“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“พระเยซูเจ้าจึงทรงแต่งตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์”

14. พระเยซูเจ้าทรงแต่งตั้งอัครสาวกสิบสองคน (2)
             พระเยซูเจ้าทรงเลือกบรรดาอัครสาวกเป็นจำนวน 12 คน เพื่ออ้างถึง 12 ตระกูลของอิสราเอล ที่เป็นเชื้อสายของบุตร12 คนของยาโคบ พระเยซูเจ้าทรงพระประสงค์ที่จะแต่งตั้งประชากรใหม่ของพระเจ้า แม้พระเยซูเจ้าทรงเรียกบรรดาอัครสาวกให้มาอยู่ด้วยกันเป็นหมู่คณะก็ยังทรงเรียกแต่ละคน ผู้ที่ถูกเลือกไม่เป็นผู้ที่มีคุณลักษณะพิเศษ ถ้าคิดตามประสามนุษย์บางคนไม่สมควรที่จะได้รับเลือก แต่นักบุญมาระโกต้องการเน้นว่า พระเยซูเจ้าทรงเลือกมนุษย์ดังที่เขาเป็น ทั้ง ๆ ที่ทุกคนมีข้อจำกัดและข้อบกพร่องนี่คือพระประสงค์ของพระองค์
- คือ นักบุญมาระโกบันทึกรายชื่อของบรรดาอัครสาวก เพราะพระองค์ทรงเลือกเขาทีละคนโดยทรงเรียกชื่อเฉพาะของแต่ละคนดังต่อไปนี้

-  ซีโมน  เป็นคำภาษากรีกย่อมาจากภาษาฮีบรูว่า“ซีเมโอน” หมายถึง “พระเจ้าทรงฟัง” เป็นชื่อบุตรคนหนึ่งของยากอบ ตามหนังสือปฐมกาล 29 :33

- พระเยซูเจ้าทรงตั้งชื่อใหม่ให้เขาว่า “เปโตร” ซึ่งแปลว่าศิลา การมาอยู่กับพระเยซูเจ้าทำให้เปโตรเปลี่ยนวิถีชีวิตจึงได้รับชื่อใหม่ พระองค์จะทรงมอบภารกิจพิเศษแก่เขาให้เป็นรากฐานของพระศาสนจักร

- ยากอบบุตรของเศเบดี และยอห์น น้องชายของยากอบ ยากอบเป็นชื่อของบรรพบุรุษอีกคนหนึ่งของชาวอิสราเอลเป็นชื่อภาษากรีกแทนคำว่า “ยาโคบ” ปฐก 25:26 อธิบายความหมายแบบชาวบ้านของชื่อนี้ว่า เขาเกิดมาโดยมีมือ “จับส้นเท้า” ของเอซาวแฝดคนพี่ไว้แน่นส่วนชื่อยอห์นเป็นคำภาษาฮีบรูหมายถึง “พระเจ้าโปรดปราน”

- พระองค์ทรงตั้งชื่อให้สองพี่น้องนี้ว่า “โบอาแนรเกส” ซึ่งแปลว่า “ลูกฟ้าร้อง”บางคนก็คิดว่า “ลูกฟ้าร้อง” นี้อาจหมายถึงอุปนิสัยใจร้อนโกรธง่ายของยากอบและยอห์น แต่อาจมีความหมายอื่นคือ เขาทั้งสองต้องเป็นผู้ประกาศข่าวดีด้วยความแข็งขัน เขาจะต้องเผยแผ่ข่าวดีบนแผ่นดินเหมือนฝกที่ตกลงทั่วไปหลังฟ้าร้องนักบุญมาระโกได้รวมชื่อเปโตร ยากอบและยอห์นด้วยกันเป็นพิเศษ เพราะอัครสาวกทั้งสามคนนี้เป็นกลุ่มเดียวที่ติดตามพระเยซูเจ้าในเหตุการณ์สำคัญต่างๆ เช่น เมื่อทรงรักษาบุตรหญิงของไยรัส (มก  5:37) เมื่อทรงสำแดงความรุ่งโรจน์บนภูเขา(มก 9:2) และเมื่อทรงอธิษฐานภาวนาในสวนเกทเสมานี (มก 14:33

- อันดรูว์เป็นคำภาษากรีกแปลว่า “ชาย”น่าสังเกตว่า พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวและลูกามีชื่อของอันดรูว์เป็นอัครสาวกลำดับที่สองต่อจากเปโตร แต่นักบุญมาระโกบันทึกชื่อของอันดรูว์ ซึ่งเป็นน้องชายของซีโมนเป็นลำดับที่ 4 อย่างไรก็ตามชื่อของเขานำหน้าอัครสาวกคนอื่น ๆ

- ฟิลิป เป็นคำภาษากรีกแปลว่า “ผู้รักม้า” คงจะเป็นอัครสาวกคนที่ชาวกรีกขอให้นำไปพบพระเยซูเจ้า น่าสังเกตว่า ทั้งอัครสาวกอันดรูว์และฟิลิปมีชื่อภาษากรีก และพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่เขาทั้งสองคน

- บารโธโลมิว เป็นคำภาษาอาราเมอิกหมายถึง “บุตรของโธลมาย” มักจะคิดว่าเป็นอัครสาวกคนเดียวกันที่นักบุญยอห์นเรียกว่านาธานาเอล (ยน 1:45-46)

- มัทธิว  เป็นคำภาษาอาราเมอิกหมายถึง “ของประทานจากพระยาห์เวห์” พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวเรียกเขาว่า “เลวี” คือคนเก็บภาษีคนเดียวกันที่นักบุญมาระโกเล่าใน2:13-17

- โทมัส เป็นคำภาษาอาราเมอิกหมายถึง “ฝาแฝด” บางคนคิดว่าชื่อนี้เป็นสมญานามไม่ใช่ชื่อจริงของอัครสาวกคนนี้ พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่เขา

- ยากอบบุตรของอัลเฟอัส เรียกว่าบุตรของอัลเฟอัสเพื่อแยกอัครสาวกคนนี้ออกจากยากอบบุตรของเศเบดี นักบุญมาระโกเรียกเขาอีกชื่อหนึ่งว่า “ยากอบคนเล็ก” (15:40)เพื่อแยกเขาจาก “ยากอบคนใหญ่”คือบุตรของเศเบดีบางคนคิดว่ายากอบบุตรของอัลเฟอัสผู้นี้คือ “น้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้า”(เทียบ กท 1:19;2:9; 1 คร15:7) ดังที่เราจะพบในหนังสือกิจการอัครสาวกว่า เขาเป็นประมุขของกลุ่มคริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็ม (เทียบ กจ 12:17;15:13; 21:18)

- ธัดเดอัส เป็นคำภาษาอาราเมอิกหมายถึง “ใจกล้า” นักบุญลูกาเรียกอัครสาวกคนนี้ว่า “ยูดาสบุตรของยากอบ”  (ลก 6:15; กจ 1:13)

- ซีโมนจากกลุ่มชาตินิยม  ต้นฉบับภาษากรีกเขียนว่า “ซีโมนชาวคานาอัน” แต่ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ทุกคนยอมรับว่า “ชาวคานาอัน” ในที่นี้ไม่ใช่ชื่อของผู้อาศัยในแผ่นดินคานาอัน แต่เป็นคำทับศัพท์จากภาษาอาราเมอิกหมายถึง “คนกระตือรือร้น” ซึ่งเป็นชื่อเฉพาะของกลุ่มชาตินิยมในสมัยของพระเยซูเจ้า เป็นกลุ่มของผู้ต่อสู้กับชาวโรมันที่ปกครองแผ่นดินอิสราเอล

- และยูดาสอิสคาริโอท ต่อมายูดาสผู้นี้ได้ทรยศต่อพระองค์ คำว่า “ยูดาส” เป็นชื่อของบุตรอีกคนหนึ่งของยาโคบ (ปฐก29:35) หมายถึง ”สรรเสริญ” ส่วนคำว่า “คาริโอท” อาจหมายถึง “ชาวคีริยาท” หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแคว้นยูเดีย (เทียบ (ยชว 15:25) หรือหมายถึง “ผู้ที่ใช้กริชเพื่อฆ่าคน” คือกลุ่มกบฏที่ต่อสู้กับรัฐบาลโรมัน น่าสังเกตว่า พระเยซูเจ้าทรงเลือกยูดาสเป็นอัครสาวกอย่างแน่นอน มิฉะนั้นแล้ว พระศาสนจักรแรก เริ่มคงจะไม่บันทึกชื่อนี้ในกลุ่มบรรดาอัครสาวก ถ้าเขาได้ทรยศต่อพระองค์

             จะเห็นได้ว่าในกลุ่มของบรรดาอัครสาวกมีบุคคลทุกอาชีพ เช่น ชาวประมง คนเก็บภาษี ผู้ที่ร่วมกลุ่มการเมืองเพื่อต่อสู้กับรัฐบาลโรมัน ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงเรียกคนหลายประเภทให้มาเปลี่ยนวิถีชีวิตและเป็นพยานถึงพระองค์ไม่ว่าผู้นั้นเคยดำเนินชีวิตเช่นไรมาก่อนก็ตาม

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก