“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

หนังสือประกาศกโฮเชยา

  1. บทที่ 1
  2. บทที่ 2
  3. บทที่ 3
  4. บทที่ 4
  5. บทที่ 5
  6. บทที่ 6
  7. บทที่ 7
  8. บทที่ 8
  9. บทที่ 9
  10. บทที่ 10
  11. บทที่ 11
  12. บทที่ 12
  13. บทที่ 13
  14. บทที่ 14

 ชื่อหนังสือ

1 1พระวาจาที่พระยาห์เวห์ตรัสกับโฮเชยาบุตรเบเอรี ในรัชสมัยของกษัตริย์อุสซียาห์ โยธาม อาคัส และเฮเซคียาห์แห่งยูดาห์ และในรัชสมัยของกษัตริย์เยโรโบอัมพระโอรสของกษัตริย์โยอาชแห่งอิสราเอลa

I. การแต่งงานที่เป็นสัญลักษณ์ของประกาศกโฮเชยาb

การแต่งงานของประกาศกโฮเชยา – ชื่อของบุตรทั้งสามคน

            2เมื่อพระยาห์เวห์ตรัสกับประกาศกโฮเชยาเป็นครั้งแรกนั้น พระยาห์เวห์ตรัสว่า “ไปซิ ไปรับหญิงแพศยาcมาเป็นภรรยา และจงมีบุตรจากหญิงแพศยานั้นd เพราะแผ่นดินนี้คอยแต่จะขายตัวอย่างหญิงแพศยา หันเหไปจากพระยาห์เวห์”

          3โฮเชยาจึงไปรับนางโกเมอร์บุตรหญิงของดิบลาอิมมาเป็นภรรยา นางตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายให้เขา 4พระยาห์เวห์ตรัสกับเขาว่า “จงตั้งชื่อบุตรคนนี้ว่า ‘ยิสเรเอล’e เพราะในไม่ช้าเราจะลงโทษพงศ์พันธุ์ของเยฮู เพราะเขาได้หลั่งเลือดที่เมืองยิสเรเอลf เราจะทำให้ราชวงศ์ของกษัตริย์อิสราเอลสิ้นสุด 5ในวันนั้น เราจะหักคันธนูของอิสราเอลในหุบเขายิสเรเอล”g

          6นางตั้งครรภ์อีกครั้งหนึ่งและคลอดบุตรหญิง พระยาห์เวห์ตรัสกับประกาศกโฮเชยาว่า “จงตั้งชื่อบุตรหญิงคนนี้ว่า ‘โลรุหะมาห์’ เพราะเราจะไม่สงสารพงศ์พันธุ์อิสราเอลอีกต่อไป เราจะไม่ให้อภัยเขาทั้งหลายอีกเลยh 7แต่เราจะสงสารพงศ์พันธุ์ยูดาห์ และเรา พระยาห์เวห์พระเจ้าของเขา จะช่วยกู้เขาให้รอดพ้น เราจะไม่ใช้คันธนู ดาบ สงคราม ม้า หรือพลม้าช่วยเขาให้รอดพ้น”i

          8เมื่อนางโกเมอร์ให้โลรุหะมาห์หย่านมแล้ว นางก็ตั้งครรภ์และคลอดบุตรชายอีกคนหนึ่ง 9พระยาห์เวห์ตรัสว่า “จงตั้งชื่อบุตรคนนี้ว่า ‘โลอัมมี’j เพราะท่านทั้งหลายไม่เป็นประชากรของเรา และเราก็ไม่เป็นพระเจ้าของท่าน”k

 

1 a ประกาศกยังจะประกาศพระวาจาต่อไปในรัชสมัยของกษัตริย์ต่อจากเยโรโบอัมที่ 2 จนถึงวาระสุดท้ายของอาณาจักรเหนือ (ปี 720 ก่อน ค.ศ.)

b หลายครั้งบรรดาประกาศกทำกิจการที่เป็นสัญลักษณ์ (ยรม 18:1 เชิงอรรถ a) แต่ที่นี่ชีวิตของประกาศกโฮเชยาเองเป็นสัญลักษณ์ถึงแผนการลึกลับของพระเจ้า ประกาศกโฮเชยาได้รักและยังคงรักภรรยาของตนที่มีแต่ทรยศต่อเขาเป็นการตอบสนองความรัก ในทำนองเดียวกัน พระยาห์เวห์ยังทรงรักอิสราเอลซึ่งเป็นประหนึ่ง “ภรรยา” ที่ไม่ซื่อสัตย์ของพระองค์ และเมื่อทรงลงโทษเธอแล้ว ก็ยังจะทรงรักเธอเหมือนเดิม และทำให้ความรักของเธอมีความมั่นคงไม่หวั่นไหว (บทที่ 1-3) ศาสนพิธีขอความอุดมสมบูรณ์ของชาวคานาอัน ซึ่งเพราะผู้ร่วมพิธีมีเพศสัมพันธ์กับ “หญิงบริการ” ของสักการสถาน ได้ชื่อ(จากพระคัมภีร์)ว่า “การขายตัวอย่างหญิงแพศยา” (prostitution) เป็นเวลานานก่อนสมัยของประกาศกโฮเชยาแล้ว (อพย 34:15) อิสราเอลซึ่งประพฤติตามแบบอย่างของชาวคานาอันจึงถูกกล่าวถึงว่าได้ “ขายตัวอย่างหญิงแพศยา” ด้วย (อพย 34:16) กระนั้นก็ดี ประกาศกโฮเชยาเป็นคนแรกที่ใช้ภาพพจน์การแต่งงานเพื่อบรรยายถึงความสัมพันธ์ของพระยาห์เวห์กับประชากรของพระองค์นับตั้งแต่พันธสัญญาที่ภูเขาซีนายเป็นต้นมา และเรียกการที่อิสราเอลหลงไปนับถือรูปเคารพว่าไม่ใช่เป็นเพียง “การขายตัวอย่างหญิงแพศยา” เท่านั้น แต่ยังเรียกว่า “การมีชู้” หรือ “การเล่นชู้” (adultery) อีกด้วย ประกาศกคนอื่นยังใช้ความคิดเช่นนี้ด้วย (อสย 1:21; ยรม 2:2; 3:1; 3:6-12) เอเสเคียลขยายความคิดนี้เป็นอุปมานิทัศน์ยาวถึงสองเรื่องในบทที่ 16 และ 23 ประกาศกอิสยาห์ที่สองกล่าวถึงการฟื้นฟูอิสราเอลขึ้นใหม่ว่าเป็นเหมือนการคืนดีของภรรยาที่ไม่ซื่อสัตย์ (อสย 50:1; 54:6-7; เทียบ 62:4-5) บางทีเราน่าจะมองความสัมพันธ์ของพระยาห์เวห์กับอิสราเอลในภาพการแต่งงานของหนังสือ พซม และ สดด 45 ในพันธสัญญาใหม่ พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงยุคพระเมสสิยาห์ว่าเป็นเหมือนงานมงคลสมรส (มธ 22:1-14; 25:1-13) และตรัสถึงพระองค์เองว่าทรงเป็นเสมือนเจ้าบ่าว (มธ 9:15; ยน 3:29) และดังนี้จึงทรงสอนว่าพันธสัญญาการสมรสระหว่างพระยาห์เวห์กับประชากรของพระองค์สำเร็จไปในพระบุคคลของพระองค์ เปาโลก็ยังกล่าวถึงความคิดเรื่องนี้ด้วย (2 คร 11:2; อฟ 5:25-33; ดู 1 คร 6:15-17 และ วว 21:2 ด้วย) *** บทที่ 1-3 นับเป็นตอนที่สมบูรณ์ตอนหนึ่งในสามตอนของหนังสือประกาศกโฮเชยา แต่ละตอนกล่าวถึงช่วงเวลาในสมัยของประกาศกอยู่บ้าง เมื่อพระเจ้าทรงตำหนิอิสราเอลที่ไม่ได้ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ และยังเป็นการเกริ่นถึงการคืนดีและความรอดพ้นด้วยดังนี้ ส่วนที่หนึ่ง 1:2-9; 2:1-3; ส่วนที่สอง 2:4-15; 2:16-25; ส่วนที่สาม 3:1-4; 3:5

c “หญิงแพศยา” ตามตัวอักษร “ภรรยาของการเป็นโสเภณี” (เทียบ 4:12; 5:4) โกเมอร์อาจเป็นที่รู้จักว่าเป็นหญิงโสเภณี (ตามสักการสถาน) มาตั้งแต่ต้น หรือมาประพฤติตนเป็นโสเภณีเช่นนี้ในภายหลัง

d “บุตรจากหญิงแพศยา” ไม่ใช่เพราะเด็กเกิดจากการมีชู้ผิดประเวณี แต่ได้ชื่อนี้ตามแม่ที่ไม่ซื่อสัตย์ ตามคำพังเพยที่ว่า “แม่เป็นอย่างไร ลูกก็เป็นอย่างนั้น” (อสค 16:44; บสร 41:5)

e ชื่อของบุตรทั้งสามคนของประกาศกโฮเชยาเป็นชื่อที่มีนัยการประกาศพระวาจาของประกาศก (ดู อสย 1:26 เชิงอรรถ n)

f “ยิสเรเอล” (แปลว่า “พระเจ้าทรงหว่าน” ดู 2:24-26) เป็นเมืองที่ประทับแห่งหนึ่งของกษัตริย์แห่งอิสราเอล ที่เมืองยิสเรเอลนี้เยฮูได้ปลงพระชนม์มเหสีและพระโอรสของกษัตริย์อาคับ (2 พกษ 9:15–10:14) แต่โฮเชยาประณามการกระทำเช่นนี้ ไม่เหมือนกับ 2 พกษ 10:30

g “หุบเขายิสเรเอล” และโดยเฉพาะเมืองเมกิดโดตรงที่หุบเขายิสเรเอลขยายกว้างเมื่ออยู่ห่างออกมาจากชายฝั่งทะเล ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมตามปกติระหว่างอียิปต์กับอัสซีเรีย และเป็นสนามรบสำคัญในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ (ดู วนฉ 4:12-16; 6:33; 1 ซมอ 28:4; 2 พกษ 23:29) สถานที่บริเวณนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของสนามรบในยุคสุดท้ายด้วย (ศคย 12:11; วว 16:16) ในขณะเดียวกัน ชื่อของสถานที่แห่งนี้ (“พระเจ้าทรงหว่าน”) ยังแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ และชวนให้คิดถึงพระสัญญาว่าประชากรใหม่จะเกิดขึ้น (2:24-25) ด้วย ดังนั้น จึงมีวลีว่า “วันแห่งยิสเรเอล” (2:2)

h “เราจะไม่ให้อภัยเขาทั้งหลายอีกเลย” หรือ “เราจะขจัดเขาโดยสิ้นเชิง” *** ชื่อ “โลรุหะมาห์” แปลว่า “ไม่สงสาร”

i ข้อนี้อาจถูกเสริมเข้ามาโดยศิษย์ของโฮเชยา ซึ่งหนีภัยลงมาในอาณาจักรยูดาห์หลังจากที่กรุงสะมาเรียถูกทำลายแล้ว เพื่อให้เป็นคำสอนสำหรับอาณาจักรใต้ที่ต้อนรับให้เขามาอาศัยหลบภัยอยู่ด้วย

j “โลอัมมี” แปลว่า “ไม่ใช่ประชากรของข้า” บุตรทั้งสามคนของประกาศกได้ชื่อตามลำดับความเคร่งครัดของพระยาห์เวห์ที่เพิ่มขึ้น ในขั้นสุดท้าย พระยาห์เวห์ทรงทอดทิ้งประชากรโดยสิ้นเชิง

k “เราก็ไม่เป็นพระเจ้าของท่าน” ตามตัวอักษรว่า “และเราไม่ใช่ ‘เราเป็น’ สำหรับท่าน” เป็นการกล่าวพาดพิงถึงความหมายของพระนาม “ยาห์เวห์” (อพย 3:14) เห็นได้ชัดว่าประกาศกโฮเชยาเข้าใจว่าพระนามของพระเจ้าหมายความถึงการที่พระเจ้าทรงทำพันธสัญญากับประชากร ประทับอยู่เพื่อทรงปกป้องและทรงพระกรุณาต่อเขา

ความหวังที่จะได้รับพระพร ในอนาคต

2 1ชาวอิสราเอลจะมีจำนวนมากเหมือนทรายในทะเลaซึ่งจะตวงหรือนับไม่ได้ และแทนที่bเขาจะถูกเรียกว่า “ท่านทั้งหลายไม่เป็นประชากรของเรา”

เขาจะได้ชื่อว่า “บุตรของพระเจ้าผู้ทรงชีวิต”

2ลูกหลานของยูดาห์และลูกหลานของอิสราเอลจะรวมกัน

จะตั้งหัวหน้าคนเดียวกัน

และจะงอกขึ้นจากแผ่นดินc

เพราะวันแห่งยิสเรเอลจะยิ่งใหญ่

3ท่านทั้งหลายจงเรียกพี่น้องที่เป็นชายของท่านว่า “ประชากรของเรา”

จงเรียกพี่น้องที่เป็นหญิงของท่านว่า “ผู้รับความเมตตา”d

พระยาห์เวห์กับอิสราเอลซึ่งเป็นเสมือนภรรยาที่ไม่ซื่อสัตย์e

4ท่านทั้งหลายจงกล่าวหาfมารดาของท่าน จงกล่าวหาเถิด

เพราะนางไม่เป็นภรรยาของเราอีกแล้ว

และเราไม่เป็นสามีgของนาง

ให้นางลบเครื่องหมายการเป็นหญิงแพศยาออกจากใบหน้า

และเอาเครื่องหมายของการมีชู้ออกจากอกของนางเสียh

5มิฉะนั้น เราจะเปลื้องผ้าของนางให้เปลือยi

ทำให้นางเปลือยเหมือนในวันที่เกิดมา

เราจะทำให้นางเป็นเหมือนถิ่นทุรกันดารj

ให้แห้งแล้งเหมือนแผ่นดินที่แตกระแหง

และปล่อยให้นางตายเพราะความกระหาย

6เราจะไม่สงสารบรรดาบุตรของนาง

เพราะเขาเป็นบุตรของหญิงแพศยา

7ใช่แล้ว มารดาของเขาได้เป็นหญิงแพศยา

ผู้ที่ให้กำเนิดเขาได้ประพฤติตนอย่างน่าละอาย

นางพูดว่า “ฉันจะตามหาบรรดาคนรักkของฉัน

เขาให้อาหารและน้ำแก่ฉัน

เขาให้ฉันมีขนแกะและป่าน

ทั้งน้ำมันมะกอกเทศและเครื่องดื่ม”

8เพราะเหตุนี้ เราจะนำหนามมาสุมทางของนาง

เราจะสร้างกำแพงกั้นนาง

เพื่อนางจะหาทางไม่พบl

9นางจะตามหาคนรักของนาง แต่จะตามไม่ทัน

นางจะแสวงหาเขา แต่ก็จะไม่พบ

แล้วนางจะพูดว่า “ฉันจะกลับไปหาสามีคนแรกของฉัน

เพราะแต่ก่อนนั้นฉันมีความเป็นอยู่ดีกว่าเดี๋ยวนี้”

10แต่นางไม่เคยรู้เลยว่าเราเป็นผู้ให้ข้าว

เหล้าองุ่น และน้ำมันมะกอกเทศแก่นาง

เราเคยให้เงินและทองคำจำนวนมากแก่นาง

แต่นางก็เอาไปใช้สำหรับพระบาอัลm

11ดังนั้น เราจะไปริบข้าวของเราคืนมาเมื่อถึงเวลา

จะไปริบเหล้าองุ่นใหม่ของเราเมื่อถึงฤดู

เราจะริบขนแกะและป่านของเรา

ที่นางใช้ปกคลุมร่างกายเปลือยของนางคืนมา

12บัดนี้ เราจะเปิดเผยร่างเปลือยของนางต่อหน้าบรรดาคนรัก

จะไม่มีผู้ใดแย่งชิงนางไปจากมือของเราได้

13เราจะทำให้ความยินดีของนางจบลง

ทั้งงานเลี้ยงฉลอง วันต้นเดือน วันสับบาโต และเทศกาลทั้งหลายของนาง

14เราจะทำลายเถาองุ่นและต้นมะเดื่อเทศnของนาง

นางเคยพูดถึงต้นไม้เหล่านี้ว่า

“นี่เป็นค่าจ้างที่คนรักให้ฉัน”

เราจะทำให้ต้นไม้เหล่านี้กลายเป็นป่า และเป็นอาหารของสัตว์ป่า

15เราจะลงโทษนางเพราะวันฉลอง

เมื่อนางเผาเครื่องหอมบูชาพระบาอัลต่างๆ

นางเคยสวมตุ้มหูและสายสร้อยเป็นเครื่องประดับ

ตามหาคนรักและลืมเรา

พระยาห์เวห์ตรัส

 

พระเจ้าทรงคืนดีกับอิสราเอล

          16“ดูซิ เรากำลังจะไปเกลี้ยกล่อมoนาง

                    เราจะนำนางไปในถิ่นทุรกันดารp

          เราจะพูดกับใจของนาง

          17และที่นั่น เราจะคืนสวนองุ่นให้นาง               

                    และจะทำให้หุบเขาอาโคร์qเป็นประตูแห่งความหวัง

          ที่นั่น นางจะตอบเรา                                 

เหมือนกับที่ได้ตอบเมื่อนางยังสาวอยู่

          เหมือนกับที่นางได้ตอบเมื่อออกจากแผ่นดินอียิปต์”

          18วันนั้น พระยาห์เวห์ตรัส

                    ท่านจะเรียกเราว่า “สามีของฉัน”

          ท่านจะไม่เรียกเราอีกต่อไปว่า “บาอัลของฉัน”r

                19เราจะเอาชื่อของพระบาอัลต่างๆ ออกจากปากของนาง

                    นางจะไม่จดจำชื่อเหล่านี้อีกต่อไป

                20ในวันนั้น เราจะทำพันธสัญญากับบรรดาสัตว์ป่า

                    นกในอากาศ และสัตว์เลื้อยคลานบนแผ่นดินเพื่อเขา

          เราจะหักคันธนูและดาบ

                    จะกำจัดสงครามจากแผ่นดิน

และเราจะทำให้เขาทั้งหลายนอนพักอย่างปลอดภัยs

                21เราจะแต่งงานtกับท่านตลอดไป

                    เราจะแต่งงานกับท่านด้วยความยุติธรรมและความชอบธรรม

          ด้วยความรักมั่นคงuและความเมตตากรุณา

          22เราจะหมั้นท่านไว้กับเราด้วยความซื่อสัตย์

                    และท่านจะรู้จักพระยาห์เวห์v

          23วันนั้น เราจะตอบ พระยาห์เวห์ตรัส

                    เราจะตอบท้องฟ้า

และท้องฟ้าจะตอบแผ่นดิน

24แผ่นดินจะตอบข้าว เหล้าองุ่น และน้ำมันมะกอกเทศ

สิ่งเหล่านี้จะตอบwยิสเรเอล

25เราจะหว่านxนางในแผ่นดินไว้สำหรับเรา

เราจะสงสารโลรุหะมาห์

และเราจะบอกโลอัมมีว่า “ท่านเป็นประชากรของเรา”

และเขาจะตอบว่า “พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าของข้าพเจ้า”y

 

2 a “มากเหมือนทรายในทะเล” เป็นการกล่าวซ้ำพระสัญญาแต่โบราณ ตามธรรมประเพณีเอโลฮิสต์ (E): ปฐก 22:17 และธรรมประเพณียาห์วิสต์ (J): ปฐก 32:13

b “แทนที่” ตามตัวอักษรว่า “ในสถานที่” บางคนจึงเข้าใจว่าเป็นการกล่าวถึงเมืองยิสเรเอล “สถานที่” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “วันของพระยาห์เวห์” (ดู อมส 5:18 เชิงอรรถ m; ดู 1:5 ด้วย)

c “งอกขึ้นจากแผ่นดิน” ความหมายไม่ชัดเจน บางทีอาจหมายถึงอิสราเอลในอนาคตซึ่งจะเป็นเหมือนหญ้าที่งอกขึ้นงามและปกคลุมพื้นดินจนแน่น บางคนเข้าใจว่า “เขาทั้งหลายจะแผ่ขยายไปนอกแผ่นดินของตน” หรือ “เขาทั้งหลายจะมาจากแผ่นดิน (เนรเทศ) ของตน”

d “ประชากรของเรา” และ “ได้รับความเมตตา” นามสัญลักษณ์ใหม่เหล่านี้ตรงกันข้ามกับนามใน 1:6, 9 ไม่มีนามใหม่เข้ามาแทน “ยิสเรเอล” บุตรคนแรกของโฮเชยา เพราะนามนี้มีความหมายได้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบ (ดู 1:5 เชิงอรรถ g)

e พระยาห์เวห์ตรัสในฐานะที่เป็นสามีซึ่งถูกทรยศที่พยายามจะนำภรรยาที่ไม่ซื่อสัตย์กลับมาอยู่กับตนอีก แม้จะต้องลงโทษให้หนัก ถ้าจำเป็น ถ้าประสบความสำเร็จ เขาจะทดลองการกลับตัวของนาง แล้วจะยินดีรับนางกลับมาด้วยความรักที่อบอุ่นเหมือนความรักครั้งแรก และจะประทานของขวัญมากมายให้นางด้วย

f “จงกล่าวหา” การพิจารณาคดีของพระเจ้าเป็นความคิดทางวรรณกรรมที่พบได้เป็นประจำในพันธสัญญาเดิม (ดู 4:1; สดด 50; อสย 3:13; ยรม 2:9; มคา 6:1) ในการพิจารณาคดีเช่นนี้พระเจ้ามักทรงให้การเป็นพยานกล่าวโทษประชากรที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อพระองค์ แต่ที่นี่ บุตรซึ่งมีความผิดเหมือนกับมารดา (1:2; 2:6) ถูกเรียกร้องให้เป็นพยานกล่าวโทษมารดา และดังนี้ ให้แยกตนจากความเลวของนาง

g “เราไม่เป็นสามี” เป็นสูตรที่ดูเหมือนจะใช้เพื่อการหย่าร้างในอิสราเอล สูตรนี้มีหลักฐานยืนยันแน่ๆ ในเอกสารของแคว้นเมโสโปเตเมีย

h “เครื่องหมายการเป็นหญิงแพศยา” และ “เครื่องหมายของการมีชู้” อาจหมายถึง “ตะกรุด” “เครื่องลาง” “ลายสัก” หรือเครื่องหมายอื่นเฉพาะของหญิงบริการทางเพศ (ดู ปฐก 38:15; สภษ 7:10)

i “เปลื้องผ้าของนางให้เปลือย” โทษการเปลื้องเสื้อผ้าภรรยาที่ทำผิด (ดู อสย 47:2-3; ยรม 13:22; อสค 16:37-39; นฮม 3:5; วว 17:16) และยังพบได้ที่อื่นอีกในตะวันออกกลาง

j เป็นการเปลี่ยนเรื่องจาก “ภรรยา” ไปเป็นเรื่อง “ที่ดิน” ความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรกรรมของแผ่นดินคานาอันซึ่งดึงดูดอิสราเอลให้ไปกราบไหว้พระบาอัล (10:1; 13:6) จะต้องถูกทำลาย (4:3; 5:7; 9:6; 13:15)

k “คนรัก” หมายถึงเทพเจ้าต่างๆ แห่งความอุดมสมบูรณ์ของชาวคานาอัน ซึ่งเป็นการสำแดงองค์ของพระบาอัลตามท้องถิ่นต่างๆ (ข้อ 15, 19)

l “หาทางไม่พบ” ตามตัวอักษรว่า “ทางของนาง” ตามต้นฉบับภาษากรีกและซีเรียค ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ทางของท่าน”

m “สำหรับพระบาอัล” อาจหมายถึงการนำโลหะเหล่านี้ไปหล่อหลอมทำรูปเคารพของพระบาอัล หรือการนำไปถวายแด่พระบาอัล

n เถาองุ่นและต้นมะเดื่อเทศเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและความสะดวกสบาย ซึ่งเป็นเครื่องหมายของรัชสมัยของกษัตริย์ซาโลมอน (1 พกษ 5:5) และของยุคพระเมสสิยาห์ (มคา 4:4; ศคย 3:10) ที่นี่ความเจริญรุ่งเรืองได้ชักชวนประชากรให้หลงทางไปจากพระยาห์เวห์ (ดู ฉธบ 8:11-20) และส่งเสริมให้พวกเขากราบไหว้เทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเขาหลงคิดว่าเป็นผู้นำความอุดมสมบูรณ์มาให้แก่แผ่นดิน (ข้อ 7-14)

o “เกลี้ยกล่อม” คำนี้ในภาษาฮีบรูมีความหมายค่อนข้างจะรุนแรง หมายถึงการ “หลอกล่อ” ให้คนหนึ่งกระทำกิจการที่เขาไม่ควรทำ (เทียบ วนฉ 14:15) คำนี้ยังหมายถึงการที่ชายคนหนึ่งหลอกลวงหญิงสาวให้ยอมเสียตัวแก่ตน (อพย 22:15)

p “ถิ่นทุรกันดาร” สำหรับ ฮชย 12:10 และ อมส 5:25 ชีวิตในถิ่นทุรกันดารของชาวอิสราเอลสมัยอพยพเป็นวิถีชีวิตในอุดมการณ์ที่จบสิ้นลงเมื่อประชากรเข้ามาอยู่ในแผ่นดินคานาอัน ในถิ่นทุรกันดาร อิสราเอลเปรียบเหมือนเด็กไร้เดียงสา (11:1-4) ยังไม่รู้จักเทพเจ้าของชนชาติอื่น และติดตามพระยาห์เวห์อย่างซื่อสัตย์ (2:16-17) เกี่ยวกับทรรศนะของบรรดาประกาศกเรื่องการอพยพ ดู อสย 40:3 เชิงอรรถ e

q “หุบเขาอาโคร์” หมายถึงหุบเขาใกล้เมืองเยรีโคซึ่งเป็นทางผ่านเข้าแผ่นดินคานาอัน เป็นสถานที่ที่ชาวอิสราเอลถูกพระเจ้าทรงลงโทษเพราะได้กบฏต่อพระองค์ (ยชว 7:24-26) คำ “อาโคร์” มีความหมายว่า “โชคร้าย” ตาม ยชว 7:26 เชิงอรรถ j แต่หุบเขานี้จะเป็น “ประตูแห่งความหวัง” เพราะจะเป็นทางเข้าสู่แผ่นดินแห่งพระสัญญาที่พระเจ้าจะประทานพระพรให้ใหม่

r “บาอัลของฉัน” คำว่า “บาอัล” ซึ่งแปลว่า “นาย” ยังใช้หมายถึง “สามี” ได้ด้วย ตั้งแต่โบราณมาแล้ว คำว่า “บาอัล” ถูกใช้ควบคู่กับชื่อเฉพาะของหลายคน (ดู 1 ซมอ 14:49 เชิงอรรถ v; 2 ซมอ 2:8; 1 พศด 8:33; 9:39, 40) โดยไม่มีความหมายเกี่ยวกับการนับถือรูปเคารพ เพราะพระยาห์เวห์ก็เป็น “นาย” ของผู้ที่มีชื่อนั้นด้วย แต่ต่อมาเมื่อชื่อ “บาอัล” มักจะใช้เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าของชาวคานาอัน ทำให้การใช้ชื่อ “บาอัล” เป็นที่เสื่อมเสียน่ารังเกียจ เพราะฉะนั้นประกาศกโฮเชยาจึงห้ามไม่ให้ใช้ชื่อนี้ (ข้อ 19) การเปลี่ยนความหมายจาก “นายของฉัน” มาเป็น “สามีของฉัน” จึงเป็นการกล่าวเป็นนัยว่าตั้งแต่นี้ไป การเน้นจะอยู่ที่ความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยามากกว่าการที่สามีเป็นเจ้านายของภรรยา (เทียบ ยน 15:15)

s เมื่อประชากรที่ไม่ซื่อสัตย์สำนึกผิดแล้ว พระยาห์เวห์จะทรงแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ที่เลี้ยงดูและปกป้องอิสราเอล ไม่ใช่พระบาอัล (ข้อ 20-25) แล้วพระเจ้าจะเสด็จกลับมาประทับอยู่กับประชากรของพระองค์และประทานพระพรให้เขา (เทียบ ลนต 26:3-13; ฉธบ 28:1-14) ท้องฟ้าจะหลั่งฝนลงมาตามฤดูกาล และแผ่นดินจะให้ผลิตผลอุดมสมบูรณ์ (อสย 30:23-26; 49:10; ยรม 31:12, 14; อสค 34:26-27, 29; 36:29-30; ฮชย 2:23-24; 14:8-9; ยอล 2:19, 22-24; 4:18; อมส 9:13; ศคย 8:12) จะไม่ต้องกลัวว่าชนต่างชาติจะมายึดครองแผ่นดิน (อสย 32:17-18; ยรม 46:27; ยอล 2:20; มคา 5:4; ดู อสย 4:5-6 ซึ่งมีคำอธิบายใน 25:4-5) พระเจ้าจะทรงทำสัญญาสำหรับแผ่นดินนี้กับสัตว์ป่าด้วย (อสค 34:25,28; ฮชย 2:20) สันติภาพจะแผ่ไปถึงชนทุกชาติ (อสย 2:4 = มคา 4:3; ดู อสย 11:6-8 เชิงอรรถ e; 65:25) โดยมีพระเมสสิยาห์-กษัตริย์ทรงเป็นผู้นำ (อสย 9:5-6; ศคย 9:10) แม้กระทั่งความตายก็จะสูญหายไป (อสย 25:7-8) และความยินดีจะเข้ามาแทนที่ความทุกข์และน้ำตา (อสย 65:18-19; ยรม 31:13; บรค 4:23, 29; เทียบ วว 21:4)

t “แต่งงาน” กริยาคำนี้ในภาษาฮีบรูใช้เฉพาะกับหญิงสาวพรหมจารี ดังนั้นจึงมีความหมายว่าพระเจ้าจะทรงลบล้างอดีตที่แปดเปื้อนของอิสราเอล ทำให้เป็นเสมือนสาวพรหมจารีอีกครั้งหนึ่ง การแต่งงานครั้งนี้จะทำให้อิสราเอลเป็นสิ่งสร้างใหม่ที่พระยาห์เวห์จะทรงทำพันธสัญญาใหม่ด้วย ดังที่ประกาศกเยเรมีย์และเอเสเคียลจะพัฒนาความคิดนี้ต่อไป พันธสัญญาครั้งนี้จะเป็นพันธสัญญาใหม่และถาวรที่มีธรรมบัญญัติจารึกไว้ในใจ จะมีจิตใหม่ ใจใหม่ (ยรม 31:31-34; อสค 36:26-27 เชิงอรรถ f)

u “ความรักมั่นคง” ความหมายแรกของคำ “hesed” ในภาษาฮีบรูคำนี้คือ “ความสัมพันธ์” หรือ “ความผูกพัน” ถ้ามีอยู่ในหมู่มนุษย์ก็หมายถึงมิตรภาพ การอยู่ร่วมกัน ความซื่อสัตย์ต่อกัน โดยเฉพาะเพื่อความสัมพันธ์นี้เป็นผลมาจากการตกลงกัน ถ้าใช้คำนี้กับพระเจ้า ก็มีความหมายว่าพระองค์ทรงซื่อสัตย์ต่อพันธสัญญาที่ทรงกระทำไว้รวมทั้งพระกรุณาที่ทรงแสดงต่อประชากรที่ทรงเลือกสรรไว้ (ใน อพย 34:6) ประกาศกใช้คำนี้ในบริบทของความรักระหว่างสามีภรรยา คำนี้จึงมีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้น คือหมายถึงความรักอ่อนโยนที่พระเจ้าทรงมีต่อประชากรของพระองค์ (สดด 136; ยรม 31:3, ฯลฯ) และพระพรต่างๆ ที่สืบเนื่องมาจากความรักนี้ (อพย 20:6; ฉธบ 5:10; 2 ซมอ 22:51; สดด 18:50; ยรม 32:18) แต่ทว่า “ความรักมั่นคง” หรือ ‘hesed” นี้ของพระเจ้าก็เรียกร้องให้มนุษย์แสดง “ความรักมั่นคง” หรือ “hesed” ระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยเช่นเดียวกัน (ฮชย 6:6) คือมนุษย์ต้องมีความวางใจกัน เสียสละให้แก่กัน มีความรักใคร่ลึกซึ้ง มี “ศรัทธา” ต่อกัน พูดสั้นๆ ก็คือมนุษย์ต้องมีความรัก ยินดีปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้าและประกอบกิจการแสดงความรักต่อกัน (ฮชย 6:6) อุดมการณ์เช่นนี้แสดงให้เห็นในเพลงสดุดีหลายบท ต่อมาจะกลายเป็นอุดมการณ์ของพวก “hasidim” หรือ “ผู้ศรัทธาเคร่งครัดในศาสนา” (ดู 1 มคบ 2:42 เชิงอรรถ i)

v “รู้จักพระยาห์เวห์” สำหรับประกาศกโฮเชยา “การรู้จักพระยาห์เวห์” และ “ความรักมั่นคง” ต้องควบคู่กันอยู่เสมอ (2:21-22; 4:2; 6:6) “การรู้จัก” นี้จึงไม่เป็นเพียงความรู้ทางสติปัญญาเท่านั้น พระเจ้าทรงแสดงพระองค์ให้มนุษย์ “รู้จัก” เมื่อทรงผูกมัดพระองค์โดยพันธสัญญาและทรงแสดง “ความรักมั่นคง” (hesed) ของพระองค์ต่อมนุษย์ ในทำนองเดียวกัน มนุษย์จะ “รู้จักพระเจ้า” ได้ก็เมื่อเขาปฏิบัติตามพันธสัญญาของพระองค์ แสดงความกตัญญูรู้คุณต่อพระองค์สำหรับพระพรที่ได้รับ และตอบสนองความรักของพระองค์ด้วยการแสดงความรักเช่นเดียวกัน (สภษ 2:5; อสย 11:2; 58:2) ในวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ “ความรู้” และ “ความมีปรีชา” มีความหมายเหมือนกันในทางปฏิบัติ

w ให้สังเกตการซ้ำคำว่า “ตอบ” พระเจ้าจะทรงตอบสิ่งสร้างที่รอคอยพระองค์ และสิ่งสร้างจะตอบสนองสิ่งที่ประชาชนรอคอยจากสิ่งสร้างนั้นตามแผนการของพระเจ้า สภาพการณ์เช่นนี้ตรงข้ามกับสภาพปัจจุบันที่มีแต่ความสับสนอันเนื่องมาจากบาป (ดู 4:3; ปฐก 3:17ฯ; อสย 11:6 เชิงอรรถ e; รม 8:19 เชิงอรรถ j)

x “เราจะหว่าน” เป็นการเล่นคำกับความหมายของชื่อ “ยิสเรเอล” (ดู 1:5 เชิงอรรถ g) *** “นาง” ที่นี่คืออิสราเอลซึ่งเป็นภรรยาที่ซื่อสัตย์ เป็นความคิดแบบกวี

y ชื่อที่เป็นลางร้ายถูกยกเลิก และหายนะที่ชื่อนั้นทำนายไว้ก็ถูกขจัดไปโดยความรักที่พระเจ้าและประชากรของพระองค์มีต่อกัน

ประกาศกโฮเชยาคืนดีกับภรรยาที่ไม่ซื่อสัตย์

3 1พระยาห์เวห์ตรัสกับข้าพเจ้าว่า “จงไปอีก จงไปรักหญิงซึ่งรักaผู้อื่น เป็นหญิงมีชู้ จงรักนางเหมือนที่พระยาห์เวห์ทรงรักชาวอิสราเอล แต่เขาหันไปกราบไหว้เทพเจ้าอื่นและชอบองุ่นแห้งอัด”b 2ข้าพเจ้าจึงไปจ่ายเงินหนักสิบห้าบาทกับข้าวบาร์เลย์หนึ่งโฮเมอร์ครึ่งcซื้อนางมา 3ข้าพเจ้าบอกนางว่า “เธอจะอยู่กับฉันdเป็นเวลานาน อย่ามีชู้อีก อย่าไปเป็นของชายอื่นอีก และฉันก็จะวางตัวกับเธอเช่นเดียวกัน”

4เพราะชาวอิสราเอลจะอยู่โดยไม่มีกษัตริย์ ไม่มีเจ้านายเป็นเวลานาน ทั้งจะไม่มีการถวายบูชา ไม่มีเสาศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีเสื้อกั๊กและรูปเคารพประจำบ้าน 5หลังจากนั้น ชาวอิสราเอลจะกลับมา จะแสวงหาพระยาห์เวห์องค์พระผู้เป็นเจ้าของตน แสวงหาดาวิดกษัตริย์ของตนe และในวาระสุดท้ายเขาจะกลับมายำเกรงพระยาห์เวห์และจะได้รับพระพรจากพระองค์

 

3 a “ซึ่งรัก” ตามต้นฉบับภาษากรีกและซีเรียค ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ถูกรักโดย” (= เป็นคนรักของ) แน่นอนนางโกเมอร์ซึ่งประกาศกโฮเชยาเคยรักและยังคงรักอยู่ นางไม่ได้ซื่อสัตย์และยังคงไม่ซื่อสัตย์ต่อเขาอยู่อีก ความใจดีของประกาศกต่อนางที่ไม่ซื่อสัตย์ เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ไม่เปลี่ยนแปลงหย่อนยานของพระยาห์เวห์ต่อประชากรของพระองค์

b “(เขาชอบ) องุ่นแห้งอัด” ยังแปลได้อีกว่า “เทพเจ้าอื่นซึ่งชอบองุ่นแห้งอัด” (ดู ดนล 14:5-8) “องุ่นแห้งอัด” เป็นของถวายอย่างหนึ่งแด่เทพเจ้า (2 ซมอ 6:19; 1 พศด 16:3; พซม 2:5) หรือเป็นขนมที่ถวายแด่ “เทพีราชินีแห่งสวรรค์” (ยรม 7:18 และ 44:19)

c โฮเชยาไถ่นางโกเมอร์คืนมาจากนายของนาง หรือจากสักการสถานที่นางไปเป็น “โสเภณีศักดิ์สิทธิ์” ราคาค่าไถ่นางทั้งหมดเป็นราคาเท่ากับราคาค่าไถ่ทาสคนหนึ่ง (อพย 21:32; ลนต 27:4) 1 โฮเมอร์ = 450 ลิตร *** “หนึ่งโฮเมอร์ครึ่ง” บางคนแปลว่า “(ข้าวสาลี) หนึ่งโฮเมอร์และเหล้าองุ่นหนึ่งถุง (หนัง)”

d “อยู่กับฉัน” เป็นเวลาแห่งการทดลองตามที่ข้อ 4 ให้คำอธิบาย ก่อนที่พันธสัญญาระหว่างพระยาห์เวห์กับอิสราเอลจะรื้อฟื้นขึ้นใหม่ (เทียบ 2:8-9, 16)

e “ดาวิดกษัตริย์ของตน” (ยรม 30:9; อสค 34:23) *** เกือบจะแน่นอนว่าวลีนี้เป็นวลีที่เสริมเข้ามาภายหลังในแคว้นยูดาห์ (ดู 1:7 เชิงอรรถ i)

II. ความผิดของอิสราเอลและการลงโทษ

 

ข้อกล่าวหาอิสราเอล

4 1ชาวอิสราเอลเอ๋ย จงฟังพระวาจาของพระยาห์เวห์เถิด

                    เพราะพระยาห์เวห์ทรงมีข้อกล่าวหาผู้อาศัยของแผ่นดิน

ในแผ่นดินนี้ไม่มีความซื่อสัตย์ ไม่มีความรักมั่นคง

ไม่มีการรู้จักพระเจ้า

2มีแต่การสาบานเท็จ การมุสา การเข่นฆ่า

การลักขโมยและการล่วงประเวณี

มีการใช้ความรุนแรง มีการหลั่งเลือดครั้งแล้วครั้งเล่า

3เพราะเหตุนี้ แผ่นดินจึงเป็นทุกข์

ทุกคนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินก็หมดเรี่ยวแรง

ทั้งสัตว์ป่าและนกในอากาศ

รวมทั้งปลาในทะเลก็จะสูญหายไปa

 

ข้อกล่าวหาบรรดาสมณะ

            4สมณะเอ๋ย อย่าให้ผู้ใดกล่าวหา อย่าให้ผู้ใดตำหนิท่าน

                    เราเองจะกล่าวหาท่านb

5แม้เวลากลางวันท่านก็จะสะดุดล้ม

ในเวลากลางคืนประกาศกก็จะสะดุดล้มพร้อมกับท่าน

เราจะทำลายมารดาของท่านc

6ประชากรของเราถูกทำลายเพราะขาดความรู้

เพราะท่านปฏิเสธไม่ยอมรับความรู้d

เราก็จะปฏิเสธไม่ยอมรับท่านเป็นสมณะของเรา

ท่านได้ลืมคำสั่งสอนของพระเจ้าของท่าน

เราก็จะลืมลูกหลานของท่านด้วย

7เขาทวีจำนวนมากขึ้นเท่าใด

เขาก็ทำบาปผิดต่อเรามากขึ้นเท่านั้น

เราจะให้เกียรติยศของเขากลายเป็นความอับอายe

8เขาเลี้ยงชีพจากบาปของประชากรของเรา

เขาปรารถนาให้ประชากรทำผิดมากๆf

9ประชากรเป็นอย่างไร สมณะก็เป็นอย่างนั้น

เราจะลงโทษเขาตามความประพฤติของเขา

เราจะลงโทษเขาตามการกระทำของเขา

10เขาจะกิน แต่จะไม่อิ่ม

เขาจะเป็นชู้g แต่จะไม่มีบุตร

เพราะเขาได้ทอดทิ้งพระยาห์เวห์

เพื่อกราบไหว้เทพเจ้าอื่น

อิสราเอลกราบไหว้รูปเคารพ

            11เหล้าองุ่นเก่าและเหล้าองุ่นใหม่

ทำให้เสียสติh

12ประชากรของเราไปปรึกษาไม้ท่อนหนึ่ง

และไม้เท้าก็ให้คำตอบiแก่เขา

เพราะจิตการเล่นชู้ทำให้เขาหลงไป

เขาทั้งหลายได้เล่นชู้ละทิ้งพระเจ้าของตน

13เขาถวายเครื่องบูชาบนยอดเขา

เผาเครื่องหอมบนเนินเขา

ใต้ต้นโอ๊ก ต้นปอปลาร์ และต้นกระถินเทศ

เพราะต้นไม้เหล่านี้มีร่มเงาดี

ดังนั้น บรรดาบุตรหญิงของท่านจึงมีชู้

และสะใภ้ของท่านล่วงประเวณี

14เราจะไม่ลงโทษบุตรหญิงของท่านที่มีชู้

จะไม่ลงโทษสะใภ้ของท่านที่ล่วงประเวณีj

เพราะผู้ชายเองก็หลงไปกับหญิงแพศยา

และถวายเครื่องบูชากับหญิงแพศยาตามสักการสถาน

ประชากรไม่มีความเข้าใจจึงต้องพินาศ

คำเตือนสำหรับยูดาห์และอิสราเอล

            15อิสราเอลเอ๋ย แม้ท่านเป็นชู้

                    ก็อย่าให้ยูดาห์มีความผิดด้วย

อย่าไปที่เมืองกิลกาล

อย่าขึ้นไปที่เมืองเบธอาเวนk

อย่าสาบานว่า “พระยาห์เวห์ทรงพระชนม์อยู่แน่ฉันใด”

16เพราะอิสราเอลดื้อดึงเหมือนโคสาวที่ดื้อ

เป็นไปได้หรือที่พระยาห์เวห์จะทรงเลี้ยงเขา

อย่างเลี้ยงลูกแกะในทุ่งกว้าง

17เอฟราอิมทำสัญญากับรูปเคารพ

ปล่อยเขาตามลำพังเถิด

18เมื่อเขาดื่มจนเมาแล้ว เขาก็ไม่ทำอะไรนอกจากเป็นชู้

เขารักความอับอายมากกว่ารักเกียรติยศlของตน

19ลมใช้ปีกห่อเขาไว้

เขาจะอับอายเพราะการถวายบูชาของตน

 

4 a ประกาศกโฮเชยากล่าวถึงสถานการณ์ที่เป็นจริงว่า ตรงข้ามกับสถานการณ์ตามอุดมการณ์ของประชากรที่จะได้รับการฟื้นฟู (2:21-25) ไม่มีทั้งความจริงใจ ไม่มีความรัก ไม่มีการรู้จักพระเจ้า (ข้อ 1; เทียบ 2:21ฯ) แทนที่จะมีความกลมกลืนกันระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม (2:20, 23ฯ) กลับมีแต่ความไม่ซื่อสัตย์และความตาย (4:3; เทียบ 2:24 เชิงอรรถ w)

b “เราเองจะกล่าวหาท่าน” ข้อความนี้ถูกแก้ไขให้เข้ากับบริบท เพราะต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ประชากรของท่านเป็นเหมือนผู้ที่กล่าวหาสมณะ” ซึ่งดูจะไม่เข้ากับบริบท บรรดาสมณะโดยส่วนรวมถูกกล่าวหาว่าไม่มีความรู้ ไม่เอาใจใส่ มีความโลภ และแม้กระทั่ง (6:9) ใช้ความรุนแรง สำหรับการกล่าวโทษอื่นๆ ดู ยรม 2:8; 6:13; มคา 3:11; ศฟย 3:4 และโดยเฉพาะ มลค 1:6–2:9

c หลักการเรื่องความรับผิดชอบส่วนตัวต่อการกระทำของตนจะไม่เป็นที่รู้จักจนกระทั่งหนึ่งศตวรรษหลังจากนั้น (ดู ปฐก 18:24 เชิงอรรถ f; อสค 14:12 เชิงอรรถ d) เรื่องประกาศกที่ไม่เหมาะสม ดู ยรม 23:13-22; มคา 3:5, 11

d “ความรู้” หมายถึงความรู้เรื่องธรรมบัญญัติที่บรรดาสมณะจะต้องนำไปสอนประชากร (ฉธบ 33:10; มลค 2:5-8)

e “เราจะให้เกียติยศของเขากลายเป็นความอับอาย” บางคนแปลตามสำนวนแปลโบราณภาษาอาราเมอิก (Targum) และซีเรียคว่า “เขาทั้งหลายได้แลกเกียรติยศของตน (คือพระยาห์เวห์) กับความอับอาย (คือพระบาอัล)

f “เขาปรารถนาให้ประชากรทำผิดมากๆ” เพราะบรรดาสมณะได้รับส่วนแบ่งส่วนใหญ่ของเนื้อสัตว์ที่ถวายเป็นเครื่องบูชาชดเชยบาป (ลนต 6:19-22) และเครื่องบูชาชดเชยความผิด (ลนต 7:7) โดยวิธีนี้ บาปของประชากรจึงเป็นประโยชน์แก่บรรดาสมณะ (ดู 1 ซมอ 2:12-17)

g “เขาจะเป็นชู้” หมายถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่เป็นศาสนพิธีของชาวคานาอันตามสักการสถานบนที่สูงเพื่อวอนขอความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน

h “เหล้า...เสียสติ” ประโยคนี้ไม่ใช่คำกล่าวอย่างผิวเผินถึงผลของการดื่มเหล้าองุ่น แต่เป็นการตำหนิอิสราเอลที่คิดว่าศาสนพิธีเท่านั้นเป็นเหตุผลทำให้เก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรได้อย่างอุดมบริบูรณ์โดยไม่คำนึงถึงพระยาห์เวห์ (เทียบ 7:14)

i “ไม้เท้าก็ให้คำตอบ” หมายถึงการทำนายโดยใช้ท่อนไม้เป็นเครื่องมือ

j “เราจะไม่ลงโทษ...” เพราะความผิดของหญิงเหล่านี้มีน้อยกว่า เพราะสามีและบิดาให้ตัวอย่างเลวๆ แก่นาง

k “เบธอาเวน” (= บ้านของบาป) เป็นสมญาเยาะเย้ยต่อเมืองเบธเอล (ซึ่งแปลว่า “บ้านของพระเจ้า”)

l “เกียรติยศ” หมายถึงพระยาห์เวห์ แปลโดยคาดคะเน ไม่อ่านคำนี้ตามเสียงสระใน MT ซึ่งทำให้คำนี้หมายความว่า “โล่” (เทียบข้อ 7ข)

ข้อกล่าวหาบรรดาสมณะและราชวงศ์

5 1สมณะทั้งหลายเอ๋ย จงฟังเถิด

พงศ์พันธุ์อิสราเอลเอ๋ย จงตั้งใจฟัง

ราชวงศ์เอ๋ย จงเงี่ยหูฟังเถิด

เพราะท่านทั้งหลายมีหน้าที่พิพากษา

แต่ท่านเป็นกับดักอยู่ที่เมืองมิสปาห์

และเป็นตาข่ายที่กางอยู่บนภูเขาทาโบร์a

2เขาทั้งหลายได้ขุดหลุมลึกที่เมืองชิทธิมb

เราจึงจะลงโทษเขาทุกคน

ผลของความดื้อรั้น

            3เรารู้จักเอฟราอิม

และอิสราเอลก็ไม่ถูกปิดบังไว้จากเรา

เอฟราอิมเอ๋ย ท่านขายตัว

อิสราเอลทำตนเป็นมลทิน

4กิจการของเขาไม่ทำให้เขากลับมาหาพระเจ้าของตน

เพราะเขามีจิตการขายตัวในหมู่เขา

เขาจึงไม่รู้จักพระยาห์เวห์

          5ความเย่อหยิ่งของอิสราเอลเป็นพยานกล่าวโทษเขา

อิสราเอลและเอฟราอิมจะสะดุดล้มเพราะความผิดของตน

ยูดาห์ก็จะพลอยล้มพร้อมกับเขาทั้งหลายด้วย

6เขาจะต้อนฝูงแพะแกะและฝูงโคไปแสวงหาพระยาห์เวห์

แต่จะหาไม่พบ เพราะพระยาห์เวห์ทรงปลีกพระองค์ไปจากเขาแล้ว

7เขาได้ทรยศต่อพระยาห์เวห์

เพราะเขาให้กำเนิดลูกนอกสมรส

บัดนี้ วันต้นเดือนจะทำลายเขาc

พร้อมกับดินแดนของเขา

สงครามระหว่างพี่น้องd

          8จงเป่าเขาสัตว์ในเมืองกิเบอาห์

จงเป่าแตรที่เมืองรามาห์

จงร้องตะโกนเตือนภัยที่เมืองเบธอาเวน

เบนยามินเอ๋ย จงเตรียมพร้อมเถิดe

9เมื่อวันลงโทษมาถึง เอฟราอิมจะถูกทำลาย

เราประกาศเหตุร้ายfที่จะเกิดขึ้นแน่นอนแก่บรรดาเผ่าของอิสราเอล

10เจ้านายของยูดาห์ได้กลายเป็นเหมือนคนที่ย้ายหลักเขตg

เราจะเทความโกรธของเราเหนือเขาเหมือนเทน้ำ

11เอฟราอิมถูกข่มเหง ถูกคำพิพากษาเหยียบย่ำh

เพราะเขาตั้งใจเดินตามหาสิ่งไร้สาระi

12เราจะเป็นเหมือนมอดสำหรับเอฟราอิม

และเป็นเหมือนไม้ผุสำหรับพงศ์พันธุ์ยูดาห์

สนธิสัญญากับชนต่างชาติเป็นความโง่เขลา

13เอฟราอิมเห็นความเจ็บป่วยของตน

และยูดาห์เห็นบาดแผลของตน

เอฟราอิมจึงไปหาอัสซีเรีย

และยูดาห์ส่งทูตไปเฝ้ากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่j

แต่พระองค์ก็ไม่อาจรักษาท่านได้

ไม่อาจทำให้บาดแผลของท่านหายได้

14เพราะเราจะเป็นเหมือนสิงโตสำหรับเอฟราอิม

จะเป็นเหมือนสิงห์หนุ่มสำหรับพงศ์พันธุ์ยูดาห์

เรา เราเองจะฉีกเหยื่อเป็นชิ้นๆ แล้วก็จะไป

เราจะลากเหยื่อไป และไม่มีผู้ใดจะแย่งได้

15เราจะกลับมายังที่พำนักของเรา

จนกว่าเขาทั้งหลายจะยอมรับผิดk และแสวงหาเรา

เมื่อเขามีความทุกข์ เขาจะกระตือรือร้นแสวงหาเรา

 

5 a สถานที่หลายแห่งที่มีชื่อ “มิสปาห์” ถูกกล่าวถึงในพระคัมภีร์ จึงเป็นการยากที่จะรู้ว่าหมายถึงที่ไหนกันแน่ อาจเป็นสักการสถานที่ผู้(หญิง)บริการของสถานที่เหล่านี้ชักชวนประชาชนให้หลงไป และส่งเสริมการนมัสการรูปเคารพ เช่นเดียวกับสักการสถานบนยอดภูเขาทาโบร์ *** “ท่านทั้งหลายมีหน้าที่พิพากษา” ยังอาจแปลได้อีกแบบหนึ่งว่า “ท่านทั้งหลายได้ถูกพิพากษาแล้ว แต่ท่าน...” แต่เปรียบข้อความนี้กับเรื่องเดียวกันใน มคา 3:1

b ตัวบทไม่ชัดเจน *** เรื่อง “เมืองชิทธิม” ดู ยชว 2:1 เชิงอรรถ b ที่นี่อาจเป็นการกล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ที่บาอัลเปโอร์ (9:10 ดู กดว 25)

c “วันต้นเดือนจะทำลายเขา” อาจหมายความว่าวันฉลองจะกลายเป็นวันลงโทษ หรือเป็นการเตือนให้ตระหนักว่าการลงโทษใกล้จะมาถึงแล้ว (ในวันต้นเดือน)

d เห็นได้ว่าข้อ 8-14 และอาจจะเลยไปถึง 6:6 ด้วย กล่าวถึงสงครามซีโรเอฟราอิม (735-734 ก่อน ค.ศ.) (ดู 2 พกษ 16:5 เชิงอรรถ b)

e “จงเตรียมพร้อมเถิด” แปลโดยคาดคะเนตามบริบท คำนี้ในต้นฉบับ (’ahareka = เบื้องหลังท่าน) ไม่แน่ว่าหมายความอย่างไร

f “เหตุร้าย” หมายถึงการถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย การแบ่งแยกอาณาจักร (2 พกษ 15:29) การที่กรุงสะมาเรียถูกทำลาย และการที่อิสราเอลสูญเสียอิสรภาพ (2 พกษ 17:5-6)

g “ย้ายหลักเขต” เป็นการกล่าวพาดพิงถึงการที่กองทัพยูดาห์รุกเข้าไปในดินแดนอิสราเอล ยังอาจจะหมายถึงการที่อาณาจักรยูดาห์เคยเข้าไปยึดดินแดนของอาณาจักรเหนือในตอนแรกด้วย (1 พกษ 15:16-22) ประมวลกฎหมายเฉลยธรรมบัญญัติ (ฉธบ 19:14; ดู 27:17 ด้วย) ประณามผู้ที่ย้ายหลักเขต เขตแดนของเผ่าต่างๆ ในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ถูกถือว่ากำหนดขึ้นตามคำแนะนำของพระเจ้าโดยตรง (ยชว 13:6ฯ)

h “ถูกคำพิพากษาเหยียบย่ำ” ยังแปลได้อีกว่า “คำพิพากษาถูกเหยียบย่ำ” ตัวบทภาษาฮีบรูไม่ชัดเจน ต้นฉบับภาษากรีกว่า “เอฟราอิมเป็นผู้ข่มเหง เขาเหยียบย่ำความถูกต้อง” อาจหมายถึงการที่อิสราเอล (เอฟราอิม) เป็นพันธมิตรกับกรุงดามัสกัสและบุกรุกอาณาจักรยูดาห์ในสงครามซีโรเอฟราอิม

i “สิ่งไร้สาระ” แปลโดยคาดคะเน ในต้นฉบับภาษาฮีบรู คำว่า “tzaw” ไม่มีใครรู้ว่าแปลว่าอะไร บางคนแปลว่า “การมุสา”

j “กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่” แปลโดยคาดคะเน เช่นเดียวกับใน 10:6 ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “กษัตริย์แห่งยาเรบ” หรือ “กษัตริย์ผู้ทรงแก้แค้น” (’el melek yareb) ข้อความนี้อาจพาดพิงถึงกษัตริย์อิสราเอลที่นิยมชาวอัสซีเรีย คือกษัตริย์เมนาเฮมซึ่งทรงถวายบรรณาการแก่กษัตริย์ทิกลัทปิเลเสอร์ที่ 3 ในปี 738 ก่อน ค.ศ. และกษัตริย์เปคายาห์ซึ่งทรงมีนโยบายเดียวกัน รวมทั้งกษัตริย์อาคัสแห่งยูดาห์ซึ่งทรงขอร้องให้กษัตริย์อัสซีเรียพระองค์นี้ (ทิกลัทปิเลเสอร์ที่ 3) เสด็จมาช่วยในปี 735 ก่อน ค.ศ. (ดู 2 พกษ 16:7-9)

k “จนกว่าเขาทั้งหลายจะยอมรับผิด” หรือ “จนกว่าเขาทั้งหลายจะชดเชยความผิดแล้ว”

การตอบสนองของชาวอิสราเอลa

6 1“มาเถิด พวกเราจงกลับไปหาพระยาห์เวห์

พระองค์ทรงฉีก และจะทรงรักษาเราให้หาย

พระองค์ทรงโบยตี และจะทรงพันบาดแผลให้เรา

2อีกสองวันพระองค์จะทรงให้เราฟื้น

วันที่สามb จะทรงทำให้เราลุกขึ้น

แล้วเราจะมีชีวิตอยู่เฉพาะพระพักตร์

3พวกเราจงรู้จัก จงรีบรู้จักพระยาห์เวห์เถิด

พระองค์จะเสด็จมาอย่างแน่นอนเหมือนรุ่งอรุณ

จะเสด็จมาหาเราเหมือนฝน

เหมือนฝนต้นฤดูใบไม้ผลิที่รดพื้นแผ่นดิน”

4“เอฟราอิมเอ๋ย เราจะทำอย่างไรดีกับท่าน

ยูดาห์เอ๋ย เราจะทำอย่างไรดีกับท่าน

ความรักของท่านเป็นเหมือนเมฆในยามเช้า

เหมือนน้ำค้างที่หายไปตั้งแต่เช้าตรู่

5ดังนั้น เราจึงใช้บรรดาประกาศกcให้ทุบเขาทั้งหลายจนแหลกลาญ

เราใช้คำพูดจากปากของเราฆ่าเขา

คำพิพากษาของเราจะออกมาเหมือนแสงสว่างd

6เพราะเราต้องการความรักมั่นคง

ไม่ประสงค์การถวายบูชา

เราต้องการการรู้จักพระเจ้า

มากกว่าเครื่องเผาบูชา”e

ความไม่ซื่อสัตย์ของอิสราเอล

            7แต่เขาทั้งหลายได้ละเมิดพันธสัญญาเหมือนอาดัมf

เขาทรยศต่อเราที่นั่น

8และกิเลอาดgเป็นเมืองของผู้ทำความผิด

มีรอยโลหิตเปรอะเปื้อน

9กลุ่มสมณะซุ่มคอยฆ่าคนบนถนนไปเมืองเชเคม

เหมือนโจรที่ซุ่มคอยดักผู้คน

ใช่แล้ว เขาทำกิจการน่าอับอาย

10เราได้เห็นสิ่งน่าสยดสยองที่เมืองเบธเอลh

เอฟราอิมขายตัวที่นั่น

อิสราเอลได้ทำตนเป็นมลทิน

11ยูดาห์เอ๋ย ท่านก็เช่นเดียวกัน

ฤดูเก็บเกี่ยวถูกกำหนดไว้iสำหรับท่านแล้ว

เมื่อเราจะให้ประชากรของเรากลับจากแดนเนรเทศ

 

6 a ประกาศกกล่าวประหนึ่งว่าประชาชนกำลังประกอบพิธีกรรมขออภัยบาป โดยยืมข้อความมาจากพิธีชดเชยบาป (1 พกษ 8:31-53; สดด 85; ยรม 3:21-25; ยอล 1-2) ประชากรซึ่งกลัวว่าพระยาห์เวห์จะทรงลงโทษและทอดทิ้งตน (5:14-15) ชักชวนกันให้กลับมาหาพระองค์ (ข้อ 1-3) แต่การกลับมานี้เป็นการฉาบฉวยและไม่ใช่การกลับใจแท้จริง (ข้อ 4-6)

b ข้อความ “อีกสองวัน...วันที่สาม” (ดู อมส 1:3 เชิงอรรถ f) หมายถึงช่วงเวลาสั้นๆ ธรรมประเพณีของคริสตชนนับตั้งแต่เตอร์ตุลเลียน (Tertullian) นำข้อความนี้มาใช้กับการที่พระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพ “ในวันที่สาม” แต่พันธสัญญาใหม่ไม่เคยอ้างถึงข้อความนี้เลย ช่วงเวลาที่โยนาห์อยู่ในท้องปลา (ยนา 2:1 = มธ 12:40) ก็ไม่ได้ถูกใช้ในความหมายนี้ด้วย (“วันที่สาม”) แต่ก็เป็นไปได้ที่การกล่าวถึงการกลับคืนพระชนมชีพ “ในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์” (1 คร 15:4; ดู ลก 24:46) ในการเทศน์สอนและบทยืนยันความเชื่อ กล่าวพาดพิงถึงข้อความตอนนี้ของเรา ซึ่งได้รับคำอธิบายตามมาตรการอธิบายพระคัมภีร์ในสมัยนั้น

c “ใช้บรรดาประกาศก” พระวาจาของพระเจ้าที่บรรดาประกาศกเป็นผู้ถ่ายทอดย่อมบังเกิดผลตามที่ได้กล่าวทำนายไว้ (ที่นี่หมายถึงการลงโทษ)

d “คำพิพากษาของเราจะออกมาเหมือนแสงสว่าง” ต้นฉบับภาษาฮีบรูตาม MT ว่า “คำพิพากษาของท่าน แสงสว่างออกมา”

e ประกาศกโฮเชยายืนยันว่าการถวายบูชาที่พระเจ้าทรงปรารถนาคือการกลับใจจริงๆ (ดู 2:21-22 เชิงอรรถ u, v; 1 ซมอ 15:22; สดด 40:6-8; อมส 5:21 เชิงอรรถ p)

f “เหมือนอาดัม” แปลโดยคาดคะเนว่า “ที่เมืองอาดัม” การกล่าวถึง “อาดัม” นี้มีปัญหา บางทีอาจหมายถึงสักการสถานที่เมืองอาดัม (ใกล้ปากห้วยยับบอก) บางทีข้อความนี้ยังหมายถึงความไม่ซื่อสัตย์ของอิสราเอล ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อชาวอิสราเอลเริ่มมาตั้งหลักแหล่งในปาเลสไตน์ (เทียบ ยชว 3:16) สำหรับความคิดนี้ ดู 9:10 “พันธสัญญา” ที่กล่าวถึงที่นี่คือพันธสัญญาที่ภูเขาซีนาย

g แคว้นกิเลอาดอยู่บนที่ราบสูงชื่อเดียวกันทางฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน (ดู ปฐก 31:46-48)

h “ที่เมืองเบธเอล” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ในพงศ์พันธุ์อิสราเอล” (bebeth yisra’el)

i “ฤดูเก็บเกี่ยวถูกกำหนดไว้” อาจเป็นข้อความที่เสริมเข้ามาภายหลัง (ดู 1:7 เชิงอรรถ l)

7 1และจะรักษาอิสราเอลให้หาย

ความผิดของเอฟราอิมก็จะถูกเปิดเผย

พร้อมกับความชั่วต่างๆ ของกรุงสะมาเรีย

เพราะเขาทำการทุจริต

ขโมยเข้ามาขโมยในบ้านa

พวกโจรปล้นอยู่ภายนอก

2เขาไม่สำนึกในใจว่า

เราจดจำความชั่วทั้งหมดของเขา

บัดนี้ การกระทำของเขาล้อมเขาไว้แล้ว

การกระทำเหล่านี้อยู่ต่อหน้าเรา

ทุกคนในอิสราเอลคิดแต่จะทำความชั่ว

3เขาทั้งหลายทำความชั่วร้ายให้กษัตริย์ยินดี

กล่าวมุสาให้เจ้านายพอใจb

4ทุกคนผิดประเวณีประหนึ่งเตาอบที่ร้อน

ซึ่งผู้ทำขนมปังหยุดเติมเชื้อเพลิง

หลังจากนวดแป้ง

และรอให้เชื้อแป้งทำให้แป้งฟูขึ้น

5ในวันฉลองกษัตริย์ของเราc

บรรดาเจ้านายทำให้พระองค์ทรงดื่มเหล้าองุ่นจนเมามาย

พระองค์ทรงยื่นพระหัตถ์รับความเคารพจากผู้เยาะเย้ยพระองค์

6ใจของเขาวางแผนร้ายเหมือนเตาอบ

ความโกรธของเขานอนหลับตลอดคืน

พอถึงรุ่งเช้าก็ลุกขึ้นมาเหมือนเปลวเพลิงd

7ทุกคนร้อนเหมือนเตาอบ

กลืนกินผู้ปกครองของตน

กษัตริย์ทุกพระองค์ของเขาทรงล้มลง

ไม่มีพระองค์ใดทรงเรียกหาเรา

อิสราเอลต้องพินาศเพราะหวังพึ่งอำนาจชนต่างชาติ

8เอฟราอิมเข้าไปรวมตัวกับชนต่างชาติ

เอฟราอิมเป็นเหมือนก้อนขนมปังที่ปิ้งสุกเพียงด้านเดียวe

9คนต่างด้าวกินแรงของเขา

แต่เขาไม่รู้ตัว

ผมของเขาเริ่มหงอกประปรายแล้ว

แต่เขาไม่รู้ตัว

10ความเย่อหยิ่งของอิสราเอลเป็นพยานกล่าวโทษเขา

แต่เขาไม่กลับไปหาพระยาห์เวห์พระเจ้าของตน

แม้ในสภาพเช่นนี้ เขาก็ยังไม่แสวงหาพระองค์

11เอฟราอิมเป็นเหมือนนกพิราบที่ถูกหลอกง่ายๆfและไร้ความคิด

เขาเรียกหาอียิปต์ ไปหาอัสซีเรีย

12เขาจะไปที่ใดg เราก็จะกางตาข่ายคลุมเขา

เราจะดึงเขาลงมาเหมือนดักนกในอากาศ

เราจะลงโทษเขาเพราะความชั่วร้ายของเขาh

ความเนรคุณของอิสราเอล

13วิบัติจงเกิดแก่เขาที่ได้หนีไปจากเรา

ความพินาศจงเกิดแก่เขา เพราะเขาได้เป็นกบฏต่อเรา

เราต้องการช่วยเขาให้รอดพ้น

แต่เขาพูดมุสาเกี่ยวกับเรา

14เขาไม่ได้ร้องขอจากใจให้เราช่วยเหลือ

เขาร้องคร่ำครวญอยู่บนที่นอนi

เขาเชือดตัวตามพิธีjเพื่อขอข้าวสาลีและเหล้าองุ่นใหม่

เขาเป็นกบฏต่อเรา

15เราได้ฝึกและเพิ่มพลังแขนให้เขา

แต่เขากลับคิดทำร้ายเรา

16เขาไม่กลับไปหาพระผู้สูงสุดk

เขาเป็นเหมือนคันธนูที่ยิงไม่ถูกเป้า

เจ้านายของเขาจะล้มลงด้วยคมดาบ

เพราะคำพูดโอหังของเขาเป็นที่เยาะเย้ยในแผ่นดินอียิปต์

 

7 a “เข้ามาขโมยในบ้าน” ตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูละคำนี้

b นับตั้งแต่เริ่มอาณาจักรเหนือจนถึงปี 737 ก่อน ค.ศ. (เมื่อกษัตริย์เปคายาห์ทรงถูกปลงพระชนม์) กษัตริย์ถึง 7 พระองค์ทรงถูกปลงพระชนม์ ที่นี่ประกาศกวาดภาพการคบคิดเป็นกบฏที่ข้าราชการกบฏแสร้างแสดงความจงรักภักดี แต่แล้วก็ปลงพระชนม์กษัตริย์และประหารชีวิตข้าราชการชั้นสูงที่กำลังนอนเมามายอยู่หลังจากเลี้ยงฉลองกันอย่างสนุกสนานตลอดคืน กษัตริย์เอลาห์ทรงถูกปลงพระชนม์เช่นนี้ (1 พกษ 16:9-10)

c “วันฉลองกษัตริย์ของเรา” เป็นงานฉลองประจำปีถวายเกียรติแด่กษัตริย์

d ตัวบทของข้อนี้ออกจะสับสน บางคนคิดว่าประโยคแรกของข้อนี้ต้องถูกนำไปต่อกับปลายของข้อ 5 *** “ความโกรธของเขา(ทั้งหลาย)” [’appehem] แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “คนทำขนมปัง (ของเขา)” [’ophehem]

e “ขนมปังที่ปิ้งสุกเพียงด้านเดียว” แปลตามตัวอักษรว่า “ขนมปังที่ไม่ได้พลิกกลับ” ซึ่งหมายความว่ายังกินไม่ได้ เพราะอีกด้านหนึ่งยังปิ้งไม่สุก

f “ถูกหลอกง่ายๆ” เป็นคำเดียวกันกับที่ใช้ใน 2:16 เชิงอรรถ o ซึ่งที่นี่หมายความว่ายอมถูกหลอกให้ไปเป็นพันธมิตรกับต่างชาติ โดยคิดว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ตนรอดพ้นจากโทษที่ประกาศกได้พยากรณ์ไว้ว่า เป็นเหมือนข่ายดักที่พระเจ้าจะทรงวางไว้ลงโทษเขา

g “เขาจะไปที่ใด” ยังแปลได้อีกว่า “แม้เขาจะไป”

h “เพราะความชั่วร้ายของเขา” แปลโดยคาดคะเนโดยเปลี่ยนอักษรภาษาฮีบรูตัวหนึ่งที่มักเขียนผิดสับสนบ่อยๆ (cal racatam) ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ตามการชุมนุมของเขา” (la cadatam)

i “บนที่นอน” อาจหมายถึงเตียงนอนจริงๆ หรือพรมที่ปูไว้เพื่อกราบลงอธิษฐานภาวนา (เทียบ สดด 4:4; 149:5)

j “เชือดตัวตามพิธี” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “มีชีวิตอยู่อย่างคนต่างด้าว” เรื่องการเชือดตัวตามพิธี ดู 1 พกษ 18:26; ยรม 16:6; 41:5 **** “เขาเป็นกบฏต่อเรา” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “เขาหันไปจากเรา”

k “ไม่กลับไปหาพระผู้สูงสุด” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ไม่ขึ้นไปยัง” บางคนแปลตามต้นฉบับภาษากรีกว่า “กลับไปหาสิ่งที่ไม่มีความเป็นอยู่” (ซึ่งหมายถึงบรรดารูปเคารพ)

การลงโทษจะมาถึง

8 1จงเป่าแตรเขาสัตว์เถิด

ความพินาศกำลังโฉบลงมาเหมือนนกอินทรี

เหนือบ้านของพระยาห์เวห์a

เพราะเขาทั้งหลายได้ละเมิดพันธสัญญา

และไม่ซื่อสัตย์ต่อธรรมบัญญัติbของเรา

2เขาร้องขอความช่วยเหลือจากเราว่า

“ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้าทั้งหลาย ชาวอิสราเอลรู้จักพระองค์”

3อิสราเอลได้ละทิ้งความดีเสียแล้ว

ศัตรูcจะไล่ตามเขา

4เขาได้แต่งตั้งกษัตริย์หลายองค์ที่เราไม่ได้เสนอ

เขาได้แต่งตั้งเจ้านายหลายคน แต่เราไม่เห็นด้วยd

เขาใช้เงินและทองคำสร้างรูปเคารพ

เพื่อความพินาศของตน

5กรุงสะมาเรียเอ๋ย เราละทิ้งeรูปลูกโคของเจ้า

ความโกรธของเราพลุ่งขึ้นลงโทษเขาทั้งหลาย

อีกนานเท่าไรเขาจึงจะพ้นโทษได้

6รูปลูกโคนี้มาจากอิสราเอล

นายช่างเป็นผู้สร้างขึ้นมา

รูปนั้นไม่ใช่พระเจ้าf

รูปลูกโคของกรุงสะมาเรียจะถูกทุบเป็นชิ้นๆ

7เขาได้หว่านลม

เขาจึงจะต้องเก็บเกี่ยวลมบ้าหมู

ต้นข้าวไม่มีรวง ทำแป้งไม่ได้

หรือถ้าจะทำได้ คนต่างชาติก็จะกลืนกิน

อิสราเอลต้องพินาศเพราะไว้วางใจพลังของชนต่างชาติg

          8อิสราเอลถูกกลืนจนหมด

บัดนี้เขาอยู่ในหมู่นานาชาติ

เป็นเหมือนภาชนะไร้ประโยชน์

9เขาขึ้นไปหาอัสซีเรียเหมือนลาป่าที่อยู่โดดเดี่ยว

เอฟราอิมได้จ้างคนรักมา[1]

10เพราะเขาได้จ้างคนรักมาจากนานาชาติ

บัดนี้เราจึงจะรวบรวมเขาไว้ด้วยกันi

ในไม่ช้าเขาจะต้องรับทุกข์ทรมานจากกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่j

ประณามการแสดงคารวกิจที่ไม่ได้มาจากใจจริง

            11เอฟราอิมได้สร้างแท่นบูชาจำนวนมากเพื่อทำบาป

แท่นบูชาเหล่านี้กลายเป็นโอกาสให้เขาทำบาป

12เราได้เขียนธรรมบัญญัติจำนวนมากสำหรับเขา

แต่เขาคิดว่าธรรมบัญญัติเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับตน

13เขาถวายเครื่องบูชาแก่เรา

และกินเนื้อสัตว์ที่ได้ถวายนั้นk

แต่พระยาห์เวห์ไม่พอพระทัยเครื่องบูชาเหล่านี้

บัดนี้พระองค์จะทรงระลึกถึงความผิดของเขา

และจะทรงลงโทษบาปของเขา

เขาจะต้องกลับไปอียิปต์

14อิสราเอลได้ลืมพระผู้สร้างของตน

ได้สร้างวังขึ้นหลายแห่ง

ยูดาห์ก็สร้างเมืองป้อมหลายเมือง

แต่เราจะส่งไฟมาเหนือเมืองเหล่านี้

ไฟจะเผาผลาญป้อมปราการทั้งหลายของเขา

 

8 a “ความพินาศกำลังโฉบลงมา...” เป็นข้อความที่เสริมเข้ามาให้เข้าใจ “นกอินทรี” เป็นสัญลักษณ์ของหายนะ (ดู ยรม 48:40; 49:22) **** “บ้านของพระยาห์เวห์” ที่นี่ไม่หมายถึงพระวิหาร แต่หมายถึงแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นสมบัติของพระยาห์เวห์ (เทียบ 9:15)

b การนำ “พันธสัญญา” และ “ธรรมบัญญัติ” มาไว้คู่กัน (เป็น synonymous parallelism) เป็นลักษณะเฉพาะของธรรมประเพณีเอโลฮิสต์ (E) (อพย 24:8) ของธรรมประเพณีเฉลยธรรมบัญญัติ (D) (ฉธบ 4:13) และธรรมประเพณีของตำนานสงฆ์ (P) (ลนต 26:15) แต่ไม่เป็นลักษณะของธรรมประเพณียาห์วิสต์ (J) ดูเหมือนว่าประกาศกโฮเชยาจะอยู่ในแวดวงที่คุ้นเคยกับธรรมประเพณีเฉลยธรรมบัญญัติ (D) มากกว่า (เพราะอยู่ในอาณาจักรเหนือ)

c “ศัตรู” หมายถึงอาณาจักรอัสซีเรีย

d ประกาศกโฮเชยาประณามความสับสนทางการเมืองของอาณาจักรเหนือ ที่ผู้ปกครองถูกฆ่าและสับเปลี่ยนโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องด้านศาสนาเลย

e “เราละทิ้ง” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “เขาละทิ้ง”

f เราจะพบการกล่าวโทษประณามรูปเคารพเช่นนี้ได้อีกหลายครั้งในหนังสือต่างๆ ของประกาศก (ดู อสย 40:20 เชิงอรรถ m; 41:21 เชิงอรรถ i)

g ข้อความตอนนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นหลังจากที่ประชาชนถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยหลังสงคราม “ซีโรเอฟราอิม” (ปี 734 ก่อน ค.ศ. ดู 2 พกษ 15:29) การเปลี่ยนเอกพจน์สลับกับพหูพจน์เป็นมาตรการของคำประพันธ์ (ดู 2:8 เชิงอรรถ l)

[1] เป็นการกล่าวพาดพิงถึงการถวายบรรณาการแก่บรรดากษัตริย์ของอัสซีเรีย (5:13; 7:11) และยังอาจหมายถึงบรรณาการแก่อียิปต์ (12:2) ด้วย ที่ตรงนี้ “คนรัก” ไม่ได้หมายถึงเทพเจ้าของชาวคานาอันเหมือนในบทที่ 1-3 แต่หมายถึงอำนาจของชนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม สนธิสัญญากับอำนาจชนต่างชาติก็ถือว่าเป็นการทรยศต่อพันธสัญญากับพระยาห์เวห์เพราะสนธิสัญญาเหล่านี้สนับสนุนให้มีการกราบไหว้เทพเจ้าของชนต่างชาติเหล่านั้น และแสดงถึงการขาดความไว้วางใจต่อพระยาห์เวห์ในฐานะเป็นพระผู้ช่วยเพียงพระองค์เดียวของอิสราเอล (ดู อสย 30:1-5; 31:1-3)

i “รวบรวม” เพื่อกวาดต้อนไปเป็นเชลย

j “กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่” แปลตามตัวอักษรว่า “กษัตริย์ของบรรดาเจ้านาย” หมายถึงกษัตริย์ของอัสซีเรีย (เทียบ 5:13)

k ข้อความนี้แปลยาก และไม่แน่ว่าแปลได้ถูกต้องหรือเปล่า ตัวบทไม่สมบูรณ์

พระเจ้าจะทรงลงโทษอิสราเอลa

9 1อิสราเอลเอ๋ย อย่ายินดีเลย

อย่าร่วมยินดีbกับชนชาติอื่นๆ

เพราะท่านขายตัวนอกใจพระเจ้าของท่าน

ท่านรักค่าจ้างของหญิงแพศยาบนลานนวดข้าวทั้งหลายc

2ลานนวดข้าวและบ่อย่ำองุ่นจะไม่เลี้ยงเขา

เหล้าองุ่นใหม่dก็จะมีไม่พอ

3เขาทั้งหลายจะไม่พำนักอยู่ในแผ่นดินของพระยาห์เวห์

เอฟราอิมจะกลับไปยังอียิปต์

ในอัสซีเรียeเขาจะกินอาหารที่มีมลทิน

4เขาจะไม่เทเหล้าองุ่นถวายแด่พระยาห์เวห์อีก

พระองค์จะไม่พอพระทัยเครื่องบูชาของเขา

อาหารของเขาจะเป็นอาหารไว้ทุกข์f

ทุกคนที่กินก็จะมีมลทิน

เพราะอาหารของเขามีไว้สำหรับตนเท่านั้น

เขาจะไม่เข้าไปในพระวิหารgของพระยาห์เวห์

5ท่านทั้งหลายจะทำอะไรในวันสมโภช

จะทำอะไรในวันฉลองของพระยาห์เวห์h

6ดูซิ เขาหนีพ้นความพินาศแล้ว

อียิปต์จะต้อนรับเขา

เมืองเมมฟิสจะฝังเขา

ต้นหนามจะครอบครองทรัพย์สมบัติทำด้วยเงินของเขา

ต้นตำแยจะงอกขึ้นในกระโจมของเขา

ประกาศกถูกประชาชนเยาะเย้ยเพราะทำนายถึงเหตุร้าย

            7วันลงโทษมาถึงแล้วi

วันแก้แค้นก็มาถึง

อิสราเอลจงรู้เถิด

ประกาศกเป็นคนบ้า

ผู้ที่รับการดลใจเป็นคนเสียสติ

เพราะความผิดของท่านมีมากมาย

ความเป็นศัตรูก็ใหญ่หลวง

8ประกาศกพร้อมกับพระเจ้าของข้าพเจ้า

เป็นยามเฝ้าเอฟราอิม

แต่กับดักของพรานดักนกถูกวางไว้ทุกทางที่เขาไป

ความเป็นศัตรูอยู่ในพระวิหารของพระเจ้าของเขาj

9เขาทั้งหลายเลวทรามอย่างยิ่ง

เหมือนกับที่เคยทำที่เมืองกิเบอาห์

พระองค์จะทรงระลึกถึงความผิดของเขา

จะทรงลงโทษบาปของเขา

การลงโทษความผิดของประชากรที่เมืองบาอัลเปโอร์

            10เราพบอิสราเอลเหมือนพบพวงองุ่นในถิ่นทุรกันดาร

เราเห็นบรรพบุรุษของท่านเหมือนเห็นผลแรกของมะเดื่อเทศบนต้น

แต่เมื่อเขามาถึงเมืองบาอัลเปโอร์k เขาก็กราบไหว้สิ่งน่าอับอายl

และกลายเป็นสิ่งน่าสะอิดสะเอียนเหมือนสิ่งที่เขารัก

11ศักดิ์ศรีของเอฟราอิมจะบินไปเหมือนนก

จะไม่มีทารกเกิดมา จะไม่มีหญิงมีครรภ์ จะไม่มีการตั้งครรภ์

12แม้เขาจะเลี้ยงดูบุตร เราก็จะพรากบุตรเหล่านี้ไปจนไม่เหลือแม้เพียงคนเดียว

วิบัติจะเกิดแก่เขา เมื่อเราละทิ้งเขา

13เราเห็นเอฟราอิมเป็นเหยื่อที่ถูกไล่ล่าในทุ่งหญ้าm

เอฟราอิมนำลูกหลานออกมาให้ถูกฆ่า

14ข้าแต่พระยาห์เวห์ โปรดประทานการลงโทษแก่เขาเถิด

พระองค์จะประทานอะไร

โปรดประทานครรภ์ที่แท้งบุตร

ประทานอกเหี่ยวแห้งที่ไม่มีนมเลี้ยงบุตร

เมืองกิลกาล

            15ความชั่วของเขาปรากฏชัดที่เมืองกิลกาล

เราเริ่มเกลียดชังเขาที่นั่น

เราจะขับไล่เขาออกไปจากบ้านของเราเพราะการกระทำชั่วของเขา

เราจะไม่รักเขาอีก เจ้านายทุกคนของเขาเป็นกบฏn

16เอฟราอิมถูกตี

รากของเขาเหี่ยวแห้งไป

เขาทั้งหลายจะไม่ผลิตผลอีก

แม้เขาจะให้กำเนิดบุตร

เราก็จะฆ่าทารกน่ารักที่เกิดมา

17พระเจ้าของข้าพเจ้าจะโยนเขาทิ้งไป

เพราะเขาไม่ได้เชื่อฟังพระองค์

เขาจะเป็นคนเร่ร่อนในหมู่นานาชาติ

 

9 a ข้อความตอนนี้อาจรวมคำประกาศพระวาจาที่ประกาศกกล่าวในเทศกาลฉลองฤดูใบไม้ร่วง (คือ “เทศกาลอยู่เพิง” หรือ Succoth)

b “อย่าร่วมยินดี” ตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ไปยังความยินดี” (มาจากความสับสนการอ่านคำภาษาฮีบรู ’al [= อย่า] กับ ’el [= ไปยัง])

c “บนลานนวดข้าวทั้งหลาย” เพราะอิสราเอลคิดว่าพระบาอัลเป็นผู้ประทานผลิตผลที่เก็บเกี่ยวได้ให้ตน ผลิตผลของแผ่นดินจึงอาจเรียกได้ว่าเป็น “ค่าจ้างการขายตัวอย่างหญิงแพศยา” (ดู 2:7,14 เชิงอรรถ n)

d ข้อความต่อไปอธิบายเหตุผลว่าทำไมเขาจึงจะไม่ได้ยินดีกับผลิตผลเหล่านี้ ทั้งนี้เพราะเขาจะถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ชนต่างชาติจะมาเก็บผลิตผลเหล่านี้ไป (8:7)

e ดินแดนต่างชาติมีมลทินเพราะรูปเคารพในแผ่นดินเหล่านั้น (ดู 1 ซมอ 26:19; อมส 7:17) ในแดนเนรเทศ ชาวอิสราเอลไม่อาจละเว้นและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีมลทินได้

f ชาวอิสราเอลถือว่าอาหารที่จัดเตรียมหรือกินต่อหน้าศพผู้ตายเป็นอาหารที่มีมลทิน ในแดนเนรเทศชาวอิสราเอลมีสภาพเหมือนกับคนไว้ทุกข์อยู่ตลอดเวลา

g การอยู่ในแดนเนรเทศทำให้ชาวอิสราเอลไม่อาจถวายผลิตผลแรกตามสักการสถานในแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์ได้

h “วันฉลองของพระยาห์เวห์” คือเทศกาลฉลองการเก็บเกี่ยวหรือเทศกาลอยู่เพิง ซึ่งไม่อาจฉลองได้ในแดนเนรเทศ เพราะต้องมีการชุมนุมกันตามสักการสถานแห่งใดแห่งหนึ่งของพระยาห์เวห์ (อพย 23:16ฯ)

i ข้อ 7-8 เข้าใจยาก การแปลจึงเป็นเพียงโดยการคาดคะเน

j ตัวบทสับสนมาก อาจคัดลอกมาผิดพลาด ความพยายามแก้ไขแบบต่างๆ ที่มีผู้เสนอไม่มีแบบใดเป็นที่น่าพอใจ

k “บาอัลเปโอร์” เป็นการกล่าวพาดพิงถึงเหตุการณ์ที่เล่าไว้ใน กดว 25 เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบริเวณที่ราบฟากตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน (ดู กดว 25:1; ยชว 2:1 เชิงอรรถ a) ก่อนที่ชาวอิสราเอลจะเข้ามาในแผ่นดินแห่งพระสัญญาทีเดียว และเป็นจุดด่างของประวัติศาสตร์ตั้งแต่นั้นมา

l “สิ่งน่าอับอาย” (ภาษาฮีบรูว่า “boshet”) เป็นนามเหยียดหยามที่ชาวอิสราเอลใช้กับพระบาอัล (ดู 2 ซมอ 4:4 เชิงอรรถ b)

m เป็นข้อความที่เข้าใจยาก ตัวบทอาจไม่สมบูรณ์ เราแปลตามต้นฉบับภาษากรีกซึ่งอ่านคำ “ไทระ” (“tzor” ในภาษาฮีบรู) ว่า “เหยื่อที่ถูกไล่ล่า” (“tzaid” ในภาษาฮีบรู) ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “เอฟราอิม อย่างที่เราเห็นสำหรับเมืองไทระ ถูกปลูกไว้ในทุ่ง” ประกาศกอาจต้องการเปรียบเทียบศักดิ์ศรีของเอฟราอิมกับศักดิ์ศรีของเมืองไทระ (เทียบ อสย 23:7ฯ; อสค 27) แต่ก็ไม่แน่ว่าคำแปลเช่นนี้ถูกต้อง

n “เจ้านายทุกคนของเขาเป็นกบฏ” คงหมายถึงการที่กษัตริย์ซาอูลไม่ทรงเชื่อฟังประกาศกซามูเอลที่เมืองกิลกาล (1 ซมอ 13:7-14; 15:12-33) นอกจากกษัตริย์แล้ว บรรดาผู้นำยังเป็นกบฏไม่เชื่อฟังประกาศกด้วย

สิ่งของที่อิสราเอลเคารพนับถือจะถูกทำลาย

10 1อิสราเอลเป็นเหมือนเถาองุ่นเขียวชอุ่มที่มีผลมาก

เขายิ่งเกิดผลมากเท่าใด

ก็ยิ่งสร้างแท่นบูชามากขึ้นเท่านั้น

แผ่นดินของเขายิ่งอุดมสมบูรณ์มากเท่าใด

เขาก็ยิ่งสร้างเสาศักดิ์สิทธิ์ให้งดงามยิ่งขึ้นเท่านั้น

2ใจของเขาไม่ซื่อa

เขาจึงจะต้องรับโทษความผิด

พระเจ้าจะทรงพังแท่นบูชา

จะทรงทำลายเสาศักดิ์สิทธิ์ของเขา

3แล้วเขาจะพูดว่า “พวกเราไม่มีกษัตริย์b

เพราะเราไม่ยำเกรงพระยาห์เวห์

กษัตริย์จะมีประโยชน์อะไรสำหรับเรา”

4เขาพูดพล่อยๆ สาบานเท็จ

ทำสนธิสัญญา

สิ่งที่เขาเรียกว่าความยุติธรรมงอกขึ้นเหมือนพืชมีพิษc

ตามรอยไถในทุ่งนา

5ชาวสะมาเรียจะหวาดกลัว

เพราะรูปลูกโคdที่เมืองเบธอาเวน

ประชากรจะไว้ทุกข์เพราะรูปนั้น

บรรดาสมณะที่กราบไหว้รูปนั้นจะไว้ทุกข์

เพราะความรุ่งเรืองที่เคยเป็นความยินดีของเขา

ได้จากรูปนั้นไป

6รูปเคารพนี้จะถูกนำไปยังอัสซีเรีย

เป็นของถวายแด่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่e

เอฟราอิมจะต้องอับอาย

อิสราเอลจะละอายเพราะแผนการของตน

7กรุงสะมาเรียจะพินาศ

กษัตริย์ของเขาจะเป็นเหมือนเศษไม้ที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ

8สักการสถานบนที่สูงทั้งหลายของเมืองอาเวน

ซึ่งเป็นบาปของอิสราเอลจะถูกทำลาย

หนามและกอหนามจะงอกขึ้นบนแท่นบูชา

เขาจะพูดกับภูเขาว่า “จงปกคลุมเราไว้”

จะบอกเนินเขาว่า “จงล้มลงทับพวกเราเถิด”f

9อิสราเอลเอ๋ย ท่านทำบาปตั้งแต่สมัยเมืองกิเบอาห์

เขายังทำบาปที่นั่นเรื่อยมา

สงครามจะมาโจมตีผู้ทำผิดที่เมืองกิเบอาห์g

10เราจะมาhลงโทษเขา

ชนชาติทั้งหลายจะมาร่วมกันโจมตีเขา

เพื่อลงโทษเขาเพราะความผิดสองประการi

อิสราเอลทำให้พระยาห์เวห์ทรงผิดหวังj

          11เอฟราอิมเป็นเหมือนโคสาวที่ถูกฝึกมาอย่างดี

และชอบนวดข้าว

แต่เราจะวางแอกบนคองดงามของมัน

เราจะเทียมเอฟราอิมเข้ากับแอก

ยูดาห์จะต้องไถนา

และยาโคบจะต้องคราดดิน

12ท่านทั้งหลายจงหว่านความชอบธรรมสำหรับตน

จงเกี่ยวผลเป็นความรักมั่นคง

จงไถดินที่ยังไม่เคยเพาะปลูก

เพราะถึงเวลาแล้วที่จะแสวงหาพระยาห์เวห์

จนกว่าพระองค์จะเสด็จมา

หลั่งความรอดพ้นลงมาเหนือท่านเหมือนฝน

13ท่านได้ไถความชั่วร้าย

ได้เก็บเกี่ยวความอยุติธรรม

ได้กินผลของการมุสา

เพราะท่านไว้วางใจในรถรบk

และในพลรบจำนวนมาก

14เสียงสงครามจึงจะดังขึ้นในหมู่ประชากรของท่าน

ป้อมปราการทั้งหมดของท่านจะถูกทำลาย

กษัตริย์ซัลมันlทำลายเมืองเบธอาร์เบลในวันสงคราม

เมื่อแม่กับลูกถูกจับฟาดจนแหลกmฉันใด

15พงศ์พันธุ์อิสราเอลเอ๋ย ศัตรูก็จะทำกับท่านฉันนั้น

เพราะความชั่วร้ายแรงของท่าน

ในเวลารุ่งเช้า กษัตริย์อิสราเอลจะถูกกำจัดจนหมดสิ้นn

 

10 a “ใจ...ไม่ซื่อ” คือ อิสราเอลยังแบ่งใจให้ทั้งแก่พระยาห์เวห์และแก่พระบาอัล

b “พวกเราไม่มีกษัตริย์” การที่อิสราเอลปล่อยให้อัสซีเรียเข้ามาคุ้มครอง และการเปลี่ยนกษัตริย์บ่อยๆ ทำให้การปกครองแผ่นดินไร้ประสิทธิภาพ ไม่ก้าวหน้า

c “สิ่งที่....เหมือนพืชมีพิษ” เป็นการประชดประชัน ความเจริญรุ่งเรืองในสังคมก็คือความอยุติธรรมที่เป็นเสมือนพืชมีพิษ (เทียบ อมส 6:12)

d “รูปลูกโค” อยู่ในรูปเอกพจน์ในต้นฉบับภาษากรีกและซีเรียค อยู่ในรูปพหูพจน์ในต้นฉบับภาษาฮีบรู

e “กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูอ่านว่า “กษัตริย์แห่งยาเรบ” หรือ “กษัตริย์ผู้แก้แค้น” (ดู 5:13 เชิงอรรถ j)

f ขอบเขตของหายนะนั้นน่ากลัวมากจนประชาชนไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป (เทียบ ลก 23:30; วว 6:16)

g ประกาศกโฮเชยาเห็นความต่อเนื่องกันของความผิดที่เมืองกิเบอาห์ในสมัยผู้วินิจฉัย (ดู วนฉ 19) กับความผิดในสมัยของตน เขาจึงกล่าวพยากรณ์ถึงการลงโทษที่จะสืบต่อมาเช่นเดียวกัน

h “เราจะมา” ตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ในความปรารถนาของเรา”

i “เพราะความผิดสองประการ” เป็นวลีที่เข้าใจยาก บางทีอาจหมายถึงระบอบกษัตริย์ปกครองที่ได้รับการประกาศใกล้เมืองกิเบอาห์ (1 ซมอ 10:23-24) และความผิดที่เมืองกิเบอาห์ตามที่มีเล่าใน วนฉ 19 หรือบางทีอาจกล่าวถึงความผิดที่เมืองกิเบอาห์ ซึ่งมีความร้ายกาจเป็นสองเท่าก็ได้

j ข้อ 11-12 กล่าวพาดพิงถึงแผนการที่พระยาห์เวห์ทรงมีสำหรับเอฟราอิม เป็นพันธกิจที่ทรงมอบให้และกล่าวถึง โดยใช้ภาพของการหว่านและการเก็บเกี่ยวพืชผล แต่ในความเป็นจริง เป็นการกล่าวถึงการสถาปนาระเบียบความยุติธรรมและความรัก และการแสวงหาพระยาห์เวห์ แต่เอฟราอิมกลับปฏิบัติตรงกันข้าม

k “รถรบ (ของท่าน)” ตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ทาง (ของท่าน)”

l “กษัตริย์ซัลมัน” อาจหมายถึง “ซาลามานู” เจ้าครองแคว้นโมอับร่วมสมัยกับกษัตริย์ทิกลัทปิเลเสอร์ที่ 3 (745-727 ก่อน ค.ศ.) เมื่อทรงเข้าบุกรุกเมืองเบธอาร์เบล (= อีรบิท) ในแคว้นกิเลอาด

m “แม่กับลูกถูกจับฟาดจนแหลก” ความโหดร้ายแบบนี้มักเกิดขึ้นทั่วไปเมื่อศัตรูยึดเมืองใดเมืองหนึ่งได้ (ดู 14:1; 2 พกษ 8:12; สดด 137:9; อสย 13:16; นฮม 3:10)

n “เวลารุ่งเช้า” เป็นเวลาที่มักถูกเลือกเพื่อเข้าจู่โจมโดยไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามรู้ตัว (วนฉ 9:33-37; สดด 46:5; อสย 17:14) เพราะฉะนั้นจึงเป็นเวลาที่พระเจ้าประทานชัยชนะเป็นรางวัล หรือประทานความพ่ายแพ้เป็นการลงโทษ

ชาวอิสราเอลดูหมิ่นความรักของพระเจ้า พระองค์จึงทรงลงโทษเขาa

11 1เมื่ออิสราเอลยังเด็ก เราก็รักเขา

                    เราได้เรียกบุตรbของเราออกมาจากอียิปต์

          2เรายิ่งเรียกเขาทั้งหลายมากเท่าใด                

                    เขาก็ยิ่งเดินไปจากเราcมากเท่านั้น

          เขาถวายเครื่องบูชาแก่พระบาอัล

                    และเผากำยานแก่บรรดารูปเคารพ

          3เราสอนเอฟราอิมให้เดิน เราอุ้มเขาทั้งหลายไว้  

                    แต่เขาไม่รู้ว่าเราเอาใจใส่เขา

          4เราใช้เชือกแห่งมนุษยธรรม

                    และใช้สายสะพายแห่งความรักจูงเขา

          เราเป็นเหมือนผู้ที่ยกทารกdมาจูบแก้ม

                    และก้มลงป้อนอาหารให้เขาe

          5เขาจะไม่กลับไปยังแผ่นดินอียิปต์f

อัสซีเรียจะเป็นกษัตริย์ปกครองเขา

เพราะเขาไม่ยอมกลับมาหาเรา

                6ดาบจะกวัดแกว่งไปตามเมืองต่างๆ ของเขา

จะทำลายดาลประตู

และจะกลืนเขาเพราะแผนการของเขา

 

ความรักของพระเจ้ามีมากกว่าการลงโทษ

                7ประชากรของเรามีแนวโน้มที่จะเหินห่างจากเรา

เขาถูกเรียกให้มองขึ้นเบื้องบน

แต่ไม่มีใครเงยหน้าขึ้นg

                8เอฟราอิมเอ๋ย เราจะละทิ้งท่านได้อย่างไร

อิสราเอลเอ๋ย เราจะมอบท่านให้ผู้อื่นได้อย่างไร

เราจะทำให้ท่านเป็นเหมือนเมืองอัดมาห์

หรือทำกับท่านเหมือนกับเมืองเศโบยิมhได้อย่างไร

                ใจของเราปั่นป่วนอยู่ภายในi

                    ความเอ็นดูของเราก็คุกรุ่นขึ้น

          9เราจะไม่ลงอาญาตามที่เราโกรธจัด

                    เราจะไม่ทำลายเอฟราอิมอีก

          เพราะเราเป็นพระเจ้า มิใช่มนุษย์

                    เราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ในหมู่ท่านj

          เราจะไม่มาด้วยความโกรธ”

การกลับจากแดนเนรเทศk

          10เขาทั้งหลายจะติดตามพระยาห์เวห์

พระองค์จะทรงเปล่งพระสุรเสียงเหมือนสิงโต

เมื่อจะทรงเปล่งพระสุรเสียง

บรรดาบุตรจะรีบวิ่งมาจากทิศตะวันตก

          11เขาจะรีบวิ่งมาเหมือนนกจากอียิปต์

เหมือนนกพิราบจากแผ่นดินอัสซีเรีย

และเราจะให้เขากลับมาอาศัยอยู่ในบ้านของเขา

พระยาห์เวห์ตรัส

11 a เนื้อหาของบทนี้เป็นความคิดต่อเนื่องมาจากบทที่ 1-3 หลังจากอ่านเรื่องอุปมาที่ประกาศกกล่าวถึงความรักของตน (ซึ่งสะท้อนความรักของพระยาห์เวห์) ถูกภรรยา (ซึ่งหมายถึงอิสราเอล) ทรยศนอกใจแล้ว บัดนี้เราก็มาพบกับเรื่องความรักของบิดา (คือพระยาห์เวห์) ที่ถูกบุตร (คืออิสราเอล) ทรยศอีกเช่นเดียวกัน บรรดาบุตรในบทที่ 1-3 มีความใกล้ชิดกับมารดาอย่างมาก พระเจ้าทรงกล่าวถึงความรักของพระองค์ต่ออิสราเอลและถึงพระพิโรธที่ทรงถูกทรยศแล้วใน 2:1, 6

b “บุตร” นี่เป็นครั้งแรกในพันธสัญญาเดิมที่กล่าวถึงความคิดที่ว่า “ความรักของพระเจ้าเป็นสาเหตุ” ซึ่งทำให้พระองค์ทรงเลือกอิสราเอลเป็นประชากรของพระองค์ ผู้เขียนหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติจะพัฒนาความคิดนี้ต่อไปอีกมาก (ฉธบ 4:37; 7:7-9; 10:15) สำหรับประกาศกโฮเชยา ประวัติศาสตร์ของอิสราเอลเริ่มจริงๆ เมื่อเขาทั้งหลายอพยพออกจากอียิปต์ ข้อความตอนนี้ทั้งตอนบรรยายถึงช่วงเวลาการเดินทางในถิ่นทุรกันดารว่าเป็นช่วงเวลาที่เลอเลิศที่สุด (ดู 2:16 เชิงอรรถ o) ดูเหมือนว่าประกาศกโฮเชยารู้จัก หรือจดจำได้เพียงแต่เหตุการณ์ไม่กี่เรื่องที่น่าเชื่อได้จากสมัยบรรพบุรุษ (12:4-5, 13)

c “เรายิ่งเรียก....เขาก็ยิ่ง..จากไป...” แปลตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “เขาทั้งหลายเรียกเขา เขาจึงจากไป”

d “ทารก” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “แอก” “ป้อนอาหารเขา” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูไม่ชัดเจน

e ความคิดที่ว่าพระยาห์เวห์ทรงอบรมเลี้ยงดูอิสราเอลในวัยเยาว์ ดู ฉธบ 8:5-6

f “เขาจะไม่กลับไปยังแผ่นดินอียิปต์” สภาพการณ์เช่นนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกับที่กล่าวถึงใน 8:13 แต่ในความเป็นจริงไม่มีความขัดแย้งดังกล่าว เพราะชาวอิสราเอลจะถูกเนรเทศไปยังอัสซีเรีย (แม้ไม่ใช่อียิปต์)

g ตัวบทเข้าใจยาก คำแปลจึงเป็นเพียงโดยคาดคะเน

h เมืองอัดมาห์และเศโบยิมเป็นสองเมืองในกลุ่มเมืองพันธมิตรห้าเมือง (ปฐก 10:19; 14:2, 8; ฉธบ 29:22) ในตำนานเอโลฮิสต์ (E) เมืองทั้งสองนี้น่าจะแทนที่ “เมืองโสโดมและโกโมราห์” ในตำนานยาห์วิสต์ (J) (อสย 1:9-10)

i “ใจ...ปั่นป่วนอยู่ภายใน” เป็นถ้อยคำรุนแรงที่ใช้เมื่อกล่าวถึงการทำลายเมืองต่างๆ ที่ชั่วร้าย (ปฐก 19:25; ฉธบ 29:22) ประกาศกโฮเชยาเห็นว่าพระเจ้าทรงคาดโทษแล้วจะลงโทษประชากรที่ทำผิด (เทียบ คำคร่ำครวญของกษัตริย์ดาวิดถึงอับซาโลม 2 ซมอ 19:1)

j “เราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ในหมู่ท่าน” ข้อความนี้เน้นอย่างมากถึงพระอานุภาพของพระเจ้าเหนือทุกสิ่ง แต่ไม่เหมือนกับในข้อความต่างๆ ก่อนหน้านั้น (อพย 19:2 เชิงอรรถ b; 2 ซมอ 6:6-8) หรือข้อความจากช่วงเวลาใกล้เคียงกัน (อสย 6:3 เชิงอรรถ g) ที่ตรงนี้ข้อความนี้ไม่มีลักษณะความน่ากลัว มีแต่ถ้อยคำที่แสดงความรัก ความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าแสดงออกด้วยพระเมตตาสงสารและการให้อภัย แตกต่างจากมนุษย์ที่มักจะทำร้ายตามอารมณ์โกรธโดยไม่ยับยั้ง *** “เราจะไม่มาด้วยความโกรธ” แปลตามสำเนาคัดลอกภาษาฮีบรูบางฉบับ ต้นฉบับภาษาฮีบรู (MT) ว่า “เราจะไม่เข้ามาในเมือง”

k ข้อ 10-11 ขยายความคิดในข้อ 8-9 และอาจเป็นข้อความที่เสริมเข้ามาภายหลังในสมัยถูกเนรเทศที่กรุงบาบิโลน

ความมุสาของเอฟราอิมa

12 1เอฟราอิมล้อมเราด้วยคำมุสา

พงศ์พันธุ์อิสราเอลล้อมเราด้วยการหลอกลวง

แต่ยูดาห์ยังอยู่กับพระเจ้า

ซื่อสัตย์ต่อพระผู้ศักดิ์สิทธิ์b

2เอฟราอิมกินลมเป็นอาหาร

และไล่ตามลมตะวันออกc

ทุกวันเขาทวีคำมุสาและความรุนแรง

เขาทำสนธิสัญญากับอัสซีเรีย

และนำน้ำมันมะกอกเทศไปให้อียิปต์

คำกล่าวโทษยาโคบและเอฟราอิม

            3พระยาห์เวห์ทรงมีคดีกับยูดาห์d

จะทรงลงโทษยาโคบตามความประพฤติของเขา

จะทรงตอบแทนเขาตามการกระทำ

4ในครรภ์มารดา เขายึดส้นเท้าพี่ชาย

เมื่อโตแล้ว เขายังต่อสู้กับพระเจ้าe

5เขาต่อสู้กับทูตสวรรค์และมีชัยชนะ

เขาร้องไห้และขอความเมตตากรุณาf

เขาพบพระเจ้าที่เมืองเบธเอล

และพระองค์ตรัสกับเขาที่นั่นg

6พระยาห์เวห์พระเจ้าจอมจักรวาล

พระนามพระองค์คือพระยาห์เวห์

7“จงกลับมาหาพระเจ้าของท่านเถิด

จงปฏิบัติความรักมั่นคงและความยุติธรรม

จงวางใจพระเจ้าhของท่านอยู่เสมอ”

8พ่อค้าiใช้ตาชั่งฉ้อโกง

เขาชอบคดโกงผู้อื่น

9เอฟราอิมพูดว่า “ข้าพเจ้าร่ำรวยขึ้น

ข้าพเจ้าหาทรัพย์สมบัติได้มาก

แต่กำไรทั้งหมดนี้ของข้าพเจ้า

ก็ไม่ทำให้ข้าพเจ้ามีความผิดที่เป็นบาป”j

การคืนดี

            10เราเป็นพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน

ตั้งแต่ท่านยังอยู่ในแผ่นดินอียิปต์

เราจะทำให้ท่านอาศัยอยู่ในกระโจมอีก

เหมือนในวันที่มีการนัดพบk

11เราจะพูดแก่บรรดาประกาศก

เราจะให้เขาเห็นนิมิตจำนวนมาก

เราจะใช้ประกาศกพูดคำอุปมาl

คำคุกคามครั้งใหม่

            12ถ้ากิเลอาดมีความผิดจริง

เขาก็จะถูกทำลาย

เขานำโคเพศผู้มาถวายบูชาmที่เมืองกิลกาล

แท่นบูชาของเขาก็จะเหมือนกองหิน

ตามรอยไถในทุ่งนา

13ยาโคบหนีไปยังแผ่นดินอารัม

อิสราเอลได้ทำงานรับใช้เพื่อจะได้ภรรยา

เขายอมเลี้ยงแกะเพื่อจะได้ภรรยา

14พระยาห์เวห์ทรงใช้ประกาศกนำอิสราเอลออกมาจากอียิปต์

ทรงใช้ประกาศกเพื่อรักษาอิสราเอลไว้

15เอฟราอิมทำให้พระเจ้าทรงขมขื่น

พระองค์จะทรงทำให้โลหิตที่เขาได้หลั่งตกเหนือเขา

องค์พระผู้เป็นเจ้าจะทรงตอบสนองเขาที่ได้ลบหลู่พระองค์

 

12 a บทนี้เข้าใจยาก เพราะมีการกล่าวพาดพิงปนเปกันถึงเหตุการณ์ร่วมสมัย และถึงเหตุการณ์ในชีวิตของบรรพบุรุษ สำหรับประกาศกและผู้คนร่วมสมัย ประชาชนในชั่วอายุต่างๆ ที่เกิดมาจากบรรพบุรุษนั้นล้วนรวมเป็นชนกลุ่มเดียวกัน ในแง่หนึ่ง บรรพบุรุษก็ยังมีชีวิตอยู่ในอนุชนรุ่นหลัง และอนุชนรุ่นหลังเหล่านี้ก็อยู่ในตัวของบรรพบุรุษแล้วด้วย (ดู ฮบ 7:9 เชิงอรรถ f)

b “ยูดาห์…พระผู้ศักดิ์สิทธิ์” ข้อนี้เป็นข้อความที่เสริมเข้ามาหรือดัดแปลงให้เข้ากับเหตุการณ์ในภายหลัง (ดู 1:7 เชิงอรรถ i) **** หลังคำว่า “ยัง” ต้นฉบับภาษาฮีบรูอ่านว่า “ระเหระหนกับพระเจ้า” แต่ความหมายของข้อความนี้ไม่ชัดเจน บางทีอาจควรอ่านตามต้นฉบับภาษากรีกที่ว่า “แต่พระเจ้ายังทรงรู้จักยูดาห์”

c “ลมตะวันออก” เป็นลมร้อนจากทะเลทราย ที่นี่หมายถึงชาวอัสซีเรีย (เทียบ 13:15; ยรม 18:17; อสค 17:10)

d แทน “ยูดาห์” คำเดิมต้องเป็น “อิสราเอล” อย่างแน่นอน การเปลี่ยนชื่อเป็นผลจากความต้องการนำคำประกาศพระวาจาของโฮเชยามาใช้กับอาณาจักรใต้ด้วย (ดู 1:7 เชิงอรรถ i)

e ยาโคบ (อิสราเอล) มีความทะเยอทะยานและหยิ่งยโสเป็นลักษณะที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ประกาศกโฮเชยาอธิบายเหตุการณ์เหล่านี้ในแง่ลบ (ดูข้อ 13-14) ยาโคบเป็นคนบาปมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา และยังคงเป็นอยู่เช่นเดิมในช่วงหลังของชีวิตด้วย

f ปฐก 32:24-28 ไม่พูดถึงการร่ำไห้และการขอร้องของยาโคบ ประกาศกโฮเชยาอาจกล่าวพาดพิงถึงกลอุบายบางอย่างของยาโคบก็เป็นได้

g “กับเขา” แปลตามต้นฉบับภาษากรีก ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “กับพวกเรา” แต่ความหมายไม่ผิดกัน เพราะประกาศกและประชาชนร่วมสมัยล้วนเป็นลูกหลานของยาโคบและถือได้ว่ารวมอยู่ในตัวเขาด้วย

h พระวาจาที่พระเจ้าตรัสกับยาโคบยังคงใช้ได้กับลูกหลานทุกคนของเขา

i “พ่อค้า” ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ชาวคานาอัน” คำนี้ยังหมายถึง “พ่อค้า” ด้วย (อสย 23:8; อสค 17:4; ศคย 14:21) เพราะชาวคานาอันมีความชำนาญในการค้าขาย “คานาอัน” ถูกพระยาห์เวห์สาปแช่งใน ปฐก 9:25

j “ไม่ทำให้ข้าพเจ้ามีความผิดที่เป็นบาป” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูไม่ชัดเจน

k “การนัดพบ” ที่นี่อาจเป็นการกล่าวพาดพิงถึง “กระโจมนัดพบ” (อพย 33:7) หรือการพำนักที่ภูเขาซีนายที่พระเจ้าทรงพบกับประชากรของพระองค์ (อพย 3:12)

l การให้ประกาศกพูดคำอุปมาเป็นเครื่องหมายอีกว่าพระยาห์เวห์ทรงพากเพียรเอาพระทัยใส่ (เทียบข้อ 14) การไม่มีประกาศกเป็นเครื่องหมายว่าพระเจ้าไม่พอพระทัย (สดด 74:9; พคค 2:9)

m “นำโคเพศผู้มาถวายบูชา” บางคนแปลโดยคาดคะเนว่า “ถวายบูชาแก่ (รูป) โคเพศผู้”

พระเจ้าทรงลงโทษการกราบไหว้รูปเคารพ

13 1เมื่อเอฟราอิมพูด ทุกคนก็ตัวสั่น

เขามีอำนาจในอิสราเอลa

แต่เมื่อเขาทำผิดไปกราบไหว้พระบาอัล เขาก็ตาย

2บัดนี้ เขาทั้งหลายทำบาปมากขึ้น

ใช้เงินหล่อรูปเป็นรูปเคารพที่เขาคิดขึ้นเอง

ทั้งหมดเป็นผลงานของนายช่าง

เขาพูดว่า “จงถวายบูชาแก่รูปเคารพเหล่านี้”b

มนุษย์ส่งจูบให้รูปลูกโคc

3เขาจึงจะเป็นเหมือนหมอกในเวลาเช้า

เหมือนน้ำค้างที่สูญหายไปตอนรุ่งเช้า

เหมือนแกลบที่ปลิวไปจากลานนวดข้าว

เหมือนควันที่ออกมาจากหน้าต่าง

การลงโทษความเนรคุณ

            4เราเป็นพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่าน ตั้งแต่ในแผ่นดินอียิปต์d

ท่านต้องไม่รู้จักพระเจ้าอื่นใดนอกจากเรา

ไม่มีผู้ช่วยให้รอดพ้นอื่นใดนอกจากเรา

5เราเอาใจใส่ดูแลท่านในถิ่นทุรกันดาร

ในแผ่นดินแห้งแล้ง

6เมื่อเราเลี้ยงดูเขาe เขาก็กินอิ่ม

เมื่อกินอิ่มแล้ว จิตใจของเขาก็ผยอง

จึงลืมเรา

7เราจะเป็นเหมือนสิงโตสำหรับเขา

เราจะซุ่มดักอยู่ตามทางเหมือนเสือดาว

8เราจะกระโจนใส่เขาเหมือนแม่หมีที่ถูกพรากลูก

เราจะฉีกเนื้อหุ้มหัวใจของเขา

เราจะกินเขาที่นั่นเหมือนสิงโตตัวเมีย

สัตว์ป่าจะฉีกเขากิน

ระบอบกษัตริย์ปกครองจะสิ้นสุด

            9อิสราเอลเอ๋ย ท่านพินาศแล้ว

เราเท่านั้นช่วยท่านได้f

10บัดนี้ กษัตริย์ของท่านอยู่ที่ไหน

กษัตริย์ที่จะช่วยท่านให้รอดพ้นgในทุกเมืองของท่าน

บรรดาผู้ปกครองของท่านอยู่ที่ไหน

ผู้ที่ท่านเคยพูดว่า “จงให้กษัตริย์และเจ้านายแก่ข้าพเจ้า”

11เราให้กษัตริย์แก่ท่านเพราะเราโกรธ

เราจะเอากษัตริย์คืนมาเพราะเราขุ่นเคือง

เอฟราอิมจะพินาศ

          12ความผิดของเอฟราอิมถูกมัดไว้แล้ว

บาปของเขาก็ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี

13ความเจ็บปวดของหญิงคลอดบุตรจะมาถึงเขา

แต่เขาเป็นบุตรที่ไร้ปัญญา

เพราะเมื่อถึงเวลา เขาก็ไม่คลอดออกมาh

14ควรหรือที่เราจะปลดปล่อยเขาให้พ้นอำนาจของแดนผู้ตายi

ควรหรือที่เราจะไถ่เขาให้พ้นจากความตาย

ความตายเอ๋ย โรคระบาดของเจ้าอยู่ที่ไหน

แดนผู้ตายเอ๋ย การทำลายล้างของเจ้าอยู่ที่ไหน

ความเมตตากรุณาถูกปิดบังจากสายตาของเราแล้ว

15แม้เอฟราอิมจะผลิตผลมากกว่าพี่น้องj

ลมตะวันออกk ลมของพระยาห์เวห์จะขึ้นมาจากถิ่นทุรกันดาร

ทำให้ตาน้ำของเขาแห้งไป

พุน้ำก็จะแห้งผาก

ลมนั้นจะริบเครื่องใช้มีค่าทั้งหมด

ที่เป็นทรัพย์สมบัติของเขา

 

13 a “เขามีอำนาจในอิสราเอล” เรื่องการที่เผ่าเอฟราอิมเคยมีความสำคัญทางการเมืองในสมัยโบราณ ดู ยชว 24:30; วนฉ 8:1-3; 12:1-6

b “จงถวายบูชาแก่รูปเคารพเหล่านี้” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ผู้ที่ถวายบูชา”

c การส่งจูบเป็นเครื่องหมายแสดงความเคารพ (ดู 1 พกษ 19:18)

d บรรทัดนี้ ตัวบทภาษากรีกอ่านว่า “เราเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าพระเจ้าของท่าน ซึ่งตั้งท้องฟ้าไว้มั่นคงและสร้างแผ่นดิน มือของเราได้สร้างดาวดาราทั้งหลายในท้องฟ้า เราไม่ได้ตั้งสิ่งเหล่านี้ไว้เพื่อให้ท่านทั้งหลายกราบไหว้ เราได้นำท่านออกมาจากแผ่นดินอียิปต์” **** เมื่อกษัตริย์เยโรโบอัมทรงสร้างรูปลูกโคที่เมืองดานและเบธเอล พระองค์ตรัสว่า “อิสราเอลเอ๋ย นี่คือพระเจ้าของท่าน ผู้ทรงนำท่านออกจากแผ่นดินอียิปต์” (1 พกษ 12:28)

e “เราเลี้ยงดูเขา” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ตามทุ่งหญ้าของเขา”

f “อิสราเอลเอ๋ย ท่านพินาศแล้ว เราเท่านั้นช่วยท่านได้” แปลโดยคาดคะเน แปลตามตัวอักษรว่า “ความพินาศของท่าน อิสราเอลเอ๋ย เพราะในเรา สำหรับความช่วยเหลือของท่าน”

g “กษัตริย์ที่จะช่วยท่านให้รอดพ้น” อาจเป็นการกล่าวพาดพิงแบบประชดประชันถึงกษัตริย์โฮเชยา (735-724 ก่อน ค.ศ.) เพราะพระนามพระองค์มีความหมายว่า “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอดพ้น” (เป็นชื่อเดียวกันกับชื่อของประกาศก)

h ภาพเปรียบเทียบถึงความเจ็บปวดในการคลอดบุตรถูกใช้ที่นี่เป็นครั้งแรก เพื่อบรรยายถึงหายนะของชาติที่กำลังจะมาถึง (เทียบ อสย 26:17; 66:7; ยรม 6:24) ที่ตรงนี้ ภาพเปรียบเทียบพูดเป็นนัยว่าพระเจ้าทรงวางแผนหายนะนี้เพื่อให้ประชาชนได้กลับใจ และเพื่อเป็นบ่อเกิดของชีวิตใหม่ เหมือนกับการที่ทารกคนหนึ่งเกิดมา แต่เอฟราอิมเป็นเหมือนทารกที่ “ไร้ปัญญา” ไม่ยอมคลอดออกมาตามกำหนดเวลา จึงต้องประสบความพินาศ

i บริบทเรียกร้องให้เข้าใจว่าต้องอธิบายข้อ 14 เป็นการคุกคาม คำถามแรกทั้งสองข้อคาดว่าจะได้รับคำตอบปฏิเสธ ถามสองข้อต่อมาเป็นการเชิญชวนให้ความตายและแดนผู้ตายส่งการทำลายล้างมาลงโทษประชากรที่เป็นกบฏ นักบุญเปาโลยกข้อความนี้เพื่อประกาศว่าความตายถูกพระคริสตเจ้าพิชิตได้แล้ว (1 คร 15:55) แต่เปาโลอธิบายตัวบทตามวิธีการที่ใช้กันในสมัยนั้น ซึ่งยอมรับให้นำข้อความหนึ่งมาใช้นอกบริบทได้ด้วย

j คำ “เอฟราอิม” ไม่มีในตัวบท มีแต่คำว่า “เขา” แต่คำว่า “ผลิตผล” ชวนให้คิดว่ากำลังกล่าวถึง “เอฟราอิม” ตรงกับคำอธิบายชื่อ “เอฟราอิม” ใน ปฐก 41:52

k “ลมตะวันออก” หมายถึงชาวอัสซีเรีย

14 1กรุงสะมาเรียจะต้องรับโทษความผิดของตน

เพราะได้เป็นกบฏต่อพระเจ้า

เขาทั้งหลายจะล้มลงด้วยดาบ

ทารกของเขาจะถูกจับฟาดจนแหลก

หญิงมีครรภ์จะถูกผ่าท้อง

III. อิสราเอลจะเป็นทุกข์กลับใจและจะคืนดีกับพระเจ้าa

 

อิสราเอลกลับใจมาพบพระยาห์เวห์

2อิสราเอลเอ๋ย จงกลับมาเฝ้าพระยาห์เวห์พระเจ้าของท่านเถิด

ท่านได้สะดุดล้มลงเพราะความผิดของท่าน

3จงเตรียมถ้อยคำที่จะพูดbมาด้วย

และกลับมาเฝ้าพระยาห์เวห์

ทูลพระองค์ว่า “โปรดทรงลบล้างความผิดทั้งหมด

และทรงรับสิ่งที่ดี

ข้าพเจ้าทั้งหลายจะนำคำสรรเสริญจากปากมาถวายแทนโคเพศผู้

4อัสซีเรียจะไม่ช่วยข้าพเจ้าทั้งหลายให้รอดพ้น

ข้าพเจ้าทั้งหลายจะไม่ขี่ม้าอีก

จะไม่เรียกสิ่งที่มือของข้าพเจ้าได้สร้างขึ้นcอีกต่อไปว่า

‘พระเจ้าของข้าพเจ้าทั้งหลาย’

เพราะลูกกำพร้าพบพระกรุณาในพระองค์”

5(พระยาห์เวห์ตรัสว่า)

เราจะรักษาเขาให้หายจากความไม่ซื่อสัตย์ของเขา

เราจะรักเขาด้วยใจจริง

เพราะเราจะไม่โกรธเขาอีกแล้ว

6เราจะเป็นเหมือนน้ำค้างสำหรับอิสราเอล

เขาจะผลิดอกเหมือนดอกลิลลี่

เขาจะหยั่งรากเหมือนต้นสนสีดาร์แห่งเลบานอนd

7กิ่งก้านของเขาจะแผ่ขยาย

เขาจะงดงามเหมือนต้นมะกอกเทศ

และจะมีกลิ่นหอมเหมือนเลบานอน

8เขาทั้งหลายจะกลับมานั่งอยู่ใต้ร่มเงาของเราe

เขาจะปลูกข้าวสาลีอีก

จะทำให้เถาองุ่นผลิตผลอุดม

มีชื่อเสียงเหมือนเหล้าองุ่นแห่งเลบานอน

9เอฟราอิมจะต้องเกี่ยวข้องอะไรกับรูปเคารพอีกf

เราเองจะตอบและดูแลเขา

เราเป็นเหมือนต้นไซเปรสใบเขียวสดอยู่เสมอ

ท่านจะได้รับผลของท่านจากเราg

คำเตือนสุดท้ายh

10ผู้มีปรีชาพึงเข้าใจเรื่องเหล่านี้

ผู้ใดฉลาดก็จงรู้

เพราะหนทางทั้งหลายของพระยาห์เวห์ล้วนเที่ยงธรรม

ผู้ชอบธรรมย่อมเดินตามทางนี้

แต่ผู้ล่วงละเมิดจะสะดุดล้ม

 

14 a คำประกาศพระวาจาจบลงด้วยข้อความที่แสดงความหวัง ซึ่งก็เคยได้ยินแล้วใน 2:16-25; 3:5; 11:8-11; 12:10 ถ้อยคำเหล่านี้เป็นคำอธิษฐานภาวนาในพิธีกรรมซึ่งแสดงความทุกข์กลับใจอย่างแท้จริง คล้ายกับ 6:1-6 ตามด้วยพระสัญญาของพระเจ้าว่าจะประทานพระพรแก่ประชากร

b “ถ้อยคำที่จะพูด” คือถ้อยคำที่ประชาชนสัญญาจะกลับใจอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงโดยใช้การถวายบูชาหรือพิธีกรรมภายนอกเท่านั้น (ดู 6:6)

c การละทิ้งรูปเคารพยังกินความถึงการละทิ้งรูปแบบการกราบไหว้รูปเคารพ ที่ควบคู่อยู่กับการไว้วางใจในสนธิสัญญากับชนต่างชาติ (อัสซีเรีย) และกำลังทางทหาร (“ม้า” = รถรบ) มากกว่าจะไว้วางใจในพระยาห์เวห์ ซึ่งทรงเป็นพระผู้ช่วยให้รอดพ้นเพียงพระองค์เดียว (ดู 8:9 เชิงอรรถ h; สดด 20:7-8; อสย 30:1-5; 31:1-3)

d “ต้นสนสีดาร์แห่งเลบานอน” เป็นคำที่เสริมเข้ามา ในต้นฉบับไม่มีคำนี้ มีแต่คำว่า “เลบานอน”

e “ของเรา” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษากรีกว่า “เขาทั้งหลายจะกลับมาและนั่งอยู่ใต้ร่มของเขา” ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “ผู้ที่อาศัยอยู่ในร่มของเขาจะกลับมา”

f “เอฟราอิมจะต้องเกี่ยวข้องอะไรกับรูปเคารพอีก” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “เอฟราอิมเอ๋ย เราจะต้องทำอะไร”

g “ท่านจะได้รับผลของท่านจากเรา” เป็นการเล่นคำอีกครั้งหนึ่งกับชื่อ “เอฟราอิม” (ดู 13:15 เชิงอรรถ j) **** ต้นสนไซเปรสมีใบเขียวสดอยู่เสมอ เป็นสัญลักษณ์ของชีวิต ซึ่งมีพระยาห์เวห์ทรงเป็นบ่อเกิด เมื่อทรงประณามพิธีขอความอุดมสมบูรณ์ใต้ร่มไม้ศักดิ์สิทธิ์ (4:13) แล้ว พระยาห์เวห์ทรงบอกอย่างแจ้งชัดว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์ “ของจริง” ส่วน “พิธีขอความอุดมสมบูรณ์ (จากพระบาอัลของชาวคานาอัน)” เป็นเพียง “รูปตลก”

h ข้อความในข้อนี้เป็นข้อความเสริมในรูปแบบของวรรณกรรมปรีชาญาณ (เทียบ สดด 107:43; สภษ 4:7)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก