“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

 3 1ต่อไปนี้เป็นชนชาติต่างๆ ที่พระยาห์เวห์ทรงปล่อยไว้ เพื่อจะทรงใช้เขาทดสอบชาวอิสราเอลที่ไม่เคยทำสงครามกับชาวคานาอัน 2พระองค์ทรงทำเช่นนี้เพื่อสั่งสอนชาวอิสราเอลให้รู้จักทำสงคราม  โดยเฉพาะรุ่นที่ไม่เคยทำสงครามมาก่อน 3ชนชาติเหล่านี้คือเจ้าเมืองทั้งห้าคนของชาวฟีลิสเตีย ชาวคานาอันทั้งหมด ชาวไซดอนและฮีไวต์a ที่อยู่บนแถบภูเขาเลบานอน ตั้งแต่บริเวณภูเขาบาอัลเฮอร์โมนไปจนถึงช่องเขาคามัท 4พระยาห์เวห์ทรงใช้ชนชาติเหล่านี้ทดสอบว่าชาวอิสราเอลจะเชื่อฟังบทบัญญัติที่พระยาห์เวห์ทรงบัญชาแก่บรรดาบรรพบุรุษทางโมเสสหรือไม่ 5ดังนั้น ชาวอิสราเอลจึงอยู่ในหมู่ชาวคานาอัน ชาวฮิตไทต์ ชาวอาโมไรต์ ชาวเปริสซี ชาวฮีไวต์และชาวเยบุส 6ชาวอิสราเอลแต่งงานกับบุตรสาวของชนชาติเหล่านี้ และให้บุตรสาวของตนเป็นภรรยาของบุตรชายของเขา รวมทั้งไปรับใช้เทพเจ้าของเขาด้วย

III. เรื่องของบรรดาผู้นิจฉัยb

ก.โอทนีเอลc

 

          7ชาวอิสราเอลทำสิ่งเลวร้ายเฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์ เขาลืมพระยาห์เวห์พระเจ้าของตน ไปรับใช้พระบาอัลและพระอาเชราห์ต่างๆ 8พระยาห์เวห์จึงทรงพระพิโรธต่อชาวอิสราเอลอย่างยิ่ง ทรงมอบเขาไว้ในมือของคูชันริชาธาอิมกษัตริย์แห่งเอโดมd ชาวอิสราเอลต้องเป็นทาสรับใช้คูชันริชาธาอิมเป็นเวลาแปดปี

          9แล้วชาวอิสราเอลร้องขอพระยาห์เวห์ และพระยาห์เวห์ประทานผู้ปลดปล่อยคนหนึ่งมาช่วยเขา คือโอทนีเอลบุตรของเคนัส น้องชายของคาเลบ 10พระจิตของพระยาห์เวห์เสด็จมาเหนือเขา เขาจึงเป็นผู้วินิจฉัยของชาวอิสราเอลและออกไปทำสงคราม พระยาห์เวห์ทรงมอบคูชันริชาธาอิมกษัตริย์แห่งเอโดมไว้ในมือของเขา และเขามีชัยชนะเหนือคูชันริชาธาอิม 11แผ่นดินจึงสงบสุขเป็นเวลาสี่สิบปี แล้วโอทนีเอลบุตรของเคนัสก็ถึงแก่กรรม

ข.เอฮูดe

 

          12ชาวอิสราเอลทำสิ่งเลวร้ายเฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์อีก พระยาห์เวห์จึงทรงทำให้เอกโลนกษัตริย์ของชาวโมอับมีกำลังมากกว่าชาวอิสราเอล เพราะเขาทำสิ่งเลวร้ายเฉพาะพระพักตร์พระยาห์เวห์ 13กษัตริย์เอกโลนทรงร่วมมือกับชาวอัมโมนและชาวอามาเลขเข้าโจมตีชาวอิสราเอล และยึดเมืองดงอินทผลัม 14ชาวอิสราเอลต้องเป็นทาสของเอกโลนกษัตริย์ของชาวโมอับเป็นเวลาสิบแปดปี

15แล้วชาวอิสราเอลร้องขอพระยาห์เวห์ และพระยาห์เวห์ประทานผู้ปลดปล่อยคนหนึ่งให้เขา คือเอฮูด เป็นคนถนัดมือซ้าย เป็นบุตรของเกรา จากเผ่าเบนยามิน ชาวอิสราเอลส่งเอฮูดนำเครื่องบรรณาการไปถวายเอกโลนกษัตริย์ของชาวโมอับ 16เอฮูดทำดาบสองคมยาวประมาณครึ่งเมตร คาดไว้ที่ต้นขาขวาซ่อนอยู่ใต้เสื้อคลุม 17แล้วนำเครื่องบรรณาการมาถวายเอกโลนกษัตริย์ของชาวโมอับ ซึ่งมีพระวรกายอ้วนมาก 18เมื่อเอฮูดถวายบรรณาการแล้วก็สั่งให้คนที่เชิญบรรณาการนั้นกลับไปบ้าน 19ส่วนเอฮูด เมื่อมาถึงสถานที่ซึ่งเรียกว่า “ศิลารูปเคารพ” ใกล้เมืองกิลกาลf ก็หวนกลับไปทูลกษัตริย์ว่า “ข้าแต่กษัตริย์ ข้าพเจ้ามีความลับจะกราบทูลพระองค์” กษัตริย์ทรงสั่งบรรดาข้าราชบริพารว่า “ปล่อยให้เราอยู่ตามลำพังเถิด”[1] ทุกคนก็ออกไปจากที่นั่น 20ขณะที่กษัตริย์ประทับอยู่ตามลำพังในห้องส่วนพระองค์ชั้นบนเพื่อรับลมเย็น เอฮูดก็เข้ามาเฝ้าทูลว่า “ข้าพเจ้ามีข่าวสารจากพระเจ้ามาถึงพระองค์” กษัตริย์ก็ทรงยืนขึ้น 21เอฮูดจึงเอามือซ้ายชักดาบออกมาจากต้นขาขวา จ้วงแทงลงไปที่พระนาภีของกษัตริย์ 22ดาบทั้งเล่มก็จมมิดลงไปรวมทั้งด้ามด้วย จนไขมันทะลักออกมาหุ้มดาบไว้ทั้งเล่ม เพราะเอฮูดไม่ได้ชักดาบออกจากพระนาภีของกษัตริย์ แต่รีบหนีออกไปทางหน้าต่างg 23เอฮูดออกมาข้างนอก โดยปิดประตูลั่นกุญแจไว้ข้างใน

24เมื่อเอฮูดจากไปแล้ว บรรดาข้าราชบริพารเข้ามาดู และเห็นว่าประตูของห้องชั้นบนปิดกุญแจไว้ ก็คิดว่า “กษัตริย์คงกำลังทรงบังคนhอยู่ในห้องชั้นบน” 25เขาคอยอยู่นานก็ยังไม่เห็นพระองค์เสด็จออกมาจากห้องชั้นบน จึงไปเอากุญแจมาไขเปิดประตูเข้าไป ก็เห็นเจ้านายของตนสิ้นพระชนม์อยู่บนพื้น

26ในระหว่างที่เขารอคอยนั้น เอฮูดหนีออกไปผ่านสถานที่ซึ่งเรียกว่า “ศิลารูปเคารพ” มาถึงเมืองเสอีราห์ได้อย่างปลอดภัย 27เมื่อมาถึงที่นั่น เขาก็เป่าแตรเขาสัตว์ในแถบภูเขาเอฟราอิม บรรดาชาวอิสราเอลทั้งหลายลงมาจากแถบภูเขา ยอมรับเขาเป็นผู้นำ 28เอฮูดจึงสั่งเขาทั้งหลายว่า “จงตามข้าพเจ้ามาเถิด พระยาห์เวห์ทรงมอบชาวโมอับศัตรูของท่านไว้ในมือของท่านแล้ว” เขาทั้งหลายจึงตามเอฮูดลงมายึดที่ตื้นของแม่น้ำจอร์แดนมิให้ชาวโมอับข้าม และไม่ยอมให้ใครข้ามไปแม้แต่คนเดียว 29ในวันนั้น ชาวอิสราเอลฆ่านักรบเข้มแข็งเก่งกล้าชาวโมอับประมาณหนึ่งหมื่นคน ไม่มีใครหนีรอดไปได้เลย 30ในวันนั้น ชาวโมอับต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของชาวอิสราเอล แผ่นดินก็สงบสุขเป็นเวลาแปดสิบปี

ค.ชัมการ์i

 

               31ผู้วินิจฉัยต่อจากเขาคือ ชัมการ์บุตรของอานาท เขาใช้ปฏักวัวฆ่าชาวฟีลิสเตียหกร้อยคน นับว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ช่วยชาวอิสราเอลให้รอดพ้น

 

3 a “ชาวฮีไวต์” บางคนแปลว่า “ชาวฮิตไทต์” ตาม ยชว 11:3 และ 2 ซมอ 24:6

b นักวิชาการมักจะแบ่งบรรดาผู้วินิจฉัยเป็นสองกลุ่ม คือ “ผู้วินิจฉัยใหญ่” ถ้ามีประวัติเล่าไว้ค่อนข้างละเอียด ได้แก่ โอทนีเอล เอฮูด เดโบราห์ (และบาราค) กิเดโอน เยฟธาห์ และแซมสัน และ “ผู้วินิจฉัยน้อย” ถ้ามีข้อความกล่าวถึงเพียงเล็กน้อย ได้แก่ ชัมการ์ โทลา ยาอีร์ อิบซาน เอโลน และอับโดน พระคัมภีร์มิได้แบ่งผู้วินิจฉัยออกเป็นสองกลุ่มเช่นนี้เลย อย่างไรก็ตาม การแบ่งเช่นนี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับลักษณะสองแบบของบุคคลที่เล่าถึงในหนังสือผู้วินิจฉัย กลุ่มแรกเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงเรียกมาช่วยปลดปล่อยประชากรให้พ้นจากการถูกกดขี่ เขาเป็นผู้นำและผู้กอบกู้ที่ได้รับพระพรพิเศษ ส่วนผู้วินิจฉัยกลุ่มที่สองก็คงได้ทำหน้าที่บางอย่าง ซึ่งยากจะกำหนดให้แน่ชัดว่าเป็นหน้าที่อะไร พระคัมภีร์กล่าวว่า บุคคลเหล่านี้ทำหน้าที่ “วินิจฉัย” ซึ่งหมายถึงการพิจารณาคดีให้ความยุติธรรมและหน้าที่อื่นๆ อีกด้วย เพราะในภาษาฮีบรูและภาษาเซมิติกอื่นๆ คำกริยา “วินิจฉัย” และ “ปกครอง” ใช้คำเดียวกัน บางครั้ง “ผู้วินิจฉัย” (Shophet) หมายถึง “กษัตริย์” เช่น กษัตริย์ (Suffetes) ของเมืองไทระและคาร์เธจ

จำนวนปีที่ผู้วินิจฉัยแต่ละท่าน “ปกครอง” นั้น อาจได้มาจากแหล่งข้อมูลแน่นอนทางประวัติศาสตร์ แต่การกล่าวว่าผู้วินิจฉัยแต่ละท่านมีอำนาจปกครองชาวอิสราเอลทุกเผ่าตามลำดับต่อเนื่องนั้น ดูเหมือนจะเป็นเพียงกรอบของเรื่องที่ผู้เรียบเรียงคิดขึ้นมาเอง ผู้เรียบเรียงหนังสือ วนฉ ขยายบทบาทของวีรบุรุษผู้ที่เขารวบรวมเรื่องราวมาให้ทำหน้าที่ “ปกครอง” ชาวอิสราเอลอีกด้วย จึงกล่าวว่าผู้ปลดปล่อยเหล่านี้ “วินิจฉัย” อิสราเอล แล้วจัดลำดับให้ต่อเนื่องกันร่วมกับเรื่องราวของ “ผู้วินิจฉัยน้อย” เพื่อให้มีจำนวนสิบสองคนเท่ากับสิบสองเผ่า ผู้เรียบเรียงทำเช่นนี้เพื่อเชื่อมประวัติศาสตร์ของอิสราเอลตั้งแต่ความตายของโยชูวาจนถึงสมัยกษัตริย์ซาอูล ในความเป็นจริง อำนาจปกครองของผู้วินิจฉัยน่าจะเป็นเพียงอำนาจเหนือเมืองใดเมืองหนึ่งกับหมู่บ้านโดยรอบเท่านั้น การปกครองแบบผู้วินิจฉัยจึงเป็นระบอบการปกครองชั่วคราวระหว่างระบอบหัวหน้าเผ่าปกครองกับระบอบกษัตริย์ปกครอง

c เรื่องเล่าสั้นๆ นี้ดูจะมีปัญหา โอทนีเอลคงเป็นคนเดียวกันกับผู้ยึดเมืองเดบีร์ เมื่อชาวอิสราเอลเข้ามายึดครองแผ่นดินคานาอัน ต้นฉบับภาษาฮีบรูบอกว่าศัตรูผู้รุกราน คือคูชันริชาธาอิมกษัตริย์แห่งอารัมนาหะราอิม (หมายถึง แคว้นเมโสโปเตเมียตอนบน) ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ บางทีต้นฉบับดั้งเดิมอาจจะเขียนว่า “กษัตริย์แห่งเอโดม” แต่ต่อมาภายหลังมาอ่านผิดว่า “กษัตริย์แห่งอารัม” และผู้คัดลอกยังเพิ่มคำ “นาหะราอิม” เข้ามาอีก เพราะ “อารัมนาหะราอิม” พบได้บ่อยๆ ใน ปฐก ถ้าเป็นเช่นนี้ก็มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า ชาวเอโดมพยายามเข้ายึดครองแผ่นดินทางใต้ของปาเลสไตน์ เรื่องทั้งหมดนี้เป็นผลงานของสำนักเฉลยธรรมบัญญัติ ซึ่งอาจจะใช้ธรรมประเพณีโบราณที่เล่ากันในเผ่ายูดาห์ทางใต้ เพื่อให้เผ่ายูดาห์มีผู้วินิจฉัยในเผ่าของตนด้วย เพราะในเวลานั้น ชนเผ่าคาเลบถูกกลืนเข้ารวมกับชนเผ่ายูดาห์แล้ว

d “เอโดม” แปลโดยคาดคะเน ต้นฉบับภาษาฮีบรูว่า “อารัมนาหะราอิม” คำ “นาหะราอิม” น่าจะเป็นคำที่ผู้คัดลอกเพิ่มเติมในภายหลัง (ดู ข้อ 10) * ชื่อของกษัตริย์มีความหมายว่า “คูชัน ความชั่วร้ายสองเท่า” อาจเป็นชื่อโบราณที่ถูกดัดแปลงเป็นการเยาะเย้ย

e เรื่องนี้สันนิษฐานว่า ชาวโมอับได้ข้ามแม่น้ำอารโนนเข้ายึดครอง “ที่ราบโมอับ” และข้ามแม่น้ำจอร์แดน เข้ามาในแผ่นดินคานาอันด้วย กษัตริย์ของชาวโมอับพำนักอยู่ที่เมืองเยรีโค เมือง “ดงอินทผลัม” จึงอยู่ในดินแดนของชนเผ่าเบนยามิน ชาวโมอับสามารถขยายอำนาจเข้ามาเช่นนี้เพราะชนเผ่ารูเบนอ่อนกำลังลง ตอนต้นยุคผู้วินิจฉัย ผู้เรียบเรียงจากสำนักเฉลยธรรมบัญญัติแทบจะไม่ได้เพิ่มเติมรายละเอียดอื่นอีกเลย (ดูข้อ 12, 15 ก และ 30) เขาใช้เรื่องโบราณซึ่งเล่ากันอยู่ที่เมืองกิลกาล (ข้อ 19) กล่าวถึงอุบายของเอฮูดชนเผ่าเบนยามินด้วยความสะใจ โดยไม่คิดถึงความถูกต้องทางศีลธรรมมากนัก การกล่าวว่าเอฮูดช่วยชาวอิสราเอลทั้งชาติให้พ้นจากศัตรู (ข้อ 27-29) เป็นเรื่องเพิ่มเติมในภายหลังซึ่ งอาจมีขึ้นก่อนที่ผู้เรียบเรียงจากสำนักเฉลยธรรมบัญญัติจะนำเรื่องมาใช้

f “ศิลารูปเคารพ” (pesilim) ชาวบ้านในบริเวณนั้นรู้จักดีว่าอยู่ที่ไหน อาจเป็นหลักเขตด้วย (ดู ข้อ 26) แต่เราไม่ทราบว่าศิลาเหล่านี้เป็นอะไร แต่คงไม่ใช่ศิลาที่โยชูวาสั่งให้ตั้งขึ้นเป็นที่ระลึกใน ยชว 4:19-20

[1] “ปล่อยให้เราอยู่ตามลำพังเถิด” แปลตามตัวอักษรว่า “จงเงียบเถิด” คงเป็นวิธีพูดปิดการประชุม ให้ทุกคนออกไป

g “ออกไปทางหน้าต่าง” เป็นการแปลโดยคาดคะเนจากต้นฉบับภาษาฮีบรู บางคนแปลข้อความนี้ว่า “อุจจาระทะลักออกมาจากรอยแทง”

h “ทรงบังคน” ตามตัวอักษรว่า “คลุมเท้า” เป็นวิธีพูดอย่างสุภาพหมายถึง “ถ่ายอุจจาระ”

i ข้อนี้ถูกเพิ่มเติมในภายหลัง (ดู 4:1) ชัมการ์ดูเหมือนจะไม่ใช่ชาวอิสราเอล เพราะมีชื่อต่างด้าวและคงจะเป็นชาวเมืองเบธอานาธในแคว้นกาลิลี ซึ่งในเวลานั้นยังคงเป็นเมืองของชาวคานาอัน (1:33) ผู้เรียบเรียงนำชื่อของเขามาไว้ในรายชื่อของผู้วินิจฉัย เพราะอาจเข้าใจข้อความในบทเพลงของนางเดโบราห์ (5:6) ผิดไป

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก