“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2015
สัปดาห์ที่ยี่สิบหก เทศกาลธรรมดา

ลก 9:46-50…

46บรรดาศิษย์เริ่มถกเถียงกันว่าคนใดในกลุ่มยิ่งใหญ่ที่สุด 47พระเยซูเจ้าทรงทราบความคิดของเขาจึงทรงจูงเด็กเล็กๆ คนหนึ่งมายืนใกล้พระองค์ 48ตรัสว่า “ผู้ใดต้อนรับเด็กเล็กๆ คนนี้ในนามของเรา ผู้นั้นก็ต้อนรับเรา ผู้ใดต้อนรับเรา ผู้นั้นก็ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามา เพราะในกลุ่มของท่าน ผู้ใดเล็กที่สุด ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด”
49ยอห์นทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระอาจารย์เจ้าข้า เราได้เห็นคนหนึ่งขับไล่ปีศาจในพระนามพระองค์ แต่เขาไม่ได้อยู่กับเรา เราพยายามห้ามปรามไว้ เพราะเขาไม่ใช่พวกเดียวกับเรา 50แต่พระเยซูเจ้าทรงตอบว่า “อย่าห้ามเขาเลย ผู้ใดที่ไม่ต่อต้านท่าน ผู้นั้นก็เป็นฝ่ายท่าน”


อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
 
• พระองค์กับบรรดาศิษย์กลังเสด็จขึ้นไปเยรูซาเล็ม และตลอดการเดินทางของพระเยซูเจ้ากับบรรดาศิษย์นี้... ถ้าเราอ่านพระวรสารนักบุญมาระโกด้วย เราจะพบว่าขณะเดินทางหลังจากพระองค์ประกาศถึงพระทรมานที่จะทรงรับเป็นครั้ง ที่สอง... บรรดาศิษย์ไม่ได้ตั้งใจฟังเรื่องพระทรมานเลย แต่พวกเขาต่างคิดว่า ถ้าไปถึงกรุงเยรูซาเล็ม ถ้าพระองค์เป็นกษัตริย์ที่นั่นอย่างที่พวกเขาคิด ที่พวกเขาคาดหวังและติดตามมา.. ถ้าเช่นนั้น...แล้วใครในพวกเขาจะยิ่งใหญ่กว่ากัน ใครจะได้ครองตำแหน่งอะไรกันบ้างหนอ ใครจะยิ่งใหญ่ที่สุดเล่า และพวกเขาก็ถกเถียงกันเรื่องนี้

• พระวรสารลูกาก็ได้บันทึกเรื่องนี้ว่า “บรรดาศิษย์เริ่มถกเถียงกันว่าคนใดในกลุ่มยิ่งใหญ่ที่สุด พระเยซูเจ้าทรงทราบความคิดของ” 

o พระองค์ทรงทราบความคิดของพวกเขา พระองค์ได้ยินพวกเขาแน่ๆ มาระโกบันทึกว่าพวกเขาเถียงกันระหว่างเดินทางตามหลังพระองค์มา พระองค์ทรงทราบว่าพวกเขามัวเถียงเกี่ยงกันว่าใครจะเป็นใหญ่กว่ากัน หรือใครจะยิ่งใหญ่ที่สุด....

o เราเห็นความแตกต่างของความเข้าใจของบรรดาศิษย์ของพระองค์ กับความจริงที่พระองค์สอน 

o ข้อสังเกตที่สำคัญและตอกย้ำข้ออ้างนี้คือ การถกเถียงกันนี้เกิดขึ้นทันทีหลังจากที่พระเยซูเจ้าประกาศคำทำนาย หรือสอนความจริงเกี่ยวกับพระแมสซียาห์หรือพระคริสตเจ้าให้กับพวกเขาเป็นการ ส่วนตัว เป็นความรู้โดยเฉพาะสำหรับพวกเขา

o แต่เหตุการณ์การถกเถียงกันของพวกเขาเช่นนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า บรรดาศิษย์เดินกับพระองค์ก็จริง แต่ความเข้าใจของพวกเขาไม่ใช่สิ่งที่พระองค์สอน หรือพวกเขาไม่สนใจ หรือว่าไม่ต้องการคิดถึงชะตากรรมนั้น แต่บรรดาศิษย์ต่างวางแผนว่าเมื่อเข้าเยรูซาแล็มและเมื่อพระองค์ยิ่งใหญ่แล้ว ใครในพวกเขาจะเป็นใหญ่กว่ากัน

o พี่น้องที่รัก ฤาว่าธรรมชาติของเรามนุษย์ปกติเป็นเช่นนี้ที่ต่างคิดกันถึงแต่เรื่องความ ยิ่งใหญ่ ใครจะเป็นใหญ่ที่สุด ใครจะได้ครองตำแหน่งสูดสุด...

• ถ้าเปรียบดูในพระวรสารมาระโกได้บันทึกไปตรงที่ว่า “พระองค์ได้ประทับนั่ง” หลังจากได้ฟังพวกเขาเถียงกันระหว่างเดินทาง... การประทับนั่งเป็นตำแหน่งของอาจารย์ที่สอนอย่างทรงอำนาจ ให้เราดูอาจารยานุภาพ (การสอนด้วยอำนาจของพระศาสนจักร) ทุกครั้งที่พระองค์ประทับนั่งสอน พระองค์กำลังสอนความจริงที่สำคัญเสมอ ขณะสอนความจริงสำคัญๆ พระองค์จะประทับนั่งเสมอ นี่หมายความว่า ต่อไปนี้เป็นคำสอนสำคัญมากในการเป็นศิษย์ของพระองค์ในเรื่องความเป็นใหญ่ใน หมู่บรรดาศิษย์

• เรื่องนี้สอนเราได้ดีมาก สอนพ่อเองในฐานะพระสงฆ์ที่กำลังเป็นศิษย์ของพระเยซูอย่างพิเศษหน่อยในการรับ ใช้ติดตาม สอนพ่อได้ดีมาก และแน่นอนที่สุดคำสอนนี้ใช้สอนบรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ นักบวช หรือคริสตชนที่เป็นใหญ่เป็นโตได้ดีมากๆ (ดู มธ 5 พระโอวาทบนภูเขา มก 4:1; 13:3)

o ทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามา ดูเหมือนมีเรื่องต้องชี้แจงให้พวกเขาเข้าใจหนทางของพระองค์จริงๆ นั่นหมายความว่า คำสอนต่อไปนี้จำเป็นและต้องเป็นเอกลักษณ์ของศิษย์ที่เดินใกล้ชิดมากกว่าใคร ในการติดตามพระองค์

o “ความเป็นใหญ่ของพระเยซูเจ้าคือการต้อนรับและการรับใช้...” การต้อนรับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การต้อนรับบรรดาเด็กเล็กๆ หนทางของพระเยซูเจ้าคือหนทางแห่งการรับใช้

o ให้เราคิดถึงชื่อตำแน่งที่ใช้กับพระสันตะปาปาไหม ทำไมจึงได้ชื่อว่าเป็น “Servus Servorum” (ผู้รับใช้ของบรรดาผู้รับใช้ทั้งหลาย “ทาส” นั่นเอง) ดังนั้นเครื่องหมายแสดงความยิ่งใหญ่ที่แท้จริงคือ “การรับใช้”

• “เขาจึงทรงจูงเด็กเล็กๆ คนหนึ่งมายืนใกล้พระองค์ ตรัสว่า “ผู้ใดต้อนรับเด็กเล็กๆ คนนี้ในนามของเรา ผู้นั้นก็ต้อนรับเรา ผู้ใดต้อนรับเรา ผู้นั้นก็ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามา เพราะในกลุ่มของท่าน ผู้ใดเล็กที่สุด ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด”

o “ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็ก ๆ...”

o หลักการที่พระเยซูเจ้าทรงให้ คือ “การต้อนรับ” 

o การต้อนรับเป็นเครื่องหมายของการรับใช้ ซึ่งหมายถึงการเปิดประตูต้อนรับ และเปิดทางให้ผู้อื่นเข้ามาในบ้านหรือในชีวิตของตนเอง หรือในหมู่คณะของตนเอง

• คำสอนที่พระเยซูเจ้าให้แก่บรรดาศิษย์ของพระองค์ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการต้อนรับพระอาณาจักรของพระเจ้า เปรียบเหมือนการเปิดต้อนรับผู้เล็กน้อยคือเด็กเล็ก และคำสอนที่เป็นแก่นคือ ใครที่อยากเป็นที่หนึ่งนั้นต้องรับใช้ทุกคน กล่าวโดยสรุปได้ไหมว่า ผู้ที่เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าที่แท้จริงนั้นต้อง “ต้อนรับพี่น้องทุกคน” 

o พี่น้องที่รักให้เราทุกคน พ่อด้วยจดจำไว้นะว่า “การต้อนรับ คือ ความรัก” คือความเป็นใหญ่ในความรักจริงๆ การต้อนรับเป็นเครื่องหมายของความเป็นใหญ่ 

o ไม่ใช่การต้อนรับแบบคนใหญ่โตเท่ากันต้องไปต้อนรับกันแบบสังคมโลก การเมืองหรือสังคม... เช่น กษัตริย์ต้องเสด็จไปต้อนรับกษัตริย์ที่เป็นใหญ่เท่าๆกัน ผู้นำรัฐต้องไปต้อนรับผู้นำรัฐ ในฐานะเท่าๆกัน 

o กระแสโลกเป็นแบบนี้ จะกำหนดงาน การต้อนรับ เป็นเรื่องใหญ่และวุ่นวาย ต้องกำหนดตำแหน่งให้เหมาะสม คนที่เป็นใหญ่กว่าจะไปต้อนรับคนที่ตำแหน่งเล็กกว่าตนไม่ได้ ไม่เหมาะสม ต้องสมกัน มีเกียรติหรือตำแหน่งเพียงกัน เพื่อความที่เรียกว่าเหมาะสม ต้องมีการจัดรูปแบบการต้อนรับอย่างเหมาะสม หรือที่เรียกว่า “สมเกียรติ” ต่อกันทั้งสองฝ่าย...

• แต่พระเยซูเจ้าสอน “ต้อนรับเด็กเล็กๆ ใครต้อนรับเด็กเล็กๆ ผู้นั้นเป็นใหญ่ที่สุด...”

o นี่คือจิตตารมณ์พระเยซู คำสอนของพระเยซู และ

o คือเหตุผลที่เสด็จลงมาหาเรา มาต้อนรับเราให้กลับบ้านพระบิดา... 

o เปรียบเหมือนบิดาที่ยืนคอยลูกกลับบ้าน เมื่อลูกล้างผลาญหักหาญความรักของบิดาได้ทิ้งบิดาไปแดนไกลกำลังหมดตัวจนทาง และกำลังกลับบ้าน (ซึ่งน่าตีเสียให้เข็ด ลงโทษเสียให้หราบจำ) แต่กลับเป็นว่า บิดายืนรอ บิดาเห็นลูกแต่ไกล บิดาก็วิ่งไปต้อนรับ สวมกอดและจูบเขา... 

o พี่น้องที่รัก... นี่คือจิตตารมณ์ของเราที่พระเยซูเจ้าสอน ต้อนรับด้วยความรักจริงๆ

• ประสบการณ์ของพ่อนิดหนึ่งครับ

o พ่อไปมาเลเซียหลายครั้ง และไปที่อัครสังฆมณฑลกุชิง ซาราวัค ที่นั่นมีคริสตชนในสังฆมณฑลเดียวเกือบสองแสนคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศไทยเราสิบสังฆมณฑลรวมกัน... พระอัครสังฆราชยอห์น ฮา ท่านเป็นคนที่พ่อเคารพท่านมาก ท่านเป็นอาจารย์พระคัมภีร์ และเรียนพรคัมภีร์จบระดับปริญญาเอกพระคัมภีร์เพียงคนเดียวที่มีในภาคพื้น แหลมทองของประเทศในแถบนี้... พ่อมีโอกาสได้รู้จักท่าน และท่านก็รักพระสงฆ์ไทย รักประเทศไทย พ่อเคยเชิญท่านมาสอนพระสงฆ์ไทยบ่อยๆ ท่านให้เกียรติและต้อนรับพ่อมาก จนพ่อไม่สมควรอะไรกับท่านเมื่อท่านเป็นอัครสังฆราช...

o พ่อไปที่กุชิงหลายครั้งสักห้าครั้งเห็นจะได้... ไปงานรับหน้าที่พระอัครสังฆราชของท่านฮาเอง ไปบวชพระสังฆราชใหม่ สองครั้งในสังฆมณฑลแถบนั้น ทุกครั้งพ่อก็ต้องบินไปลงที่นี่ ที่กุชิงก่อน เคยไปงานบวชสี่สิบปีสงฆ์ของท่าน และไปเข้าเงียบส่วนตัวหนึ่งสัปดาห์กับท่าน... และล่าสุดเมื่อสองวันก่อนพ่อกลับมาจากทีนี่ที่พ่องานบวชพระสังฆราชผู้ช่วย ของท่าน

o สิ่งที่พ่อจะเล่า คือ ทั้งห้าครั้งที่พ่อเดินทางไปในรอบสิบกว่าปี... ทุกครั้งที่พ่อเอง พ่อสมเกียรติพระสงฆ์ไร้ตำแหน่งใดๆ เป็นพระสงฆ์องค์หนึ่ง พระสงฆ์ที่เล็กๆ (ไม่ใช่ขนาดตัวและน้ำหนักนะครับ) คือ ไม่มีตำแหน่งอะไร ไม่เคยเป็นพ่อเจ้าวัดใดๆ เป็นแต่พ่อก็เป็นพระสงฆ์ที่รักท่านเคารพท่าน แต่ทว่า ท่านก็ให้เกียรติและเอ็นดูช่วยเหลือใส่ใจอย่างอบอุ่นมาก... 

o ห้าครั้งที่พ่อเดินทางไปลงสนามบินที่กุชิง... คนที่มาต้อนรับ ผู้มารับพ่อที่สนามบินด้วยตนเองตลอดมาคือพระอัครสังฆราชท่านนี้ ท่านยอห์น ฮา พระอัครสังฆราชของอัครสังฆมฑลกุชิง พ่อต้องกล่าวถึงท่านในการเขียนนี้ เพราะนี่คือตัวอย่าง คือบทสอน คือชีวิตแบบอย่างดีที่พ่อได้เห็นเป็นประจักษ์ ท่านเก่งมากๆในฐานะนักพระคัมภีร์ ท่านแกร่งมากในการอภิบาลและทำงาน แต่ท่านใกล้ชิดกับผู้คนและเรียบง่ายเป็นที่สุด... พ่อเองเมื่อเดินออกจากสนามบินเข้าเมือง ทุกครั้งเลย... คนแรกที่พ่อเห็นมายืนรอพ่อเสมอที่ประตูทางออกจากสนามบินคือ “ท่านยอห์น ฮา พระอัครสังฆราชแห่งกุชิง” 

o พี่น้องที่รัก....พ่อต้องยอมรับว่า พ่อไม่เหมาะสมที่จะให้ท่านมาต้อนรับพ่อเลย... แต่ท่านทำเช่นนี้เสมอ นี่คือพระอัครสังฆราชชุมพาบาลของอัครสังฆมณฑลที่มีสัตบุรุษประมาณสองแสนคน เกือบเท่าเราสิบสังฆมณฑลรวมกัน... 

o โอ พ่อยอมรับว่า พ่อต้องย่อตัวลงขอบคุณ กราบของพระคุณ อยากจะกราบลงไปที่พื้นเพื่อขอขอบคุณสำหรับการ “ต้อนรับ”

o ใช่ เหมือนที่พระเยซูเจ้าสอนทุกประการ ““ผู้ใดต้อนรับเด็กเล็กๆ คนนี้ในนามของเรา ผู้นั้นก็ต้อนรับเรา ผู้ใดต้อนรับเรา ผู้นั้นก็ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามา เพราะในกลุ่มของท่าน ผู้ใดเล็กที่สุด ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด”” 

o วันนี้ ประสบการณ์ที่พ่อกำลังเขียนไป และกำลังเล่าไป พ่อยอมรับว่าพ่อน้ำตาคลออิ่มใจ น้ำตาจิไหล (จะไหล ภาษาแช็ตครับ)... เพราะระลึกถึงความเมตตาและการมายืนคอยต้อนรับที่พ่อได้รับจากท่านฮา... คงเป็นเพราะพ่อเพิ่งกลับมาจากกุชิงสองวันก่อนนี้เอง และก็เป็นท่านที่มายืนรอรับที่สนามบินเช่นเคย...

o พ่อคิดถึงสิ่งที่พรเยซูเจ้าทำกับเราด้วยการเสด็จมาหาเรา รักเรา ไถ่เรา รับเรากลับจากความบาป ไปสู่การคืนดีทุกวันจนเราต้องร้องว่า... “พระเจ้าข้า ข้าพเจ้าไม่สมควรให้พระเสด็จเข้ามาใต้ชายคาของข้าพเจ้า... ขอโปรดตรัสแต่คำเดียว...”

• นี่คือคำสอน เรื่องความเป็นใหญ่ สำหรับพระศาสนจักรคาทอลิกและคริสตชนทุกคน ความเป็นใหญ่แท้จริงคือการต้อนรับบ และการรับใช้ นี่เป็นพระบัญชา และคำสอนที่แตกต่างจากคำสอนหรือกระแสประเพณีปฏิบัติของทางโลกหรือโลกีย์ พระเยซูเจ้าทรงสอนเราทุกคนจริงๆ ให้ต้อนรับและรับใช้เสมอ ดังเช่นพระองค์เอง

• พี่น้องที่รัก พระสันตะปาปาฟรังซิสเพิ่งสอนบรรดาพระสังฆราชเมื่อสามสี่วันก่อนครับ... ที่อเมริกา (ส่วนต่อไปนี้ ขอบคุณ Pope Report ครับพ่อยกมาจากเพจของเขา...)

o สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงสอนพระสังฆราชคาทอลิกอเมริกัน อย่าหลงตัวเอง อย่าใช้วาจาแข็งกร้าวและทำให้เกิดความแตกแยก อย่าเสวนาด้วยเล่ห์เหลี่ยมแต่จงเสวนาด้วยความซื่อสัตย์ในพระคริสตเจ้า 

o ทรงย้ำ พระสังฆราชต้องยกสายตาของฝูงแกะให้มองไปที่พระเจ้า ไม่ใช่มองมาที่ตัวเอง ทรงสอนให้พระสังฆราชต้องใกล้ชิดกับพระสงฆ์และต้องช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยทุก คน 

o การเป็นนายชุมพาบาลไม่ใช่การเทศน์สอนหลักความเชื่อที่ซับซ้อน แต่คือการประกาศพระคริสตเจ้าด้วยความชื่นชมยินดี

o แนวทางการอภิบาลของพวกเราคือการให้ประชากรของพระเจ้าได้รับรู้ว่า สารของพระคริสตเจ้ามีความหมายกับพวกเขาอย่างไร จะเติมเต็มและหล่อเลี้ยงพวกเขาได้อย่างไร

o ในฐานะนายชุมพาบาล พวกบรรดาพระสังฆราชต้องมองไปยังฝูงแกะด้วยสายตาของพระเจ้า ช่วยเหลือพวกเขาและยกสายตาของเขาขึ้นไปหาพระเจ้า ไม่ใช่มองมาที่ตัวพวกเรา

o พวกเราพระสังฆราชต้องไม่ตกเป็นเหยื่อการประจญจากการหลงตัวเอง ซึ่งจะบดบังสายตาเรา มันทำให้เสียงของเราไม่ได้ยินและการกระทำของเราไม่บังเกิดผล

o พ่ออยากพูดกับพวกท่านเรื่องการอภิบาลในฐานะพระสังฆราช เราต้องส่งเสริมการพบหน้าปฏิสัมพันธ์กัน

o การเสวนาพูดจากันคือวิธีของพวกเรา อย่าเสวนาด้วยเล่ห์เหลี่ยมแต่จงเสวนากันด้วยความซื่อสัตย์ในพระคริสตเจ้า เราต้องเสวนากันแบบปราศจากความกลัวและด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อกัน

o จำไว้ว่า ภาษาที่แข็งกร้าวและทำให้เกิดความแตกแยกไม่ใช่ของคู่ควรกับผู้อภิบาล อาจทำให้เราชนะคนอื่นได้ แต่ความดีและความรักเท่านั้นที่จะปรากฏเด่นชัดอย่างแท้จริง

o พระสังฆราชที่รัก บางครั้งพวกท่านอาจคิดว่า แอกที่แบกอยู่นั้นหนักมากจนเราลืมคิดไปว่า พระเจ้าประทานแอกนั้นมาให้เราแบกด้วยความชื่นชมยินดี ขอให้ท่านเรียนรู้จากพระเยซูผู้ทรงสุภาพและถ่อมตนในเรื่องนี้

o หน้าที่ของพระสังฆราชคือการเป็นหนึ่งเดียวกับพระคริสตเจ้า เราต้องมอบเชื้อแป้งที่ดีของความเป็นหนึ่งเดียวกันให้กับสังคมอเมริกัน

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก