เอกภาพในความสุภาพถ่อมตน
2 1ถ้าท่านได้รับกำลังใจจากการเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้าa ถ้าท่านได้รับกำลังใจจากความรัก ถ้าท่านเป็นหนึ่งเดียวกันในพระจิตเจ้าb ถ้าท่านเห็นอกเห็นใจสงสารกัน 2ท่านจงทำให้ข้าพเจ้ามีความยินดีอย่างเต็มเปี่ยมโดยการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน มีความรักแบบเดียวกัน มีความรู้สึกนึกคิดอย่างเดียวกันc 3อย่ากระทำการใดเพื่อชิงดีกันหรือเพื่อโอ้อวด แต่จงถ่อมตนคิดว่าผู้อื่นดีกว่าตน 4อย่าเห็นแก่ผลประโยชน์ของตนฝ่ายเดียว จงเห็นแก่ผลประโยชน์ของผู้อื่นด้วย 5จงมีความรู้สึกนึกคิดเช่นเดียวกับที่พระคริสตเยซูdทรงมีเถิด
6แม้ว่าพระองค์ทรงมีธรรมชาติพระเจ้าeพระองค์ก็มิได้ทรงถือว่าศักดิ์ศรีเสมอพระเจ้านั้นเป็นสมบัติที่จะต้องหวงแหนf
7แต่ทรงสละพระองค์จนหมดสิ้นgทรงรับสภาพดุจทาสh เป็นมนุษย์ดุจเราiทรงแสดงพระองค์ในธรรมชาติมนุษย์j
8ทรงถ่อมพระองค์จนถึงกับทรงยอมรับแม้ความตาย เป็นความตายบนไม้กางเขน
9เพราะเหตุนี้ พระเจ้าจึงทรงเทิดทูนพระองค์ขึ้นสูงส่งkและประทานพระนามให้แก่พระองค์lพระนามนี้ประเสริฐกว่านามอื่นใดทั้งสิ้นm
10เพื่อทุกคนในสวรรค์และบนแผ่นดินรวมทั้งใต้พื้นพิภพnจะย่อเข่าลงนมัสการพระนาม "เยซู" นี้
11และเพื่อชนทุกภาษาจะได้ร้องประกาศว่าoพระเยซูคริสต์ทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าpเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์แด่พระเจ้า พระบิดาq
2 a แปลตามตัวอักษรได้ว่า "ถ้าหากมีเหตุผลใด ๆ ที่จะวอนขอในพระคริสตเจ้า..." เปาโลพูดพาดพิงถึงคุณลักษณะที่ดีของชาวฟิลิปปี เป็นเหตุผลขอร้องด้วยความรัก ให้เขามีความรักสามัคคีกันยิ่งขึ้น
b ในข้อความนี้ เปาโลอาจคิดถึงความสัมพันธ์ที่คริสตชนมีกับพระตรีเอกภาพ ซึ่งถ้าเป็นดังนั้น "ความรัก" ก็หมายถึง การกระทำของพระบิดาโดยเฉพาะ ดู 2 คร 13:13 เชิงอรรถ e
c การที่เปาโลขอร้องอย่างจริงจังให้คริสตชนที่เมืองฟิลิปปีมีเอกภาพ แสดงให้เห็นว่า พระศาสนจักรที่นั่นกำลังมีความแตกแยกภายในคุกคามอยู่ ดู 1:27; 2:14; 4:2; ควรสังเกตว่าเปาโลย้ำอยู่ตลอดเวลาว่า คริสตชนชาว ฟิลิปปีทุกคนเกี่ยวข้องกับปัญหานี้ 1:1,4,7,25; 2:17,26; 4:21
d ข้อ 6-11 คงจะเป็นบทเพลงสรรเสริญที่คริสตชนสมัยแรกใช้ขับร้อง และเปาโลนำมาอ้าง ในทำนองเดียวกันกับใน อฟ 5:14; ค
ส 1:15-20; 2 ทธ 2:11-13; ฯลฯ โดยทั่วไปมักจะเข้าใจกันว่า "พระคริสตเจ้าทรงสละพระองค์" (kenosis) โดยทรงสละพระสิริรุ่งโรจน์ของธรรมชาติพระเจ้า เพื่อดำเนินชีวิตเหมือนมนุษย์และรับทรมานได้ ณ ที่นี้อาจมีการเปรียบเทียบระหว่างพระเยซูเจ้าในฐานะอาดัมคนที่สองกับอาดัมคนแรก (ดู รม 5:12 เชิงอรรถ f และ h; 1 คร 15:22 เชิงอรรถ m;) ขณะที่อาดัมคนแรก "ซึ่งมีสภาพเป็นรูปแบบหรือภาพลักษณ์ของพระเจ้า" ได้พยายามที่จะยึดความเสมอภาคเท่ากับพระเจ้าไว้และเพราะความจองหองนี้เองจึงตกในบาป ในทางตรงกันข้าม เพราะพระเยซูเจ้าซึ่งเป็นอาดัมคนที่สองได้ถ่อมตน พระบิดาจึงทรงยกพระเยซูเจ้าขึ้นมารับพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า
e ตรงกันข้ามกับอาดัม ซึ่งถูกสร้างขึ้นมา "ตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า" แต่ได้ใช้ภาพลักษณ์นี้อย่างไม่ถูกต้อง
f อาดัมได้พยายามอย่างไม่ถูกต้องที่จะเป็นเหมือนกับพระเจ้า แต่พระเยซูเจ้าทรงถ่อมพระองค์ลง
g ในการตีความสมัยก่อนมักจะเข้าใจการสละพระองค์ หรือ kenosis ว่าหมายถึง "การที่พระเยซูเจ้าได้ทรงสมัครใจสละ" ศักดิ์ศรีของการเป็นพระเจ้าเมื่อทรงพระชนม์อยู่ในโลกนี้ แต่การตีความแบบนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะไม่เพียงแต่ไม่สอดคล้องกับพระคัมภีร์เท่านั้น แต่ยังขัดกับวิวัฒนาการทางความคิดของเปาโลเรื่องพระ คริสตเจ้าในสมัยนั้นอีกด้วย
h เป็นการพาดพิงถึง "ผู้รับใช้" ใน อสย 52:13-53:12 ซึ่งบรรยายถึงขั้นตอนการเทิดทูนโดยผ่านการถ่อมตน ดู อสย 42:1 เชิงอรรถ a
i อาจจะเป็นการอ้างถึง "ผู้หนึ่งที่คล้ายกับบุตรแห่งมนุษย์" ซึ่งได้รับเกียรติและสิริรุ่งโรจน์จากพระเจ้าใน ดนล 7:13
j แปลตามตัวอักษรได้ว่า "และถูกพบในรูปแบบเหมือนมนุษย์"
k หมายถึง "การกลับคืนพระชนมชีพ" และการเสด็จสู่สวรรค์
l การตั้งชื่อเป็นการให้คุณสมบัติตามที่ชื่อนั้น หมายถึง เทียบ อฟ 1:21; ฮบ 1:4; พระนามนี้คือ "องค์พระผู้เป็นเจ้า" (ข้อ 11) แต่ก่อนนั้นเป็นที่ต้องห้ามมิให้ออกพระนามของพระเจ้า แต่บัดนี้เมื่อพระคริสตเจ้าทรงกลับคืนพระชนมชีพและทรงชัยชนะแล้ว พระนามนี้จึงนำมาใช้ได้ คือ "Kyrios" (ภาษาไทย แปลว่า องค์พระผู้เป็นเจ้า) ดู กจ 2:21 เชิงอรรถ m; 3:16 เชิงอรรถ l
m ยิ่งใหญ่กว่าแม้กระทั่งทูตสวรรค์ เทียบ อฟ 1:21; ฮบ 1:4; 1 ปต 3:22; ส่วนคำว่า "ใต้พื้นพิภพ" หมายถึงบุคคลเหล่านั้นที่อยู่ในแดนผู้ตาย (เชโอล) กดว 16:33 เชิงอรรถ f; มากกว่าจะหมายถึงปีศาจ
n เป็นการแบ่งจักรวาลของสิ่งสร้างทั้งหมดออกเป็นสามส่วน คือ สวรรค์ แผ่นดิน และแดนผู้ตายใต้พื้นพิภพ เทียบ วว 5:3,13
o สำเนาโบราณบางฉบับว่า "และชนทุกภาษาจะร้องประกาศว่า"
p สำเนาโบราณบางฉบับละคำว่า "คริสต์" การประกาศนี้เป็นแก่นของบทแสดงความเชื่อของคริสตชน (รม 10:9; 1 คร 12:3; เทียบ คส 2:6;) การนำ อสย 45:23 (ซึ่งเป็นการถวายเกียรติแด่พระยาห์เวห์เอง) มาใช้ที่นี่แสดงให้เห็นว่าชื่อ "องค์พระผู้เป็นเจ้า" นี้หมายถึงสภาพพระเจ้าอย่างแท้จริง (เทียบ ยน 20:28; กจ 2:36 เชิงอรรถ w;) พระเจ้าทรงเทิดทูนพระเยซูเจ้าขึ้น และพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าจึงเพิ่มพูนขึ้นโดยการถ่อมองค์ของพระบุตร 2:7
q ฉบับภาษาละติน (Vulgata) แปลความว่า "ประกาศว่าพระเยซูคริสตเจ้าอยู่ในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า พระบิดา"