การชดใช้ในกรณีทำร้ายร่างกาย
18เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาท ถ้าคนหนึ่งใช้ก้อนหินทำร้ายอีกคนหนึ่งหรือชกต่อยจนได้รับบาดเจ็บต้องพักรักษาตัว แต่ไม่ถึงตาย 19ต่อมา คนที่บาดเจ็บลุกขึ้นเดินไปไหนได้แม้จะต้องใช้ไม้เท้าช่วยพยุงกาย ผู้ที่ทำร้ายไม่ต้องถูกลงโทษ แต่ต้องจ่ายเงินให้ผู้บาดเจ็บเป็นการชดเชยเวลาที่เขาไม่อาจทำงานได้ และเป็นค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บจนกว่าจะหายเป็นปกติ
20เมื่อผู้ใดใช้ไม้ตีทาสของตนจนตายคามือ ไม่ว่าจะเป็นทาสชายหรือทาสหญิง เขาจะต้องถูกลงโทษ 21แต่ถ้าทาสคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกวันหนึ่งหรือสองวัน เขาไม่ต้องถูกลงโทษ เพราะทาสนั้นเป็นสมบัติของเขา
22ถ้าชายที่กำลังต่อสู้กัน ไปชนหญิงมีครรภ์จนแท้งบุตร แต่นางไม่ได้รับบาดเจ็บอื่น ๆ ผู้ที่ทำร้ายนางจะต้องถูกปรับตามจำนวนเงินที่สามีของนางเรียกร้อง และจะต้องจ่ายเงินต่อหน้าผู้พิพากษา 23แต่ถ้านางได้รับบาดเจ็บอื่น ๆ ด้วย เขาจะต้องชดใช้ชีวิตแทนชีวิต 24ตาแทนตา ฟันแทนฟัน มือแทนมือ เท้าแทนเท้า 25รอยไหม้แทนรอยไหม้ บาดแผลแทนบาดแผล รอยฟกช้ำแทนรอยฟกช้ำf
26ถ้าผู้ใดตีนัยน์ตาของทาสชายหรือทาสหญิงจนบอด ผู้นั้นจะต้องปล่อยทาสไปเป็นอิสระ เป็นค่าชดเชยนัยน์ตานั้น 27ถ้าเขาทำให้ฟันของทาสชายหรือทาสหญิงหลุด เขาจะต้องปล่อยทาสนั้นไปเป็นอิสระเป็นค่าชดเชยฟันนั้น
28ถ้าโคตัวใดขวิดคนไม่ว่าชายหรือหญิงจนถึงแก่ชีวิต โคนั้นจะต้องถูกหินขว้างจนตายและห้ามมิให้กินเนื้อโคนั้น ส่วนเจ้าของโคไม่มีความผิด 29แต่ถ้าโคมีนิสัยชอบไล่ขวิดคนมาก่อน และมีผู้ตักเตือนเจ้าของโคแล้ว เขายังไม่กักขังโคไว้ในคอก ถ้าโคนั้นขวิดใครตายมันจะต้องถูกหินขว้างจนตาย และเจ้าของโคจะต้องถูกประหารชีวิตด้วย 30ถ้าถูกเรียกร้องค่าไถ่ชีวิต เจ้าของโคจะต้องจ่ายเต็มตามจำนวนที่เรียกร้องนั้นไถ่ชีวิตของตน 31ถ้าโคขวิดเด็กชายหรือเด็กหญิง ให้ถือตามกฎเดียวกัน 32ถ้าโคขวิดทาสชายหรือทาสหญิง ให้เจ้าของโคจ่ายเงินหนักสามสิบบาท ให้เจ้าของทาส แล้วเอาหินขว้างโคนั้นให้ตาย
33ถ้าผู้ใดเปิดบ่อทิ้งไว้ หรือขุดบ่อแล้วไม่ปิด แล้วโคหรือลาตกลงไปในบ่อนั้น 34เจ้าของบ่อจะต้องจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของสัตว์ ส่วนสัตว์ที่ตายจะตกเป็นของเจ้าของบ่อ 35ถ้าโคของผู้ใดขวิดโคของผู้อื่นตาย ให้เจ้าของทั้งสองขายโคที่ยังมีชีวิตอยู่แล้วเอาเงินมาแบ่งกัน ส่วนเนื้อของโคที่ตายก็เอามาแบ่งกันด้วย 36แต่ถ้ารู้กันว่าโคมีนิสัยชอบขวิดตัวอื่น และเจ้าของไม่กักขังมันไว้ เจ้าของจะต้องชดใช้โดยให้โคเป็นแทนโคตาย และนำโคตายมาเป็นของตนได้
f กฎการปรับโทษเท่ากับความผิด หรือ Lex talionis นี้ (ดู ลนต 24:17-20; ฉธบ 19:21) พบได้ในประมวลกฎของฮัมมูราบีและกฎหมายของชาวอัสซีเรีย หลักการนี้สังคมเป็นผู้ใช้ในการลงโทษผู้กระทำผิด ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล การกำหนดโทษให้เท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นมีจุดประสงค์ที่จะจำกัดขอบเขตการแก้แค้นมิให้เลยเถิดไป (ดู ปฐก 4:23-24) ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของกฎนี้คือการประหารชีวิตฆาตกร (กดว 35:31-34 ดู 1:12-17 เชิงอรรถ e; ลนต 24:17) แต่ในกรณีอื่น ๆ ดูเหมือนว่าไม่ได้มีการใช้หลักการนี้อย่างเคร่งครัด ส่วนหน้าที่ของ "ผู้แก้แค้นแทนโลหิต" ( go'el กดว 35:19 เชิงอรรถ c) ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลงจนมีหน้าที่สำคัญเพียงไถ่ทรัพย์สินของตระกูลคืนมา (นรธ 2:20 เชิงอรรถ i) และพิทักษ์ป้องกันญาติพี่น้อง (สดด 19:14 เชิงอรรถ g; อสย 41:14 เชิงอรรถ g) หลักการนี้ยังคงอยู่ต่อไป แต่รูปแบบการปฏิบัติค่อย ๆ มีความนิ่มนวลยิ่งขึ้น (ปชญ 11:16 เชิงอรรถ l; บสร 27:25-29 ดู อพย 12:22) พันธสัญญาเดิมแนะนำให้ชาวอิสราเอลรู้จักให้อภัยแก่ผู้อื่น (ลนต 19:17-18; บสร 10:6; 27:30-28:7) และพระคริสตเจ้าจะทรงย้ำมากขึ้นอีกว่าต้องให้อภัยโทษแก่ผู้อื่นด้วย (มธ 5:38-39 เชิงอรรถ p; 18:21-22 เชิงอรรถ k)