเมนท์ สำคัญมากๆๆ


• พระเยซูเจ้าทรงหยุด ตรัสว่า “ไปเรียกเขามาซิ”

o การหยุดของพระองค์ซึ่งปรากฏในพระวรสารสหทรรศน์ ทำให้เข้าใจได้ว่า พระเยซูเจ้าไม่เคยปล่อย หรือละเลยความน่าสงสารหรือชะตากรรมของประชาชนที่ร้องหาพระองค์ พระองค์ทรงประทานความเมตตาเสมอ 

o “ไปเรียกเขามาซิ”*** การเรียกนี้คือการให้เดินมาหา ให้มาใกล้ ให้มาติดตาม สำคัญมากคือใน 10:49 ปรากฏคำกริยานี้ถึง 3 ครั้ง ดูดีๆนะครับ “พระเยซูเจ้าทรงหยุด ตรัสว่า “ไปเรียกเขามาซิ” เขาก็เรียกคนตาบอดพลางกล่าวว่า “ทำใจดี ๆ ไว้ ลุกขึ้น พระองค์กำลังเรียกเจ้าแล้ว” เพราะเสียงเรียกนี้ทำให้ลดระยะความห่างไกลที่เคยมีให้เข้ามาอยู่ใกล้

o ข้อเดียว ข้อนี้ ข้อ 49 มีกริยาคำว่า “เรียก” (to call) สามครั้ง... อัศจรรย์ครับ ภาษาต้นฉบับปรากฎชัดมาก... พ่อมั่นใจ ข้อนี้คือข้อที่เหมาะกับเรื่องของ “พระกระแสเรียก” คือ การเรียกให้ติดตามพระองค์จริงๆ

• “ทำใจดี ๆ ไว้ ลุกขึ้น พระองค์กำลังเรียกเจ้าแล้ว” 

o คำกริยา “ลุกขึ้น” ทุกครั้งที่ใช้ในพระวรสารนักบุญมาระโกนั้นปกติจะอยู่ในลักษณะคำสั่ง (imperative) เราพบใน 2:9,11 ‘ลุกขึ้น แบกแคร่เดินไปเถิด’; 3:3 “ลุกขึ้น มายืนตรงกลางนี่ซิ”; “หนูเอ๋ย เราสั่งให้หนูลุกขึ้น” 5:41 ทุกครั้งที่ใช้นั้นเป็นคำสั่งที่มาจากการรักษาของพระเยซูเจ้าเอง

o ข้อสังเกต สำหรับมาระโก ทุกอย่างที่เป็นความสามารถทั้งหลาย ศักยภาพ โดยเฉพาะจากความไม่มีศักยภาพมาสู่ความมีศักยภาพสมบูรณ์นั้น ขึ้นกับการเรียกของพระเยซูเจ้าเท่านั้น

• ต่อไปนี้พิจารณาปฏิกริยาตอบของการเรียกของพระเยซูเจ้า...บารทิเมอัสตอบสนองอย่างไร..

o สลัดเสื้อคลุมทิ้ง ในบริบทของพันธสัญญาใหม่ การถอดเสื้อคลุม (สลัดทิ้ง) มีความหมายถึงความพร้อมที่จะทำงาน ทำหน้าที่ “4จึงทรงลุกขึ้นจากโต๊ะ ทรงถอดเสื้อคลุมออกวางไว้ ทรงใช้ผ้าเช็ดตัวคาดสะเอว 5แล้วทรงเทน้ำลงในอ่าง เริ่มล้างเท้าบรรดาศิษย์ และใช้ผ้าที่คาดสะเอวเช็ดให้”ยน 13:4; “บรรดาพยาน นำเสื้อคลุมของตนมาวางไว้ที่เท้าของชายหนุ่มคนหนึ่งชื่อ “เซาโล””กจ 7:58 ***นักพระคัมภีร์บางท่านเน้นว่า “เสื้อคลุมนี้หมายถึงสภาวะชีวิตในอดีต” ***อาจกล่าวได้ไหมว่า “เมื่อเขาถูกเรียก เขาละทุกอย่างที่เป็นของตน เท่าที่มี ที่จำเป็นที่สุด หรือที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความอยู่รอดของตนซึ่งเป็นการละทิ้งสิ่งจำเป็นต่อ ชีวิตที่เห็นได้ เพื่อติดตามพระเยซูเจ้า มก 1:18 การทิ้งแหอวนเพื่อติดตามพระองค์ มก 10:50 เสื้อคลุม (เสื้อคลุมเป็นสิ่งสำคัญเพื่อมีชีวิตของคนในปาเลสไตน์)
o "กระโดด" บาร์ทิเมอัสลุกขึ้น “So throwing off his cloak, he jumped up and went to Jesus.” ยืนขึ้นทันทีจากที่นั่งอยู่ หมายความว่า ลุกขึ้น ลุกออกจากสถานการณ์ที่เคยเป็นอยู่ พ่อเองและเราทุกคนไม่ทราบว่าเขานั่งอยู่ที่นั่นมานานเท่าใดแล้ว แต่วันนี้เขาไม่ได้นั่งที่นั่นอีก เพราะเขาเดินติดตามพระองค์ไป สังเกตอาการกระโดดลุกขึ้นนั้นเต็มเปี่ยมด้วยความมั่นใจต่อเสียงเรียก หรือผู้ที่เรียกเขาเพียงใด” เทียบกับอีกคนที่นั่งอยู่เหมือนกันคือเลวี “ขณะที่ทรงพระดำเนินไป พระองค์ทรงเห็นชายคนหนึ่งชื่อเลวี บุตรของอัลเฟอัสกำลังนั่งอยู่ที่ด่านภาษี จึงตรัสสั่งเขาว่า “จงตามเรามาเถิด” เขาก็ลุกขึ้นตามพระองค์ไป” (2:14)
o “เข้าไปเฝ้าพระเยซูเจ้า” เป้าหมายของเขาคือ “พระเยซูเจ้า” เราพบอาการของการเดินหรือมุ่งเข้าไปหาพระเยซูเจ้าเพื่อรับการรักษาบ่อยๆ ในมาระโก (1:40,45; 2:3,13; 3:8; 5:15; 10:14; 11:27; 12:18) แต่ในทุกกรณี... มีเพียงแต่คนตาบอดคนนี้คนเดียวที่เข้ามาหาพระองค์เพราะพระองค์ทรงเรียก (เทียบกับกรณี 10:14 “เมื่อทรงเห็นเช่นนี้ พระองค์กริ้ว ตรัสแก่บรรดาศิษย์ว่า “ปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย เพราะพระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้ ”)

• พระองค์ตรัสถามบาร์ทิเมอัส... “ท่านอยากให้เราทำอะไรให้” (10:51) เปรียบเทียบกับ “พระองค์ตรัสถามยากอบและยอห์นเมื่อมาขอนั่งข้างขวาและข้างซ้ายว่า “ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด” คำว่า “อยาก หรือ ปรารถนา” ในภาษาต้นฉบับภาษากรีกใช้ “thelein” ในความเห็นพบว่าเป็นคำที่สำคัญ เป็นกุญแจสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการศึกษามาระโก ในเรื่องการเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า (8:34,35; 9:35; 10:43,44) หมายความว่า... การติดตามพระเยซูเจ้านั้นต้องเป็นความปรารถนาแท้จริง “thelein” คำแปลคือ “will”

• "รับโบนี" ให้ข้าพเจ้าแลเห็นเถิด คำเรียกแสดงให้เห็นเจตนาของมาระโกว่า บารทิเมอัสรับรู้ และแสดงตนเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า คนตาบอดคนนี้พระวรสารเรียกว่า เขาว่า “บาร์+ทิเมอัส) ใช้คำเรียกเช่นเดียวกับเปโตรซึ่งเป็นที่หนึ่งในบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้า (9:5; 11:21)

• สังเกต การเรียกหาพระอาจารย์เจ้านั้นจุดประสงค์คือ “การยกสายตาขึ้น” (raised his eyes to heaven and said the blessing 6:41; 'Ephphatha,' that is, 'Be opened.' 7:34) และรับการรักษาให้หาย สามารถแลเห็นได้ (8:24; ยน 9:11,15,18) ***สังเกต ความบอดนั้นถูกเข้าใจในบริบทของพระคัมภีร์คือ ดวงตาถูกอุปสรรคขัดขวางไม่ให้สามารถเห็น*** “ทันใดนั้นมีสิ่งหนึ่งเหมือนเกล็ดตกจากนัยน์ตาของเซาโล เขามองเห็นได้อีก” (กจ 9:18)


• “ไปเถิด ความเชื่อของท่านได้ช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว” ภาษกรีก “ไปเถิด” ใช้ (hupage) คำกริยาที่เป็นคำสั่งคำเดียวกับที่สั่งเปโตรให้ไปอยู่ข้างหลังติดตามพระองค์ ไม่ขวางทางพระองค์ (มก 8:33) สังเกต การช่วยให้รอดพ้น กับความเชื่อเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน


• เขากลับแลเห็นและเดินทางติดตามพระองค์ไป ***มีแต่บารทิเมอัสเท่านั้นที่เมื่อรับการรักษาแล้วได้ติดตามพระองค์ไปใน หนทาง "Go your way; your faith has made you well." And immediately he received his sight and followed him on the way.(RSV)

สรุปเรื่องบารทิเมอัสในบริบทของการเดินทางจากกาลิลีสู่เยรูซาเล็ม มก 8:27-10:52


• ตลอดพระวรสารช่วงที่ศึกษานี้จบลงด้วยการรักษาคนตาบอด ซึ่งการรักษานี้เกิดขึ้นเป็นกรณีแรก และกรณีเดียวที่แคว้นยูเดีย (ส่วนอื่นๆทรงทำอัศจรรย์ที่แคว้นกาลิลี) เทียบกับ 8:22
o 8:22 คนตาบอดคนนั้นไม่พบว่าปรากฏชื่อว่าชื่ออะไร แต่ทั้งหมดเน้นที่การกระทำของพระเยซู ส่วนของคนตาบอดเป็นฝ่ายรับเท่านั้น passive และเรื่องความเชื่อของคนตาบอดไม่ได้กล่าวถึงแต่อย่างใดเลย
o 10:46-52 แตกต่างออกไปจากกรณี 8:22 อย่างมาก ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัว ลักษณะของคนตาบอดด้วย และสิ่งที่เห็นแตกต่างอย่างมากคือ บารทิเมอัสเป็นฝ่ายมีส่วนอย่างมาก (active) ในการร้อง ร้องดังๆ ขอความเมตตา และขอให้เขาได้แลเห็น

• เรื่องบารทิเมอัสนี้เป็นบทสรุปของพระวรสารจากกาลิลีสู่กรุงเยรูซาแล็ม (8:27-10:52)


• ตลอดเรื่องการเดินทางมุ่งสู่กรุงเยรูซาแล็มนี้ พระองค์ทรงเปิดเผยถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเป้าหมายที่เยรูซาแล็ม (8:31; 9:31 10:33) และด้วยเป้าหมายแห่งรหัสธรรมปัสกานี้ พระองค์ทรงสอนเงื่อนไขในการติดตามพระองค์ (8:34-9:1; 9:35-50; 10:42-45)

• การรักษาคนตาบอดที่เยรีโคนี้เป็นช่วงสุดท้ายของการเดินทางก่อนถึงกรุงเยรูซา แล็ม แสดงออกให้เห็นลักษณะของบุคคลที่มีลักษณะท่าทีที่ถูกต้องเหมาะสมกับการเดิน ทางติดตามพระองค์ ร่วมทางกับพระองค์ คนๆ นั้นคือ ผู้ที่ต้องเปี่ยมด้วยความเชื่อในตัวองค์พระเยซูเจ้า (identity of Jesus) และในพลังหรือความสามารถแห่งการช่วยให้รอดพ้นของพระองค์ (salvation) และแสดงออกซึ่งความเชื่อนี้ด้วยการเดินติดตามพระองค์ โดยละทุกสิ่ง มอบทุกความวางใจและอนาคตไว้กับพระองค์ ให้พระองค์ทรงนำทางชีวิต

• การเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าคือ เชื่อ รู้จัก รัก วางใจ และเดินทางเดียวกับพระองค์


• ไม่เป็นการเพียงพอที่จะมีทัศนคติ หรือความรู้ หรือความเข้าใจในพระเยซูเจ้า แต่สิ่งที่สำคัญคือ มีความเชื่อเต็มเปี่ยมในพลังแห่งการช่วยให้รอดพ้นของพระองค์ และออกเดินทางติดตามพระองค์ ให้พระองค์นำทางชีวิตของเรา... “Full of faith in the identity and Salvific Power of Jesus and then follow him, let He guide our life”

การไตร่ตรอง

• ชื่อของเราชัดเจนไหมในการเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า คริสตชน พระสงฆ์ของพระเจ้า พระสังฆราช ฯลฯ ?? ดวงตาของเราอยู่ในสภาพใด ดวงตาแห่งความเชื่อ??? เรารู้จักพระเยซูเจ้าชัดเจนไหม?? (identity) ของพระองค์คือ???


• เคยร้องเรียกหาพระเยซูเจ้าแบบบารทิเมอัสบ้างไหม?? หมายถึงคำร้องที่มาจากชีวิตที่ขาดจริงๆ ขนาดที่ถ้าพระองค์ไม่โปรดเราจะไม่สามารถมีสันติสุขได้เลย?? “Kyrie eleison” เมื่อพระเยซูเจ้าหยุดและเรียก เรามั่นใจเพียงใดว่าพระองค์ทรงเรียกเรา??


• เรามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อการเรียกของพระองค์ การเป็นศิษย์ของพระองค์นั้นเป็นอย่างไร??


• เราสลัดเสื้อคลุมทิ้งไหม?? หมายถึง อดีตของเรา บาป หรือนิสัยที่เราคิดว่าเป็นความมั่นคงของเรา สิ่งที่ห่อหุ้มเรามานานจนพระองค์เรียกเรา?? หมายถึง ทุกสิ่งที่เป็นเครื่องมือหากินเดิมๆ ที่ทำให้เรามั่นคง มั่งคั่งตามแบบชีวิตเดิมของเราก่อนที่พระองค์จะเรียก บัดนี้ พระองค์เท่านั้นเป็นความมั่นคง และมั่งคั่งที่แท้จริงของเราหรือไม่???


• เรากระโดดลุกขึ้นไหม?? จากที่ที่เรานั่งอยู่มานานก่อนที่พระองค์จะเรียก?? การเปลี่ยนแปลงจากที่เดิม มาสู่การเดินติดตามพระองค์


• เรามุ่งเข้าไปหาพระเยซูเจ้าไหม?? เป้าหมายของการเรียกคือมาหาผู้เรียก เรามาหาพระองค์จริงๆ ไหม หรือที่เรากำลังพบและหาอยู่ทุกวันนี้ไม่ใช่พระเยซูเจ้า?? สังเกต พระเยซูเผยแสดงพระองค์เป็นคนยากจน คนชายขอบสังคม “น้ำเย็นแก้วหนึ่งแก่ผู้เล็กน้อย...ท่านทำกับเราเอง”


• ดังนั้นการทำหน้าที่ของเราทุกวันนี้ เป้าหมายของเราที่เรารับใช้อยู่เป็นพระเยซูเจ้าใช่ไหม?? เราขออะไรทุกวันจากพระเยซูเจ้า?? นั่งข้างซ้ายขวา หรือขอให้เราแลเห็นพระองค์ทุกวัน (ในเพื่อนพี่น้อง) ด้วยสายตาแห่งความเชื่อ???


• สุดท้าย เราติดตามพระองค์ไป(ในหนทางของพระองค์)หรือไม่?? หรือเรามีทางเดินของเราเองในการเป็นศิษย์ของพระองค์

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก