“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“นี่มันเรื่องอะไร เป็นคำสั่งสอนแบบใหม่ที่มีอำนาจ”

7. พระเยซูเจ้าทรงเริ่มประกอบพระภารกิจ (มก 1:21-34 )

1) พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนในศาลาธรรมที่เมืองคาเปอรนาอุม
            1 21พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุมพร้อมกับบรรดาศิษย์ เมื่อถึงวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรม และทรงเริ่มสั่งสอน 22คำสั่งสอนของพระองค์ทำให้ผู้ฟังรู้สึกประทับใจอย่างมาก เพราะทรงสอนเขาอย่างทรงอำนาจไม่เหมือนกับบรรดาธรรมาจารย์
2) พระเยซูเจ้าทรงรักษาคนถูกปีศาจสิง
23ขณะนั้น ในศาลาธรรมชายคนหนึ่งซึ่งปีศาจสิงอยู่ร้องตะโกนว่า  24 “ท่านมายุ่งกับเราทำไม เยซู ชาวนาซาเร็ธ ท่านมาทำลายเราใช่ไหม เรารู้ว่าท่านเป็นใคร  ท่านคือองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า” 25พระเยซูเจ้าทรงดุปีศาจและตรัสสั่งว่า “จงเงียบ  ออกไปจากผู้นี้”  26เมื่อปีศาจทำให้ชายผู้นั้นชักและร้องเสียงดังแล้ว มันก็ออกไปจากเขา  27ทุกคนต่างประหลาดใจจึงถามกันว่า “นี่มันเรื่องอะไร เป็นคำสั่งสอนแบบใหม่ที่มีอำนาจ เขาสั่งแม้กระทั่งปีศาจและมันก็เชื่อฟัง”  28แล้วกิตติศัพท์ของพระองค์ก็เลื่องลือไปทุกแห่งตลอดทั่วแคว้นกาลิลีทันที

3) พระเยซูเจ้าทรงรักษามารดาของภรรยาซีโมน
 29ทันทีที่ออกจากศาลาธรรม พระองค์เสด็จเข้าไปในบ้านของซีโมนและอันดรูว์พร้อมกับยากอบและยอห์น 30มารดาของภรรยาซีโมนกำลังนอนป่วยเป็นไข้อยู่ เขาจึงทูลพระองค์ให้ทรงทราบทันที 31พระองค์เสด็จเข้าไปจับมือนาง พยุงให้ลุกขึ้น นางก็หายไข้ นางจึงรับใช้ทุกคน

4) พระเยซูเจ้าทรงรักษาผู้ป่วยจำนวนมาก
 32เย็นวันนั้น เมื่อดวงอาทิตย์ตกแล้ว มีผู้นำคนป่วยและคนถูกปีศาจสิงมาเฝ้าพระองค์ 33คนทั้งเมืองมารวมกันที่ประตู 34พระองค์ทรงรักษาหลายคนที่เป็นโรคต่าง ๆ ให้หาย ทรงขับไล่ปีศาจออกไป แต่ไม่ทรงอนุญาตให้มันพูด เพราะมันรู้จักพระองค์ 

a) อธิบายความหมาย
           ถ้าเราต้องการเข้าใจบริบทการเริ่มประกอบพระภารกิจของพระเยซูเจ้าในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก เราควรเปรียบเทียบเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ผู้นิพนธ์พระวรสารสหทรรศน์เล่าว่าเป็นกิจการแรก ๆ ของพระภารกิจ เราจะพบว่า นักบุญมัทธิวเริ่มต้นเล่าพระภารกิจโดยบันทึกบทเทศน์ของพระเยซูเจ้าบนภูเขา (มธ 5-7) เพราะเขาต้องการเน้นเนื้อหาคำเทศน์สอนของพระองค์ เหตุการณ์แรกที่นักบุญลูกาเล่าถึงพระภารกิจของพระเยซูเจ้าคือ การเทศน์สอนในศาลาธรรมที่เมืองนาซาเร็ธซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของพระองค์ (ลก 4:16-30) พระเยซูเจ้าทรงอ่านข้อความตอนหนึ่งจากหนังสือพันธสัญญาเดิม (อสย 61:1-2) แล้วทรงอธิบายว่า ข้อความที่เพิ่งอ่านจบประกาศอำนาจและจุดมุ่งหมายของพระภารกิจ ส่วนพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกบันทึกว่า พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าเมืองคาเปอรนาอุม และทรงเริ่มประกอบพระภารกิจทันที โดยเทศน์สอนในศาลาธรรมที่เมืองนั้น เพื่อแสดงว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใดและเล่าปฏิกิริยาของผู้ฟังพระวาจา

ข้อความใน 1:21-34 แบ่งเป็น 4 ภาค ตามหัวข้อข้างต้น เราจะพิจารณาแต่ละภาคดังนี้
ก) พระเยซูเจ้าทรงเทศน์สอนในศาลาธรรมที่เมืองคาเปอรนาอุม
           นักบุญมาระโกเริ่มเล่าว่า “พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุมพร้อมกับบรรดาศิษย์” (1:21) เมืองคาเปอรนาอุม เป็นเมืองของชาวประมงอยู่ทางชายฝั่งด้านทิศเหนือของทะเลสาบกาลิลี ห่างจากจุดที่แม่น้ำจอร์แดนไหลเข้าทะเลประมาณ 5 กิโลเมตรทางทิศตะวันตก พระองค์เลือกเมืองนี้เป็นศูนย์กลางการประกอบพระภารกิจ เพราะเป็นเมืองคมนาคมที่สำคัญ อยู่ในเส้นทางการติดต่อระหว่างอียิปต์กับเมืองดามัสกัสในแคว้นซีเรีย นักประวัติศาสตร์คิดว่า ในสมัยของพระเยซูเจ้า เมืองคาเปอรนาอุมมีความเจริญรุ่งเรือง ผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 15,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นชาวยิวส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นคนต่างชาติ

            พระเยซูเจ้าเสด็จมาถึงเมืองคาเปอรนาอุม พร้อมกับบรรดาศิษย์ คือผู้ที่พระองค์ทรงเรียกให้ติดตามและเขาก็ยอมปฏิบัติตาม (1:16-20) แต่นักบุญมาระโกเน้นพระภารกิจที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำลำพังเพียงพระองค์เดียว บรรดาศิษย์ยังไม่มีบทบาทนอกจากติดตามพระองค์ จับตามองการกระทำของพระองค์ และเรียนรู้จากพระองค์ นักบุญมาระโกจึงไม่พูดถึงบรรดาศิษย์อีกต่อไปในข้อความนี้ แต่เขียนว่า “เมื่อถึงวันสับบาโต พระองค์เสด็จเข้าไปในศาลาธรรม” บรรดาศิษย์จะปฏิบัติภารกิจในภายหลัง บัดนี้เขาต้องเตรียมตนและดำเนินชีวิตเป็นหมู่คณะในความสนิทสัมพันธ์กับพระเยซูเจ้า

              พระเยซูเจ้าทรงพระชนมชีพเหมือนชาวยิวทั่วไปที่มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระเจ้า ซึ่งทุกวันสับบาโตต้องไปที่ศาลาธรรมเพื่อซื่อสัตย์ต่อบทบัญญัติโบราณที่ว่า “จงระลึกถึงวันสับบาโตว่าเป็นวันศักดิ์สิทธิ์”(อพย 20:8) วันสับบาโตเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ถวายแด่พระเจ้าและเป็นวันพักผ่อน เป็นวันที่ชาวยิวมุ่งมั่นฟังพระวาจาของพระเจ้า และอธิษฐานภาวนาไม่เพียงโดยลำพังแต่ร่วมชุมนุมกันในศาลาธรรม โดยแท้จริงแล้ว คำ “ศาลาธรรม” ในภาษาฮีบรูแปลตามตัวอักษรมีความหมายในตัวว่า “การชุมนุมกัน”  ในสมัยของพระเยซูเจ้า ศาลาธรรมมีอิทธิพลเหนือชีวิตของชาวยิวมากกว่าพระวิหารที่มีเพียงแห่งเดียวในกรุงเยรูซาเล็ม กฏหมายกำหนดว่า ที่ใดมีกลุ่มครอบครัวยิวจำนวน 10 ครอบครัวขึ้นไป ที่นั่นต้องมีศาลาธรรมหนึ่งแห่ง ไม่ว่าในแคว้นปาเลสไตน์หรือในระหว่างคนต่างชาติ ตลอดสัปดาห์ชาวยิวใช้ศาลาธรรมเป็นสถานศึกษาให้เด็กชายยิวเรียนหนังสือ โดยหัดอ่านและเรียนพันธสัญญาเดิม เด็กหญิงเข้าเรียนไม่ได้ แต่ในวันสับบาโตชาวยิวมาชุมนุมกันเพื่อนมัสการพระเจ้าโดยไม่มีการถวายบูชา หัวหน้าศาลาธรรมเป็นผู้คอยดูแลให้การประชุมเป็นไปตามธรรมเนียม

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก