"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด”

5. พระเยซูเจ้าทรงเริ่มประกาศข่าวดี (มก 1:9-13)

14หลังจากที่ยอห์นถูกจองจำ พระเยซูเจ้าเสด็จไปยังแคว้นกาลิลี ทรงประกาศเทศนาข่าวดีของพระเจ้า ตรัสว่า 15“เวลาที่กำหนดไว้มาถึงแล้ว พระอาณาจักรของพระเจ้าอยู่ใกล้แล้ว จงกลับใจ และเชื่อข่าวดีเถิด”
a)    อธิบายความหมาย
ข้อความก่อนหน้านี้เล่าว่า พระเยซูเจ้าทรงพระดำเนินจากแคว้นกาลิลีไปยังแม่น้ำจอร์แดนในแคว้นยูเดีย และประทับอยู่กับนักบุญยอห์นผู้ทำพิธีล้าง ต่อจากนั้น พระจิตเจ้าทรงดลใจพระองค์ให้ละจากนักบุญยอห์นและเสด็จไปถิ่นทุรกันดารในบริเวณนั้น


ข้อความตอนนี้กล่าวถึงนักบุญยอห์นกับพระเยซูเจ้าเท่านั้น แต่มีสถานภาพต่างกัน และบันทึกว่า พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปยังแคว้นกาลิลี ส่วนนักบุญยอห์นต้องเลิกกิจการเทศนาสั่งสอนเพราะถูกจองจำ ข่าวสั้น ๆ นี้ไม่บอกว่าใครเป็นผู้สั่งให้จับกุม เพราะเหตุผลใดและถูกจับกุมที่ไหน ประเด็นสำคัญคือ เมื่อกิจการของนักบุญยอห์นจบลงในแคว้นยูเดียแล้ว ภารกิจของพระเยซูเจ้าก็เริ่มขึ้นในแคว้นกาลิลี ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ทรงออกเดินทางเพื่อไปพบนักบุญยอห์น

เนื้อหาคำเทศนาสั่งสอนของพระเยซูเจ้าสรุปได้โดยวลีที่ว่า “ข่าวดีของพระเจ้า” ข่าวดีนี้มีทั้งสารและคำตักเตือน สารแจ้งให้ทราบว่าพระเจ้าทรงกระทำสิ่งใดแล้ว ส่วนคำตักเตือนสั่งสิ่งที่ผู้ฟังต้องปฏิบัติตาม สารมาก่อนคำตักเตือนเพราะพระราชกิจของพระเจ้ามาก่อนการกระทำของมนุษย์ และเป็นจุดอ้างอิงเพื่อจะรู้ว่าพระเจ้าทรงประสงค์สิ่งใดจากมนุษย์
นักบุญมาระโกเขียนข้อความนี้ในตอนแรกของพระวรสาร เพื่อสรุปพระราชกิจของพระเยซูเจ้า เราจะใช้ข้อสรุปนี้เป็นดังกุญแจเพื่ออ่านและเข้าใจกิจการของพระองค์ และจะพิจารณากิจการของพระเยซูเจ้าในแง่การบรรยายความหมายของ “ข่าวดีของพระเจ้า”

ข้อความนี้มีหัวข้อสำคัญ 4 ประเด็นคือ
ก) การสิ้นสุดกิจการของนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง
ข) ข่าวดีของพระเจ้า
ค) สารของพระเยซูเจ้า
ง) คำตักเตือนของพระเยซูเจ้า

ก) การสิ้นสุดกิจการของนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง
กิจการของนักบุญยอห์นและพระเยซูเจ้าแตกต่างกันในหลายแง่หลายมุม เมื่อนักบุญยอห์นถูกบังคับให้เลิกล้มกิจการของตน พระเยซูเจ้าก็ทรงเริ่มต้นภารกิจของพระองค์ นักบุญยอห์นเทศน์สอนในถิ่นทุรกันดารที่ริมฝั่งแม่น้ำจอร์แดนแคว้นยูเดีย เขาไม่ได้ไปหาผู้ฟัง ผู้คนในแคว้นยูเดียและกรุงเยรูซาเล็มมาพบเขา ส่วนแวดวงการเทศนาสั่งสอนของพระเยซูเจ้าคือ แคว้นกาลิลีซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของปาเลสไตน์  พระองค์ทรงพระดำเนินผ่านไปทั่วแคว้นนี้ และทรงเทศน์สอนในศาลาธรรมต่าง ๆ ลักษณะพิเศษของกิจการนักบุญยอห์นคือการเทศน์สอนและการทำพิธีล้าง  ส่วนการทำอัศจรรย์ของพระเยซูเจ้ารับรองการประกาศข่าวดีและทำให้ข่าวดีนี้สมบูรณ์

น่าสังเกตวลี “หลังจากยอห์นถูกจองจำ” ในต้นฉบับภาษากรีกแปลตามตัวอักษรว่า “ถูกมอบ” ซึ่งเป็นคำเฉพาะที่นักบุญมาระโกใช้เพื่อบรรยายความทุกข์ทรมานของนักบุญยอห์น (1:14) ความทุกข์ทรมานของพระเยซูเจ้า 13 ครั้ง และความทุกข์ทรมานของบรรดาศิษย์ (13:9, 11, 12) เราเห็นความหมายนี้อย่างชัดเจนในพระวาจาที่พระองค์ทรงประกาศล่วงหน้าถึงชะตากรรมของพระองค์ว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบในเงื้อมมือของคนทั้งหลาย เขาจะประหารชีวิตพระองค์ แต่เมื่อถูกประหารแล้ว ในวันที่สามพระองค์จะกลับคืนชีพ” (9:31)

พระเยซูเจ้าจึงทรงถูกมอบในเงื้อมมือของมนุษย์ และมือของเขาจะประหารชีวิตพระองค์ ไม่มีการบันทึกว่าใครเป็นผู้มอบพระเยซูเจ้าให้อยู่ในเงื้อมมือของมนุษย์ แต่การใช้กริยาในรูปแบบกรรมวาจกเช่นนี้ เสนอความคิดที่ว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้มอบพระเยซูเจ้าแก่มนุษย์ (เทียบ 8:31 14:21; 15:34) แต่พระเจ้าทรงชนะการกระทำของมนุษย์โดยทำให้พระบุตรของพระองค์ทรงกลับคืนพระชนมชีพ ดังนั้น การถูกมอบในเงื้อมมือของมนุษย์สำหรับนักบุญยอห์นแสดงเป็นรูปธรรมในความตายอย่างทันทีทันใดและไร้เหตุผล เพราะเป็นการทำตามอารมณ์ของหญิงสาว คนหนึ่ง ความเกลียดชังของมารดาและความอ่อนแอของกษัตริย์ (เทียบ 6:17-29)

นักบุญมาระโกอ้างถึงความตายที่โหดเหี้ยมของนักบุญยอห์นเมื่อเล่าถึงการเริ่มต้นกิจการของพระเยซูเจ้าเพื่อเสนอแนะว่า การสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเจ้าเป็นไปตามแผนการแห่งความรอดพ้นที่พระบิดาทรงพระดำริไว้ล่วงหน้า