“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

เซาโลกลับใจa

9 1ขณะนั้น เซาโลยังคงเคียดแค้นคุกคามจะฆ่าบรรดาศิษย์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า จึงเข้าไปพบมหาสมณะ 2ขอหนังสือมอบอำนาจไปยังศาลาธรรมต่างๆ ในเมืองดามัสกัส เพื่อจะได้จับกุมทุกคนที่พบb ไม่ว่าชายหรือหญิงที่ดำเนินชีวิตตามวิถีทางcของพระคริสตเจ้า แล้วนำไปยังกรุงเยรูซาเล็ม

3ขณะที่เขาเดินทางใกล้ถึงเมืองดามัสกัส ทันใดนั้นมีแสงสว่างจากท้องฟ้าล้อมรอบตัวเขาไว้ 4เขาล้มลงที่พื้นดินและได้ยินเสียงกล่าวว่า “เซาโล เซาโลd ท่านเบียดเบียนเราทำไม” 5เซาโลจึงถามว่า “พระเจ้าข้า พระองค์คือใคร” พระองค์ตรัสว่า “เราคือเยซู ซึ่งท่านกำลังเบียดเบียนe 6ท่านจงลุกขึ้น เข้าไปในเมือง แล้วจะมีคนบอกให้รู้ว่าจะต้องทำอะไร” 7คนที่เดินทางพร้อมกับเซาโลยืนนิ่งพูดไม่ออก เขาได้ยินเสียงพูดแต่ไม่เห็นใครเลย 8เซาโลจึงลุกขึ้นจากพื้นดิน ลืมตา แต่ก็มองสิ่งใดไม่เห็น คนอื่นจึงจูงมือเขา พาเข้าไปในเมืองดามัสกัส 9เซาโลมองไม่เห็นสิ่งใดเลยเป็นเวลาสามวัน ไม่ได้กินและไม่ได้ดื่ม

10ที่เมืองดามัสกัสมีศิษย์คนหนึ่งชื่อ อานาเนีย องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงเรียกเขาในนิมิตว่า “อานาเนีย” อานาเนียทูลว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าอยู่ที่นี่” 11องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “จงลุกขึ้นไปที่ถนนซึ่งเรียกว่าถนนตรง จงไปที่บ้านของยูดาส ถามหาชายคนหนึ่งชื่อเซาโลที่มาจากเมืองทาร์ซัส ขณะนี้เซาโลกำลังอธิษฐานภาวนาอยู่ 12และเห็นชายคนหนึ่งชื่ออานาเนียในนิมิตf เข้ามาปกมือให้ เพื่อให้เขามองเห็นได้อีก”

13แต่อานาเนียทูลตอบว่า “ข้าแต่องค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าได้ยินหลายคนพูดถึงชายผู้นี้ และได้ยินว่า ที่กรุงเยรูซาเล็มเขาได้ทำร้ายบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์gเพียงใด 14และที่นี่เขาได้รับอำนาจจากบรรดาหัวหน้าสมณะให้มาจับกุมทุกคนที่เรียกขานพระนามพระองค์” 15แต่องค์พระผู้เป็นเจ้าตรัสตอบอานาเนียว่า “จงไปเถิด เพราะชายผู้นี้เป็นเครื่องมือที่เราเลือกสรรไว้เพื่อนำนามของเราไปประกาศแก่คนต่างศาสนา บรรดากษัตริย์และลูกหลานของอิสราเอลh 16เราจะแสดงให้เขารู้ว่า เขาจะต้องทนทุกข์ทรมานมากเท่าใดเพราะนามของเรา” 17อานาเนียจึงจากไป และเข้าไปในบ้าน ปกมือเหนือเซาโล กล่าวว่า “เซาโลน้องรัก พระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าซึ่งทรงสำแดงพระองค์แก่ท่านกลางทางที่ท่านมานั้น ทรงส่งข้าพเจ้ามาเพื่อท่านจะมองเห็นได้อีกและได้รับพระจิตเจ้าiอย่างเต็มเปี่ยม” 18ทันใดนั้นมีสิ่งหนึ่งเหมือนเกล็ดตกจากนัยน์ตาของเซาโล เขามองเห็นได้อีก จึงลุกขึ้นรับศีลล้างบาป 19เมื่อกินอาหารแล้วก็มีกำลังขึ้น

เซาโลเทศน์สอนที่เมืองดามัสกัส

เซาโลพักอยู่กับบรรดาศิษย์ที่เมืองดามัสกัสระยะหนึ่ง 20เขาเทศน์สอนในศาลาธรรมทันที ประกาศว่า “พระเยซูเจ้าพระองค์นี้เป็นพระบุตรของพระเจ้า”j 21ทุกคนที่ได้ยินต่างประหลาดใจ พูดกันว่า “คนนี้มิใช่หรือที่ทำร้ายผู้เรียกขานพระนามนี้ที่กรุงเยรูซาเล็ม เขามาที่นี่โดยมีจุดประสงค์ที่จะจับกุมคนเหล่านี้และนำไปมอบให้บรรดาหัวหน้าสมณะมิใช่หรือ” 22แต่เซาโลยิ่งมั่นใจมากขึ้น ทำให้ชาวยิวที่อยู่ในเมืองดามัสกัสโต้ตอบไม่ได้ เพราะเซาโลพิสูจน์ได้ว่าพระเยซูเจ้าเป็นพระคริสตเจ้า

23หลายวันต่อมาk ชาวยิววางแผนจะฆ่าเซาโล 24แต่เซาโลรู้แผนการนี้ ชาวยิวไปคอยเฝ้าอยู่ที่ประตูเมืองทั้งวันทั้งคืนเพื่อจะฆ่าเขา 25บรรดาศิษย์lจึงนำเขาใส่ในเข่งแล้วหย่อนลงมาจากกำแพงในเวลากลางคืน

เซาโลไปกรุงเยรูซาเล็มm

26เมื่อเซาโลมาถึงกรุงเยรูซาเล็มแล้ว ก็พยายามเข้าร่วมกับบรรดาศิษย์ แต่ทุกคนกลัวเขา เพราะไม่เชื่อว่าเขาเป็นศิษย์ที่แท้จริง 27บารนาบัสจึงพาเขาไปพบบรรดาอัครสาวก และเล่าให้ฟังว่าเซาโลได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าระหว่างทาง พระองค์ได้ตรัสกับเขาและเขาได้เทศน์สอนอย่างกล้าหาญที่เมืองดามัสกัสเดชะพระนามพระเยซูเจ้า 28นับตั้งแต่นั้น เซาโลจึงอยู่กับบรรดาศิษย์ ไปมาในกรุงเยรูซาเล็มอย่างอิสระ เทศน์สอนอย่างกล้าหาญเดชะพระนามองค์พระผู้เป็นเจ้า 29เขาพูดและโต้เถียงกับชาวยิวที่พูดภาษากรีกn แต่คนเหล่านี้พยายามจะฆ่าเขา 30บรรดาพี่น้องรู้เรื่องนี้ จึงพาเขาไปยังเมืองซีซารียาแล้วส่งเขาไปยังเมืองทาร์ซัสo

31ขณะนั้น พระศาสนจักรpมีสันติภาพทั่วแคว้นยูเดีย กาลิลีและสะมาเรีย พระศาสนจักรเติบโตขึ้น มีความเคารพยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้า และได้รับกำลังใจจากพระจิตเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม

เปโตรรักษาคนอัมพาต

32เมื่อเปโตรเดินทางไปเยี่ยมผู้มีความเชื่อในที่ต่างๆ เขาไปเยี่ยมบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในเมืองลิดดาด้วย 33ที่นั่น เขาพบชายคนหนึ่งชื่อไอเนอัส เป็นอัมพาตนอนอยู่บนแคร่มาแปดปีแล้ว 34เปโตรจึงพูดกับเขาว่า “ไอเนอัสเอ๋ย พระเยซูคริสตเจ้าทรงรักษาท่านให้หาย จงลุกขึ้นและเก็บที่นอนเถิด” เขาก็ลุกขึ้นqทันที 35เมื่อเห็นดังนี้ ทุกคนที่อยู่ในเมืองลิดดาและในที่ราบชาโรนก็กลับใจมีความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า

เปโตรทำให้หญิงคนหนึ่งกลับคืนชีวิต

36ในบรรดาศิษย์ที่เมืองยัฟฟามีหญิงคนหนึ่งชื่อทาบีธา แปลว่า “เนื้อทราย”r ทำความดีและให้ทานเป็นอันมาก 37ระหว่างนั้นนางป่วยและถึงแก่กรรม เขาทำความสะอาดศพและตั้งศพไว้ในห้องชั้นบน 38เมืองลิดดาอยู่ใกล้กับเมืองยัฟฟา บรรดาศิษย์รู้ว่าเปโตรอยู่ที่เมืองลิดดา จึงส่งชายสองคนไปเชิญเขาว่า “โปรดรีบมาหาเราเถิด”

39เปโตรไปกับเขาทันที เมื่อไปถึง เขาก็พาเปโตรขึ้นไปยังห้องชั้นบน บรรดาหญิงม่ายมาห้อมล้อม ทุกคนต่างร้องไห้และชี้ให้เปโตรดูเสื้อผ้าทั้งชั้นนอกชั้นในที่ทาบีธาตัดเย็บให้เมื่อนางยังมีชีวิต 40เปโตรจึงสั่งให้ทุกคนออกไปข้างนอก เขาคุกเข่าอธิษฐานภาวนาแล้วหันมาดูศพ พูดว่า “ทาบีธาเอ๋ย จงลุกขึ้นเถิด” นางก็ลืมตาขึ้นมองดูเปโตรและลุกขึ้นนั่ง 41เปโตรจึงยื่นมือพยุงให้นางยืน แล้วเรียกบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์และบรรดาหญิงม่ายเข้ามา ชี้ให้เห็นว่านางยังมีชีวิต 42เรื่องนี้เป็นที่รู้กันทั่วเมืองยัฟฟา หลายคนมีความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า

43เปโตรยังพักอยู่กับซีโมนช่างฟอกหนัง ที่เมืองยัฟฟาต่อไปอีกหลายวัน

 

9 a การกลับใจของเปาโลเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร ลูกาเล่าเรื่องนี้ถึง 3 ครั้ง แต่ละครั้งมีรายละเอียดไม่ตรงกัน เพราะแบบวรรณกรรมต่างกัน ครั้งแรกเป็นการเล่าเรื่อง ครั้งที่สองและที่สามเป็นคำปราศรัยของเปาโล (ดู กท 1:12-17 ด้วย) ทั้งสามสำนวนของเรื่องนี้สะท้อนการเล่าเรื่องพระเจ้าทรงเรียกบางคนในพันธสัญญาเดิม (ปฐก 31:11-13; 1 ซมอ 3:4-14) และเรื่องการแสดงองค์ของพระเจ้า (ดนล 10:5-9) ทั้งเรื่องการกลับใจของผู้ที่เบียดเบียนประชากรของพระเจ้า (2 มคบ 3:24-40) เหตุการณ์นี้อาจได้เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 36 คือราว 12 ปี (หรือ 14 ปี ถ้านับแบบคนโบราณ) ก่อนมีการประชุมสังคายนาที่กรุงเยรูซาเล็มในปี ค.ศ. 49 (กท 2:1ฯ; ดู กจ 15)

 

b รัฐบาลโรมันยอมรับอำนาจของมหาสมณะเหนือชุมชนชาวยิว รวมถึงชาวยิวที่อยู่นอกปาเลสไตน์ด้วย 1 มคบ 15:21 กล่าวถึงสิทธิในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

c “วิถีทาง” คือ แนวทางดำเนินชีวิตซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของกลุ่มคริสตชน คำนี้ยังมีความหมายเพิ่มเติม หมายถึง กลุ่มคริสตชนด้วย ความหมายในพันธสัญญาเดิม “แนวทางชีวิต” (สดด 119:1 เชิงอรรถ a) สมบูรณ์ขึ้นจากคำสอนและแบบฉบับของพระคริสตเจ้า (มธ 7:13-14; 22:16; 1 คร 4:17; 12:31; ฮบ 9:8; 10:19-22; 2 ปต 2:2)

d ชื่อของเปาโลตามรูปภาษาอาราเมอิก หรือ ฮีบรู (26:14)

e ทุกสิ่งที่ได้ทำแก่บรรดาศิษย์เพราะพระนามของพระเยซูเจ้า ก็เท่ากับกระทำแก่พระเยซูเจ้าเอง (มธ 10:40)

f สำเนาโบราณบางฉบับละ “ในนิมิต” เกี่ยวกับ “นิมิต” ที่พระเจ้าทรงเปิดเผยแก่สองคนพร้อมกัน ดู 10:11ฯ, และ 30ฯ

g “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์” หมายถึง “ประชากร (ใหม่) ของพระเจ้า” พระเจ้าทรงเป็นองค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด (อสย 6:3) ผู้ที่ได้รับเจิมเพื่อทำหน้าที่รับใช้พระองค์จึงได้ชื่อว่า “ผู้ศักดิ์สิทธิ์” ด้วย (ลนต 17:1 เชิงอรรถ a) คำนี้ในตอนแรกใช้กับชาวอิสราเอล (อพย 19:3 เชิงอรรถ c, 6) และต่อมาใช้ในความหมายแคบเข้า หมายถึง ชุมชนอิสราเอลในสมัยของพระเมสสิยาห์ (ดนล 7:18 เชิงอรรถ m) คำนี้เหมาะเป็นพิเศษที่จะใช้กับคริสตชนซึ่งเป็น “ชนชาติศักดิ์สิทธิ์” ใหม่ (1 ปต 2:5, 9) ที่พระเจ้าทรงเรียก (รม 1:7; 1 คร 1:2; อฟ 1:4; 2 ทธ 1:9) เมื่อเขาได้รับเจิมขณะรับศีลล้างบาป (อฟ 5:26ฯ) ให้ดำเนินชีวิตไร้มลทิน (1 คร 7:34; อฟ 1:4; 5:3; คส 1:22) ซึ่งทำให้เขาศักดิ์สิทธิ์ดังที่พระเจ้าทรงศักดิ์สิทธิ์ (1 ปต 1:15ฯ, ดู 1 ยน 3:3) และเป็นเหมือนกับพระเยซูเจ้า ซึ่งทรงเป็น “องค์ผู้ศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า (มก 1:24 เชิงอรรถ j) ในกลุ่มคริสตชนสมัยแรก คำ “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” เป็นคำปกติที่ใช้เรียกคริสตชนในปาเลสไตน์ก่อน (9:13, 32, 41; รม 15:26, 31; 1 คร 16:1, 15; 2 คร 8:4; 9:1, 12) ต่อมาจึงใช้ในพระศาสนจักรทุกแห่ง (รม 8:27; 12:13; 16:2, 15; 1 คร 6:1ฯ; 14:33; 2 คร 13:12; อฟ 1:15; 3:18; 4:12; 6:18; ฟป 4:21ฯ; คส 1:4; 1 ทธ 5:10; ฟม 5, 7; ฮบ 6:10; 13:24; ยด 3) และในสูตรคำนำของจดหมาย เช่น 2 คร 1:1 คำ “บรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์” ใน วว 5:8; 8:3 ใช้ในความหมายพิเศษหมายถึงคริสตชนที่ได้สละชีวิตเป็นพยานถึงพระคริสตเจ้า บางครั้งคำนี้ยังใช้ หมายถึง บรรดาผู้นำ “บรรดาอัครสาวกและบรรดาประกาศก” (อฟ 3:5 และ คส 1:26; อฟ 3:8; 4:12; วว 18:20) ในที่สุดดังที่ใช้ในพันธสัญญาเดิม (โยบ 5:1 เชิงอรรถ a) อาจหมายถึงบรรดาทูตสวรรค์ (10:22; มก 8:38; ลก 9:26; ยด 14; วว 14:10) และในบางกรณีไม่แน่ชัดว่าหมายถึงทูตสวรรค์หรือบรรดานักบุญในพระสิริรุ่งโรจน์ (อฟ 1:18; คส 1:12; 1 ธส 3:13; 2 ธส 1:10)

h เทียบ ยรม 1:10 ภารกิจของเปาโลครอบคลุม “มนุษยชาติทั้งหมด” (22:15) รวม “คนต่างศาสนา” ด้วย (26:17) เรื่องนี้ตรงกับที่เปาโลเขียนใน กท 1:16 (เทียบ รม 1:5; 11:13; 15:16-18; กท 2:2, 8, 9; อฟ 3:8; คส 1:27; 1 ทธ 2:7) เกี่ยวกับ “บรรดากษัตริย์” ดู 26:2 เชิงอรรถ a

i เป็นวลีที่เป็นเอกลักษณ์ของลูกา (2:4; 4:8, 31; 9:17; ลก 1:15, 41, 67 ดู ลก 4:1 เชิงอรรถ b)

j “บุตรของพระเจ้า” มีความหมายเดียวกับ “พระคริสตเจ้า” ในข้อ 22 (ดู มธ 4:3 เชิงอรรถ d) เราพบคำ “บุตรของพระเจ้า” อีกครั้งเดียวใน กจ 13:33 ตำแหน่งนี้เป็นเอกลักษณ์ของเทววิทยาของเปาโลเรื่องพระคริสตเจ้า (รม 1:3-4, 9; กท 1:16; 2:20; 4:4, 6; 1 ธส 1:10; ดู รม 9:5 เชิงอรรถ d ด้วย)

k ใน กท 1:17-18 เปาโลกล่าวว่าหลังจากกลับใจสามปีตนได้ไปที่กรุงเยรูซาเล็ม ในระหว่าง 3 ปีนี้เขาได้ไปพักอยู่ที่อาระเบียด้วยระยะหนึ่ง

l สำเนาโบราณบางฉบับว่า “บรรดาศิษย์ของเขา”

m เปาโลกล่าวถึงการไปกรุงเยรูซาเล็มครั้งนี้ใน กท 1:18-19 บอกว่าเวลานั้นกลุ่มคริสตชนต่างๆ ในแคว้นยูเดียยังไม่เคยเห็นเขา แต่ไม่กล่าวถึงบทบาทของบารนาบัส เปาโลกล่าวว่าตนไม่ได้พบอัครสาวกอื่นๆ นอกจากเปโตร และยากอบน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้า ส่วน กจ กล่าวเพียงกว้างๆ ว่า เปาโลได้พบ “บรรดาอัครสาวก

n สำเนาโบราณบางฉบับว่า “ชาวกรีก” (คือ คนต่างศาสนา); เช่นเดียวกับใน 11:20 บรรดาคริสตชนชาวยิวที่พูดภาษากรีก (ดู 6:1 เชิงอรรถ b) มีความกระตือรือร้นในการเชิญชวนให้คนกลับใจ เช่นเดียวกับชาวยิวพูดภาษากรีกที่ไม่ใช่คริสตชนมีความกระตือรือร้นในการขัดขวางการประกาศความเชื่อถึงพระคริสตเจ้า (6:9ฯ; 7:58; 9:1; 21:27; 24:19)

o ในภายหลังบารนาบัสจะมาเรียกเปาโลที่เมืองทาร์ซัสให้ไปร่วมงานที่เมืองอันทิโอก (11:25) จงเปรียบเทียบข้อนี้กับ 22:17-21 และกับ กท 1:18-21

p สำเนาโบราณบางฉบับว่า “บรรดาคริสตชน”

q สำหรับอัศจรรย์ที่คล้ายคลึงกัน ดู 3:1-10 และ 4:22; 14:8-10; ลก 5:18-26 //; 13:11-13; ยน 5:1-14

r อัศจรรย์นี้เล่าในแบบเดียวกันกับอัศจรรย์ที่พระเยซูเจ้าทรงปลุกบุตรหญิงของไยรัสให้กลับมีชีวิตอีก ใน มก 5:38-41 ในพระวรสารพระเยซูเจ้าทรงเรียกเด็กหญิงว่า “ทาลิธา” (หนูเอ๋ย) ในที่นี้ หญิงที่เปโตรปลุกให้กลับคืนชีพชื่อ “ทาบีธา” (เนื้อทราย)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก