“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“พระนามของพระเยซูเจ้าเลื่องลือไป”

27. กษัตริย์เฮโรดและพระเยซูเจ้า ( มก 6:14-16 )
           
6 14 กษัตริย์เฮโรดทรงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าเพราะพระนามของพระเยซูเจ้าเลื่องลือไปบางคนพูดว่า “ยอห์นผู้ทำพิธีล้างได้กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายแล้วดังนั้นเขาจึงมีอำนาจทำอัศจรรย์ได้” 15บางคนพูดว่า “เขาคือเอลียาห์” บางคนก็พูดว่า “เขาเป็นประกาศกคนหนึ่งเหมือนกับประกาศกคนอื่น” 16แต่เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงได้ยินเช่นนี้ก็ตรัสว่า “ยอห์นคนที่เราให้ตัดศีรษะได้กลับคืนชีพมาอีก”

a) อธิบายความหมาย
          ข้อความที่แล้ว นักบุญมาระโกเล่าว่า พระเยซูเจ้าทรงมอบหมายให้บรรดาอัครสาวกไปประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้าตามหมู่บ้านในแคว้นกาลิลี บัดนี้ ขณะที่บรรดาอัครสาวกปฏิบัติภารกิจ นักบุญมาระโกหันกลับมาสนใจประเด็นสำคัญที่ว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้ใด เขาจึงสรุปความคิดเห็นต่าง ๆ ของชาวยิวเกี่ยวกับพระองค์

            โดยแท้จริง พระเยซูเจ้าเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว กิตติศัพท์ของพระองค์เลื่องลือไปทั่วแคว้นกาลิลี (เทียบ 1:28) เพราะพระองค์ทรงขับไล่ปีศาจ (เทียบ 1:39) ยิ่งกว่านั้น ผู้คนมากมายที่อาศัยทั่วปาเลสไตน์และนอกบริเวณนั้นได้มาพบพระเยซูเจ้าเพราะเคยได้ยินสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำ (เทียบ 3:7-8) ในหมู่คนเหล่านี้ยังมีหัวหน้าชาวยิวบางคนซึ่งมาจากกรุงเยรูซาเล็ม (เทียบ 3:22) และบางคนที่เป็นผู้นิยมกษัตริย์เฮโรด (เทียบ 3:6) แม้ผู้มีอำนาจด้านศาสนาตัดสินว่า พระเยซูเจ้าทรงถูกปีศาจสิง  (เทียบ 6:3) แต่นักบุญมาระโกยังอธิบายความคิดเห็นอื่น ๆ ที่มองพระองค์ในแง่บวก

- กษัตริย์เฮโรดทรงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระเยซูเจ้า     กษัตริย์เฮโรดอันทีปาสเป็นพระโอรสของกษัตริย์ เฮโรดมหาราชและพระนางมัลธาเช ทรงเป็นเจ้าปกครองแคว้นกาลิลีและแคว้นเปอเรียระหว่างปี 4 ก่อนคริสตกาลจนถึง ค.ศ. 39 คือในปีที่จักรพรรดิคาลิกูลาทรงปลดพระองค์ออกจากตำแหน่งไปอยู่ในดินแดนเนรเทศ นักบุญมาระโกเรียกพระองค์นี้ว่ากษัตริย์ ทั้ง ๆ ที่จักรพรรดิออกัสตัสทรงแต่งตั้งพระองค์ให้เป็นเพียง ”เททราร์ค” (tetrarch) คือ "เจ้าปกครอง" ถ้าแปลคำเททราร์คตามตัวษรหมายถึง “ผู้ปกครองหนึ่งในสี่ส่วนของแผ่นดิน” แต่โดยทั่วไปในสมัยนั้น หมายถึงผู้มีอำนาจปกครองส่วนใดส่วนหนึ่งของแผ่นดิน แม้ไม่ได้รับเกียรติยศเป็นกษัตริย์ แต่มีอำนาจเทียบเท่ากษัตริย์

- เพราะพระนามของพระเยซูเจ้าเลื่องลือไป กษัตริย์เฮโรดอันทีปาสยังไม่ทรงพบพระเยซูเจ้า เพราะประทับอยู่ที่เมืองทิเบเรียส ซึ่งเป็นเมืองที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่จักรพรรดิทีเบริอัส และพระเยซูเจ้าไม่เสด็จเข้าเมืองนี้ แต่กษัตริย์เฮโรดอันทีปาสทรงได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์แล้ว เพราะกิตติศัพท์ของพระองค์เลื่องลือไปทั่วแคว้นกาลิลี

- บางคนพูดว่า “ยอห์น ผู้ทำพิธีล้างได้กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายแล้ว การที่ประชาชนบางคนคิดว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้างที่กลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายก็เพราะพระเยซูเจ้าทรงเริ่มปฏิบัติศาสนบริการหลังจากที่นักบุญยอห์นถูกขัง (เทียบ 1:14; ลก 13:25) และลักษณะบางอย่างในพระชนมชีพของพระองค์คล้ายกับของนักบุญยอห์น เช่น การดำเนินชีวิตเรียบง่ายและศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งทำให้คนจำนวนมากประทับใจพระองค์

- ดังนั้นเขาจึงมีอำนาจทำอัศจรรย์ได้” แม้ในขณะที่นักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้างมีชีวิตอยู่ไม่เคยทำอัศจรรย์ แต่ประชาชนยอมรับว่า เมื่อเขากลับคืนชีพแล้วก็มีอำนาจทำอัศจรรย์ดังที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำ

- บางคนพูดว่า “เขาคือเอลียาห์” ตามคำประกาศของประกาศกมาลาคีในนามของพระเจ้าว่า "ดูซิ เราจะส่งประกาศกเอลียาห์มาหาท่าน ก่อนที่วันยิ่งใหญ่และน่าสะพรึงกลัวของพระยาห์เวห์จะมาถึง เขาจะทำให้ใจของพ่อกลับมาหาลูก และใจของลูกกลับไปหาพ่อ เพื่อเราจะไม่ต้องมาทำลายล้างแผ่นดิน" (มลค 3:23-24) และตามธรรมประเพณี โดยทั่วไปชาวยิวรอคอยการกลับมาของประกาศกเอลียาห์ก่อนจะสิ้นพิภพ เพื่อเตือนประชาชนให้กลับใจ เขาจะได้นำหน้าและรับใช้พระเมสสิยาห์ (เทียบ 1:2)

- บางคนก็พูดว่า “เขาเป็นประกาศกคนหนึ่งเหมือนกับประกาศกคนอื่น” ประชาชนบางคนไม่เจาะจงว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นประกาศกคนใดคนหนึ่งในอดีตซึ่งกลับคืนชีพ แต่เป็นประกาศกคนหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับประกาศกที่ดำเนินชีวิตในอดีต น่าสังเกตว่า ความคิดเห็นทั้งสามประการนี้ แม้มองพระเยซูเจ้าในแง่บวกและให้เกียรติพระองค์ แต่ไม่สอดคล้องกับธรรมล้ำลึกที่ซ่อนเร้นในพระบุคคลของพระเยซูเจ้า ความคิดของประชาชนสมัยนั้นเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ต่างจากลักษณะพระเมสสิยาห์ที่พระองค์ทรงเป็น

- แต่เมื่อกษัตริย์เฮโรดทรงได้ยินเช่นนี้ ก็ตรัสว่า “ยอห์นคนที่เราให้ตัดศีรษะ ได้กลับคืนชีพมาอีก” คำตัดสินของกษัตริย์เฮโรดอันทีปาสดูเหมือนสอดคล้องความคิดเห็นแรกของประชาชนกลุ่มแรก แต่โดยแท้จริงแล้ว ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์สันนิษฐานว่า กษัตริย์เฮโรดอันทีปาสผู้ทรงได้รับการศึกษาแบบกรีกคงจะไม่เชื่อในเรื่องการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย ดังนั้น เขาจึงคิดว่าความหมายของประโยค "ยอห์นคนที่เราให้ตัดศีรษะ ได้กลับคืนชีพมาอีก" คงเป็นพระดำรัสประชดของกษัตริย์เฮโรดอันทีปาส เพื่อทรงต้องการขจัดความรู้สึกผิดที่มารบกวนมโนธรรมบ่อย ๆ เพราะทรงสั่งให้ประหารชีวิตนักบุญยอห์นผู้บริสุทธิ์

b) ประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
       1.ประชาชนมีความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับพระเยซูเจ้า เขาต้องการกำหนดชัดเจนว่า พระองค์ทรงสังกัดอยู่ในกลุ่มบุคคลใดที่เขารู้จักแล้ว เช่น ประกาศกเอลียาห์ ประกาศกคนใดคนหนึ่ง หรือนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้าง การคิดเช่นนี้เปรียบได้กับการประทับตราคนบริสุทธิ์โดยไม่พยายามสืบหาข้อเท็จจริงของผู้ที่เราสงสัยว่า เขาทำหรือพูดอะไรแน่ บางครั้งเราก็ประพฤติเช่นนี้ เราตัดสินผู้อื่นโดยไม่พยายามวิเคราะห์ความจริงด้วยความพากเพียรและยุติธรรม เราคิดว่าตนเองมีคำตอบพร้อมที่จะสรุปเพื่อหลีกเลี่ยงความยากลำบากในการพิจารณาไตร่สวน

       2.พระเยซูเจ้าทรงทำให้ประชาชนประทับใจในพระองค์บ้าง เขาจึงครุ่นคิดถึงพระองค์ ถามตนเองว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ใดสำหรับตน เราซึ่งประทับใจในพระเยซูเจ้าเช่นกัน เราครุ่นคิดถึงพระองค์หรือไม่ เราต้องจับตามองพระเยซูเจ้า เพื่อจะได้มีประสบการณ์ใกล้ชิดกับพระองค์และปฏิบัติตามพระฉบับ

       3.ชีวิตของเราเป็นที่น่าประทับใจแก่บุคคลรอบข้างหรือไม่ พฤติกรรมของเราชวนให้เขาระลึกถึงคำสอนของพระเยซูเจ้าหรือไม่ เขาเห็นว่าเราเป็นศิษย์แท้ของพระเยซูเจ้าไหม คำชมเชยดีสุดซึ่งเราอาจจะได้รับจากผู้อื่นคือ "คนนี้เป็นคริสตชนแท้ เขาเป็นคนไม่มีมารยา" หรือไม่

       4.กษัตริย์เฮโรดทรงกระทำผิดในการสั่งประหารชีวิตนักบุญยอห์น มโนธรรมจึงตำหนิพระองค์ และการกระทำนั้นเป็นภาพหลอนในความคิดของพระองค์  เราก็เช่นกัน เมื่อเราทำผิดแล้ว เราไม่สามารถควบคุมความคิดของตนเพราะทุกครั้งที่เราคิด ความคิดเกี่ยวกับเรื่องที่ได้ทำผิดกลับมารบกวนเรา ใจของเราฟ้องตนเอง และชีวิตก็ไม่มีมีความสุข เราจะพ้นสภาพเช่นนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเรายอมรับผิดและขออภัยโทษจากพระเจ้าเท่านั้น

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก