(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

 

อย่าตัดสินผู้อื่น

7  1“อย่าตัดสินเขา และท่านจะไม่ถูกพระเจ้าตัดสินa  2ท่านตัดสินเขาอย่างไร พระเจ้าจะทรงตัดสินท่านอย่างนั้น ท่านใช้ทะนานใดตวงให้เขา พระเจ้าจะทรงใช้ทะนานนั้นตวงให้ท่าน  3ทำไมท่านจึงมองดูเศษฟางในดวงตาของพี่น้อง แต่ไม่สังเกตเห็นท่อนซุงในดวงตาของตนเลย  4ท่านจะกล่าวแก่พี่น้องได้อย่างไรว่า ‘ปล่อยให้ฉันเขี่ยเศษฟางออกจากดวงตาของท่านเถิด’ ขณะที่มีท่อนซุงอยู่ในดวงตาของท่าน  5ท่านคนหน้าซื่อใจคดเอ๋ย จงเอาท่อนซุงออกจากดวงตาของท่านก่อนเถิด แล้วจะได้เห็นชัดก่อนไปเขี่ยเศษฟางออกจากดวงตาของพี่น้อง

อย่าเหยียดหยามสิ่งศักดิ์สิทธิ์

6“อย่าให้ของศักดิ์สิทธิ์bแก่สุนัข อย่าโยนไข่มุกให้สุกรเพราะมันจะเหยียบย่ำทำให้เสียของ และหันมากัดท่านอีกด้วย”

คำภาวนาที่ได้ผล

7“จงขอเถิด แล้วท่านจะได้รับ จงแสวงหาเถิด แล้วท่านจะพบ จงเคาะประตูเถิด แล้วเขาจะเปิดประตูรับท่าน”

8“เพราะคนที่ขอย่อมได้รับ คนที่แสวงหาย่อมพบ คนที่เคาะประตูย่อมมีผู้เปิดประตูให้  9ท่านใดที่ลูกขออาหาร จะให้ก้อนหินหรือ  10ถ้าลูกขอปลา จะให้งูหรือ  11แม้แต่ท่านทั้งหลายที่เป็นคนชั่ว ยังรู้จักให้ของดี ๆ แก่ลูก แล้วพระบิดาของท่านผู้สถิตในสวรรค์จะไม่ประทานของดี ๆ แก่ผู้ที่ทูลขอพระองค์มากกว่านั้นหรือ”

กฎปฏิบัติc

12“ท่านอยากให้เขาทำกับท่านอย่างไร ก็จงทำกับเขาอย่างนั้นเถิด นี่คือธรรมบัญญัติและคำสอนของบรรดาประกาศก”

ทางสองแพร่งd

13“จงเข้าทางประตูแคบ เพราะประตูและทางที่นำไปสู่หายนะนั้นeกว้างขวาง คนที่เข้าทางนี้มีจำนวนมาก  14แต่ประตูและทางซึ่งนำไปสู่ชีวิตนั้นคับแคบ คนที่พบทางนี้มีจำนวนน้อย”

ประกาศกเทียม

15“จงระวังประกาศกเทียมfซึ่งมาพบท่าน นุ่งห่มเหมือนแกะ แต่ภายในคือสุนัขป่าดุร้าย  16ท่านจะรู้จักเขาได้จากผลงานของเขา มีใครบ้างเก็บผลองุ่นจากต้นหนาม  หรือเก็บผลมะเดื่อเทศจากพงหนาม  17ในทำนองเดียวกัน ต้นไม้พันธุ์ดีย่อมเกิดผลดี  ต้นไม้พันธุ์ไม่ดีย่อมเกิดผลไม่ดี  18ต้นไม้พันธุ์ดีจะเกิดผลไม่ดีมิได้ และต้นไม้พันธุ์ไม่ดีก็ไม่อาจเกิดผลดีได้  19ต้นไม้ทุกต้นที่ไม่เกิดผลดีย่อมถูกโค่นทิ้งในกองไฟ 20เพราะฉะนั้น ท่านจะรู้จักประกาศกเทียมได้จากผลงานของเขา”

ศิษย์แท้

21“คนที่กล่าวแก่เราว่า ‘พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า’ นั้นมิใช่ทุกคนจะได้เข้าสู่อาณาจักรสวรรค์ แต่ผู้ที่ปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระบิดาของเรา ผู้สถิตในสวรรค์นั่นแหละจะเข้าสู่สวรรค์ได้  22ในวันนั้นgหลายคนจะกล่าวแก่เราว่า ‘พระเจ้าข้า พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าทั้งหลายได้ประกาศพระวาจาในพระนามของพระองค์ ขับไล่ปีศาจในพระนามของพระองค์ และได้กระทำอัศจรรย์หลายประการในพระนามของพระองค์มิใช่หรือ’  23เมื่อนั้น เราจะกล่าวแก่เขาว่า ‘เราไม่เคยรู้จักท่านทั้งหลายเลย ท่านผู้กระทำความชั่ว จงไปให้พ้นหน้าเรา

24“ผู้ใดฟังถ้อยคำเหล่านี้ของเราและปฏิบัติตาม ก็เปรียบเสมือนคนมีปัญญาที่สร้างบ้านไว้บนหิน  25ฝนจะตก น้ำจะไหลเชี่ยว ลมจะพัดโหมเข้าใส่บ้านหลังนั้น บ้านก็ไม่พัง เพราะมีรากฐานอยู่บนหิน  26ผู้ใดที่ฟังถ้อยคำเหล่านี้ของเรา และไม่ปฏิบัติตามก็เปรียบเสมือนคนโง่เขลาที่สร้างบ้านไว้บนทราย  27เมื่อฝนตก น้ำไหลเชี่ยว ลมพัดโหมเข้าใส่บ้านหลังนั้น มันก็พังทลายลงและเสียหายมาก”

ความพิศวงของประชาชน

28เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถ้อยคำเหล่านี้จบแล้ว ประชาชนต่างพิศวงในคำสั่งสอนของพระองค์  29เพราะพระองค์ทรงสอนเขาอย่างผู้มีอำนาจ ไม่ใช่สอนเหมือนบรรดาธรรมาจารย์ของเขาh

f  ต้นฉบับใช้คำว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลาย” ตัดคำว่า “ทั้งหลาย” ออกเพื่อให้ตรงกับบทภาวนาตามพิธีกรรม

g  หรือ “พ้นภัย” สำเนาบางฉบับเพิ่ม “เหตุว่าพระอาณาจักร พระอานุภาพ และพระสิริรุ่งโรจน์เป็นของพระองค์ตลอดนิรันดร์ อาแมน” ( ข้อความนี้เพิ่มเข้ามาจากการใช้ในพิธีกรรม)

h ตาจะดีหรือไม่ดีอยู่ที่ว่าจะรับแสงสว่างได้ดีหรือไม่  อย่างไรก็ตาม ตาบอดทางร่างกายยังเลวน้อยกว่าตาบอดทางจิตใจ

7 a “อย่าตัดสินเขา และท่านจะไม่ถูกพระเจ้าตัดสิน” ในภาษาเดิมหลีกเลี่ยงการใช้พระนามพระเจ้าในข้อนี้ และข้อต่อไปด้วย (เทียบ ยก 4:12)

b “ของศักดิ์สิทธิ์” หมายถึงเนื้อสัตว์ที่ถวายบูชาในพระวิหาร (ดู อพย 22:30; ลนต 22:14) ในทำนองเดียวกัน คำสอนที่ประเสริฐเรื่องพระอาณาจักรต้องไม่ให้กับคนที่ไม่สามารถรับไปทำให้เกิดประโยชน์ หรือยิ่งกว่านั้น อาจนำไปใช้ในทางที่ผิดด้วย เราไม่ทราบว่า “สุนัข” ในที่นี้เป็นสัญลักษณ์หมายถึงใคร อาจหมายถึงชาวยิวที่ต่อต้าน หรืออาจหมายถึงคนต่างศาสนา (เทียบ 15:26)

c คำพังเพยนี้รู้จักกันดีในสมัยโบราณ โดยเฉพาะในหมู่ชาวยิว (ดู ทบต 4:15) แต่ในรูปแบบเชิงปฏิเสธ คือ “อย่าทำต่อผู้อื่น สิ่งที่ท่านไม่ปรารถนาให้เขาทำแก่ท่าน” รูปแบบเชิงบวกที่พระเยซูเจ้าทรงสอน และนิยมใช้กันต่อมาเรียกร้องมากกว่า

d คำสอนเรื่องทางสองแพร่ง คือทางแห่งความดีและทางแห่งความเลวที่มนุษย์ต้องเลือก เป็นคำสอนโบราณที่รู้จักดีในหมู่ชาวยิว (ดู ฉธบ 30:15-20; สดด 1; สภษ 4:18-19; 12:28; 15:24; บสร 15:17; 33:14) คำสอนนี้เขียนไว้ในหนังสือเล็ก ๆ ที่มีชื่อว่า Didache และคำแปลภาษาละตินซึ่งมีชื่อว่า Doctrina Apostolorum อิทธิพลของหนังสือนี้เห็นได้ใน 5:14-18; 7:12-14; 19:16-26; 22:34-40 และใน รม 12:16-20; 13:8-12

e สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ประตูที่นำไปสู่หายนะนั้นใหญ่ และหนทางก็กว้าง”

f “ประกาศกเทียม” หมายถึงอาจารย์เท็จที่ทำเป็นคนศรัทธา เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว (ดู 24:4ฯ,24)

g “ในวันนั้น” หมายถึง วันพิพากษา

h บรรดาธรรมาจารย์มักจะอ้าง “ธรรมประเพณี” ของคนโบราณมาสนับสนุนคำสอนของตนเสมอ สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ธรรมาจารย์และฟาริสี”