(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

II. การประกาศพระอาณาจักรสวรรค์

.เรื่องเล่า

การเทศน์สอนของยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง

3 1ในครั้งนั้นa ยอห์นผู้ทำพิธีล้างมาประกาศสอนในถิ่นทุรกันดารแห่งยูเดียb 2ยอห์น
กล่าวว่า “จงกลับใจเถิดc อาณาจักรสวรรค์dอยู่ใกล้แล้ว” 3ยอห์นผู้นี้คือผู้ที่ประกาศกอิสยาห์ได้กล่าวถึงว่า

คนคนหนึ่งร้องตะโกนในถิ่นทุรกันดารว่า

“จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า

จงทำทางเดินของพระองค์ให้ตรงเถิด

4ยอห์นนุ่งห่มด้วยผ้าขนอูฐ มีสายหนังรัดเอว กินตั๊กแตนและน้ำผึ้งป่าเป็นอาหาร 5ประชาชนจากกรุงเยรูซาเล็ม จากทั่วแคว้นยูเดีย และจากทั่วเขตแม่น้ำจอร์แดนพากันไปพบเขา 6รับพิธีล้างจากเขาในแม่น้ำจอร์แดนโดยสารภาพบาปของตนe

7เมื่อยอห์นเห็นชาวฟาริสีfและสะดูสีgหลายคนมารับพิธีล้าง จึงกล่าวว่า “เจ้าสัญชาติงูร้าย ผู้ใดแนะนำเจ้าให้หนีการลงโทษที่กำลังจะมาถึงh 8จงประพฤติตนให้สมกับที่ได้กลับใจแล้วเถิด 9อย่าอวดอ้างเองว่า “เรามีอับราฮัมเป็นบิดา” ข้าพเจ้าบอกท่านทั้งหลายว่า พระเจ้าทรงบันดาลให้ก้อนหินเหล่านี้กลายเป็นลูกของอับราฮัมได้ 10บัดนี้ขวานกำลังจ่ออยู่ที่รากของต้นไม้แล้ว ต้นไม้ต้นใดที่ไม่เกิดผลดีจะถูกโค่นและโยนใส่ไฟ 11ข้าพเจ้าใช้น้ำทำพิธีล้างให้ท่านทั้งหลาย เพื่อให้กลับใจ แต่ผู้ที่จะมาภายหลังข้าพเจ้า ทรงอำนาจยิ่งกว่าข้าพเจ้า และข้าพเจ้าไม่สมควรแม้แต่จะถือรองเท้าของเขา เขาจะทำพิธีล้างให้ท่านเดชะพระจิตเจ้าและไฟi 12เขากำลังถือพลั่วอยู่แล้ว จะชำระลานนวดข้าวให้สะอาด จะรวบรวมข้าวใส่ยุ้ง ส่วนฟางนั้นเขาจะเผาทิ้งในไฟที่ไม่รู้ดับ”j

พระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้าง

13เวลานั้น พระเยซูเจ้าเสด็จมาจากแคว้นกาลิลีถึงแม่น้ำจอร์แดน เพื่อทรงรับพิธีล้างจากยอห์น 14ยอห์นพยายามชักชวนพระองค์ให้เปลี่ยนพระทัย เขากล่าวว่า “ข้าพเจ้าควรจะรับพิธีล้างจากท่าน แต่ท่านกลับมาพบข้าพเจ้า” 15พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “เวลานี้ ปล่อยให้เป็นเช่นนี้ก่อน เพราะเราควรจะทำทุกอย่างตามพระประสงค์ของพระเจ้า”k ยอห์นจึงยอมทำตาม

 16เมื่อพระเยซูเจ้าทรงรับพิธีล้างแล้ว เสด็จขึ้นจากน้ำ ทันใดนั้นท้องฟ้าเปิดออกl พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพระจิตของพระเจ้าเสด็จลงมาเหนือพระองค์ดุจนกพิราบm 17และมีเสียงจากสวรรค์กล่าวว่า “ผู้นี้เป็นบุตรสุดที่รักของเรา เป็นที่โปรดปรานของเรา”n

 

3 a “ในครั้งนั้น” แปลตามตัวอักษรว่า “ในวันเหล่านั้น” เป็นสูตรที่ใช้บ่อยๆ เพื่อเชื่อมความให้ต่อเนื่องกันเท่านั้น

b แคว้นยูเดียเป็นดินแดนแห้งแล้ง มีเนินเขาอยู่ทั่วไป มีอาณาบริเวณตั้งแต่สันเขาภาคกลางของปาเลสไตน์ ลงไปถึงลุ่มแม่น้ำจอร์แดนและทะเลแดง

c “กลับใจ” ภาษากรีกว่า Metanoia หมายถึงการละทิ้งบาป เป็นทุกข์เสียใจ ความเสียใจที่ได้ประพฤติผิด ในอดีตมักจะมี “การกลับใจ” ตามมา เมื่อมนุษย์หันมาหาพระเจ้าและเริ่มชีวิตใหม่ คำว่า “กลับใจ” (Metanoia) นี้ หมายถึงลักษณะสองประการของการเปลี่ยนแปลงจิตใจ ละทิ้งบาป หันมาหาพระเจ้า (ดู กจ 2:38 เชิงอรรถ x; 3:19 เชิงอรรถ n) การเป็นทุกข์ถึงบาปและการกลับมาหาพระเจ้า เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นเพื่อรับความรอดพ้นที่พระอาณาจักรของพระเจ้านำมาให้ ยอห์นผู้ทำพิธีล้างเชิญชวนให้เป็นทุกข์ถึงบาป (เทียบ กจ 13:24; 19:4) และพระเยซูเจ้าจะเชิญชวนเช่นเดียวกัน (มธ 4:17//; ลก 5:32; 13:3, 5) บรรดาศิษย์ (มก 6:12; ลก 24:47) และเปาโล (กจ 20:21; 26:20) ก็จะเชิญชวนเช่นเดียวกันด้วย

d “อาณาจักรสวรรค์” แทนที่จะใช้ “พระอาณาจักรของพระเจ้า” (ดู 4:17 เชิงอรรถ f) วลีนี้เป็นของมัทธิวโดยเฉพาะ สะท้อนให้เห็นว่า ชาวยิวไม่กล้าออกพระนามของพระเจ้าโดยตรง จึงใช้คำอื่น (เช่น สวรรค์) แทน

e “พิธีล้าง” คือการจุ่มตัวลงในน้ำ เป็นกิจการที่เป็นสัญลักษณ์หมายถึงการชำระให้บริสุทธิ์หรือการเกิดใหม่ เป็นพิธีที่รู้จักกันดีในสมัยโบราณและในศาสนายิว (เช่น พิธีล้างผู้เข้าศาสนายิว และพิธีชำระตนของพวกเอสเซน) พิธีล้างของยอห์น แม้จะคล้ายกับพิธีดังกล่าวนี้ ก็แตกต่างด้วยเหตุผลสามประการ คือ (1) พิธีล้างของยอห์นเน้นการชำระด้านจิตใจและความประพฤติ มิใช่เป็นเพียงพิธีภายนอกเท่านั้น (3:2, 6, 8, 11; ลก 3:10-14) (2) พิธีล้างของยอห์นรับได้เพียงครั้งเดียว และเพราะเหตุนี้ จึงเป็นพิธีเข้าจารีต (3) พิธีล้างของยอห์นเป็นการเตรียมผู้รับให้คอยรับเสด็จพระเมสสิยาห์ซึ่งจะเสด็จมาในวาระสุดท้าย ดังนั้น ผู้รับพิธีล้างนี้จึงเป็นกลุ่มชนที่จะเข้าเป็นประชากรของพระเมสสิยาห์ (3:2, 11; ยน 1:19-34) พระเยซูเจ้าองค์เดียวเท่านั้นจะทำพิธีล้างเดชะพระจิตเจ้า มิใช่ยอห์น (3:7, 10-12) ดูเหมือนว่า ศิษย์ของพระเยซูเจ้ายังทำพิธีล้างของยอห์นต่อไป (ยน 4:1-2) จนกระทั่งพระเยซูเจ้าทรงเปลี่ยนแปลงพิธีให้เป็นศีลล้างบาป (มธ 28:19; กจ 1:5 เชิงอรรถ f; รม 6:4 เชิงอรรถ a)

f “ชาวฟาริสี” เป็นนิกายหนึ่งในศาสนายิว ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัด แต่การยึดมั่นจนเกินไปต่อธรรมประเพณีของบรรดาอาจารย์ซึ่งรับสืบทอดกันมาด้วยปากต่อปาก ทำให้พวกเขาพิจารณาการกระทำทุกชนิดอย่างจุกจิกเกินไป ท่าทีอิสระของพระเยซูเจ้าต่อธรรมบัญญัติ การที่ทรงคบหาสมาคมกับคนบาป ทำให้ชาวฟาริสีต่อต้านพระองค์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเราเห็นได้ชัดจากหลายตอนในพระวรสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน มธ 9:11//; 12:2//, 14//, 24; 15:1 และ 16:1//, 6//; 19:3//; 21:45; 22:15//, 34, 41, 23//; ลก 5:21; 6:7; 15:2; 16:14ฯ; 18:10ฯ; ยน 7:32; 8:13; 9:13ฯ; 11:47ฯ ถึงกระนั้น พระเยซูเจ้าก็ยังทรงเป็นมิตรกับชาวฟาริสีบางคน (ลก 7:36 เชิงอรรถ f; ยน 3:1) บรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าถือว่าชาวฟาริสีเป็นพันธมิตรสู้กับ
ชาวสะดูสี (กจ 23:6-10) เราต้องยอมรับว่า ชาวฟาริสีมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติศาสนา (เทียบ รม 10:2) และมีความจริงใจ (กจ 5:34ฯ) เปาโลเองก็ภูมิใจที่แต่ก่อนเคยเป็นชาวฟาริสี (กจ 23:6; 26:5; ฟป 3:5)

g “ชาวสะดูสี” เป็นอีกนิกายหนึ่งในศาสนายิว มีแนวความคิดตรงข้ามกับแนวคิดของชาวฟาริสี ชาวสะดูสีไม่ยอมรับประเพณีใดๆ ที่ไม่มีบันทึกไว้ในธรรมบัญญัติที่เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร (ดู กจ 23:8 เชิงอรรถ c) ชาวสะดูสีส่วนใหญ่มาจากตระกูลหัวหน้าสมณะ มีความเลื่อมใสในศาสนาน้อยกว่าชาวฟาริสี และเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองมากกว่า ชาวสะดูสีมีความขัดแย้งกับพระเยซูเจ้าด้วย (16:1, 6; 22:23ฯ) และกับบรรดาศิษย์ของพระองค์ (กจ 4:1 เชิงอรรถ a; 5:17)

h หมายถึงการลงโทษในวันของพระยาห์เวห์ (อมส 5:18 เชิงอรรถ m) ซึ่งจะเป็นการเริ่มต้นของยุคพระเมสสิยาห์

i ในพันธสัญญาเดิม ไฟเป็นธาตุที่ชำระให้บริสุทธิ์ มีความละเอียดอ่อนและประสิทธิภาพดีกว่าน้ำ ใช้เป็นสัญลักษณ์หมายถึง การที่พระเจ้าทรงแทรกเข้ามาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และเป็นสัญลักษณ์ของพระจิตเจ้าผู้ทรงชำระจิตใจมนุษย์ (ดู บสร 2:5; อสย 1:25; ศคย 13:9; มลค 3:2-3)

j “ไฟที่ไม่รู้ดับ” คือไฟนรก ซึ่งจะเผาไหม้สิ่งที่ไม่สามารถชำระให้บริสุทธิ์ได้ตลอดไป (ยดธ 16:17; สดด 21:9; บสร 7:17; อสย 66:24; ศฟย 1:18)

k คำถามของยอห์นผู้ทำพิธีล้างแสดงให้เห็นว่า การรับพิธีล้างของพระเยซูเจ้าเป็นปัญหาสำหรับคริสตชนสมัยแรก เพราะในกรณีนี้ ผู้ใหญ่ถ่อมตนลงต่ำกว่าผู้น้อย คำตอบของพระเยซูเจ้าชี้ให้เห็นว่า จำเป็นต้องทำเช่นนี้เพื่อปฏิบัติตามแผนการกอบกู้ของพระเจ้าให้สำเร็จบริบูรณ์ไป บางทีพระเจ้าทรงปรารถนาใช้พิธีนี้เพื่อทำให้พระเมสสิยาห์เข้าเป็นสมาชิกของประชากรในยุคสุดท้าย (ดู 1:22 เชิงอรรถ j; 3:6 เชิงอรรถ e)

l สำเนาโบราณบางฉบับเพิ่มคำว่า “แก่พระองค์” หมายความว่า “ต่อหน้าพระองค์”

m พระจิตของพระเจ้าซึ่งอยู่เหนือน้ำในการสร้างโลก (ปฐก 1:2) ขณะนี้ทรงสำแดงองค์อีกครั้งในการสร้างใหม่ ทรงเจิมพระเยซูเจ้าให้ประกอบภารกิจของพระเมสสิยาห์ (กจ 10:38) คือพระจิตเจ้าทรงเป็นผู้นำพระองค์ให้ประกอบภารกิจนี้ (มธ 4:1ฯ; 12:12, 28; ลก 4:14, 18; 10:21) ในพระวรสารของมาระโก การเห็นนกพิราบและได้ยินเสียงจากสวรรค์ เข้าใจว่าเป็นประสบการณ์ภายในของพระเยซูเจ้า แต่ในพระวรสารของมัทธิว ปรากฏการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ภายนอก ทุกคนที่นั่นได้ยินเสียง

n จุดประสงค์ของประโยคนี้คือ ประกาศว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นผู้รับใช้ที่ประกาศกอิสยาห์กล่าวถึง แต่การใช้คำว่า “บุตร” แทนคำว่า “ผู้รับใช้” (คำภาษากรีก pais มีความหมายทั้งสอง) เน้นให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงมีความสัมพันธ์พิเศษกับพระบิดาเจ้า ในฐานะที่เป็นพระบุตรที่ได้รับการเจิม (ดู 4:3 เชิงอรรถ d) ในวรรณคดีของชาวยิว เสียงจากสวรรค์เป็นวิธีแสดงว่า พระเจ้าทรงมอบอำนาจสอนให้แก่อาจารย์