4 1วันนั้น หญิงเจ็ดคนจะยึดชายคนหนึ่งไว้ พูดว่า “พวกเราจะหาอาหารกินเอง จะหาเครื่องนุ่งห่มมาสวมด้วยตนเอง ขอเพียงให้พวกเราได้รับชื่อของท่านเป็นนาย โปรดช่วยปลดความอับอายให้พ้นจากพวกเราเถิด”a

พระยาห์เวห์ทรงปกป้องผู้รอดชีวิตที่กรุงเยรูซาเล็มb

          2วันนั้น หน่ออ่อนที่พระยาห์เวห์จะโปรดให้งอกขึ้นจะงดงามและรุ่งโรจน์

                    ผลผลิตของแผ่นดินจะเป็นความภาคภูมิใจ

          และเป็นเกียรติของชาวอิสราเอลผู้รอดชีวิต

          3ผู้ที่รอดชีวิตเหลืออยู่ในศิโยนและผู้ที่ยังอาศัยอยู่ในกรุงเยรูซาเล็ม

                    จะได้ชื่อว่า “ผู้ศักดิ์สิทธิ์”

          คือทุกคนที่มีชื่อบันทึกไว้ให้มีชีวิตอยู่ในกรุงเยรูซาเล็มc

          4เมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงล้างความโสโครกของบรรดาธิดาแห่งศิโยน

                    และจะทรงใช้พระอานุภาพของการพิพากษา

          ซึ่งเป็นประดุจไฟมาชำระโลหิต

                    ที่ถูกหลั่งลงภายในกรุงเยรูซาเล็มให้หมดสิ้นไป

          5แล้วพระยาห์เวห์จะทรงสร้างเมฆเวลากลางวัน

                    ทรงสร้างควันและแสงแห่งเปลวเพลิงเวลากลางคืนd

          ทั่วไปบนภูเขาศิโยน

                    และเหนือประชาชนที่มาชุมนุมกันที่นั่น

          พระสิริรุ่งโรจน์จะเป็นที่กำบังและปกป้องทุกสิ่ง

          6จะเป็นเหมือนกระโจมให้ร่มบังแดดเวลากลางวัน

                    เป็นที่หลบภัยและที่กำบังจากพายุและฝน

 

4 a ในเมืองที่ชายฉกรรจ์จำนวนมากต้องตายในสงคราม (3:25-26) ผู้หญิงหลายคนจะมาขอ “ใช้นาม” ของชายคนเดียวกัน ซึ่งหมายความว่ายอมให้เขา “เป็นนาย” ในความหมายของสำนวนภาษาฮีบรู หญิงชาวกรุงเยรูซาเล็มซึ่งเคยหยิ่งผยองต้องกลายเป็นเพียง “นางบำเรอ”

b “หน่ออ่อน” และ “ผลผลิตของแผ่นดิน” อาจหมายถึง “พระเมสสิยาห์” (ยรม 23:5 = 33:15; ศคย 3:8; 6:12) หรืออาจหมายถึง “ผู้รอดชีวิต” ของอิสราเอล (ดู เชิงอรรถ g) ซึ่งเปรียบเหมือนต้นไม้ที่แตกหน่อขึ้นมาอีกในพื้นดินของปาเลสไตน์ นักวิชาการมักจะคิดว่าข้อ 4-6 เป็นข้อความสมัยหลังเนรเทศที่ถูกเสริมเข้ามา

c อิสราเอลที่ไม่ซื่อสัตย์จะถูกพระเจ้าลงโทษ แต่เนื่องจากว่าพระเจ้าทรงรักประชากรของพระองค์ “ผู้รอดชีวิต” จำนวนไม่มากนักจะพ้นจากคมดาบของผู้รุกราน ความคิดเช่นนี้ ซึ่งพบแล้วบ่อยๆ ใน อมส 3:12; 5:15; 9:8-10 อิสยาห์จะนำมากล่าวซ้ำอีก (6:13; 7:3 เชิงอรรถ c และ 10:19-21; 28:5-6; 37:4 (= 2 พกษ 19:4); 37:31-32 เทียบ ยรม 3:14; 5:18; อสค 5:3; 9; มคา 4:7; 5:2; ศฟย 2:7, 9; 3:12-13) บรรดา “ผู้รอดชีวิต” ที่เหลืออยู่ในกรุงเยรูซาเล็มซึ่งได้รับการชำระและมีความซื่อสัตย์แล้วนี้จะกลายเป็นชนชาติที่เข้มแข็งอีกครั้งหนึ่ง หลังจากหายนะในปี 587 ก่อน ค.ศ. ได้มีความคิดใหม่เกิดขึ้น คือ “ผู้รอดชีวิต” นี้จะพบได้จากบรรดาผู้ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปในแดนเนรเทศ (บรค 2:13; อสค 12:16) ในแดนเนรเทศเขาจะกลับใจมาหาพระเจ้า (อสค 6:8-10 เทียบ ฉธบ 30:1-2) แล้วพระเจ้าจะทรงรวบรวมเขาทั้งหลายไว้สำหรับการฟื้นฟูในสมัยพระเมสสิยาห์ (อสย 11:11, 16; ยรม 23:3; 31:7; 50:20; อสค 20:37; มคา 2:12-13) เมื่อกลับจากแดนเนรเทศ บรรดาผู้รอดชีวิตเหล่านี้จะไม่ซื่อสัตย์ จะถูกลดจำนวนลงอีก และจะได้รับการชำระ (อบด 17 = ยอล 3:5; ฮกก 1:12; ศคย 1:3; 8:11; 13:8-9; 14:2) ในเรื่องนี้ พระคริสตเจ้าทรงแสดงว่าพระองค์คือ “หน่อ” แท้จริงของอิสราเอลใหม่ที่ได้รับความศักดิ์สิทธิ์ (11:1, 10 เทียบ 4:2; ยรม 23:3-6) *** ต่างจากอิสราเอล ชนชาติที่ไม่นับถือพระยาห์เวห์จะไม่มี “ผู้รอดชีวิตเหลืออยู่” (14:22, 30; 15:9; 16:14; อสค 21:37; อมส 1:8; อบด 18)

d เป็นการรื้อฟื้นความจำถึงเสาเมฆหรือเสาเพลิงซึ่งนำชาวอิสราเอลเมื่ออพยพออกจากอียิปต์ การกล่าวพาดพิงถึงการอพยพเป็นการยืนยันว่าบทประพันธ์บทนี้เขียนขึ้นในสมัยหลัง เทียบ 10:26 ซึ่งเป็นข้อความที่เสริมเข้ามา 11:15-16 เป็นข้อความสมัยเนรเทศ และกล่าวถึงการกลับจากแดนเนรเทศประหนึ่งว่าเป็นการอพยพ(จากอียิปต์)อีกครั้งหนึ่งในอิสยาห์ที่สอง (40:3 เชิงอรรถ e)