"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“บัดนี้พวกเรากำลังจะขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม”

53. พระเยซูเจ้าทรงทำนายครั้งที่สามถึงพระทรมาน (มก 10:32-34)
      1032บรรดาศิษย์กำลังเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มพระเยซูเจ้าเสด็จนำเขาไปเขาต่างประหลาดใจผู้ติดตามต่างมีความกลัวพระองค์ทรงพาอัครสาวกสิบสองคนออกไปอีกครั้งหนึ่งทรงบอกเขาถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ว่า33“บัดนี้พวกเรากำลังจะขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มบุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบให้บรรดามหาสมณะและบรรดาธรรมาจารย์จะถูกตัดสินประหารชีวิตและถูกมอบให้คนต่างชาติ34สบประมาทเยาะเย้ยถ่มน้ำลายรดโบยตีและฆ่าเสียแต่หลังจากนั้นสามวันเขาจะกลับคืนชีพ”


a) อธิบายความหมาย
ถ้าเราเปรียบเทียบคำทำนายครั้งที่สามของพระเยซูเจ้าถึงพระทรมานกับคำทำนายครั้งก่อน (8:31; 9:31) ก็จะเห็นว่าข้อความนี้มีรายละเอียดมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับการเล่าพระทรมานของพระเยซูเจ้าในบทที่ 15 พระองค์ตรัสกับบรรดาศิษย์โดยลำพัง เช่นเดียวกับคำทำนายอื่น ๆ เพราะเขาเท่านั้นสามารถเข้าใจพระธรรมล้ำลึกเรื่องพระเมสสิยาห์ในพระบุคคลของพระเยซูเจ้าได้บ้าง

- บรรดาศิษย์กำลังเดินทางขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม พระคัมภีร์ใช้สำนวน “ขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม” บ่อย ๆ เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาสูงในปาเลสไตน์ นี่เป็นครั้งแรกที่นักบุญมาระโกบอกอย่างชัดเจนว่า หลังจากพระเยซูเจ้าทรงสำแดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์บนภูเขาทาบอร์ ทรงออกเดินทาง (เทียบ 9:30)ข้ามแคว้นกาลิลีไปถึงแคว้นยูเดีย (10:1) โดยมีจุดมุ่งหมายที่กรุงเยรูซาเล็ม

-พระเยซูเจ้าเสด็จนำเขาไป การที่พระเยซูเจ้าเสด็จนำหน้าบรรดาศิษย์ ไม่เป็นเพียงท่าทีของผู้เลี้ยงแกะที่เดินนำหน้าฝูงแกะของตน แต่ยังแสดงท่าทีเด็ดเดี่ยวทรงพร้อมที่จะมอบพระองค์ในการรับทรมาน

- เขาต่างประหลาดใจ ผู้ติดตามต่างมีความกลัว น่าสังเกตปฏิกิริยาของบรรดาศิษย์และของประชาชน บรรดาศิษย์เพียงประหลาดใจเพราะไม่ยอมรับความคิดที่ว่า พระอาจารย์จะต้องได้รับทรมาน ส่วนคนอื่น ๆ “ผู้ติดตามพระองค์” มีความกลัว บางทีเพราะเขารู้ว่าหัวหน้าชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มเป็นศัตรูกับพระเยซูเจ้า และการที่พระองค์เสด็จไปนครศักดิ์สิทธิ์อาจก่อให้เกิดเหตุการณ์น่าสะพรึงกลัว บุคคลเหล่านี้เป็นผู้แทนคริสตชนสมัยนักบุญมาระโก เขาติดตามพระคริสตเจ้าอย่างเหนียมอายและลังเลใจ แต่ยังหลงเสน่ห์ในพระองค์ ส่วนบรรดาศิษย์ยังติดตามพระองค์ไป ซื่อสัตย์ต่อคำยืนยันของนักบุญเปโตรที่ประกาศว่า “ข้าพเจ้าทั้งหลายได้สละทุกสิ่งและติดตามพระองค์แล้ว” (10:28)

- พระองค์ทรงพาอัครสาวกสิบสองคนออกไปอีกครั้งหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนบรรดาศิษย์เท่านั้นต่อไปเป็นพิเศษ ทรงเปิดเผยเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ให้เขารู้ เพราะเขาเท่านั้นได้รับรู้พระธรรมล้ำลึกเรื่องพระทรมานของพระองค์อยู่แล้ว (เทียบ 8:31)

- ทรงบอกเขาถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับพระองค์ว่า“บัดนี้พวกเรากำลังจะขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็ม จากพฤติกรรมของพระเยซูเจ้าปรากฏชัดเจนว่า พระองค์ทรงทราบล่วงหน้าที่จะทรงต้องรับทรมาน และทรงตัดสินพระทัยแน่วแน่ปฏิบัติภารกิจช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นจนสำเร็จลุล่วงไป คือจะเป็นพระเมสสิยาห์ตามพระประสงค์ของพระบิดาเจ้า

- บุตรแห่งมนุษย์ ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก พระเยซูเจ้าเท่านั้นทรงใช้สำนวนภาษาเซมิติกนี้ เพื่อกล่าวถึงพระองค์เอง (2:28; 8:31, 38; 9:9, 12, 31;10:45;13:26; 14:21, 41, 62) เป็นสำนวนที่เราพบในหนังสือดาเนียลเมื่อพูดถึงบุคคลที่จะต้องถูกมอบในเงื้อมมือของผู้เบียดเบียน ก่อนที่จะได้รับอำนาจเกียรติยศและสิริมลคลเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า สำนวนนี้ยังชวนให้คิดถึงภาพลักษณ์ของผู้รับใช้ที่รับทรมานในหนังสือของประกาศกอิสยาห์(เทียบ อสย52:13 –53:12)

- จะถูกมอบให้บรรดามหาสมณะและบรรดาธรรมาจารย์ ตามความคิดของประกาศกอิสยาห์ บุตรแห่งมนุษย์จะถูกมอบให้มนุษย์ คือการรับทรมานของพระองค์เป็นส่วนหนึ่งในแผนการของพระบิดาเจ้า คำประกาศนี้จะเป็นจริงเมื่อยูดาสมอบพระเยซูเจ้าแก่บรรดาสมณะ (เทียบ 14:10, 41, 53) และคนเหล่านั้นมอบพระองค์แก่ปีลาต (15:1, 10) แล้วปีลาตมอบพระองค์แก่บรรดาทหาร (เทียบ 15:15)

- จะถูกตัดสินประหารชีวิต และถูกมอบให้คนต่างชาติสบประมาทเยาะเย้ย ถ่มน้ำลายรด โบยตี และฆ่าเสีย นี่เป็นการสรุปลำดับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เมื่อพระเยซูเจ้าจะทรงรับทรมานแสดงว่าพระองค์จะทรงอยู่ในเงื้อมมือของมนุษย์เหมือนสิ่งของที่ผ่านจากมือหนึ่งไปสู่อีกมือหนึ่งพระองค์จะทรงถูกทุกคนสบประมาทเยาะเย้ยและเหยียบย่ำ การที่หัวหน้าชาวยิวมอบพระองค์ให้คนต่างชาติยิ่งแสดงว่า เขาสบประมาทและดูหมิ่นพระองค์มากยิ่งขึ้น เพราะชาวยิวหลายคนเชื่อว่าพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ นี่เป็นชะตากรรมเลวร้ายที่สุด ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับผู้ที่พระเจ้าทรงส่งมา คือถูกมอบให้แก่คนต่างศาสนาที่ไม่มีความเชื่อ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้แสดงว่าพระเยซูเจ้าไม่ทรงถูกชาวยิวปฏิเสธเท่านั้น แต่มนุษย์ทุกคนไม่ยอมรับอีกด้วย

- แต่หลังจากนั้นสามวัน เขาจะกลับคืนชีพ” เช่นเดียวกับคำทำนายของพระเยซูเจ้าครั้งก่อน ๆ ถึงการรับทรมาน พระองค์องค์ทรงตรัสล่วงหน้าถึงการกลับคืนพระชนมชีพ แต่ในครั้งนี้เพิ่มวลีที่ว่า “หลังจากนั้นสามวัน” เพื่อแสดงว่าพระเจ้าจะทรงเปลี่ยนแปลงสถานการณ์อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ต่างจากคำทำนายครั้งก่อน ๆ นักบุญมาระโกไม่บันทึกปฏิกิริยาใด ๆ ของบรรดาศิษย์ บางทีอาจเพราะว่าเขาไม่ต่อต้านพระองค์และไม่ตั้งคำถามอีกต่อไปแล้ว เพราะพระวาจาของพระองค์ครั้งนี้ชัดเจนมาก การที่พระองค์ทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะทรงรับทรมาน และความรู้ล่วงหน้าเกี่ยวกับอนาคตเป็นที่ประทับใจของผู้อ่าน