“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“เมื่อกษัตริย์ดาวิดทรงเรียกพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า
พระคริสต์จะทรงเป็นโอรสของกษัตริย์ดาวิดได้อย่างไร”

65. พระเยซูเจ้าทรงเป็นยิ่งกว่าโอรสของกษัตริย์ดาวิด (มก 12:35-37)
     12 35พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนอยู่ในพระวิหาร ตรัสถามว่า “บรรดาธรรมาจารย์พูดได้อย่างไรว่าพระคริสต์เป็นโอรสของกษัตริย์ดาวิด 36เพราะกษัตริย์ดาวิดเอง เมื่อได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้า ได้ตรัสว่า
องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าว่า
เชิญประทับนั่งเบื้องขวาของเรา
จนกว่าเราจะทำให้ศัตรูของท่าน
อยู่ใต้เท้าของท่าน
37เมื่อกษัตริย์ดาวิดทรงเรียกพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า พระคริสต์จะทรงเป็นโอรสของกษัตริย์ดาวิดได้อย่างไร” ประชาชนจำนวนมากฟังพระองค์ด้วยความพอใจ


อธิบายความหมาย
          เหตุการณ์นี้ยังเกิดขึ้นในวันที่สามของสัปดาห์พระทรมาน คือวันอังคารศักดิ์สิทธิ์ เป็นการโต้เถียงครั้งสุดท้ายระหว่างพระเยซูเจ้ากับหัวหน้าชาวยิวในจำนวนการโต้เถียงทั้งหมด 5 ครั้ง ซึ่งเริ่มตั้งแต่บทที่ 11 ข้อ 27 พระเยซูเจ้ายังคงประทับอยู่ในบริเวณพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม และทรงเห็นว่า “ไม่มีผู้ใดกล้าทูลถามพระองค์อีกเลย” (มก 12:34) พะองค์เองจึงทรงตั้งคำถามแก่ผู้ฟังจำนวนมาก โดยทรงใช้วิธีของบรรดาธรรมาจารย์ในการอธิบายพระคัมภีร์ เพื่อพิสูจน์ว่า ศักดิ์ศรีพระเมสสิยาห์ไม่อยู่เพียงในการเป็นเชื้อสายของกษัตริย์ดาวิดเท่านั้น แต่สูงกว่านั้นอีก ดังที่นักบุญเปาโลยืนยันในจดหมายถึงชาวโรมว่า ตนได้รับเลือกให้ประกาศข่าวดีของพระเจ้าเกี่ยวกับ “พระบุตรของพระองค์ ซึ่งโดยธรรมชาติมนุษย์ ทรงบังเกิดในราชวงศ์กษัตริย์ดาวิด และโดยทางพระจิตเจ้าผู้ทรงบันดาลความศักดิ์สิทธิ์ ทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระบุตรผู้ทรงอำนาจของพระเจ้า” (รม 1:3-4) แม้ข้อความนี้อยู่ในหมู่การโต้เถียง แต่โดยแท้จริงแล้ว เป็นลักษณะการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่คับแคบเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์

- พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนอยู่ในพระวิหาร ต้นฉบับภาษากรีกใช้กริยาในกาลไม่สมบูรณ์ เพื่อเสนอแนะวิธีสอนของพระเยซูเจ้าที่ซ้ำ ๆ และต่อเนื่องกัน รายละเอียดนี้ชวนผู้อ่านให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ได้อ่านในบทที่ 11:27 ซึ่งกล่าวว่า เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่กรุงเยรูซาเล็มเช้าวันอังคาร ขณะที่ทรงพระดำเนินอยู่พร้อมกับบรรดาศิษย์ สมาชิกบางคนของสภาซันเฮดรินเข้ามาพบพระองค์ในพระวิหาร ทูลถามหลายเรื่อง

- ตรัสถามว่า “บรรดาธรรมาจารย์พูดได้อย่างไรว่าพระคริสต์เป็นโอรสของกษัตริย์ดาวิด คำว่า “โอรสของกษัตริย์ดาวิด” เป็นตำแหน่งของพระเมสสิยาห์ที่นิยมใช้กันมากที่สุด เพราะพระเมสสิยาห์ต้องเป็นลูกหลานในราชวงศ์กษัตริย์ดาวิดเท่านั้น (เทียบ 2 ซมอ 7:12-17) บารทิเมอัสคนตาบอดที่เมืองเยรีโคเรียกขานพระองค์โดยใช้ชื่อนี้ (มก 10:47-48) และยังเป็นเนื้อหาคำโห่ร้องของประชาชนเมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็ม (มก 11:10) นักบุญมัทธิวเรียบเรียงคำโห่ร้องนี้อย่างชัดเจนว่า “โฮซานนาแด่โอรสของกษัตริย์ดาวิด” (มธ 21:9, 15) อย่างไรก็ตาม พระเยซูเจ้าไม่ทรงประสงค์ให้ผู้ใดเรียกพระองค์เช่นนี้ เพื่อจะไม่สนับสนุนความคิดชาตินิยม ซึ่งมองพระเมสสิยาห์เป็นกษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญทางการเมือง

- เพราะกษัตริย์ดาวิดเอง เมื่อได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้า ได้ตรัสว่า นักบุญเปาโลเคยเขียนในจดหมายถึงชาวโครินธ์ว่า “หากพระจิตเจ้ามิได้ทรงดลใจ ก็ไม่มีผู้ใดพูดได้ว่า ‘พระเยซู คือองค์พระผู้เป็นเจ้า’” (1 คร 12:3) พระจิตเจ้าทรงดลใจบรรดาประกาศกและทุกคนที่เขียนพระคัมภีร์ฉันใด พระองค์ก็ทรงดลใจผู้ที่ฟังพระวาจาและยอมรับว่าพระคริสตเจ้าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าฉันนั้น

-องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้าว่า เชิญประทับนั่งเบื้องขวาของเรา จนกว่าเราจะทำให้ศัตรูของท่าน อยู่ใต้เท้าของท่าน พระเยซูเจ้าทรงอ้างเพลงสดุดีบทที่ 110 ซึ่งมีข้อความนำหน้าทั้งในต้นฉบับภาษาฮีบรูและภาษากรีกว่า “เพลงสดุดีของกษัตริย์ดาวิด” หมายความว่า ธรรมประเพณีของชาวยิวถือเสมอว่าเป็นบทเพลงที่กษัตริย์ดาวิดได้แต่งขึ้นเอง นักเขียนคริสตชนโบราณอ้างถึงเพลงสดุดีบทนี้บ่อย ๆ ในความหมายพระเมสสิยาห์ และคิดว่าเพลงสดุดีนี้ทุกส่วนกล่าวถึงพระเยซูเจ้าโดยตรง (เทียบ กจ 2:34; 7:56; รม 8:34; 1 คร 15:25; อฟ 1:20; คส 3:1; ฮบ 1:3; 5:6; 7:17-21; 8:1; 10:12-13; 1 ปต 3:22) แต่ต่อมา ตั้งแต่ศตวรรษที่ 1 ถึงศตวรรษที่ 3 ข้อเขียนของชาวยิวอธิบายว่า เพลงสดุดีบทนี้หมายถึงอับราฮัมหรือกษัตริย์เฮเซคียาห์ ดังที่นักบุญยุสตินเล่าในข้อเขียนของตน ซึ่งแสดงว่าชาวยิวเริ่มอธิบายว่า เพลงสดุดีบทนี้ไม่ได้อ้างถึงพระเมสสิยาห์เลย เพื่อต่อต้านการตีความหมายของคริสตชน

- เมื่อกษัตริย์ดาวิดทรงเรียกพระคริสต์ว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า พระคริสต์จะทรงเป็นโอรสของกษัตริย์ดาวิดได้อย่างไร” เช่นเดียวกับชาวยิวอื่น ๆ พระเยซูเจ้าทรงยอมรับว่าเพลงสดุดีบทนี้เป็นผลงานของกษัตริย์ดาวิด ซึ่งเมื่อเขียนว่า “องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ตรัสกับองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า” พระองค์กำลังจินตนาการว่า พระยาห์เวห์ (องค์พระผู้เป็นเจ้า) ตรัสกับพระเมสสิยาห์ (องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า) เพื่อทรงแต่งตั้งให้มีศักดิ์ศรีเป็นกษัตริย์และสมณะ รองลงมาจากศักดิ์ศรีของพระเจ้าเอง ดังนั้น พระเยซูเจ้าทรงตั้งคำถามว่า “ถ้ากษัตริย์ดาวิดแม้ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้า ตรัสกับพระเมสสิยาห์ในฐานะที่เป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าของพระองค์ คงจะไม่ทรงคิดว่าพระเมสสิยาห์จะทรงเป็นเพียงบุตรหลานคนหนึ่งของพระองค์ แต่ทรงมีศักดิ์ศรีมากกว่า มิฉะนั้นแล้ว คงจะไม่เรียกพระเมสสิยาห์ว่าองค์พระผู้เป็นเจ้า” ดังนั้น แม้พระเยซูเจ้าไม่ทรงพูดถึงพระองค์เองโดยตรง ก็ยังพอพระทัยให้ทุกคนเข้าใจว่า คำนิยามพระเมสสิยาห์ไม่เป็นเพียง “โอรสของกษัตริย์ดาวิด” ยิ่งกว่านั้น นักบุญมาระโกไม่ได้บันทึกคำตอบใด ๆ ของคำถามที่พระเยซูเจ้าทรงตั้งขึ้น เขาคงจะละไว้เพื่อเชิญชวนผู้อ่านให้ค้นหาคำตอบด้วยตนเอง และแสดงความเชื่อในพระองค์

- ประชาชนจำนวนมากฟังพระองค์ด้วยความพอใจ นักบุญมาระโกเคยใช้วลีนี้ เมื่อบรรยายท่าทีของกษัตริย์เฮโรดต่อหน้ายอห์น ผู้ทำพิธีล้าง “ทรงรู้สึกสับสน แต่ก็ทรงยินดีที่จะฟัง” (มก 6:20) ส่วนนักบุญลูกาใช้สำนวนว่า “ประชาชนทุกคนกำลังตั้งใจฟังพระองค์” (ลก 19:48; เทียบ 21:38)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก