"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ผู้รับเชิญมาในงานแต่งงานจะจำศีลอดอาหารได้หรือ”

10. การโต้เถียงเรื่องการจำศีลอดอาหาร (มก 2:18-22)

    2 18บรรดาศิษย์ของยอห์นและชาวฟาริสีกำลังจำศีลอดอาหาร มีผู้ทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “ทำไมศิษย์ของยอห์นและศิษย์ของชาวฟาริสีจำศีลอดอาหาร แต่ศิษย์ของท่านไม่จำศีลเลย”  19พระองค์ตรัสตอบว่า “ผู้รับเชิญมาในงานแต่งงานจะจำศีลอดอาหารได้หรือขณะที่เจ้าบ่าวยังอยู่กับเขา ตราบใดที่เจ้าบ่าวยังอยู่ด้วย เขาย่อมไม่จำศีลอดอาหาร  20แต่จะมีวันหนึ่งที่เจ้าบ่าวจะถูกพรากไป ในวันนั้น เขาจะจำศีลอดอาหาร  21ไม่มีใครนำผ้าใหม่ไปปะเสื้อเก่า เพราะผ้าใหม่ที่นำมาปะเสื้อเก่านั้นจะหดตัวมากกว่า ทำให้รอยขาดมากกว่าเดิม  22ไม่มีใครใส่เหล้าองุ่นใหม่ลงในถุงหนังเก่า เพราะเหล้าจะทำให้ถุงหนังขาด ทั้งเหล้า ทั้งถุงก็จะเสียไป แต่ต้องใส่เหล้าใหม่ลงในถุงหนังใหม่”
a) อธิบายความหมาย
             ข้อความ 2:1-3 :6 ได้รับชื่อว่า “การโต้เถียงกันในแคว้นกาลิลี” รวม 5 กรณีที่มีการโต้เถียงกันในเรื่องต่าง ๆ ระหว่างพระเยซูเจ้ากับคู่อริ โครงสร้างของเรื่องมีลักษณะเดียวกัน คือในแต่ละเรื่องพระเยซูเจ้าตรัสคำสอนเพื่อตอบสนองการวิพากษ์วิจารณ์ของคู่อริ

            เราได้พิจารณา 2 กรณีแรกแล้วคือการโต้เถียงกันเรื่องอำนาจให้อภัยบาป เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรักษาคนอัมพาต (2:1-12) และการโต้เถียงกันเรื่องความสนิทสัมพันธ์กับคนบาป เมื่อพระเยซูเจ้าทรงเรียกเลวีและเสวยพระกระยาหารร่วมกับคนบาป (2:13-17)

            ข้อความที่เรากำลังพิจารณาต่อไปนี้จึงเป็นการโต้เถียงกันครั้งที่ 3 เรื่องการจำศีลอดอาหาร โดยแท้จริงแล้ว ธรรมบัญญัติของชาวยิวกำหนดให้ทุกคนต้องจำศีลอดอาหารเพียงปีละ 1 ครั้งคือ ในวันชดเชยบาป การจำศีลอดอาหารครั้งนี้ แม้มีชื่อว่าการชดเชยบาป แต่ความหมายที่แท้จริงเป็นการเตรียมตนเพื่อต้อนรับการอภัยบาปจากพระเจ้าผู้จะประทานให้ เพราพระองค์เท่านั้นทรงอภัยบาปได้  ชาวยิวฉลองวันชดเชยบาปนี้วันที่ 10 เดือน Tishri ตามปฏิทินสากลอยู่ระหว่างเดือนกันยายน – ตุลาคม (เทียบ ลวต 16:29; 23:27-32; กดว 29:7-11)

          ในศตวรรษต่อมา ชาวยิวนิยมจำศีลอดอาหารอีกวันหนึ่งคือ วันที่ระลึกถึงกรุงเยรูซาเล็มและพระวิหารถูกทำลาย คือวันที่ 9 เดือน Ab ตามปฏิทินสากลคือเดือนสิงหาคม การที่ชาวยิวจำศีลอดอาหารเพื่อเตรียมตนพบกับพระเจ้าก็ยังเห็นตัวอย่างของโมเสสผู้จำศีลอดอาหารเป็นเวลา 40 วัน 40 คืน เพื่อวอนขอพระเจ้าให้ทรงอภัยบาปของประชากรอิสราเอล (เทียบ ฉธบ 8:18) ต่อมา ชาวยิวก็ยังคุ้นเคยกับขนบประเพณีที่จะจำศีลอดอาหารในโอกาสอื่น ๆ เช่น เมื่อเกิดภัยพิบัติกับประเทศชาติ เมื่อแพ้สงคราม หรือแม้กระทั่งเพราะความเลื่อมใสศรัทธา (เทียบ ศคย 7:5; 8:19)

           นักบุญมาระโกอธิบายสถานการณ์ว่า “บรรดาศิษย์ของยอห์นและชาวฟาริสีกำลังจำศีลอดอาหาร” เราไม่รู้ว่าบรรดาศิษย์ของยอห์นจำศีลอดอาหารวันใดและเพื่อจุดประสงค์ใด แต่เราสันนิษฐานว่า เขาคงจะจำศีลอดอาหารตามแบบอย่างของนักบุญยอห์น (เทียบ มก 1:6; มธ 3:4; ลก 7:33) ส่วนชาวฟาริสีกำลังจำศีลอดอาหาร เรารู้จากหนังสือพระวรสารว่า ในสมัยของพระเยซูเจ้า เขาเลือกที่จะจำศีลอดอาหารสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันจันทร์และวันพฤหัสฯ (เทียบ ลก 18:12; มธ 6:16)

            โครงสร้างของข้อความ 2:18-22 ค่อนข้างเข้าใจง่าย มีคำถามสั้น ๆ “ทำไมศิษย์ของยอห์นและศิษย์ของชาวฟาริสีจำศีลอดอาหาร แต่ศิษย์ของท่านไม่จำศีลเลย” ต่อจากคำตอบที่ยืดยาว ซึ่งแบ่งได้สองตอน คือข้อ 19-20 และ 21-22 คำตอบทั้งสองภาคไม่ชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร แต่ละเรื่องพูดถึงความหมายของการจำศีลอดอาหาร ซึ่งพระเยซูเจ้าพร้อมกับบรรดาศิษย์ดูเหมือนไม่ค่อยจะทรงเอาพระทัยใส่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด  

            “ผู้รับเชิญมาในงานแต่งงาน” แปลตามตัวอักษรว่า“บุตรของห้องวิวาห์” เป็นสำนวนเซมิติกหมายถึงเพื่อนเจ้าบ่าวที่อยู่ใกล้ชิด ช่วยจัดการงานทุกอย่าง แม้บางครั้งงานนี้ใช้เวลา 7 วัน พระเยซูเจ้าทรงใช้สำนวนนี้หมายถึง บรรดาอัครสาวกเป็นเหมือนเพื่อนเจ้าบ่าว เป็นนัยว่าเจ้าบ่าวนั้นคือพระองค์เอง

           ในพันธสัญญาเดิมเราพบคำทำนายว่า ในอนาคตงานวิวาหมงคลจะเป็นสัญลักษณ์ของเวลาแห่งความรอดพ้น ดังที่เราอ่านในหนังสืออิสยาห์ว่า “เจ้าบ่าวยินดีเพราะเจ้าสาวฉันใด พระเจ้าของเจ้าก็จะทรงยินดีเพราะเจ้าฉันนั้น” (อสย 62:5) บรรดาธรรมาจารย์มักจะอธิบายเช่นเดียวกันว่า พระยาห์เวห์ทรงเป็นเจ้าบ่าวของอิสราเอล ดังที่เราพบในคำสั่งสอนของบรรดาประกาศก (เทียบ ฮชย 2:19; อสย 54:4ฯ; อสค 16:7ฯ)

            เราจึงเข้าใจเหตุผลที่พระเยซูเจ้าตรัสเกี่ยวกับบรรดาอัครสาวกว่า “จะจำศีลอดอาหารได้หรือขณะที่เจ้าบ่าวยังอยู่กับเขา ตราบใดที่เจ้าบ่าวยังอยู่ด้วย เขาย่อมไม่จำศีลอดอาหาร”งานวิวาห มงคลของพระเมสสิยาห์มาถึงแล้ว การจำศีลอดอาหารเป็นการเตรียมการรอคอย วันนั้นมาถึงแล้ว เจ้าบ่าวอยู่ที่นี่จึงต้องชื่นชมยินดี การที่พระเยซูเจ้าทรงใช้เครื่องหมายแปลก ๆ นี้ก็สอดคล้องกับวิธีการของบรรดาประกาศกในอดีตเพื่อดึงดูดความสนใจ เพื่อบังคับให้ผู้ฟังขบคิด ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงยืนยันว่าทรงเป็นเจ้าบ่าว ก็ไม่ทรงอธิบายความหมาย แต่ทรงต้องการประกาศว่า สมัยพระเมสสิยาห์ที่พระเจ้าทรงนำความรอดพ้นมาถึงแล้ว

           “แต่จะมีวันหนึ่งที่เจ้าบ่าวจะถูกพรากไป” ประโยคนี้ชวนให้คิดถึงข้อความในหนังสือของประกาศกอิสยาห์เมื่อกล่าวถึงผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ที่จะถูกประหาร โดยใช้สำนวนเดียวกันคือ “เขาถูกพรากไปจากแผ่นดินของผู้มีชีวิต” (อสย 53:8) นี่เป็นการเสนอแนะว่า พระเยซูเจ้าทรงมีจิตสำนึกที่จะถูกประหารชีวิต คำว่า “ถูกพราก” แสดงว่าจะมีผู้ที่ใช้กำลัง ใช้ความรุนแรง   ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก เมื่อจบการเล่าเรื่องการโต้เถียงกัน (เทียบ 3:6) มีบันทึกว่า ชาวฟาริสีตกลงกันที่จะประหารชีวิตพระเยซูเจ้า ในระวาจานี้ พระเยซูเจ้าจึงทรงสำแดงว่า ทรงมีจิตสำนึกถึงความคิดในใจของคู่อริและเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต