“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงระวังอย่าให้ใครหลอกลวงท่านได้”

68. ความทุกข์จะเริ่มขึ้น ความทุกขเวทนาอย่างใหญ่หลวงของกรุงเยรูซาเล็ม (2)
- “เมื่อเขานำท่านไปส่งมอบนั้น จงอย่ากังวลเลยว่าจะต้องพูดอะไร แต่จงพูดตามที่พระเจ้าทรงดลใจในเวลานั้นเถิด ตลอดคำปราศรัยนี้ พระเยซูเจ้าทรงต้องการให้บรรดาศิษย์ไม่ตกใจ ไม่กลัวและไม่เป็นห่วงสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น



- เพราะผู้พูดนั้นไม่ใช่ท่าน แต่เป็นพระจิตเจ้า ประโยคนี้ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวเขียนว่า “พระจิตของพระบิดาของท่านจะตรัสในท่าน” (มธ 10:20) และในพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกาเขียนว่า “เพราะพระจิตเจ้าจะทรงสอนท่านในเวลานั้นว่าจะต้องพูดอะไร” (ลก 12:12) หนังสือพันธสัญญาเดิมกล่าวถึงการประทับอยู่ของพระจิตเจ้าในบางคนที่พระเจ้าทรงเลือกสรรเป็นพิเศษเพื่อช่วยเหลือเขา (เทียบ วนฉ 3:10; 11:29; 1 ชมอ 16:13; 1 พศด 12:19) ส่วนในหนังสือพันธสัญญาใหม่ยืนยันอย่างแข็งขันว่า พระจิตเจ้าทรงช่วยเหลือศาสนบริกรของพันธสัญญาใหม่อย่างไม่หยุดหย่อน (เทียบ ยน 14:16, 26; 15:26-27; กจ 1:8; 4:9; 5:32; 15:28)

- พี่น้องจะกล่าวโทษกัน พ่อจะกล่าวโทษลูก ลูกจะลุกขึ้นมากล่าวหาพ่อแม่เพื่อให้ถูกประหารชีวิต เมื่อนักบุญมาระโกเขียนพระวรสาร กลุ่มคริสตชนมีประสบการณ์การถูกเบียดเบียนอยู่แล้ว ทำให้แม้ผู้มีความเชื่อจะต้องแตกแยกกัน เพราะบางคนได้ฟ้องพี่น้องแก่ผู้เบียดเบียนคริสต์ศาสนาเพื่อรักษาชีวิตบนแผ่นดินนี้ในพระคัมภีร์ ความเกลียดชังและการแตกแยกทั้งในครอบครัวและในสังคมเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม (เทียบ มคา 7:5-7; อสย 3:5; ยรม 9:4 อสค 38:21; ศคย 14:13) แต่ในที่นี้ดูเหมือนว่าความเกลียดชังและการแตกแยกมาจากการตัดสินใจของแต่ละคนว่า เขาเลือกที่จะยอมรับหรือต่อต้านพระคริสตเจ้า (เทียบ 10:29; มธ 10:34-37)

- ท่านทั้งหลายจะเป็นที่จงเกลียดจงชังของทุกคนเพราะนามของเรา เทียบ ยน 15:18-21; 16:2; 1 ปต 4:14

- แต่ผู้ใดยืนหยัดอยู่จนถึงวาระสุดท้าย ผู้นั้นก็จะรอดพ้น ในที่นี้ วาระสุดท้ายอาจหมายถึงจุดจบของการทดลอง หรือการสิ้นสุดของชีวิต แต่บางครั้งเหตุการณ์ทั้งสองนี้เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน (เทียบ ลก 18:5; ยน 13:1; 1 ธส 2:16)

- “เมื่อใดที่ท่านทั้งหลายเห็นผู้ทำลายที่น่ารังเกียจยืนอยู่ในที่ไม่สมควร ผู้อ่านจงเข้าใจเองเถิดว่าหมายถึงอะไร วลีที่ว่า “ผู้ทำลายที่น่ารังเกียจ” มาจากหนังสือประกาศกดาเนียล (เทียบ ดนล 9:27; 11:31; 12:11) หมายถึงแท่นบูชาถวายแก่เทพเจ้าซีอูส์ (Zeus) ซึ่งในปี 168 กคศ. กษัตริย์อันทิออกัส เอปีฟาเนสแห่งซีเรีย ทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อทดแทนพระแท่นเผาเครื่องบูชาในพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็ม (เทียบ 1 มคบ 1:54, 59) การใช้วลีนี้จึงแสดงอย่างเป็นรูปธรรมถึงความหดหู่ของชาวยิวเมื่อเห็นว่าสิ่งที่เขาเคารพมากที่สุดในพิธีกรรมได้ถูกล่วงเกิน โดยแท้จริงแล้ว ในที่นี้นักบุญมาระโกไม่กล่าวถึงพระวิหารที่กรุงเยรูซาเล็มเลย เขาเพียงเขียนกว้าง ๆ ว่า “ยืนอยู่ในที่ไม่สมควร” แต่นักบุญมัทธิวเขียนว่า “ยืนอยู่ในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามที่ประกาศกดาเนียลได้กล่าวไว้” ผู้เชี่ยวชษยพระคัมภีร์ส่วนใหญ่จึงคิดว่านักบุญมาระโกกำลังอ้างถึงเหตุการณ์ในอดีตครั้งเมื่อสมัยพวกมัคคาบี อย่างไรก็ตาม ยังมีบางคนที่คิดว่านักบุญมาระโกอ้างถึงเหตุการณ์ในอนาคตคือ เมื่อในปี ค.ศ. 70 จักรพรรดิทิตัสทรงเข้ายึดกรุงเยรูซาเล็ม และทรงทำลายทั้งกรุงและพระวิหาร

- เมื่อนั้น ให้ผู้ที่อยู่ในแคว้นยูเดียหนีไปยังภูเขา เมื่อกษัตริย์เอปีฟาเนสทรงเบียดเบียน ชาวยิว ครอบครัวมัคคาบีกับเพื่อนร่วมชาติบางคนหนีไปในถิ่นทุรกันการและบนภูเขาฉันใด (เทียบ 1 มคบ 2:27-28; 2 มคบ 7:27) พระเยซูเจ้าทรงเชิญชวนคริสตชนให้ละทิ้งเมืองและหนีไปยังสถานที่ปลอดภัย เอวเซเบียส (Eusebius) นักประวัติศาสตร์คริสตชนในศตวรรษที่ 4 บันทึกไว้ว่า คริสตชนได้ปฏิบัติตามคำตักเตือนของพระเยซูเจ้าอย่างเคร่งครัด เพราะเมื่อได้ยินว่ากองทัพโรมันกำลังเข้ามาที่ปาเลสไตน์ก็หนีจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังเมืองเปลลา (Pella) ตอนเหนือทางทิศตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน

- ผู้ที่อยู่บนดาดฟ้าก็อย่าลงมาเก็บข้าวของในบ้าน ผู้ที่อยู่ในทุ่งนา จงอย่ากลับไปเอาเสื้อคลุมที่บ้าน ในปาเลสไตน์ ตามธรรมเนียมโบราณ บ้านจะมีดาดฟ้า ซึ่งขึ้นได้โดยใช้บันได้จากด้านนอก พระคัมภีร์บันทึกว่า ผู้อาศัยมักจะไปอยู่บนดาดฟ้าหลายชั่วโมงเพื่ออธิษฐานภาวนา (เทียบ ยรม 19:13; 1 อสย 22:1; มธ 10:27; กจ 10:9) ถ้าคนใดคนหนึ่งลงมาข้างล่าง แล้วเดินเข้าไปในบ้านเพื่อหยิบบางสิ่งบางอย่าง ก็จะเสียเวลาอันมีค่าในการหนีไปยังภูเขา

- น่าสงสารหญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อนในวันนั้น หญิงเหล่านี้มีอุปสรรคในการหนีไปยังภูเขา พระเยซูเจ้าจึงแสดงความสงสารต่อบุคคลเหล่านี้

- จงอธิษฐานภาวนาอย่าให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในฤดูหนาว ในทำนองเดียวกัน ฤดูหนาวเป็นช่วงที่ฝนตก น้ำในห้วยไหลแรงมากไม่สามารถเดินข้ามได้ จึงเป็นอุปสรรคในการหนีไปยังภูเขา น่าสังเกตว่า นักบุญลูกาซึ่งเขียนพระวรสารสิบกว่าปีหลังเหตุการณ์นี้ เขารู้ว่าการห้อมล้อมและทำลายกรุงเยรูซาเล็มเกิดขึ้นระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนสิงหาคม ไม่ได้เกิดขึ้นในฤดูหนาว จึงละประโยคนี้ (เทียบ ลก 21:23)

- เพราะในเวลานั้น จะมีความทุกขเวทนาอย่างที่ไม่เคยมีตั้งแต่พระเจ้าทรงสร้างโลกมาจนถึงบัดนี้ และจะไม่มีต่อไปอีกเลย ข้อความนี้รับแรงบันดาลใจจากหนังสือประกาศกดาเนียลบทที่ 12 ข้อ 1 ซึ่งผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ทุกคนตีความหมายว่าหมายถึงการสิ้นพิภพ

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก