"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ความเชื่อของท่านช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว”

24. พระเยซูเจ้าทรงรักษาหญิงตกเลือด ทรงปลุกบุตรหญิงของไยรัสให้คืนชีพ (มก 5:21-43 )
          5 21เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จลงเรือข้ามฟากอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนชุมนุมกันเนืองแน่นรอบพระองค์ขณะที่ยังทรงอยู่ริมทะเลสาบ 22หัวหน้าศาลาธรรมคนหนึ่งชื่อไยรัสเดินมา เมื่อเห็นพระองค์ เขากราบลงที่พระบาท 23พร่ำวิงวอนว่า “บุตรหญิงเล็กๆ ของข้าพเจ้าจวนจะสิ้นใจอยู่แล้ว เชิญพระองค์เสด็จไปปกพระหัตถ์เหนือเขาเถิด เขาจะได้หายจากโรค กลับมีชีวิต” 24พระเยซูเจ้าจึงเสด็จไปกับเขา ประชาชนกลุ่มใหญ่ติดตามไปและเบียดเสียดพระองค์


                25ขณะนั้น หญิงคนหนึ่งตกเลือดมาสิบสองปีแล้ว 26ได้รับความทรมานมากจากการรักษาของแพทย์หลายคน เสียทรัพย์จนหมดสิ้น โรคก็มิได้บรรเทา ตรงกันข้ามกลับทรุดหนัก 27นางได้ยินเขาพูดกันถึงเรื่องพระเยซูเจ้า จึงเดินปะปนกับประชาชนเข้ามาเบื้องหลัง และสัมผัสฉลองพระองค์ นางคิดว่า 28”ถ้าฉันเพียงได้สัมผัสฉลองพระองค์เท่านั้น ฉันก็จะหายจากโรค” 29ทันใดนั้น เลือดก็หยุด นางรู้สึกว่าร่างกายหายจากโรคแล้ว 30ขณะเดียวกัน พระเยซูเจ้าทรงรู้สึกว่ามีอิทธิฤทธิ์ออกจากพระองค์ไป จึงทรงหันมายังกลุ่มชน ตรัสว่า “ใครสัมผัสเสื้อของเรา 31บรรดาศิษย์ทูลว่า “พระองค์ทรงเห็นแล้วว่าผู้คนเบียดเสียดกันเช่นนี้ แล้วยังทรงถามอีกหรือว่า “ใครสัมผัสเรา” 32พระองค์ทรงหันไปรอบๆ เพื่อทอดพระเนตรผู้ที่ทำเช่นนั้น 33หญิงคนนั้นรู้สึกกลัวจนตัวสั่น เพราะรู้ดีว่าได้เกิดอะไรขึ้นแก่ตน จึงกราบลงเฉพาะพระพักตร์และทูลให้ทรงทราบความจริงทุกประการ 34พระองค์จึงตรัสว่า “ลูกเอ๋ย ความเชื่อของท่านช่วยท่านให้รอดพ้นแล้ว จงไปเป็นสุข หายจากโรคเถิด”

 35ขณะกำลังตรัสอยู่นั้น มีคนมาจากบ้านหัวหน้าศาลาธรรม บอกเขาว่า “บุตรหญิงของท่านตายแล้ว ไปรบกวนพระอาจารย์อีกทำไม” 36แต่พระเยซูเจ้าทรงได้ยินเขาพูดดังนั้น จึงตรัสแก่หัวหน้าศาลาธรรมว่า “อย่ากลัวเลย จงมีความเชื่อไว้เถิด” 37พระองค์ไม่ทรงอนุญาตให้ใครติดตามไปนอกจากเปโตร ยากอบ และยอห์นน้องชายของยากอบ 38เมื่อทุกคนมาถึงบ้านหัวหน้าศาลาธรรม พระเยซูเจ้าทรงเห็นความวุ่นวาย และเห็นผู้คนร่ำไห้พิลาปรำพันเป็นอันมาก 39พระองค์เสด็จเข้าไป ตรัสแก่คนเหล่านั้นว่า “วุ่นวายและร้องไห้ไปทำไม เด็กคนนี้ไม่ตาย เพียงแต่นอนหลับไปเท่านั้น” 40เขาต่างหัวเราะเยาะพระองค์ พระองค์ทรงไล่เขาออกไปข้างนอก ทรงนำบิดามารดาของเด็กและศิษย์ที่ติดตามเข้าไปยังที่ที่เด็กนอนอยู่ 41ทรงจับมือเด็ก ตรัสว่า “ทาลิธาคูม” แปลว่า “หนูเอ๋ย เราสั่งให้หนูลุกขึ้น” 42เด็กหญิงนั้นก็ลุกขึ้นทันที และเดินไปมา เด็กนั้นอายุสิบสองขวบแล้ว คนทั้งหลายต่างประหลาดใจอย่างยิ่ง 43พระองค์ทรงกำชับอย่างแข็งขันมิให้แพร่งพรายเรื่องนี้แก่ผู้ใด และทรงสั่งให้เขานำอาหารมาให้เด็กนั้นกิน

a) อธิบายความหมาย
              พระวรสารตอนนี้เล่าอัศจรรย์ประการที่สามและประการที่สี่ในข้อความ 4:35-5:43 ที่นักบุญมาระโกรวบรวมอัศจรรย์สี่ประการ เขาเล่าอัศจรรย์สองเรื่องนี้ประสานเข้าด้วยกันเป็นวรรณกรรมหน่วยเดียว วิธีการเขียนเช่นนี้ได้ชื่อว่า “การเล่าลำดับเหตุการณ์แบบแซนด์วิช” คือนำเรื่องการรักษาหญิงตกเลือด (เทียบ 5:25-34) มาคั่นระหว่างสองตอนของเรื่องพระเยซูเจ้าทรงได้รับเชิญให้เสด็จไปที่บ้านของไยรัสเพื่อรักษาบุตรหญิงของเขา (เทียบ 5:21-24 และ 35-43) เราได้พบวิธีการเขียนเช่นนี้แล้วใน 3:22-30 และจะพบอีกใน 6:14-19; 11:13-23; 14:17-31, 54-72 วิธีการเขียนนี้เป็นลักษณะเฉพาะของนักบุญมาระโก แม้ธรรมประเพณีที่เล่าอัศจรรย์ทั้งสองประการนี้แบบปากต่อปากก็ได้รวมเรื่องเหล่านี้เข้ากันอยู่แล้ว

- เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จลงเรือข้ามฟากอีกครั้งหนึ่ง นักบุญมาระโกเล่าเหตุการณ์อย่างต่อเนื่องเหมือนกับว่า การโยกย้ายเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมายังแคว้นกาลิลีโดยใช้เรือลำเดียวกัน (เทียบ 5:18) กับที่ประทับนั่งเมื่อทรงสั่งสอนด้วยอุปมาตลอดวัน (เทียบ 4:1) และทรงข้ามทะเลเมื่อเกิดพายุ (เทียบ 4:36)

 - ประชาชนชุมนุมกันเนืองแน่นรอบพระองค์ขณะที่ยังทรงอยู่ริมทะเลสาบ ประชาชนเหล่านี้คงจะเป็นกลุ่มเดียวกันที่พระองค์ทรงสั่งสอน (เทียบ 4:1) แม้ไม่บอกว่าพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นบนบกที่ใด สถานที่แห่งนั้นคงจะเป็นชายฝั่งทะเลใกล้เมืองคาเปอร์นาอุม น่าสังเกตว่า ตอนนี้นักบุญมาระโกไม่พูดถึงบรรดาศิษย์เลย หลังจากที่พระเยซูเจ้าทรงตำหนิเขาเพราะไม่มีความเชื่อเมื่อเกิดพายุในทะเล (เทียบ 4:40) นักบุญมาระโกคงต้องการให้ผู้อ่านคิดว่า บรรดาศิษย์ติดตามพระเยซูเจ้าอย่างเงียบ ๆ ปรารถนาที่จะเรียนรู้ว่าจะต้องอยู่กับพระองค์อย่างไร และรู้จักมองการกระทำของพระองค์

- หัวหน้าศาลาธรรมคนหนึ่งชื่อไยรัสเดินมา ศาลาธรรมแต่ละแห่งมีหัวหน้าคนหนึ่งและมีคณะที่ปรึกษาประกอบด้วย 3-7 คน ซึ่งมีหน้าที่ช่วยเหลือหัวหน้า สำนวนที่นักบุญมาระโกใช้ "หัวหน้าศาลาธรรมคนหนึ่ง" จึงคลุมเครือ ไม่ชัดเจนว่าไยรัสผู้นี้เป็นหัวหน้าศาลาธรรมจริง ๆ หรือเป็นเพียงคณะที่ปรึกษาคนใดคนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นักบุญมาระโกให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่ไยรัส เพราะเขาบันทึกชื่อหัวหน้าศาลาธรรมผู้นี้ ทั้ง ๆ ที่ เรารู้ชื่อของบุคคลในพระวรสารเพียงไม่กี่คนเท่านั้น

- เมื่อเห็นพระองค์ เขากราบลงที่พระบาท การกราบลงที่เท้าคนใดคนหนึ่งหมายถึงยอมรับอำนาจของเขา และยืนยันว่าตนพร้อมแล้วที่จะปฏิบัติตามความประสงค์ของผู้นั้น ไม่ว่าจะสั่งให้ปฏิบัติสิ่งใด (เทียบ 7:25) ในที่นี้ การกราบลงที่เท้ายังหมายถึงอากัปกริยาการวอนขออย่างถ่อมตน แสดงความต้องการเร่งด่วนที่จะได้รับการตอบสนอง

- พร่ำวิงวอนว่า “บุตรหญิงเล็กๆ ของข้าพเจ้าจวนจะสิ้นใจอยู่แล้ว ไยรัสไม่มีความหวังเลยว่า บุตรหญิงของตนจะหายจากโรคได้ สิ่งเดียวที่เขาหวังคือให้พระเยซูเจ้าทรงกีดกั้นความตายของเด็ก

- เชิญพระองค์เสด็จไปปกพระหัตถ์เหนือเขาเถิด เขาจะได้หายจากโรค กลับมีชีวิต” การปกมือเป็นพิธีที่ชาวยิวใช้กันอย่างแพร่หลายและปฏิบัติในหลายกรณี เช่น เพื่ออวยพรหรือมอบอำนาจแก่ผู้อื่น ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก เราพบบ่อย ๆ ในบริบทการรักษาผู้ป่วย (เทียบ 6:5; 7:32; 8:23, 24; 16:18) ไยรัสจึงขอพระเยซูเจ้าให้เสด็จไปอวยพรบุตรหญิงของตน เพราะการกระทำเช่นนี้เพียงพอที่จะถ่ายทอดพลังที่พระเยซูเจ้าผู้เดียวทรงมี คือพลังแห่งชีวิต

- พระเยซูเจ้าจึงเสด็จไปกับเขา ผู้อ่านเข้าใจแล้วว่า บุตรหญิงของไยรัสจะมีชีวิตอย่างแน่นอน เพราะพระเยซูเจ้าพอพระทัยเช่นนี้