(ไฟล์ "เสียงวรสาร" โดย วัดแม่พระกุหลาบทิพย์ กรุงเทพฯ)

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว

I. การประสูติและปฐมวัยของพระเยซูเจ้า

ลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้า

1 1หนังสือลำดับพระวงศ์ของพระเยซูคริสตเจ้า พระโอรสของกษัตริย์ดาวิด ผู้ทรงสืบตระกูลมาจากอับราฮัมa

2อับราฮัมเป็นบิดาของอิสอัค อิสอัคเป็นบิดาของยาโคบ ยาโคบเป็นบิดาของยูดาห์กับบรรดาพี่น้อง 3ยูดาห์เป็นบิดาของเปเรศและเศราห์ มารดาของคนทั้งสองคือนางทามาร์ เปเรศเป็นบิดาของเฮสโรน เฮสโรนเป็นบิดาของราม 4รามเป็นบิดาของอัมมีนาดับ อัมมีนาดับเป็นบิดาของนาโซน นาโซนเป็นบิดาของสัลโมน 5สัลโมนเป็นบิดาของโบอาส มารดาของโบอาสคือนางราหับ โบอาสเป็นบิดาของโอเบด มารดาของโอเบดคือนางรูธ โอเบดเป็นบิดาของเจสซี 6เจสซีเป็นบิดาของกษัตริย์ดาวิด กษัตริย์ดาวิดเป็นบิดาของซาโลมอน มารดาของซาโลมอนเคยเป็นภรรยาของอุรียาห์

7ซาโลมอนเป็นบิดาของเรโหโบอัม เรโหโบอัมเป็นบิดาของอาบียาห์ อาบียาห์เป็นบิดาของอาสาb 8อาสาเป็นบิดาของเยโฮซาฟัท เยโฮซาฟัทเป็นบิดาของโยรัม โยรัมเป็นบิดาของอุสซียาห์ 9อุสซียาห์เป็นบิดาของโยธาม โยธามเป็นบิดาของอาคัส อาคัสเป็นบิดาของเฮเซคียาห์ 10เฮเซคียาห์เป็นบิดาของมนัสเสห์ มนัสเสห์เป็นบิดาของอาโมนc อาโมนเป็นบิดาของโยสิยาห์ 11โยสิยาห์เป็นบิดาของเยโคนียาห์และพี่น้อง ในสมัยถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลน

12หลังจากถูกกวาดต้อนไปกรุงบาบิโลนแล้ว เยโคนียาห์เป็นบิดาของเชอัลทิเอล เชอัลทิเอลเป็นบิดาของเศรุบบาเบล 13เศรุบบาเบลเป็นบิดาของอาบียุด อาบียุดเป็นบิดาของเอลียาคิม เอลียาคิมเป็นบิดาของอาซอร์ 14อาซอร์เป็นบิดาของศาโดก ศาโดกเป็นบิดาของอาคิม อาคิมเป็นบิดาของเอลีอูด 15เอลีอูดเป็นบิดาของเอเลอาซาร์ เอเลอาซาร์เป็นบิดาของมัทธาน มัทธานเป็นบิดาของยาโคบ 16ยาโคบเป็นบิดาของโยเซฟ พระสวามีของพระนางมารีย์   พระเยซูเจ้าdที่ขานพระนามว่า “พระคริสตเจ้า” ประสูติจากพระนางมารีย์ผู้นี้

          17ดังนั้น ลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้าจากอับราฮัมถึงกษัตริย์ดาวิดมีสิบสี่ชั่วคน นับจากกษัตริย์ดาวิดถึงสมัยที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลนมีอีกสิบสี่ชั่วคน และนับจากสมัยที่ถูกกวาดต้อนเป็นเชลยไปกรุงบาบิโลนถึงพระเยซูเจ้ามีอีกสิบสี่ชั่วคน

โยเซฟรับพระเยซูเจ้าเป็นบุตรบุญธรรม

18เรื่องราวการประสูติของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นดังนี้ พระนางมารีย์พระมารดาของพระองค์หมั้นกับโยเซฟe แต่ก่อนที่ท่านทั้งสองจะครองชีวิตร่วมกัน ปรากฏว่าพระนางตั้งครรภ์แล้วเดชะพระจิตเจ้า 19โยเซฟคู่หมั้นของพระนางเป็นผู้ชอบธรรมไม่ต้องการฟ้องหย่าพระนางอย่างเปิดเผย จึงคิดถอนหมั้นอย่างเงียบๆf 20ขณะที่โยเซฟกำลังคิดถึงเรื่องนี้อยู่ ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าgก็มาเข้าฝันh กล่าวว่า “โยเซฟ โอรสกษัตริย์ดาวิด อย่ากลัวที่จะรับมารีย์มาเป็นภรรยาของท่านเลย เพราะเด็กที่ปฏิสนธิในครรภ์ของนางมาจากพระจิตเจ้า 21นางจะให้กำเนิดบุตรชาย ท่านจงตั้งชื่อบุตรนั้นว่าเยซูi เพราะเขาจะช่วยประชากรของเขาให้รอดพ้นจากบาป” 22เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อพระดำรัสขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสผ่านประกาศกjจะเป็นความจริงว่า

23หญิงพรหมจารีจะตั้งครรภ์ และจะคลอดบุตรชาย

ซึ่งจะได้รับนามว่า “อิมมานูเอล”

แปลว่า พระเจ้าสถิตกับเรา” 24เมื่อโยเซฟตื่นขึ้น เขาก็ทำตามที่ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งไว้ คือรับภรรยามาอยู่ด้วย 25แต่เขามิได้มีเพศสัมพันธ์กับนาง ต่อมานางให้กำเนิดkบุตรชาย โยเซฟตั้งชื่อกุมารนั้นว่า เยซู

 

1 a มัทธิวให้รายชื่อลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้าย้อนกลับไปถึงอับราฮัมเท่านั้น แต่ก็ยังกล่าวถึงชื่อของหญิงต่างด้าวบางคนด้วย (ข้อ 3, 5, 6) ทั้งนี้เพื่อแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงสืบตระกูลมาจากบุคคลหลักที่ได้รับพระสัญญาเกี่ยวกับพระเมสสิยาห์ คือ อับราฮัมและกษัตริย์ดาวิด พร้อมกับราชวงศ์ ลำดับพระวงศ์ในพระวรสารของลูกามีลักษณะสากล และย้อนกลับไปถึงอาดัมซึ่งเป็นต้นตระกูลของมนุษยชาติ ลำดับพระวงศ์ทั้งสองแบบจากกษัตริย์ดาวิดจนถึงโยเซฟ มีชื่อเหมือนกันเพียงสองชื่อเท่านั้น นอกจากนั้น ลำดับพระวงศ์ของมัทธิวมีโครงสร้างตายตัวโดยแบ่งบรรพบุรุษของพระเยซูเจ้าออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มละสิบสี่ชื่อ (2 คูณ 7) (ดู 6:9 เชิงอรรถ d) วิธีการนี้ทำให้จำเป็นต้องละเว้นนามของกษัตริย์สามพระองค์ที่อยู่ระหว่างกษัตริย์โยรัมและอุสซียาห์ และทำให้ต้องกล่าวนามกษัตริย์เยโคนียาห์สองครั้ง (ข้อ 11-12) ทั้งนี้ เพราะชื่อภาษากรีกชื่อเดียว (เยโคนียาห์ หรือ LXX Ioakim) ใช้แปลชื่อภาษาฮีบรูได้ทั้งสองชื่อ คือเยโฮยาคิมและเยโฮยาคิน ลำดับพระวงศ์ในมัทธิวและลูกาจบลงที่โยเซฟผู้เป็นบิดาของพระเยซูเจ้าตามนิตินัยเท่านั้น เหตุผลก็คือ คนโบราณคิดว่า การเป็นบิดาตามนิตินัย (โดยการรับเป็นบุตรบุญธรรมหรือการใช้ชื่อของผู้ตายเป็นชื่อบิดา) ก็เป็นการเพียงพอที่ถ่ายทอดสิทธิของทายาทผู้รับมรดก สิทธิในกรณีนี้ก็คือ การสืบเชื้อสายในราชวงศ์ของพระเมสสิยาห์ มัทธิวกล่าวถึงลำดับพระวงศ์ของพระเยซูเจ้าเป็นเรื่องแรก เพื่อแสดงว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นเชื้อพระวงศ์กษัตริย์ดาวิด โดยเป็นบุตรบุญธรรมของโยเซฟตามคำแนะนำของทูตสวรรค์

b สำเนาโบราณบางฉบับว่า “อาสาฟ”

c สำเนาโบราณบางฉบับว่า “อาโมส”

d ต้นฉบับภาษากรีก และคำแปลภาษาละตินหลายฉบับชัดเจนกว่าว่า “โยเซฟซึ่งเป็นคู่หมั้นของพระนางพรหมจารีมารีย์ ผู้ให้กำเนิดพระเยซูเจ้า” ยังมีบางฉบับ (เช่น Syr.Sin.) เข้าใจข้อนี้ไม่ถูกต้อง แปลว่า “โยเซฟซึ่งเป็นคู่หมั้นของพระนางพรหมจารีมารีย์ เป็นบิดาของพระเยซูเจ้า”

e การหมั้นตามธรรมเนียมชาวยิวมีผลทำให้คู่หมั้นฝ่ายชายเรียกได้ว่าเป็น “สามี” และจะพ้นจากพันธะนี้ได้ก็โดยการฟ้องหย่าเท่านั้น (ข้อ 19)

f แปลตรงตัวว่า “ส่งเธอกลับไปอย่างเงียบๆ” อาจเป็นเพราะว่าโยเซฟเป็นผู้ชอบธรรม และไม่ต้องการรับบุตรของชายที่เขาไม่รู้จักมาเป็นบุตรของตน หรืออธิบายได้อีกอย่างหนึ่งว่า เขาไม่ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปของพิธีแต่งงาน เพราะมีความเคารพต่อธรรมล้ำลึกที่พระนางมารีย์เป็นพระมารดาของพระเมสสิยาห์ จึงต้องได้รับคำแนะนำจากทูตสวรรค์ว่าพระเจ้าปรารถนาให้เขารับพระนางมาเป็นภรรยา

g คำว่า “ทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า” ในพระคัมภีร์ตอนแรกๆ (ปฐก 16:7 เชิงอรรถ e) หมายถึง พระยาห์เวห์พระองค์เอง เมื่อคำสอนเกี่ยวกับทูตสวรรค์ได้พัฒนาขึ้น (ดู ทบต 5:4 เชิงอรรถ b) ความแตกต่างระหว่างพระเจ้ากับทูตสวรรค์ก็ชัดเจนขึ้น ทูตสวรรค์มีหน้าที่เป็นผู้สื่อสารของพระเจ้า ดังจะเห็นได้ในเรื่องปฐมวัยของพระเยซูเจ้า (มธ 1:20, 24; 2:12, 19; ลก 1:11; 2:9 และ มธ 28:2; ยน 5:4; กจ 5:19; 8:26; 12:7, 23)

h เช่นเดียวกับในพันธสัญญาเดิม (บสร 34:1 เชิงอรรถ a) พระเจ้าแสดงพระประสงค์ของพระองค์ในความฝัน (มธ 2:12, 13, 19, 22; 27:19; เทียบ กจ 16:9; 18:9; 23:11; 27:23 และการที่อานาเนียและเปาโลเห็นภาพนิมิตใน กจ 9:9, 10ฯ, โครเนลิอัสและเปโตร ใน กจ 10:3ฯ, 11ฯ)

i “เยซู” (ฮีบรูว่า “เยโฮชูวา”) แปลว่า “พระยาห์เวห์ทรงช่วยให้รอดพ้น”

j “ตามพระดำรัสขององค์พระผู้เป็นเจ้าที่ตรัสผ่านประกาศก…” สูตรนี้หรือที่คล้ายๆ กันพบได้บ่อยใน มธ 2:15, 17, 23; 8:17; 12:17; 13:35; 21:4; 26:54, 56; 27:9 และ 3:3; 11:10; 13:14 ด้วย ตั้งแต่ในพันธสัญญาเดิมแล้ว มาตรการเพื่อตัดสินว่าผู้ใดเป็นประกาศกแท้หรือประกาศกปลอมก็คือ คำพูดของเขาสำเร็จไปจริงหรือไม่ (ฉธบ 18:20-22 เชิงอรรถ f) ตามทรรศนะของพระเยซูเจ้าและของบรรดาศิษย์ พระเจ้าทรงเผยแผนการของพระองค์โดยพระวาจาและการกระทำ พันธสัญญาใหม่ใช้วิธีการอธิบายพระคัมภีร์ตามที่ชาวยิวในสมัยนั้นนิยมใช้ เพื่อแสดงว่าแผนการของพระเจ้าสำเร็จไปในองค์พระเยซูเจ้า โดยชี้ให้เห็นว่ารายละเอียดในพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าสอดคล้องกับข้อความที่เขียนไว้ในพันธสัญญาเดิม (ยน 2:22; 20:9; กจ 2:23 เชิงอรรถ o, 31, 34-35; 3:24 เชิงอรรถ s; รม 15:4; 1 คร 10:11; 15:3-4; 2 คร 1:20; 3:14-16)

k แปลตามตัวอักษรว่า “จนกระทั่งนางได้ให้กำเนิดบุตรชาย” ข้อความนี้ไม่คำนึงถึงเหตุการณ์หลังการประสูติของพระเยซูเจ้า ข้อความนี้ในตัวเองไม่ยืนยัน และไม่ปฏิเสธความเป็นพรหมจารีเสมอไปของพระนางมารีย์ ความจริงเรื่องพระนางมารีย์เป็นพรหมจารีเสมอไปนี้ สรุปได้จากพระวรสารตอนอื่น และจากธรรมประเพณีของพระศาสนจักร การที่โยเซฟตั้งชื่อเด็กหมายความว่า โยเซฟยอมรับกุมารนั้นเป็นบุตรของตน ส่วนเรื่อง “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” ดู 12:46 เชิงอรรถ o