“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)


(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

ll. ภารกิจของบรรดาอัครสาวกในสมัยแรก

การเลือกตั้งสังฆานุกร

6 1เวลานั้น ศิษย์aมีจำนวนมากขึ้น บรรดาศิษย์ที่พูดภาษากรีกไม่พอใจศิษย์ที่พูดภาษาฮีบรูb เพราะในการแจกทานประจำวัน บรรดาแม่ม่ายของตนถูกละเลยมิได้รับแจก

2อัครสาวกสิบสองคนจึงเรียกบรรดาศิษย์มาประชุม กล่าวว่า “ไม่สมควรที่เราจะละทิ้งการประกาศพระวาจาของพระเจ้าเพื่อไปแจกอาหาร 3พี่น้องทั้งหลาย จงเลือกcบุรุษเจ็ดคนdจากกลุ่มของท่านทั้งหลาย เป็นคนที่มีชื่อเสียงดี เปี่ยมด้วยพระจิตเจ้าและปรีชาญาณ แล้วเราจะแต่งตั้งเขาให้ทำหน้าที่นี้ 4ส่วนเราจะอุทิศตนอธิษฐานภาวนาและประกาศพระวาจาe 5ทุกคนในที่ประชุมต่างเห็นชอบกับข้อเสนอนี้ จึงเลือกสเทเฟนบุรุษผู้เปี่ยมด้วยความเชื่อและพระจิตเจ้า ฟีลิป โปรโครัส นิคาโนร์ ทิโมน ปาร์เมนัส และนิโคลัสชาวอันทิโอกผู้กลับใจมานับถือศาสนายิวf 6เขานำคนทั้งเจ็ดคนมาอยู่ต่อหน้าบรรดาอัครสาวกซึ่งอธิษฐานภาวนาและปกมือเหนือเขาg

7พระวาจาของพระเจ้าแพร่หลายยิ่งขึ้นh ศิษย์มีจำนวนมากขึ้นในกรุงเยรูซาเล็ม บรรดาสมณะหลายคนยอมรับความเชื่อด้วย

สเทเฟนถูกจับกุม

8สเทเฟนเปี่ยมด้วยพระหรรษทานและพระอานุภาพ ทำปาฏิหาริย์และเครื่องหมายอัศจรรย์ยิ่งใหญ่ในหมู่ประชาชน 9บางคนจากศาลาธรรมที่เรียกกันว่าศาลาธรรมของเสรีชนที่เคยเป็นทาสi คือชาวยิวจากเมืองไซรีน เมืองอเล็กซานเดรีย แคว้นซีลีเซียและอาเซีย เริ่มโต้เถียงกับสเทเฟน 10แต่เขาเหล่านั้นเอาชนะสเทเฟนไม่ได้ เพราะสเทเฟนพูดด้วยปรีชาญาณซึ่งมาจากพระจิตเจ้า 11คนเหล่านั้นจึงเสี้ยมสอนประชาชนบางคนให้ใส่ความว่า “พวกเราได้ยินเขาพูดดูหมิ่นโมเสสและพระเจ้า” 12เขาเหล่านั้นยุยงประชาชน บรรดาผู้อาวุโส และธรรมาจารย์ให้ปั่นป่วนวุ่นวาย แล้วจึงเข้าจู่โจมจับกุมสเทเฟนนำไปยังสภาซันเฮดริน 13ตั้งพยานเท็จปรักปรำว่า “ชายคนนี้พูดดูหมิ่นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และธรรมบัญญัติอยู่เสมอ 14พวกเราได้ยินเขาพูดว่า เยซูชาวนาซาเร็ธผู้นี้จะทำลายสถานที่นี้และจะเปลี่ยนแปลงขนบประเพณีที่โมเสสมอบให้เรา”j 15ทุกคนที่นั่งอยู่ในสภาซันเฮดรินต่างเพ่งมองสเทเฟน เห็นใบหน้าของเขาสว่างรุ่งเรืองเหมือนกับใบหน้าของทูตสวรรค์k

 

6 a คำว่า “บรรดาศิษย์” ใน กจ มีความหมายใหม่ (ระหว่าง 6:1 ถึง 21:16) หมายถึงคริสตชนที่เพิ่งกลับใจและร่วมกลุ่มกับบรรดาศิษย์ที่พระเยซูเจ้าทรงเรียก ตามที่มีเล่าในพระวรสาร

b ชาวยิวที่พูดภาษากรีก หมายถึง ชาวยิวจากนอกประเทศปาเลสไตน์ เขามีศาลาธรรมของตนในกรุงเยรูซาเล็ม และอ่านพระคัมภีร์เป็นภาษากรีก “ชาวยิวที่พูดภาษาฮีบรู” หมายถึง ชาวยิวที่เกิดในปาเลสไตน์ เขาใช้ภาษาอาราเมอิกในการสนทนาประจำวัน แต่อ่านพระคัมภีร์ในศาลาธรรมเป็นภาษาฮีบรู การแยกเป็น 2 กลุ่มเช่นนี้ยังคงมีอยู่ในพระศาสนจักรตั้งแต่ยุคแรกด้วย บรรดาศิษย์ที่พูดภาษากรีกจะเป็นผู้ริเริ่มงานธรรมทูตท่ามกลางคนต่างชาติ

c สำเนาโบราณบางฉบับว่า “เราจะเลือก”

d เลขสิบสองแทนจำนวนตระกูลต่างๆ ของอิสราเอล เลขเจ็ดแทนจำนวน “ชาติ” ของคนต่างศาสนาที่อาศัยอยู่ในคานาอัน (ฉธบ 7:1 อ้างถึงใน กจ 13:19)

e เมื่อกลุ่มคริสตชนมาชุมนุมเพื่อถวายคารวกิจร่วมกัน บรรดาอัครสาวกมีหน้าที่สองประการ คือนำการอธิษฐานภาวนา และรับผิดชอบเรื่องการสอนคำสอนด้วย (อธิบาย “ข่าวดี” อย่างกว้างขวาง)

f ลูกาไม่ได้เรียกคนที่ได้รับเลือกสรรทั้งเจ็ดคนนี้โดยตรงว่า “สังฆานุกร” คำนี้อาจถูกนำมาใช้เรียกทั้งเจ็ดคนในฐานะเป็นชื่อเรียกตำแหน่งหน้าที่ เพราะคำ diakonia (การรับใช้) ในข้อ 1 หมายถึงหน้าที่แจกทาน ส่วนในข้อ 4 หมายถึงหน้าที่ประกาศพระวาจาของบรรดาอัครสาวก (ดู ฟป 1:1 เชิงอรรถ a; ทต 1:5 เชิงอรรถ c) ทั้งเจ็ดคนมีชื่อเป็นภาษากรีก คนสุดท้ายเป็นคนต่างชาติที่กลับใจมาถือศาสนายิว (ดู 2:11 เชิงอรรถ n) สันนิษฐานว่าตั้งแต่บัดนี้คริสตชนที่พูดภาษากรีกคงมีบุคลากรดูแลตน ไม่ขึ้นกับกลุ่มคริสตชนที่พูดภาษาฮีบรูอีกต่อไป

g บางคนคิดว่าทุกคนในที่ประชุมได้ปกมือด้วย (เทียบ 13:1-3) แต่ข้อความในข้อ 3 ชวนให้คิดว่า บรรดาอัครสาวกเป็นผู้ปกมือมอบอำนาจให้

h เป็นสำนวนใหม่ ซึ่งยังจะพบอีกใน 12:24; 19:20

i พวกนี้อาจเป็นลูกหลานของชาวยิว ซึ่งปอมเปย์แม่ทัพโรมันได้นำเป็นเชลยไปที่กรุงโรม ในปี 63 ก่อน ค.ศ. แล้วถูกขายเป็นทาส และต่อมาได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ

j เมื่อพระเยซูเจ้าทรงถูกไต่สวน “พยานเท็จ” ได้ปรักปรำเช่นเดียวกันว่า “เขาจะทำลายพระวิหาร” การพิจารณาคดีของพระเยซูเจ้าและของสเทเฟนมีรายละเอียดคล้ายกันมาก (7:56-57; มธ 26:62-66) ข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดธรรมประเพณีของโมเสสจะถูกนำมาใช้ในกรณีของเปาโลด้วย (15:1, 5; 21:21, 28; 25:8; 28:17)

k การเห็นทูตสวรรค์ก่อให้เกิดความเกรงกลัวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ดู วนฉ 13:6) ใบหน้าของโมเสสสะท้อนพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าเมื่อเขาลงมาจากภูเขาซีนาย ก่อให้เกิดความเกรงกลัวเช่นเดียวกัน (อพย 34:29-35; 2 คร 3:7-18) ในทำนองเดียวกัน เมื่อพระเยซูเจ้าทรงแสดงองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาใน มธ 17:2; ลก 9:29 บรรดาสมาชิกของสภาซันเฮดรินได้เห็นการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกันบนใบหน้าของสเทเฟน เมื่อเขาได้ชมพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า (7:55-56)

เรื่องเล่าเกี่ยวกับสเทเฟนจะดำเนินต่อไปใน 7:55 โดยมีคำปราศรัยแทรกเข้ามาใน 7:1-54 สำหรับเรื่องการแสดงองค์ของพระเจ้า ดู อพย 13:22; 19:16; 33:20; มธ 17:1; 24:26-31 พร้อมเชิงอรรถต่างๆ ด้วย

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก