"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ใครเป็นมารดาและพี่น้องของเรา”

15. พระเยซูเจ้ากับพระประยูรญาติของพระองค์และคู่อริ (มก 3:20-35)
1) พระประยูรญาติของพระเยซูเจ้าเป็นห่วงพระองค์
3   20พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง ประชาชนมาชุมนุมกันอีกจนพระองค์ไม่อาจเสวยและบรรดาศิษย์ก็ไม่อาจกินอาหารได้ 21เมื่อพระประยูรญาติของพระองค์ได้ยินเช่นนี้ ก็ออกไปควบคุมพระองค์ไว้ เพราะคิดว่าทรงเสียพระสติ

2) ข้อกล่าวหาของบรรดาธรรมาจารย์
22บรรดาธรรมาจารย์ที่มาจากกรุงเยรูซาเล็มพูดว่า “เขามีปีศาจเบเอลเซบูลสิงอยู่” และ “ขับไล่ปีศาจด้วยอำนาจของเจ้าแห่งปีศาจนั่นเอง”  23พระองค์จึงทรงเรียกเขาเหล่านั้นเข้ามาพบ ตรัสเป็นอุปมาว่า “ซาตานจะขับซาตานได้อย่างไร  24ถ้าอาณาจักรหนึ่งแตกแยก อาณาจักรนั้นก็ตั้งอยู่ไม่ได้  25ถ้าครอบครัวหนึ่งแตกแยก ครอบครัวนั้นก็ตั้งมั่นอยู่ต่อไปไม่ได้  26ถ้าซาตานลุกขึ้นต่อสู้กันเองและแตกแยก มันก็อยู่ไม่ได้ ต้องถึงจุดจบ  27ไม่มีใครเข้าไปในบ้านของคนเข้มแข็งและปล้นเอาทรัพย์ของเขาได้ ถ้าไม่มัดคนเข้มแข็งนั้นไว้ก่อน เมื่อนั้นแหละจึงจะเข้าปล้นบ้านได้
28“เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า มนุษย์จะรับการอภัยบาปทุกประการรวมทั้งคำดูหมิ่นพระเจ้าที่ได้พูดออกไป 29แต่ใครที่พูดดูหมิ่นพระจิตเจ้าจะไม่ได้รับการอภัยเลย เขามีความผิดตลอดนิรันดร” 30พระเยซูเจ้าตรัสเช่นนี้เพราะมีผู้พูดว่า “คนนี้มีปีศาจสิงอยู่”

3) พระประยูรญาติแท้ของพระเยซูเจ้า
31พระมารดาและพระประยูรญาติของพระองค์มาถึง ยืนรออยู่ข้างนอก ส่งคนเข้าไปทูลพระองค์ 32ประชาชนกำลังนั่งล้อมพระองค์อยู่ เขาจึงทูลพระองค์ว่า “มารดาและพี่น้องของท่านกำลังตามหาท่าน คอยอยู่ข้างนอก” 33พระองค์ตรัสถามว่า “ใครเป็นมารดาและพี่น้องของเรา” 34แล้วพระองค์ทอดพระเนตรผู้ที่นั่งเป็นวงล้อมอยู่ ตรัสว่า “นี่คือมารดาและพี่น้องของเรา 35ผู้ใดทำตามพระประสงค์ของพระเจ้า ผู้นั้นเป็นพี่น้องชายหญิงและเป็นมารดาของเรา”
a)    อธิบายความหมาย
ถ้าเราพิจารณาโครงสร้างการเรขียนพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก เพื่อค้นหาจุดประสงค์ของผู้เขียน เราจะเห็นว่า เมื่อนักบุญมาระโกได้เล่าการเริ่มต้นศาสนบริการของพระเยซูเจ้าที่แคว้นกาลิลี (เทียบ 1:1-45) รวมทั้งการโต้เถียงกัน 5 กรณีระหว่างพระองค์กับธรรมาจารย์ ชาวฟาริสี และผู้นิยมกษัตริย์เฮโรดแล้ว (เทียบ 2:1-3:6) เขารวบรวมเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่ต่อเนื่องกันในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเข้าด้วยกัน เพื่อผู้อ่านจะได้ค้นพบภาพลักษณ์แท้ของพระเยซูเจ้าที่สะท้อนในปฏิกิริยาของประชาชน ในมติมหาชน ในการสนทนาพูดคุยและในข่าวลือของผู้นึกว่าตนเป็นฝ่ายถูกต้องเสมอ

นักบุญมาระโกได้อธิบายว่า ประชาชนจำนวนมากนิยมชมชอบพระคริสตเจ้า และติดตามพระองค์ (เทียบ 3:7-12) และพระเยซูเจ้าทรงแต่งตั้งอัครสาวกสิบสองคน (เทียบ 3:13-19)  บัดนี้ เขาเล่าปฏิกิริยาของบุคคลอีก 2 กลุ่มคือ บรรดาญาติพี่น้องและบรรดาธรรมจารย์ โดยใช้วิธีการเขียนที่เรียกว่า “การแต่งประโยคแบบแซนด์วิช” (sandwich construction) คือนำเรื่องข้อกล่าวหาของบรรดาธรรมาจารย์ (เทียบ 3:22-30) มาใสในระหว่างสองตอนของเรื่องพระประยูรญาติของพระเยซูเจ้า (เทียบ 3:20-21 และ 31-35) นี่เป็นครั้งแรกที่เราพบวิธีเขียนเช่นนี้ ซึ่งนักบุญมาระโกจะใช้บ่อย ๆ จนเป็นลักษณะการเขียนเฉพาะของเขา

1.    พระประยูรญาติของพระเยซูเจ้าเป็นห่วงพระองค์
-พระเยซูเจ้าเสด็จเข้าไปในบ้านหลังหนึ่ง
บ้านหลังนี้น่าจะเป็นบ้านของนักบุญเปโตรที่เมืองคาเปอรนาอุมดังที่เราได้พบแล้ว (เทียบ 2:1) บ้านในความหมายของนักบุญมาระโกไม่เป็นเพียงสถานที่แห่งหนึ่งที่มีอยู่จริง แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของบุคคลที่อยู่ร่วมกัน บ้านอาจหมายถึงญาติพี่น้องผู้ร่วมรับประทานอาหาร ร่วมชีวิต แบ่งปันความเหน็ดเหนื่อย มีความรักใคร่ปองดองกัน เป็นสถานที่ซึ่งมีการให้ซึ่งกันและกัน(แก่กันและกัน) บ้านในที่นี้จึงเป็นเครื่องหมายของพระศาสนจักรอีกด้วย 

-ประชาชนมาชุมนุมกันอีกจนพระองค์ไม่อาจเสวยและบรรดาศิษย์ก็ไม่อาจกินอาหารได้

รายละเอียดนี้แสดงชัดเจนว่า ประชาชนจำนวนมากมาพบพระองค์เพื่อฟังพระวาจา และรับการรักษาให้พ้นจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และพระเยซูเจ้าทรงทุ่มเทพระองค์ ตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยไม่คำนึงถึงพระองค์เอง ไม่มีเวลาส่วนตัว ไม่มีเวลาแม้จะเสวยพระกระยาหาร

-เมื่อพระประยูรญาติของพระองค์ได้ยินเช่นนี้
คือได้ยินว่าพระเยซูเจ้าทรงทุ่มเทพระองค์เพื่อปฏิบัติภารกิจโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยก็เป็นห่วงพระองค์ การที่พระประยูรญาติไม่เข้าใจพระเยซูเจ้ามีหลักฐานโดยตรงในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์น (เทียบ ยน 7:5) และเราพบหลักฐานทางอ้อมในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโกอีกด้วย (เทียบ มก 6:4)

-ก็ออกไปควบคุมพระองค์ไว้ นักบุญมาระโกใช้คำว่า “ควบคุม” อาจมีความหมายในแง่ที่ว่า เขาพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อกีดขวางไม่ให้พระเยซูเจ้าทรงปฏิบัติภารกิจต่อไป จะได้นำพระองค์กลับไปบ้าน

-เพราะคิดว่าทรงเสียพระสติ
คงจะไม่หมายถึงว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นคนบ้า แต่หมายความว่าพฤติกรรมของพระองค์แปลกประหลาด ผิดสามัญสำนึก เพราะอาจทรงลืมพระองค์ในการปฏิบัติภารกิจจนถึงขนาดนี้  และเพราะพระองค์ไม่ทรงระมัดระวังในการเทศน์สอน ทำให้ผู้มีอำนาจทางศาสนาหลายคนต้องเคืองใจ พระประยูรญาติคงจะเกรงว่า ชื่อเสียงของครอบครัวจะได้รับความเสียหาย เขาจึงมารับพระเยซูเจ้าเพื่อพาพระองค์กลับบ้าน