“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ใครเป็นมารดาและพี่น้องของเรา”

15. พระเยซูเจ้ากับพระประยูรญาติของพระองค์และคู่อริ (2)
2) ข้อกล่าวหาของบรรดาธรรมาจารย์
                   นักบุญมาระโกเคยเล่าแล้วว่า ธรรมาจารย์บางคนเป็นพยานเมื่อพระเยซูเจ้าทรงอภัยบาปคนอัมพาต ก่อนทรงทำอัศจรรย์รักษาเขา  ในครั้งนั้น ธรรมาจารย์คิดในใจว่า พระเยซูเจ้าทรงดูหมิ่นพระเจ้าเพราะทรงอ้างอำนาจอภัยบาปซึ่งเป็นอำนาจเฉพาะของพระเจ้า (มก 2:6-7) ทำนองเดียวกันธรรมาจารย์บางคนตำหนิพระเยซูเจ้าผู้ทรงรับพระกระยาหารพร้อมกับคนบาป (มก 2:16) ธรรมาจารย์เหล่านั้นเป็นคนท้องถิ่นในแคว้นกาลิลี แต่ในที่นี้นักบุญมาระโกเขียนไว้ว่าเป็น  บรรดาธรรมาจารย์ที่มาจากกรุงเยรูซาเล็มคงจะเป็นผู้แทนของสภาซันเฮดริน ข้อกล่าวหาของเขาจึงไม่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว แต่เป็นมติของสภาสูงสุดชาวยิวที่ต้องการคุกคามชีวิตของพระเยซูเจ้ากิจการของพระองค์จึงไม่ดำเนินไปในบรรยากาศสงบสุข แต่ถูกต่อต้านอย่างรุนแรง บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าจำเป็นต้องมีความกล้าหาญเพื่อจะติดตามพระองค์อย่างซื่อสัตย์
-“เขามีปีศาจเบเอลเซบูลสิงอยู่” เขาในที่นี้หมายถึงพระเยซูเจ้าคำว่า “เบเอลเซบูล” เป็นชื่อเทพเจ้าของชาวคานาอันผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ยังโต้เถียงกันถึงความหมายของชื่อนี้ บางคนตีความว่า“เจ้านายของบ้าน” บางคนตีความว่า“เจ้านายของกองปฏิกูล”ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวยิวตั้งขึ้นเพื่อเยาะเย้ยเทพเจ้าของชาวคานาอัน เพราะสำหรับชาวยิว เครื่องบูชาถวายแด่เทพเจ้าองค์นี้ก็เป็นสิ่งปฏิกูลนั่นเองอย่างไรก็ตาม นักบุญมาระโกใช้คำ “เบเอลเซบูล” ในข้อความนี้เท่านั้น หมายถึงเจ้าแห่งปีศาจคือซาตาน เพราะใช้อีกประโยคหนึ่งเพื่อกล่าวหาพระเยซูเจ้าในความหมายเดียวกันว่าทรง“ขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของเจ้าแห่งปีศาจนั่นเอง”

             นักบุญมาระโกได้เล่าแล้วว่า พระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจในหลายกรณี (มก 1:34,39; 3:11-12) อัศจรรย์แรกที่พระองค์ทรงกระทำคือการรักษาคนถูกปีศาจสิง ประชาชนประหลาดใจจึงถามกันว่า “นี่มันเรื่องอะไรเป็นคำสั่งสอนแบบใหม่ที่มีอำนาจเขาสั่งแม้กระทั่งปีศาจและมันก็เชื่อฟัง”(มก 1:27) บรรดาธรรมาจารย์จะปฏิเสธว่าพระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจก็ไม่ได้ แต่ตีความหมายวลี "มันก็เชื่อฟัง” คนละแบบว่าผู้ออกคำสั่งไม่ใช่พระเยซูเจ้า แต่เป็นซาตานเจ้าแห่งปีศาจ ปีศาจอื่น ๆ จึงเชื่อฟังมัน แล้วบรรดาธรรมาจารย์จึงพูดว่า พระเยซูเจ้าทรงถูกปีศาจสิง พระองค์ทรงมีพลังพิเศษก็จริงแต่เป็นพลังที่มาจากซาตาน การขับไล่ปีศาจจึงเป็นเรื่องระหว่างผู้มีอำนาจสั่งกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่ต้องปฏิบัติตามด้วยความนอบน้อมเชื่อฟัง บรรดาธรรมาจารย์ต้องการพิสูจน์ว่า การขับไล่ปีศาจไม่เป็นเครื่องหมายแสดงว่าพระอาณาจักรของพระเจ้ามาถึงแล้ว ดังที่พระเยซูเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน แต่เป็นกิจการของปีศาจ จึงสมควรที่ธรรมาจารย์ต้องประณามพระองค์ว่าเป็นคนไม่ดีเพื่อจะเป็นเหตุคุกคามชีวิตพระองค์

-พระองค์จึงทรงเรียกเขาเหล่านั้นเข้ามาพบ ปฏิกิริยาของพระคริสตเจ้าต่อข้อกล่าวหานี้ยังแสดงออกด้วยพระทัยราบคาบสงบแม้ถูกใส่ร้ายอย่างรุนแรง พระองค์ทรงอ้างเหตุผลพิสูจน์ว่าความคิดของบรรดาธรรมาจารย์เป็นไปไม่ได้

- ตรัสเป็นอุปมา พระเยซูเจ้าทรงแต่งเรื่องเปรียบเทียบที่ทุกคนเข้าใจได้   เพื่อต่อต้านความคิดของบรรดาธรรมาจารย์ผู้สันนิษฐานว่าซาตานเป็นหัวหน้าของปีศาจ และการขับไล่ปีศาจออกจากผู้ถูกสิงเป็นเรื่องระหว่างการสั่งของผู้ใหญ่กับการเชื่อฟังของผู้น้อย ปีศาจจึงออกจากผู้ถูกสิงเพราะได้รับคำสั่งจากหัวหน้าคือซาตาน ซึ่งสิงอยู่ในพระเยซูเจ้า

- “ซาตานจะขับซาตานได้อย่างไรถ้าอาณาจักรหนึ่งแตกแยก อาณาจักรนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้ ถ้าครอบครัวหนึ่งแตกแยก ครอบครัวนั้นก็ตั้งมั่นอยู่ต่อไปไม่ได้ ถ้าซาตานลุกขึ้นต่อสู้กันเองและแตกแยก มันก็อยู่ไม่ได้ ต้องถึงจุดจบ"ชาวยิวร่วมสมัยของพระเยซูเจ้าเชื่อว่า ซาตานมีอยู่จริงและมีอำนาจปกครองโดยเฉพาะคนที่ถูกปีศาจสิง พระเยซูเจ้าไม่ทรงปฏิเสธความเชื่อนี้ ตรงกันข้าม ทรงอธิบายว่า พระองค์ทรงต่อสู้กับซาตาน เพื่อทำลายอำนาจของมัน ทรงชี้แจงว่า สมมุติคำอธิบายของบรรดาธรรมาจารย์เป็นความจริง ผลตามมาที่จำเป็นคือ ถ้าซาตานเป็นผู้สั่งให้ปีศาจออกจากผู้ถูกสิงก็เป็นการทำลายอำนาจตนเอง ใครจะต่อต้านผลประโยชน์ของตน คำสันนิษฐานนี้ขัดแย้งในตัว จึงเป็นไปไม่ได้ที่ซาตานสั่งให้ปีศาจออกจากผู้ถูกสิง

- "ไม่มีใครเข้าไปในบ้านของคนเข้มแข็ง และปล้นเอาทรัพย์ของเขาได้ ถ้าไม่มัดคนเข้มแข็งนั้นไว้ก่อน เมื่อนั้นแหละจึงจะเข้าปล้นบ้านได้" พระเยซูเจ้าทรงใช้อุปมาเรื่องการเปลี่ยนผู้มีอำนาจในบ้าน เพื่อเน้นคำอธิบายของพระองค์และพิสูจน์ว่าความคิดของธรรมาจารย์ขัดแย้งในตัว ถ้าผู้เข้มแข็งคนหนึ่งเป็นเจ้านายของบ้าน การปกครองของเขาอาจถูกเปลี่ยนแปลงได้เพียงในกรณีที่อีกคนหนึ่งมีกำลังมากกว่ามาจับกุมเขาและมัดไว้ แล้วคนที่สองนี้จะเป็นเจ้าบ้านแทน การขับไล่ปีศาจจากผู้ถูกสิงเรียกร้องพลังบังคับให้มันออกจากคนนั้น เพราะปีศาจสิงอยู่ในคนเหมือนอยู่ในบ้านและครอบครองบ้านนั้น ดังนั้น การขับไล่ปีศาจเรียกร้องผู้มีอำนาจมากกว่ามาปลดปล่อยผู้ถูกปีศาจสิงให้พ้นจากการเป็นทาสของมัน ถ้าพระเยซูเจ้าทรงขับไล่ปีศาจแสดงว่าพระองค์ทรงมีอำนาจเหนือมัน ดังที่จะเห็นชัดในข้อความตอนต่อไป โดยแท้จริงแล้ว ยอห์นผู้ทำพิธีล้างเคยยืนยันถึงพระเยซูเจ้าในตอนแรกของพระวรสารว่า “มีอีกผู้หนึ่งกำลังมาภายหลังข้าพเจ้าทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้า…ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลายแต่เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้า” (มก 1:7-8)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก