ชะตากรรมของกรุงเยรูซาเล็มa

29 1วิบัติจงเกิดแก่อารีเอล

อารีเอลนครซึ่งกษัตริย์ดาวิดทรงตั้งค่าย

เมื่อปีหนึ่งหรือสองปีผ่านไป

พร้อมกับเทศกาลต่างๆ ในรอบปี

2เราจะนำความทุกข์ยากมาสู่อารีเอล

จะมีการคร่ำครวญและร้องทุกข์

เราจะทำให้เมืองนั้นเป็นอารีเอลจริงๆ

3เราจะตั้งค่ายรอบๆ เจ้า

เราจะสร้างหอรบล้อมเจ้า

เราจะตั้งเชิงเทินขึ้นต่อสู้กับเจ้า

4เมื่อเจ้าจะถูกกดลง เจ้าจะพูดจากพื้นดิน

ถ้อยคำของเจ้าจะขึ้นมาจากฝุ่นดิน

เสียงของเจ้าจะมาจากแผ่นดินเหมือนเสียงผี

คำพูดของเจ้าจะออกมาจากฝุ่นดินเหมือนเสียงกระซิบ

5ศัตรูจำนวนมากของเจ้าจะเป็นเหมือนฝุ่นละเอียด

ทรราชจำนวนมากของเจ้าจะเป็นเหมือนแกลบที่ปลิวไปฉับพลันทันใด

6พระยาห์เวห์จอมจักรวาลจะเสด็จมาเยี่ยมเจ้า

ด้วยเสียงฟ้าร้อง แผ่นดินไหว และเสียงกึกก้อง

ด้วยลมบ้าหมูและลมพายุ

ด้วยเปลวเพลิงที่เผาผลาญ

7ประชาชาติทั้งหลายซึ่งมีจำนวนมากที่ทำสงครามกับอารีเอล

ทุกคนที่ต่อสู้เข้าล้อมที่กำบังเข้มแข็ง

และนำความทุกข์ใจมาให้เมืองนี้

จะเป็นเหมือนความฝัน เหมือนนิมิตในเวลากลางคืน

8จะเป็นเหมือนคนหิวที่ฝันว่ากำลังกินอาหาร

และเมื่อตื่นขึ้นก็ยังหิวอยู่ ไม่ได้กินอะไร

จะเป็นเหมือนคนกระหายน้ำที่ฝันว่ากำลังดื่ม

แต่เมื่อตื่นขึ้นมาก็อ่อนเปลี้ย คอยังแห้งผาก

ประชาชาติจำนวนมากทั้งหมด

ที่ทำสงครามกับภูเขาศิโยนก็จะเป็นเช่นนี้

9ท่านทั้งหลายจงพิศวงและแปลกใจเถิดb

จงปิดตาจนมองไม่เห็นเหมือนคนตาบอด

จงมึนเมา แต่ไม่ใช่ด้วยเหล้าองุ่น

จงเดินโซเซ แต่ไม่ใช่เพราะดื่มเมรัย

10เพราะพระยาห์เวห์ทรงหลั่งจิตที่ทำให้ท่านหลับสนิท

ทรงปิดตาของท่านผู้เป็นประกาศก

ทรงคลุมศีรษะของท่านที่เป็นผู้ทำนายc

11สำหรับท่านทั้งหลาย นิมิตต่างๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นเหมือนถ้อยคำในม้วนหนังสือที่มีตราผนึกไว้ ถ้าให้ม้วนหนังสือนี้แก่คนหนึ่งที่อ่านออก พูดว่า “จงอ่านหนังสือนี้” เขาจะตอบว่า “ข้าพเจ้าอ่านไม่ได้ เพราะมีตราผนึกอยู่” 12ถ้าให้ม้วนหนังสือนี้แก่ผู้ที่อ่านไม่ออก พูดว่า “จงอ่านหนังสือนี้” เขาจะตอบว่า “ข้าพเจ้าอ่านหนังสือไม่ออก”d

คำประกาศพระวาจาe

          13องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า

“ประชากรชาตินี้มาใกล้เราด้วยคำพูดเท่านั้น

ให้เกียรติเราเพียงด้วยริมฝีปาก

จิตใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา

ความเคารพยำเกรงของเขาต่อเรา

เป็นเพียงบทบัญญัติของมนุษย์ที่ท่องจำกันมา

14ดังนั้น จงฟังเถิด เราจะทำสิ่งมหัศจรรย์

และปาฏิหาริย์กับชนชาตินี้อีกต่อไป

ปรีชาญาณของผู้มีปรีชาจะสูญสิ้น

และความเข้าใจของผู้มีปัญญาจะสูญหายไป”

ชัยชนะของความชอบธรรมf

          15วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่พยายามหลบให้พ้นพระพักตร์พระยาห์เวห์

เพื่อซ่อนแผนงานของตน

วิบัติจงเกิดแก่ผู้ที่ทำงานในความมืด

พูดว่า “ใครเห็นเรา ใครจำเราได้”

16ท่านทั้งหลายคิดกลับหัวกลับหาง

คิดว่าช่างปั้นหม้อมีค่าเท่ากับดินเหนียว

สิ่งที่ถูกสร้างจะพูดถึงผู้สร้างได้หรือว่า “เขาไม่ได้สร้างข้า”

หม้อดินจะพูดถึงช่างปั้นได้หรือว่า “เขาไม่เข้าใจอะไรเลย”g

17ในไม่ช้า เลบานอนจะเปลี่ยนเป็นสวนผลไม้

และสวนผลไม้จะกลายเป็นป่ามิใช่หรือ

18วันนั้น คนหูหนวกจะได้ยินถ้อยคำของหนังสือ

ตาของคนตาบอดจะหายมืดมัวกลับมองเห็นได้

19คนถ่อมตนจะยินดียิ่งขึ้นอีกในพระยาห์เวห์

ผู้ยากจนจะชื่นชมในพระผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งอิสราเอล

20เพราะจะไม่มีทรราชอีก

คนชอบเยาะเย้ยจะสูญหายไป

คนทั้งหลายที่หาโอกาสทำความชั่วจะถูกกำจัด

21คือผู้พูดใส่ความคนอื่น

ผู้วางบ่วงไว้ดักผู้พิพากษาที่ประตูเมือง

และปั้นเรื่องขึ้นทำลายผู้ชอบธรรม

22ดังนั้น พระยาห์เวห์ผู้ทรงไถ่อับราฮัม

ตรัสกับเชื้อสายของยาโคบดังนี้

“ตั้งแต่นี้ไป ยาโคบจะไม่ต้องอับอายอีก

ใบหน้าของเขาจะไม่ซีดลงอีกต่อไป

23เพราะเมื่อเขาเห็นลูกหลานของตนh

ซึ่งเป็นผลงานจากมือของเรากลับมาอยู่กับเขาอีก

เขาจะยอมรับว่านามของเราศักดิ์สิทธิ์

เขาทั้งหลายจะยอมรับว่าพระผู้ศักดิ์สิทธิ์ของยาโคบทรงความศักดิ์สิทธิ์

และจะยำเกรงพระเจ้าแห่งอิสราเอล

24จิตใจที่หลงผิดจะได้รับความเข้าใจ

และผู้ที่เคยบ่นจะยอมรับคำสั่งสอน”

 

29 a คำประกาศพระวาจานี้อาจแต่งขึ้นก่อนที่กรุงเยรูซาเล็มจะถูกล้อมในปี 701 ก่อน ค.ศ. ชื่อ “อารีเอล” เป็นสัญลักษณ์ ซึ่งในที่นี้ (และใน 23:7) หมายถึงกรุงเยรูซาเล็ม อาจอธิบายได้หลายวิธี ตามปกติมักจะคิดว่าเกี่ยวข้องกับชื่อ har’el หรือ ’ari’eyl (ส่วนบนของแท่นบูชา หรือกองไฟบนแท่นบูชา) ที่ประกาศกเอเสเคียล (อสค 43:15) ใช้เรียกส่วนบนของแท่นบูชา เป็นที่ที่มีกองไฟเผาเครื่องบูชาลุกอยู่ ความคิดเช่นนี้น่าจะหมายถึงลักษณะความศักดิ์สิทธิ์ของเมือง คำอธิบายเช่นนี้ดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุนจากการกล่าวพาดพิงถึงเทศกาลต่างๆ ในรอบปีของพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มตอนปลายของข้อ 1 แต่คำ “อารีเอล” ยังอาจแปลได้อีกว่า “ภูเขาของพระเจ้า” “เมืองของพระเจ้า” หรือ “สิงโตของพระเจ้า”

b “จงพิศวงและแปลกใจเถิด” ตัวบทภาษาฮีบรูที่ตรงนี้มีการเล่นคำโดยใช้พยัญชนะที่มีเสียงซ้ำๆ กัน คำแปลจึงเป็นเพียงการแปลโดยคาดคะเนเท่านั้น กริยาคำแรกในภาษาฮีบรูมีความหมายประมาณว่า “ชักช้า” “อ้อยอิ่ง” หรือ “ถ่วงเวลา”

c “ผู้เป็นประกาศก... ที่เป็นผู้ทำนาย” เป็นคำที่ผู้คัดลอกเสริมเข้ามาเพื่ออธิบายความหมายของคำอุปมา

d ข้อ 11-12 อาจเป็นข้อความที่เสริมเข้ามาเพื่ออธิบายความหมายของข้อ 9-10 ให้ชัดเจนขึ้น

e เป็นการยากที่จะกำหนดว่าประกาศกประกาศพระวาจาตอนนี้เมื่อไร ประกาศกกล่าวโทษการถือศาสนาอย่างผิวเผินที่ไม่ได้มาจากใจจริง เช่นเดียวกับใน 1:10-20

f พระยาห์เวห์ทรงมองเห็นแผนการของคนชั่วได้อย่างทะลุปรุโปร่ง (ข้อ 15-16) พระองค์จะทรงช่วยผู้ถ่อมตนให้พ้นจากศัตรู และจะทรงสถาปนาการปกครองที่ยุติธรรม (ข้อ 17-21) ข้อ 22-24 ดูเหมือนจะเป็นข้อความเพิ่มเติมในภายหลัง ไม่ใช่ลักษณะของประกาศกอิสยาห์ที่จะกล่าวถึง “เชื้อสายของยาโคบ” หรือกล่าวถึงอดีตดังเช่นกล่าวถึงอับราฮัมที่ตรงนี้

g เรื่องเล่าโบราณถึงการสร้างมนุษย์ใน ปฐก 2:7 บรรยายว่าพระยาห์เวห์ทรงเป็น “ช่างปั้น” ที่ปั้นร่างกายของมนุษย์จากดินเหนียว ประกาศกหลายท่านในสมัยหลังต่อจากอิสยาห์ก็จะใช้ภาพนี้บ่อยๆ เพื่อบอกว่ามนุษย์เป็นสิ่งสร้างที่เปราะบางและขึ้นอยู่กับ “พระหัตถ์” พระเจ้า นักบุญเปาโลก็จะกล่าวเช่นเดียวกัน

h “ลูกหลานของตน” อาจเป็นวลีที่เสริมเข้ามาในภายหลังเพื่ออธิบายคำที่ตามมา