“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“เราก็บอกทุกคนด้วยว่า จงตื่นเฝ้าเถิด”

71. จงระวังตัวไว้ให้พร้อม (มก 13:33-37)
         13 33“จงระวัง จงตื่นเฝ้าเถิด เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าวันเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร 34เหมือนกับชายคนหนึ่งที่ก่อนจะเดินทางออกจากบ้านได้มอบอำนาจให้กับผู้รับใช้ ให้แต่ละคนมีงานของตนและยังสั่งคนเฝ้าประตูให้คอยตื่นเฝ้าไว้ 35 ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงตื่นเฝ้าเถิด เพราะท่านไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านจะมาเมื่อไร อาจจะมาเวลาค่ำ เวลาเที่ยงคืน เวลาไก่ขัน หรือเวลารุ่งเช้า 36ถ้าเขากลับมาโดยไม่คาดคิด อย่าให้เขาพบท่านกำลังหลับอยู่ 37สิ่งที่เราบอกท่าน เราก็บอกทุกคนด้วยว่า จงตื่นเฝ้าเถิด”


อธิบายความหมาย
          คำสั่งให้ตื่นเฝ้าที่พระองค์ตรัสถึง 3 ครั้งกับอัครสาวกสี่คนที่อยู่โดยลำพัง มีคุณค่าและมีพละกำลังสำหรับชุมชนคริสตชนทั้งหมด และเป็นตอนจบคำปราศรัยของพระองค์เรื่องอันตวิทยาซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ข้อ 5 การดำเนินชีวิตของคริสตชนในโลกนี้ก็มีความมั่นใจว่า พระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพจะเสด็จมาอย่างรุ่งโรจน์ จุดหมายปลายทางของแต่ละคนเมื่อตายและเมื่อสิ้นพิภพ จะเป็นการพบประกับพระองค์ และคำตักเตือนเหล่านี้จะค้ำจุนผู้ที่กำลังรอคอยการเสด็จมาของพระองค์

- “จงระวัง” แปลตามตัวอักษรว่า “จงจับตามอง” เป็นคำตักเตือนที่เราพบบ่อย ๆ ในคำปราศรัยนี้ เปรียบได้กับบทสร้อย (เทียบ 13:5, 9, 23, 33) เป็นการตักเตือนให้ตั้งใจฟัง คิด และไตร่ตรองด้วยวิจารณญาณตลอดคำปราศรัยของพระเยซูเจ้า

- จงตื่นเฝ้าเถิด เพราะท่านทั้งหลายไม่รู้ว่าวันเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร แล้วพระเยซูเจ้าทรงเน้นการตื่นเฝ้าระวังทั้งหมด 4 ครั้ง (เทียบ 13:33, 34, 35, 37) คำตักเตือนนี้เป็นผลตามมาของพระวาจาที่ว่า “ส่วนเรื่องวันและเวลานั้น ไม่มีใครรู้เลย ทั้งบรรดาทูตสวรรค์ และแม้แต่พระบุตร นอกจากพระบิดาเพียงพระองค์เดียว” (13:32)

- เหมือนกับชายคนหนึ่งที่ก่อนจะเดินทางออกจากบ้านได้มอบอำนาจให้กับผู้รับใช้ ให้แต่ละคนมีงานของตนและยังสั่งคนเฝ้าประตูให้คอยตื่นเฝ้าไว้ อุปมาเรื่องเจ้านายที่ก่อนจะออกเดินทางได้มอบภารกิจให้ผู้รับใช้ดูแลบ้าน โดยแต่ละคนมีหน้าหน้าที่เฉพาะของตน ชวนให้คิดถึงอุปมาเรื่องเงินตะลันต์ (เทียบ มธ 25:14-30) และอุปมาเรื่องผู้รับใช้สิบคนที่รับเงินไปทำทุน (เทียบ ลก 19:12-27) ผู้รับใช้ไม่รู้ว่าเจ้านายจะกลับมาเมื่อไร ดังนั้น เขาจึงต้องตื่นเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งคงไม่หมายความว่าเขาจะนอนหลับไม่ได้ แต่หมายความว่าเขาต้องรับรู้ว่าเจ้านายเป็นผู้ใดแม้ในปัจจุบันไม่อยู่ตรงนี้ แต่จะกลับมาอย่างแน่นอน และอาจมาเวลาใดก็ได้

- ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงตื่นเฝ้าเถิด เพราะท่านไม่รู้ว่าเจ้าของบ้านจะมาเมื่อไร พระวาจานี้แสดงว่า แม้พระเยซูเจ้าตรัสคำปราศรัยนี้แก่บรรดาอัครสาวกสี่คนเท่านั้น แต่ก็ตรัสสำหรับมนุษย์ทุกคนโดยไม่ยกเว้นผู้ใดเลย พระองค์ทรงอบรมบรรดาอัครสาวก เพื่อเขาจะได้หามนุษย์ทุกคนเหมือนชาวประมงหาปลา

- อาจจะมาเวลาค่ำ เวลาเที่ยงคืน เวลาไก่ขัน หรือเวลารุ่งเช้า นักบุญมาระโกบันทึกขนบประเพณีของคนโบราณที่แบ่งเวลากลางคืนออกเป็นสี่ยาม แต่ละยามยาวสามชั่วโมง เพื่อเน้นว่าการตื่นเฝ้าระวังต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมั่นคงตลอดคืน แม้เมื่อนักบุญมาระโกจะเล่าเรื่องคืนที่พระเยซูเจ้าทรงรับทรมาน ก็แบ่งเป็นสี่ยามอย่างชัดเจนคือ “ครั้นถึงเวลาค่ำ” (14:17) พระเยซูเจ้าทรงเปิดเผยแก่บรรดาศิษย์ว่า คนหนึ่งในหมู่เขาจะทรยศต่อพระองค์ “เวลาเที่ยงคืน” พระเยซูเจ้าทรงถูกมหาสมณะสอบถาม (เทียบ 14:60) “เวลาไก่ขัน” (14:68,72) เมื่อเปโตรปฏิเสธพระองค์ และ “ครั้นรุ่งเช้า” (15:1) เมื่อพระเยซูเจ้าทรงถูกนำไปต่อหน้าปีลาต

- ถ้าเขากลับมาโดยไม่คาดคิด นักบุญลูกาใช้สำนวนคล้ายคลึงกันนี้ เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จมาในเวลาที่ท่านมิได้คาดหมาย” (ลก 12:40)

- อย่าให้เขาพบท่านกำลังหลับอยู่ เรายังพบคำตักเตือนนี้ของพระเยซูเจ้าในสวนเกทเสมนี (เทียบ 14:37-41) ในอุปมาเรื่องหญิงสาวสิบคน (เทียบ มธ 25:1-13) และในจดหมายของนักบุญเปาโลที่เขียนว่า “วันขององค์พระผู้เป็นเจ้ามาถึงเหมือนขโมยที่มาตอนกลางคืน” (1 ธส 5:2)

- สิ่งที่เราบอกท่าน เราก็บอกทุกคนด้วยว่า จงตื่นเฝ้าเถิด” คำปราศรัยของพระเยซูเจ้าซึ่งพระองค์ตรัสกับบรรดาศิษย์สี่คนที่แยกตัวออกจากผู้อื่น ก็กลายเป็นคำปราศรัยสำหรับมนุษย์ทุกคนด้วย ตั้งแต่บทที่ 14 เป็นต้นไป นักบุญมาระโกเริ่มเล่าเรื่องการรับทรมานของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดร่วมกับการสิ้นพระชนม์และการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า ที่เขาต้องการบันทึกไว้ในพระวรสาร

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก