“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

ข้อคิดจากพระวาจาประจำวัน  โดย..คุณพ่อฉลองรัฐ สังขรัตน์

วันอาทิตย์ที่ 12 มีนาคม 2017
สัปดาห์ที่ 2 เทศกาลมหาพรต
บทอ่านจากพระวรสารนักบุญตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว    มธ 17:1-9
    ต่อมาอีกหกวัน พระเยซูเจ้าทรงพาเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายไปบนภูเขาสูงที่ปราศจากผู้คน แล้วพระวรกายของพระองค์ก็เปลี่ยนไปต่อหน้าเขา พระพักตร์เปล่งรัศมีดุจดวงอาทิตย์ ฉลองพระองค์กลับมีสีขาวดุจแสงสว่าง โมเสสและประกาศกเอลียาห์สำแดงตนสนทนาอยู่กับพระองค์


    เปโตรจึงทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระเจ้าข้า ที่นี่สบายน่าอยู่จริงๆ ถ้าพระองค์มีพระประสงค์ ข้าพเจ้าจะสร้างเพิงขึ้นสามหลัง หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับเอลียาห์” ขณะที่เปโตรกำลังพูดอยู่นั้น มีเมฆสว่างจ้าก้อนหนึ่งปกคลุมพวกเขาไว้ เสียงหนึ่งดังจากเมฆนั้นว่า “ท่านผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เราพึงพอใจยิ่งนัก จงฟังท่านเถิด”
เมื่อได้ยินดังนั้น ศิษย์ทั้งสามคนซบหน้าลงกับพื้นดิน มีความกลัวอย่างยิ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จเข้ามาใกล้ ทรงสัมผัสเขา ตรัสว่า “จงลุกขึ้นเถิด อย่ากลัวเลย” เมื่อเงยหน้าขึ้น เขาไม่เห็นผู้ใด นอกจากพระเยซูเจ้าเท่านั้น
ขณะที่กำลังลงจากภูเขา พระเยซูเจ้าทรงกำชับศิษย์ทั้งสามคนว่า “อย่าเล่านิมิตที่ได้เห็นนี้ให้ผู้ใดฟัง จนกว่าบุตรแห่งมนุษย์จะกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตาย”

​(พระวาจาของพระเจ้า)

----------------

​พี่น้อง มหาพรตเป็น “สะพาน” มากกว่าเป็น “กำแพง”
​เมื่อเราพิจารณาสะพาน
​สะพาน คือโครงสร้างที่เชื่อมต่อระหว่างฝั่งสำหรับข้ามหุบเขา แม่น้ำ ถนน ทางรถไฟ หรือพื้นน้ำต่างๆ การออกแบบความสูงของสะพาน จะขึ้นอยู่กับสิ่งกีดขวางด้านล่าง รวมถึงการจราจรด้านล่าง (เช่น รถ เรือ สามารถผ่านได้) การก่อสร้างสะพานมีจุดประสงค์เพื่อให้การสัญจรมีการต่อเนื่องระหว่างทางที่มีการสร้างไว้แล้ว
​ส่วนกำแพง พิจารณาจากจุดประสงค์ “กำแพงเมืองจีน” ที่เป็นกำแพงที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก
กำแพงเมืองจีน (จีนตัวย่อ: 长城; จีนตัวเต็ม: 長城; พินอิน: Chángchéng ฉางเฉิง, อังกฤษ: Great Wall of China) เป็นกำแพงที่มีป้อมคั่นเป็นช่วง ๆ ของจีนสมัยโบราณ กำแพงส่วนใหญ่ที่ปรากฏในปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉิน ทั้งนี้เพื่อป้องกันการรุกรานจากชาวฮัน ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับอารยธรรมจีนในยุคต้นๆ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (ราว 400 ปีก่อนคริสตกาล) เนื่องจากจะเข้ามารุกรานจีนตามแนวชายแดนทางเหนือ ในสมัยราชวงค์ฉิน ได้สั่งให้สร้างกำแพงหมื่นลี้ตามชายแดน เพื่อป้องกันพวกฮั่น(ซยงหนู) เข้ามารุกราน และพวกเติร์กจากทางเหนือ หลังจากนั้นยังมีการสร้างกำแพงต่ออีกหลายครั้งด้วยกัน แต่ภายหลังก็มีเผ่าเร่ร่อนจากมองโกเลียและแมนจูเรียสามารถบุกฝ่ากำแพงเมืองจีนได้สำเร็จ

พระวาจาวันนี้พิจารณาช่วงเวลาที่สำคัญของเทศกาลมหาพรต เรื่องการทำตัวเป็น “สะพาน”
คำว่า “Transfigurations” ที่ภาษาไทยอาจจะแปลว่า การจำแลงพระกาย ถ้าเปิดดิกชั่นนารี อาจมีความหมายหลายอย่าง เช่น การแปลงร่าง การเปลี่ยนโฉม การเปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าจะอธิบายไม่ตรงนัก แต่ให้ความเข้าใจความหมายก็คือ “การข้ามผ่าน ก้าวผ่าน ผ่านพ้น” จากแบบเดิมๆ ที่เคยๆ
พระธรรมล้ำลึกเรื่องความเชื่อในการสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้า ก็เป็นเรื่อง “การผ่านพ้น ก้าวข้าม ผ่านได้” ไม่ใช่ “แปลงร่าง เปลี่ยนร่าง เปลี่ยนรูป”
ดังนั้น การอธิบายการเปลี่ยนแปลงพระวรกายของพระเยซูคริสตเจ้าในมิติฝ่ายจิต ที่เรียกสั้นว่า “จำแลงพระกาย” ถูกอธิบายในวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สอง เทศกาลมหาพรตนี้ ก็เพื่ออธิบายนิยามสั้นๆ ที่เราคุ้นเคยใน คติพจน์ของพระคาร์ดินัล มีชัย กิจบุญชู “ผ่านกางเขน พบแสงสว่าง” ที่เขียนในภาษาลาตินว่า Per Crucem Ad Lucem และในตรามีสัญลักษณ์ สะพานที่ทอดข้ามไปยังกางเขน ที่มีสัญลักษณ์ของการกลับคืนชีพ

การเป็น “สะพาน” อันดับแรก ต้อง “ก้าวผ่าน” ไม่ใช่ “กำแพง” กีดกั้น
ในปฐมกาล พระเจ้าเรียกอับราม “ออกจาก” ไม่ให้ยึดติด ยึดอดีต หลงหอมหวานแต่เรื่องราวถูกใจ ตามใจ ชอบใจ ที่เป็น ลักษณะของคนเป็นสะพาน เล่าว่า
“จงออกจากแผ่นดินของท่าน จากญาติพี่น้อง จากบ้านของบิดา ไปยังแผ่นดินที่เราจะชี้ให้ท่าน เราจะทำให้ท่านเป็นชนชาติใหญ่ จะอวยพรท่าน”

เราได้ยินคำว่า “ออกจากตัวเอง” จึงเป็นการ “ลดลง” เพื่อให้คนอื่นเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การลดอาหารลง เพื่อคนอื่นมีกินเพิ่มขึ้น จึงเป็นผลดี
เราไม่อาจเห็นแก่ตัว ที่เป็นการทำลาย
ด้วยกฎธรรมชาติ เราไม่จับปลาในฤดูวางไข่ เพื่อให้มีปลามากขึ้น เพราะเมื่อเห็นแก่ตัว ไม่ยอมลด ละ วาง เป็นสะพาน เพื่อให้วิถีทางธรรมชาติดำเนินไป เพื่อให้เกิดความเกื้อกูลแก่ประโยชน์แก่ผู้คนโดยรวม  เราเป็น “กำแพง”
ด้วยวิธี “มหาพรต” การลดของเรา ทำให้เกิดการเพิ่มพูน การหยุดของเราทำให้บางเรื่องดำเนินไปโดยไม่ติดขัด ไม่ใช่เพราะเราต้องการ “บุญ” แต่เราต้องการเป็นสะพาน ทางเชื่อม ผ่านพ้น เป็นคนที่สุกพร้อม มากกว่า ดิบเดิมตามสัญชาติญาณ
สะพานที่สอง จดหมายนักบุญเปาโลถึงทิโมธี ฉ.2 อธิบายไว้ว่า “จงเข้ามามีส่วนร่วมทนทุกข์ทรมานกับข้าพเจ้าเพื่อข่าวดีโดยพระอานุภาพของพระเจ้า ผู้ทรงช่วยเราให้รอดพ้น และทรงเรียกเราให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่เพราะสิ่งที่เรากระทำ แต่เพราะพระประสงค์และพระหรรษทานของพระองค์”

ความทุกข์ หรือ กางเขน ที่เรารำพึงในเทศกาลมหาพรตด้วย “วิถีแห่งไม้กางเขน เดินรูปสิบสี่ภาค” มีความหมายบอกกับเราได้เสมอๆว่า “ความทุกข์ไม่ทำให้เราตาย แต่ทำให้เราโต”
ด้วยวิธีคิดแบบนี้ ไม่ใช่ความหมายว่า คริสตชนชอบความทุกข์
แต่ความทุกข์ ทำให้เรา คิดลึกซึ้งมากขึ้น
ความทุกข์ ทำให้เราไต่อย่างพากเพียร เรียนรู้ความพยายาม รู้คุณค่าของการผ่านพ้น เมื่อได้พยายามเรียนรู้จะมั่นคง ต่อเนื่อง คงทน มากกว่าไม่ได้อะไรเลยจากการเรียนรู้สิ่งนั้น

การจุดเทียนไขอ่านหนังสือ ทำให้เรารู้คุณค่าของการเรียนมากกว่า มีหนังสือแบบฝึกหัด มีแทปเล็ตคอยเฉลยคำตอบด้านล่าง
การพยายามเพาะพันธุ์ผักผลไม้ ให้เรารู้คุณค่ามากกว่า แกะถุง ชอบก็เอา ไม่ชอบโยนทิ้ง
เราอาจไม่ต้องเรียกว่า “ความทุกข์” อาจเรียกว่า ความเพียรพยายาม การเปลี่ยนแปลงระบบความคิด การผ่านพ้นการสุกเอาเผากินกลายเป็นละเอียดละเมียดละไมกับทุกสิ่ง เรียนรู้จากพื้นฐานมากกว่าตัดยอดเอาแต่ชอบ

การเรียนรู้ อุปสรรค ความยากลำบาก เหมือนกางเขนในชีวิต แต่ไม่ตายเพราะทุกข์ กางเขนตายตอนถูกตรึงและกลับคืนชีพ ไม่ได้ตายตอนแบก จึงหมายถึงว่า การตายต่อตัวเองทำให้สละชีวิตได้มากกว่า ตายคากางเขนตอนแบก
ดังนั้น ความยากลำบากทำให้เราโต เป็น ก้าวผ่าน ผ่านพ้น เป็นดัง “สะพาน” ในชีวิตของเรา ให้ ตายต่อตัวเองและเรียนรู้ความสว่างที่รอด้านหน้า จึงหมายถึง ความยากลำบากทำให้เราเรียนรู้ที่จะเป็นคนเพื่อคนอื่น กลายเป็นบุคคลที่ส่องแสงสว่างเพราะความดีที่ไม่เห็นแก่ตัว
ที่สุด การอธิบายเรื่องการจำแลงพระกายของพระเยซูคริสตเจ้าในพระวรสารวันนี้ เป็น “สะพาน” ประการที่สามอย่างแท้จริง เพราะว่า
ด้วยกายยึดติด อาหารการกิน ดังการประจญที่เล่าพระวรสารสัปดาห์ที่แล้ว เราจะ “ผ่านจากตัวเอง” ไปให้ “คนอื่นได้ยาก”
การผ่านพ้นด้วยการจำแลงพระกาย ที่คนของโมเสส เคยติดยึด “มานนา” พวกเขาก็ยังไม่ได้ผ่านเข้าแผ่นดินพันธสัญญา
การผ่านพ้น ที่คนของเอลียาห์ ที่ถามหาว่า “เป็นคนของใคร ใครเป็นคนของตัว” ที่เอลียาห์แสดงตนว่าเป็นคนของพระเจ้า ด้วยเครื่องหมายต่างๆ ทำให้เราเห็นว่า การประจญด้วยการเสนอการคุ้มครองด้วยทูตสวรรค์ไม่ให้เท้ากระทบหิน เป็นการล่อลวง “สิทธิ เป็นพรรคพวก” แต่ไม่ได้เป็น “พี่น้อง” ที่เป็นการผ่านพ้นอย่างแท้จริง
การผ่านพ้นสุดท้ายด้วยองค์พระเยซูเจ้าเอง พระองค์ไม่ได้อยู่ในทาง “พึ่งพา อ้างอิง พักพิง” แต่พระองค์ทรงเป็นสะพานทางแห่งการผ่านพ้น “เลิกนึกถึงตัวเอง” “สละแม้กระทั่งชีวิตบนไม้กางเขน”

มหาพรตจึงเป็นเวลาที่เรานั่งลง พิจารณาด้วยการลด ละ เลิก รำพึง ไตร่ตรอง เพื่อให้ตัวเราเป็นสะพานแห่งความรอดพ้น ที่ไม่เป็นสะพานแห่งการเอาตัวรอด
เป็นเวลาแห่งสละเพื่อเพิ่มพูนให้โลก ไม่เป็นการสละเพื่อได้ครอบครองสิ่งใดใหญ่กว่า
เรากลายเป็นสะพานแห่งความรอด เป็นการผ่านพ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างจริงจัง

 ขอพระอวยพร

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก