“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2017
สัปดาห์ที่ยี่สิบสอง เทศกาลธรรมดา
ลก 6:1-5…
1วันสับบาโตวันหนึ่ง พระเยซูเจ้าเสด็จผ่านนาข้าวสาลี บรรดาศิษย์เด็ดรวงข้าวมาขยี้กิน 2ชาวฟาริสีบางคนจึงถามว่า “ทำไมท่านทำสิ่งต้องห้ามในวันสับบาโตเล่า”

3พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านหรือว่ากษัตริย์ดาวิดและผู้ติดตามได้ทำอะไรเมื่อหิวโหย 4พระองค์เสด็จเข้าในพระนิเวศของพระเจ้า ทรงหยิบขนมปังที่ตั้งถวายมาเสวยและประทานแก่ผู้ติดตาม ขนมปังนี้ใครจะกินไม่ได้นอกจากบรรดาสมณะเท่านั้น” 5แล้วพระเยซูเจ้าทรงเสริมว่า “บุตรแห่งมนุษย์เป็นนายเหนือวันสับบาโต”

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• “วันสับบาโตน่าจะเป็นวันแห่งอิสรภาพ”
o สำหรับชาวยิว วันสับบาโตคือสุดยอดของกฎหมายแห่งอิสรภาพ พวกเขารักและรักษาวันสับบาโตเคร่งครัดมาก
o เพราะพวกเขาเคยเป็นทาสในประเทศอียิปต์ยาวนาน ไม่มีอิสระ ไม่มีวัดหยุดพักอย่างมีอิสรภาพ เพราะการกดขี่ และเพราะการที่พวกเขาต้องยอมอยู่ใต้อำนาจของฟาโรห์
o พวกเขารู้ว่า พระเจ้าพระยาห์เวห์ได้พาพวกเขาออกมา และประทานอิสรภาพและให้บัญญัติแก่พวกเขา คือ วันหยุด หรือวัน “สับบาโต” ในทุกสัปดาห์ พวกเขารักษาอย่างมั่นคง เพราะพวกเขามีอิสระภาพไม่ได้เป็นทาสอีกแล้ว ต้องไม่กลับไปเป็นทาสโดยไม่มีวันหยุดอีก ยอมไม่ได้
o พวกเขาจึงรักษาวันสับบาโต ให้เป็นวันหยุด เคร่งครัดมากๆ มากเสียจนเรียกว่าบางทีก็.. “มากไป เยอะไป เกินไป”

• ประสบการณ์พ่อเอง....พ่อเคยไปอิสราเอลบ่อยๆ มีตัวอย่างเล่าให้ฟังครับ เช่น
o ในโรงแรมของพวกเขาที่อิสราเอลในปัจจุบัน ถ้าเจ้าของเป็นชาวยิว... วันเสาร์หรือวันสับบาโต ชาวยิวยังต้องมีลิฟท์เฉพาะสำหรับสับบาโต พวกเขาจะไม่กดลิฟท์เลย
o เพราะ...ตามกฎคือวันสับบาโตนั้น “ห้ามจุดไฟ” ดังนั้น ไฟฟ้าเขาก็ไม่กดปุ่ม ไม่กดให้เกิดการใช้ไฟฟ้าที่เป็นประหนึ่งการจุดไฟ... ดังนั้น...ลิฟท์ก็กดไม่ได้ สั่งลิฟท์ให้เปิดปิด ไปตามชั้นที่ต้องการไม่ได้ (เพราะลิฟท์ต้องไม่เป็นทาส)
o นี่คือเครื่องหมายของวันหยุด ไม่จุดไฟ ไม่ทำงาน ขำๆดีนะครับ แต่จริงๆครับ เขาจะมีลิฟท์หลายตัว สำหรับนักท่องเที่ยวมีลิฟท์ที่กดได้ (ฟาริสีจริงๆ เพราะเจ้าของโรงแรมใหญ่ๆ ดีในอิสราเอลเป็นยิวทั้งสิ้น) ลิฟท์สำหรับนักท่องเที่ยวทำงานปกติ แต่สำหรับชาวยิวเองพวกเขาจะมีลิฟท์บางตัวที่เขียนว่า “ลิฟท์สำหรับสับบาโต” เออ เอาเข้าไป ไอ้เจ้าลิฟท์ตัวนั้นๆ จะไม่รับคำสั่งในการกดของเรา “เพราะห้ามจุดไฟ” แต่ แต่ แต่ ไม่ใช่มันไม่ทำงานนะครับ ฉลาด...(ขำ) เขาตั้งระบบอัตโนมัติครับ ให้ลิฟท์ทำงานเอง เปิด-ปิด ประตูทุกๆชั้น จอดทุกชั้น ค่อยๆขึ้นไป หรือค่อยๆลงมา ยิวก็รอกันไป อยู่ไปเรื่อย จอดชั้นที่ต้องการก็ออกมา รอ รอ รอไป... เพราะกดไม่ได้ เพราะห้ามจุดไฟ... บ่อยครั้งก็เข้าลิฟท์เราคนต่างชาติ แล้วร้องขอเราว่า “ช่วยกดให้หน่อย ชั้นนั้น ชั้นนี้ เพราะเขากดไม่ได้...” ฟาริสีจริงๆ
o เหอะๆๆ เครื่องต้มกาแฟสด ก็พอเย็นวันศุกร์จนถึงเย็นวันเสาร์ เครื่องต้มกาแฟก็ปิดครับ ไม่มีกาแฟสดแล้ว...จบ ห้ามเครื่องทำงาน ห้ามจุดไฟ นั่นแน่ะ... แต่มีกาแฟแบบชงด้วยน้ำร้อนครับ.. (ราคาเท่าเดิม...ฉลาดเวอร์แกมเอาเปรียบลูกค้าแบบเนียน เครื่องกาแฟทำงานไม่ได้ แต่หม้อต้มน้ำขนาดใหญ่ตั้งไว้ให้ทำงานต่อเนื่อง เปล่านะไม่ได้ทำให้วันสับบาโต แต่อาจเสียบปลั๊กก่อนเริ่มสับบาโตสักสิบนาที.....) แล้วก็ยังขายต่อไป คนขายในโรงแรมก็ใช้ชาวปาเลสไตน์ขายให้ (ไม่ใช่ยิว แต่ขายต่อได้)
o ก็เคร่งน่ะครับ อาหารก็จัดให้แบบเย็นๆ คือไม่มีของร้อน (ทำไว้ก่อนแล้ว) เสียบปลั๊กออโตเมติกอุ่นไว้ ไม่ได้จุดไฟ...นั่น เคร่งกันแบบนี้ครับ... เอาเถอะครับนั่นคือยิว

• สมัยพระเยซูเจ้าการที่บรรดาศิษย์เด็ดรวงข้าวนั้นผิดกฎวันสับบาโตตรงไหน
o พวกเขาเคร่งแบบนี้ ถือว่าการเด็ดรวงข้าวเป็นการทำงานเก็บเกี่ยว เพราะการเก็บเกี่ยวคือการทำงานนะครับ...ฮาดีครับ.. ความจริงไม่ได้ห้ามกินนะ กินได้ แต่เก็บมาบดขยี้ในมือ ถือว่าเป็นการทำงาน นี่คือปัญหาที่พ่ออยากบอกว่า “เล็กน้อยมากๆ” แต่ฟาริสีคือฟาริสีก็แบบนี้เสมอเคร่งเวอร์ทำนองนั้น

• ดูสิ เคร่งแบบฟาริสี แต่อาจจะลืมไปว่า ปากบ่นว่าตำหนิติเตียนว่าผิดกฎน่าจะหยุดพักปากบ้างในวันสับบาโตเนอะ.... ผ่อนปรนบ้าง... ทำไมต้องเป็นทาสของกฎขนาดนั้น ถ้ามีอะไรที่จำเป็นก็สามารถกระทำสิ่งที่จำเป็นได้ก็น่าจะดีกว่า พ่อคิดว่าระหว่างสิ่งที่สำคัญกับสิ่งที่จำเป็น.. น่าจะง่ายที่จะเลือกและตัดสินใจได้นะครับ

• ประสบการณ์เลยดีกว่าครับ วันเสาร์วันหนึ่ง (บ่ายสามโมงเท่านั้น) มีพี่น้องครอบครัวหนึ่งเขาจะเดินทางไปญี่ปุ่นด้วยกันคืนนั้นเอง และเขาจะขาดมิสซาวันอาทิตย์ เขามาหาพ่อและขอพ่อว่าทำมิสซาวันอาทิตย์เลยได้ไหม ใช้บทมิสซาวันอาทิตย์ น่ารักมากครับ “พ่อพวกลูกจะเดินทางไปเที่ยวกันในพี่น้อง กลัวจะขาดมิสซาวันอาทิตย์ ขอให้ทำบทมิสซาวันอาทิตย์เถอะ...”

• พ่อตอบ พ่อยิ้ม และแจ้งว่า “ลูกไปเลยไปเที่ยวกันกับครอบคัว ร่วมมิสซาวันเสาร์แทนไปได้ ไม่ต้องกังวลว่าจะขาดมิสซาวันอาทิตย์นะครับ...”
o มิสซานี้ คือ มิสซาสำหรับพวกเขาใช้ได้ และคนส่วนใหญ่คือคนที่มาฟังพ่อบรรยายและจบด้วยมิสซา และแน่นอนพรุ่งนี้วันอาทิตย์จะมาวัดอีกแน่นๆ มีเพียงครอบคัรวเดียวสามคนจะไปญี่ปุ่นค่ำนั้น... และจะไม่ได้มาพรุ่งนี้ จึงขอพ่อเช่นนั้น...
o พ่อบอกเขาว่า... ไม่เป็นไร... แม้บทอ่านบทภาวนาจะไม่ใช่ของวันอาทิตย์...แต่สบายใจได้ เราต้องเป็นผู้ใหญ่ในความเชื่อ โตแล้วครับ.. สบายมาก ร่วมมิสซานี้แหละครับ และเดินทางไปเที่ยวให้สนุก พระเจ้าต้องดีใจกับพวกเขาที่มีโอกาสไปเที่ยวด้วยกันแม้จะตกในวันอาทิตย์แบบนี้ และไม่ต้องกังวลเลยว่าขาดมิสซาวันอาทิตย์...
o นี่แหละคือสิ่งที่พ่ออยากจะเน้นว่า เราไม่ได้เป็นทาสของกฎ แต่กฎเป็นเครื่องมือช่วยเราให้รักพระเจ้า...
o พ่อเคยแนะนำคนที่มาแก้บาปว่าขาดวัดวันอาทิตย์ (เพราะความจำเป็น) สำหรับพ่อไม่ซีเรียสเลยครับ ยิ้ม และบอกว่า “ลูกไม่ต้องกังวล ไปร่วมมิสซาวันอื่นแทนสักวันหนึ่งก็ได้ครับ...” พี่น้องว่าอันไหนจะดีกว่ากัน ระหว่าง
1. คนที่ขาดมิสซาวันอาทิตย์ง่ายๆ และไปแก้บาปและบอกว่า “ขาดวัดวันอาทิตย์” และรับการอภัยบาป และก็เดินจากไปสบายใจ ไว้ขาดอีก ขาดได้ และก็ไปบอกกับพ่อว่า “ทำบาป ขาดมิสซาวันอาทิตย์...” ยกบาป สบายใจ...
2. หรือ ถ้าคนหนึ่งขาดวัดวันอาทิตย์เช่นกันเพราะความเป็นจริงๆของหน้าที่การงาน และวันจันทร์หรือวันต่อไฟเขารู้สึกขาดการร่วมบูชาขอบพระคุณวันอาทิตย์ไป และเขาเลือกไปร่วมมิสซาวันอื่นๆ แทนวันหนึ่งในรอบสัปดาห์ที่ขาดไป...
o มีบางคนทำงานหนักมากๆ เพื่อเลี้ยงครอบครัวในกระแสสังคมที่ยากแสนยาก... เขาอาจต้องถูกบังคับให้ต้องทำงานวันอาทิตย์ตลอดทั้งปี มิฉะนั้นจะอยู่ไม่ได้... เขาจะทำอย่างไร ไปแก้บาปเมื่อมีโอกาสขอโทษพระแล้วจบ หรือจะหาเวลาไปวัดในวันที่ไปได้เสมออย่างน่ารักมากๆ เพราะรักพระและอยากรับพระองค์ ใกล้ชิดพระองค์...
o ถ้าวันอาทิตย์วันพระเจ้าสำหรับเรา... (สับบาโตแบบชาวยิว) ถ้าเราไม่ว่างจริงๆ เพราะจำเป็นเพื่อชีวิตและครอบครัว ย้ำว่าจำเป็นจริงๆ นะครับ... ดังนั้นไม่เป็นไร...ครับ ไปร่วมมิสซาวันอื่นๆแทนก็ได้ครับ... แบบนี้น่ารักที่สุดครับ เป็นผู้ใหญ่ในความเชื่อมากๆ และถ้าอาทิตย์ไหนว่างก็ไปร่วมมิสซาปกติเลยครับ... น่ารักออกครับ.. ลูกพระที่แสนดีเลยแหละครับ
o มีน่ารักกว่านี้อีก น่ารักน่าตีสักป้าบ... ไปแก้บาปขาดมิสซาวันอาทิตย์ (สับบาโต) และก็บอกพ่อว่า “อาทิตย์หน้าก็จะขาดอีกเพราะจำเป็นจริงๆ ของการงานหน้าที่ ขอคุณพ่อยกบาปล่วงหน้าให้ด้วย...” ขำดีครับ (ทำไม่ได้) แต่ดูน่ารักทางความเชื่อ น่าจะโดนสักปาบเข้าให้

• สำหรับวันนี้ พ่ออยากจะเน้นสุดท้ายว่า สับบาโตใหม่สำหรับเรา คือ สับบาโตที่เป็น “สับบาโตแห่งความรัก” คือ “กฎแห่งความรักเป็นใหญ่สุด” ครับ เราถูกสับบาโตบังคับ ถูกกฎข้อหนึ่งครับที่ต้องบังคับเราจริงๆ คือ “จงรัก” “รักพระเจ้าสุดดวงใจ และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” และ “วันพระเจ้าอย่าลืมฉลองเป็นวันศักดิ์สิทธิ์” “จงไปวัดวันอาทิตย์และวันฉลองบังคับ” (เออๆๆๆ บังคับฉลอง มีความสุขหรือ???)

• พี่น้องที่รัก อ่านดีๆ นี่คือสับบาโตสำหรับเราคริสตชน วันอาทิตย์แท้จริงสำหรับเราคริสตชน วันพระเจ้า คือ “วันแห่งความรักที่สุด” คือ “วันพระเจ้า” นี่คือบัญญัติของเราครับ...
1. ความรักไม่มีวันละเลย (การไปวัดของเราต้องตั้งใจไปเพราะรัก ถวายพระเจ้า รักพระเจ้ารักพี่น้อง ไม่ละเลยง่ายๆ)
2. ความรักไม่มีการกดขี่ (สำหรับบ้านคริสตชนที่มีแม่บ้านหรือที่ภาษาหยาบๆหน่อยเราเรียกว่า “คนใช้” พวกเขาต้องให้เขามีวันหยุดนะครับ ถ้าวันอาทิตย์เราตื่นสายๆ เตรียมไปวัดสง่างาม แต่แม่บ้านต้องตื่นเช้ามืด มาทำอาหาร ดูแลบ้าน และรอส่งเราไปวัด... แต่เขาต้องทำงานหนักเช่นเดิม บ้านเราไม่มีสับบาโตที่แท้จริงแล้วะครับ)
3. ความรักไม่ตัดสินเบาความ (การถือสับบาโตที่ดีคือการไม่ตัดสินเบาความแบบฟาริสี หยุดปากบ้างในวันสับบาโต ใช้เสียงสรรเสริญพระเจ้านะครับ หยุดวีน วี๊ด วี่ สักวัน ก็ดีนะครับ เสียงจะได้ถูกใช้อย่างเหมาะสม... น่ารัก คนช่างวีน วี๊ด วี่ ปรี๊ดแตก หยุดปากวันและเปิดใจวันพระเจ้าก็ยอดเยี่ยม)
4. ความรักทำให้เราเข้าใจและเป็นผู้มีวุฒิภาวะทางความเชื่อครับ
5. ความรักทำให้ไม่เป็นทาสของกฎความรักและมีอิสระที่จะรักจากใจจริงครับ

• ขอพระเจ้าอวยพรครับ บทเทศน์นี้เป็นของวันเสาร์ สับบาโตของยิว ตกเย็นก็ฉลองวันพระเจ้าวันอาทิตย์วันพระเจ้าสับบาโตของเราคริสตชน.... ขอพระเจ้าอวยพรให้เราถือวันพระเจ้าเป็นวันแสนสุขศักดิ์สิทธิ์และแสนดีของเราคริสตชนทุกคนครับ

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก