“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“พระองค์ทรงทำได้ทุกสิ่ง”

52.เศรษฐีหนุ่ม  (3)
- พระเยซูเจ้าจึงตรัสอีกว่า “ลูกเอ๋ย เราพบคำว่า “ลูกเอ๋ย” บ่อย ๆ ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นแต่ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก เราพบคำนี้เพียงครั้งเดียว ในที่นี้พระเยซูเจ้าทรงใช้คำว่า “ลูกเอ๋ย”เพื่อแสดงความเมตตาสงสารต่อบรรดาศิษย์แม้เขาละทิ้งทุกอย่างเพื่อติดตามพระองค์ อยู่กับพระองค์และฟังคำสั่งสอนของพระอาจารย์เป็นเวลานาน ก็ยังแปลกใจกับพระวาจาของพระองค์ เพราะเขาละทิ้งทัศนคติของชาวยิวร่วมสมัยไม่ได้


- ยากจริงหนอที่จะเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า อูฐจะลอดรูเข็มยังง่ายกว่าคนมั่งมีเข้าสู่พระอาณาจักรของพระเจ้า” พระเยซูเจ้าทรงย้ำเป็นครั้งที่สองว่า ทรัพย์สมบัติเป็นอุปสรรคในการติดตามพระองค์ และทรงใช้คำอธิพจน์คือ พรรณนากิจการเกินความจริงที่เป็นไปไม่ได้ เพื่อย้ำอารมณ์ความรู้สึก ความประทับใจให้มีมากขึ้น พระองค์ทรงต้องการสอนว่าทรัพย์สมบัติเป็นอุปสรรคขัดขวางมิให้มนุษย์เข้าพระอาณาจักรของพระเจ้า นักพระคัมภีร์บางคนไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องเปรียบเทียบอูฐกับรูเข็ม เขาจึงตีความหมายประโยคนี้อีกแบบหนึ่งเพื่อจินตนการภาพได้ เขาพบในเอกสารโบราณฉบับหนึ่งที่บันทึกคำที่เราแปลว่า “รูเข็ม” หมายถึง “ประตูแคบ ๆ” บานหนึ่งที่กรุงเยรูซาเล็ม เขาจึงเสนอว่าภาพที่พระเยซูเจ้าทรงใช้คือ “ยากที่อูฐจะรอดประตูแคบ ๆ ได้” นักพระคัมภีร์อีกบางคนเสนอว่าคำภาษาฮีบรู“gimmel” (ภาษากรีก kamelos)แปลว่า “อูฐ” ถ้าอ่านออกเสียงเปลี่ยนสระซึ่งไม่เขียนในภาษาฮีบรูก็ได้ว่า “gammel”(ภาษากรีก kamilos)แปลว่า “เชือกพวน” เขาจึงตีความหมายว่า “ยากที่เชือกพวนจะรอดรูเข็มได้ ” ความพยายามของนักพระคัมภีร์ที่จะลดคำอธิพจน์ใช้ 2 วิธีที่ดูเหมือนค่อนข้างตลก เพราะวิธีหนึ่ง ขยายรูเข็มขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นประตูแคบ และอีกวิธีหนึ่ง ลดตัวอูฐลงเรื่อย ๆ จนเป็นเชือกพวน สรุปคือไม่มีปัญหาที่เชือกพวนจะรอดประตูแคบ ๆ ได้ แต่ความหมายของประโยคที่พระเยซูเจ้าทรงใช้ขัดแย้งกับเจตนาที่ต้องการสื่อสารว่า “เป็นไปไม่ได้”

- บรรดาศิษย์ยิ่งประหลาดใจมากขึ้น พูดกันว่า “ดังนี้ ใครจะรอดพ้นได้” ทั้งความประหลาดใจและคำอุทานของบรรดาศิษย์แสดงว่า เขาได้เข้าใจความคิดของพระอาจารย์เป็นอย่างดี เขารู้ว่าความรักต่อทรัพย์สมบัติฝังลึกในจิตใจของเจ้าทรัพย์ เขาจึงคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์จะสามารถชนะอุปสรรคซึ่งขัดขวางมิให้เดินตามทางมุ่งไปสู่ความรอดพ้น

- พระเยซูเจ้าทอดพระเนตรบรรดาศิษย์แล้วตรัสว่า “สำหรับมนุษย์เป็นไปไม่ได้ แต่สำหรับพระเจ้าเป็นเช่นนั้นได้ เพราะพระองค์ทรงทำได้ทุกสิ่ง” ในพันธสัญญาเดิม เราพบพระวาจานี้บ่อย ๆ เช่น ปฐม 18:14;ยรม 32:17; โยบ 42:2;ศคย8:6; เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับรองว่า โดยลำพังมนุษย์เองจะปฏิบัติตามอุดมการณ์ไม่ได้ ก็ยังทรงเชิญชวนบรรดาศิษย์ให้มีความไว้วางใจในพระเจ้า เพราะพระอานุภาพร่วมกับพระเมตตาของพระองค์จะทดแทนความอ่อนแอของมนุษย์ โดยประทานพระหรรษทานช่วยเหลือผู้มีน้ำใจดีให้บังเกิดผล

- เปโตรทูลพระเยซูเจ้าว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สละทุกสิ่งและติดตามพระองค์แล้ว” คำพูดของนักบุญเปโตรแสดงถึงอุปนิสัยเป็นคนโต้ตอบฉับพลันและตรงไปตรงมาเช่นเคย (เทียบ 1:36-37;8:29, 32; 9:5) ตอบสนองคำเรียกร้องที่พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนเศรษฐีหนุ่ม เพราะบรรดาอัครสาวกได้ปฏิบัติเงื่อนไขทั้ง 2 ประการอย่างเต็มเปี่ยม เมื่อเขาละทิ้งทุกอย่างและติดตามพระเยซูเจ้า (เทียบ 1:16-20; 2:14)

- พระเยซูเจ้าตรัสว่า “เราบอกความจริงกับท่านว่า ไม่มีใครที่ละทิ้งบ้านเรือน พี่น้องชายหญิง บิดามารดา บุตรหรือไร่นาเพราะเห็นแก่เรา และเพราะเห็นแก่ข่าวดี  ประโยคที่ว่า “เพราะเห็นแก่เราและเพราะเห็นแก่ข่าวดี” เป็นแรงบันดาลใจที่เราพบแล้วเมื่อพระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนบรรดาศิษย์ให้ติดตามพระองค์ว่า “ผู้ใดเสียชีวิตของตนเพราะเรา และเพราะข่าวดีก็จะรักษาชีวิตได้” (8:35) ประโยคนี้จึงสอนว่า ผู้ยอมสละทุกสิ่งที่มีก็จะไร้คุณค่าถ้าแรงบันดาลใจของเขาที่ไม่เกี่ยวข้องกับพระเยซูเจ้าหรือการประกาศข่าวดีของพระองค์

- จะไม่ได้รับการตอบแทนร้อยเท่าในโลกนี้ พระเยซูเจ้าทรงใช้คำอธิพจน์อีกครั้งหนึ่งคือคำว่า “ร้อยเท่า”ซึ่งเป็นสำนวนที่ใช้เพื่อแสดงปริมาณจำนวนมาก (เทียบ 4:8, 20)จะตีความหมายสิ่งที่อ้างไว้ตามตัวอักษรไม่ได้ บางคนจึงคิดว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งเหนือธรรมชาติซึ่งมีคุณค่าอย่างเทียบไม่ได้กับสิ่งของโลกนี้ที่เขาได้ละทิ้งเพื่อเห็นแก่ความรักต่อพระคริสตเจ้า เช่น ชีวิตพระหรรษทาน ชีวิตชิดสนิทกับพระเจ้า แต่ดูเหมือนว่า การตีความหมายเช่นนี้มองข้ามคุณประโยชน์ทั้งด้านจิตใจและด้านวัตถุที่คริสตชนสมัยแรก ๆ ได้รับในชีวิต เช่น ความเป็นพี่น้องที่ดำเนินชีวิตร่วมกันและมีทุกสิ่งเป็นของส่วนรวม (เทียบ กจ2:44;4:33) การช่วยเหลือผู้ขัดสน ความรักซึ่งกันและกัน การตักเตือนและการแก้ไข ฯลฯ โดยปกติแล้ว พระเยซูเจ้าทรงสัญญาว่าจะประทานบำเหน็จรางวัลเพียงในโลกหน้า เมื่อมนุษย์มีชีวิตหลังจากความตาย (เทียบ 8:38;10:21;13:13) ข้อความนี้เป็นครั้งเดียวที่พระเยซูเจ้าทรงกล่าวถึงบำเหน็จรางวัลในโลกนี้

- จะได้บ้านเรือน พี่น้องชายหญิง มารดา บุตร ไร่นา พร้อมกับการเบียดเบียน แม้ชีวิตคริสตชนได้รับพระพรทั้งฝ่ายกายและฝ่ายจิต แต่ก็แยกออกจากการรับทรมานไม่ได้ ชีวิตศาสนบริการของพระเยซูเจ้าก็เป็นการต่อสู้กับศัตรูโดยตลอด และพระองค์ทรงเตือนสติบรรดาศิษย์ว่า ชีวิตของเขาจะเป็นเหมือนชีวิตของพระองค์ (เทียบ 2:20;8:34-38;10:38-45;13:1-13)

- และในโลกหน้าจะได้ชีวิตนิรันดร การเปรียบเทียบระหว่างโลกนี้กับโลกหน้า และระหว่างชีวิตนี้กับชีวิตนิรันดรเป็นวิธีพูดเฉพาะของวรรณกรรมประเภทวิวรณ์ในสมัยของพระเยซูเจ้า

- หลายคนที่เป็นกลุ่มแรกจะกลับเป็นกลุ่มสุดท้าย และกลุ่มสุดท้ายจะกลับกลายเป็นกลุ่มแรก” เราพบพระวาจานี้อีกในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว (เทียบ มธ20:16) และนักบุญลูกา(เทียบ ลก 13:30) ในบริบทอื่น ๆ แสดงว่าพระวาจานี้กล่าวถึงความจริงที่ประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ในที่นี้ยังไม่ชัดเจนว่า พระเยซูเจ้าทรงใช้พระวาจานี้เพื่อตักเตือนบรรดาศิษย์กลุ่มแรกที่ละทิ้งทุกอย่างเพื่อติดตามพระองค์ หรือทรงต้องการรับรองคำสอนเรื่องทรัพย์สมบัติ โดยทรงยืนยันว่า มนุษย์ผู้มีความสำคัญต่อหน้าบุคคลในโลกนี้ แต่ในโลกหน้าเขาจะพบสถานการณ์ของตนพลิกผลันจากหน้ามือเป็นหลังมือ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเข้าใจอย่างไร พระวาจานี้เป็นคำตักเตือนสำหรับผู้เป็นศิษย์ของพระองค์ในทุกสถานการณ์

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก