“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

ข้อคิดจากพระวาจาประจำวัน  โดย..คุณพ่อฉลองรัฐ สังขรัตน์

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม 2016
วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 15 เทศกาลธรรมดา

พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกา ลก.10:25-37
         ขณะนั้น นักกฎหมายคนหนึ่งยืนขึ้นทูลถามเพื่อจะจับผิดพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ข้าพเจ้าจะต้องทำสิ่งใดเพื่อจะได้ชีวิตนิรันดร” พระองค์ตรัสถามเขาว่า “ในธรรมบัญญัติมีเขียนไว้อย่างไร ท่านอ่านว่าอย่างไร” เขาทูลตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดจิตใจ สุดวิญญาณ สุดกำลัง และสุดสติปัญญาของท่าน ท่านจะต้องรักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง“ พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ท่านตอบถูกแล้ว จงทำเช่นนี้ แล้วจะได้ชีวิต”

ชายคนนั้นต้องการแสดงว่าตนถูกต้อง จึงทูลถามพระเยซูเจ้าว่า “แล้วใครเล่าเป็นเพื่อนมนุษย์ของข้าพเจ้า”พระเยซูเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า “ชายคนหนึ่งกำลังเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังเมืองเยรีโค เขาถูกโจรปล้น พวกโจรปล้นทุกสิ่ง ทุบตีเขา แล้วก็จากไป ทิ้งเขาไว้อาการสาหัสเกือบสิ้นชีวิต สมณะผู้หนึ่งเดินผ่านมาทางนั้นโดยบังเอิญ เห็นเขาและเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่ง ชาวเลวีคนหนึ่งผ่านมาทางนั้น เห็นเขาและเดินผ่านเลยไปอีกฟากหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่ชาวสะมาเรียผู้หนึ่ง เดินทางผ่านมาใกล้ๆ เห็นเขาก็รู้สึกสงสาร จึงเดินเข้าไปหา เทน้ำมันและเหล้าองุ่นลงบนบาดแผลแล้วพันผ้าให้ นำเขาขึ้นหลังสัตว์ของตนพาไปถึงโรงแรมแห่งหนึ่งและช่วยดูแลเขา วันรุ่งขึ้นชาวสะมาเรียผู้นั้นนำเงินสองเหรียญออกมามอบให้เจ้าของโรงแรมไว้ กล่าวว่า ‘ช่วยดูแลเขาด้วย เงินที่ท่านจะจ่ายเกินไปนั้น ฉันจะคืนให้เมื่อกลับมา’ ท่านคิดว่าในสามคนนี้ใครเป็นเพื่อนมนุษย์ของคนที่ถูกโจรปล้น”เขาทูลตอบว่า “คนที่แสดงความเมตตาต่อเขา” พระเยซูเจ้าจึงตรัสกับเขาว่า “ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด”

(พระวาจาของพระเจ้า)

-------------------

        วันอาทิตย์วันนี้ เชิญชวนให้พิจารณา “ชีวิตธรรมดาที่บ้าน” แต่มองให้ลึกไปถึง “ชีวิตจิตวิญญาณ” ที่ “ยกระดับ” จากชีวิตธรรมดา

เมื่อเราพบอาหารที่ทำจากแป้งหมัก ต้องมีการ “แช่แป้ง” ไปทำอาหาร ขนม มีโม่แป้ง ทำเป็นเส้น ห่อใส่ใบตอง ไปนึ่ง ไปต้ม  ดังนั้น การให้คำนิยมาว่า “แน่เหมือนแช่แป้ง” เป็นสำนวนไทยที่หมายถึงระดับความแน่นอน หรือความแม่นยำในระดับสูง ที่มาน่าจะมาจากในสมัยก่อน สังคม คนไทยนิยมที่จะประกอบอาหารเอง และส่วนใหญ่ จะใช้แป้งโดยเฉพาะแป้งข้าวจ้าว หรือแป้งข้าวเหนียว เป็นส่วนประกอบหลัก เพราะประเทศไทยเป็นสังคม เกษตรกรรม ในการนำแป้งมาประกอบอาหาร ทั้งคาวและหวานจะต้องนำเม็ดข้าวมาเป็นวัตถุดิบ โดยต้องนำไปผ่านโม่ ซึ่งโม่ในสมัยก่อนจะประกอบ ด้วยส่วนประกอบ 2 ชิ้นโดยชิ้นบนสามารถหมุนได้ ส่วนชิ้นล่างจะวางอยู่กับที่

         จากกระบวนการโม่แป้งเม็ดข้าวที่นำมาทำแป้งจะต้องผ่านการทำให้นิ่มโดยการแช่ในน้ำก่อนล่วงหน้า เช่น 1 วันหรือ 1 คืนก่อนจะนำมาโม่ ดังนั้นเมื่อมีผู้เห็นว่าในบ้านมี การแช่ข้าว หรือเรียกว่าแช่แป้ง ก็จะมั่นใจได้เลยว่า แป้งข้าวนั้นจะนำไปทำอาหารอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน ซึ่งการที่แช่แป้งแล้วไม่นำไปประกอบอาหารแป้งนั้นก็จะเสียไปเลย ซึ่งจะเป็นประเด็นที่สนับสนุน ให้มีความมั่นใจเพิ่มขึ้น อีกว่าจะต้องได้เห็นหรือได้ทานอาหารที่ทำจากแป้งนั้นๆ แน่นอน

          “แน่เหมือนแช่แป้ง” เป็นการรับประกันว่า ได้กินอาหารหรือกินขนมประเภทนั้นๆ แน่นอน เพราะ “แช่แป้งไว้แล้ว” ไม่ทำไม่ได้

ความแน่นอน การตั้งมั่น วิธีการเดิม วิธีการเดียว ก็เป็น “ความแน่นอน” ในชีวิต และอีกด้านหนึ่งที่เราควรมีให้เพียบ พร้อมไปด้วยกันคือ  “ความเมตตา” และความเมตตานี่แหละ มาพร้อม ความยืดหยุ่น การปรับตัวปรับเปลี่ยน การฟังและขยายความอดทนให้ชนะความรำคาญ ความใจกว้างไม่ตีขอบ ไม่วางกรอบให้อึดอัด การให้โอกาสไม่กะเกณฑ์เขียนระดับมาตราฐานกลาง ดูเหมือนว่า “ความเมตตา” ยืดหยุ่นจนเสียเกณฑ์ ปรับได้จนทิ้งกรอบ แต่ก็นั่นแหละ เป็น “ความเมตตา”

             ในขณะที่พระวาจาจากหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ โมเสสได้กล่าวกับประชาชนชาวอิสราเอลว่า “ท่านจะต้องเชื่อฟังพระสุรเสียงขององค์พระผู้เป็นเจ้าของ ท่าน ปฎิบัติตามบทบัญญัติและข้อกำหนดที่เขียนไว้ ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ”

จะเป็น “กฎเกณฑ์” แต่สิ่งที่พระเยซูเจ้าสอนภายหลัง เหตุการณ์ที่ผ่านพ้น เมื่อคนมี “จิตใจโตขึ้น”

กฎเกณฑ์ ไม่ใช่ “กดขี่”

ระเบียบ ไม่ต้อง “รัดรุงรัง”

บัญญัติ ไม่ควร “ขัดความเจริญงอกงาม”

ที่มีความหมายว่า ถ้ากฏเกณฑ์อยู่ในมือ แล้วมือเราไม่ว่าง ถูกใส่มือด้วยอาวุธที่เป็นกฎเกณฑ์ เราจะรักเมตตาใครไม่ได้ เพราะเราจะตัดสิน ตัดขาด ตัดกัน ด้วยมีดดาบแห่งกฎเกณฑ์ เราจะมีทักษะคำพูดที่บอกว่า ทำไม่ได้ ไม่ให้ทำ ระวังผิดกฎ ผิดกฎหมาย และพร้อมที่จะเป็นคนตรงกันข้ามกับคน ผิดกฎหมาย ที่เป็น “การกดขี่” ที่จะตัดคนออกไปจากทาง ที่จะกันตัวเองออกไปเรื่องเปลืองตัว จะไม่มีคนสักคนหนึ่ง ที่นั่งฟัง นั่งรอ นั่งเฝ้า ให้โอกาส ในความหมายแบบนี้ พระเยซูเจ้า เคยนั่งให้หญิงที่ผิดประเวณี นั่งให้น้ำตารด และนำผมมาเช็ดพระบาท การนั่งรอคนหลุดกรอบผิดกฎ แบบนี้ เป็นความเมตตาที่ต้องขยายหัวใจ ไม่ใช่ ตัดคน ตัดสิน ตัดขาด เพราะเหตุไม่เข้ากฎ ไม่เดินตามกฎ ไม่เข้าทาง

           ดังนั้น ความเมตตาแบบองค์พระเยซูเจ้า จึงเป็นเรื่องที่ แสดงออกในชีวิตว่า ตนเป็นคนมีเกณฑ์ แต่ตนเองขยาย กฎเกณฑ์ให้โอกาสคน ด้วยเหตุของความช่วยเหลือเยียวยา ด้วยเรื่องการทำความเข้าใจให้โอกาสเปลี่ยนแปลง และฟื้นฟูตัว ที่เป็น “คนแห่งความเมตตาดังที่พระเจ้า องค์ความเมตตา” มีพระเมตตาต่อเรา

ดังที่บทอ่านจากจดหมายนักบุญเปาโลอัครสาวกถึงชาว โคโลสี ที่ว่า “พระคริสตเจ้าทรงเป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้า ที่เรามองไม่เห็น”

หมายความว่า หน้าตา ท่าทาง ของพระเจ้า ที่เราเห็นได้ ไม่ใช่ หน้าตา ท่าทาง แค่ความใจดีมีเมตตา เหมือนดัง ที่เราเห็นรูปวาด รูปปั้นของพระเจ้าองค์ความเมตตาของ พระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้น  แต่เป็น “กิจการที่ไหลออกมาจาก” องค์พระเยซูเจ้า ในรูปแบบความรักความเมตตา

          ดังนั้น การเป็น คนไม่ยืดหยุ่น ไม่ปรับเปลี่ยน ไม่หันหน้าเข้าหา ไม่เอียงคอมองดู ตั้งเกณฑ์แข็งข้น นิ่งแน่เหมือน “แช่แป้ง” ตามมุมมองหลักการภาษาอังกฤษ เรียกว่า Crystallization คือ ปรากฏการณ์ซึ่งโมเลกุลในสถานะของเหลว หรือในสารละลายมารวมกันอย่างเป็นระเบียบ เกิดเป็นผลึก (crystal)

การแข็งขืนยืนแช่แป้ง ตกผลึกยึดฐานะที่มั่นคง ไม่กล้าปรับเปลี่ยน ยืนกราน รักษาสถานะ กลัวเสียหน้า ไม่กล้าลงจากสถาภาพ หอคอยงาช้าง จึงเป็น การสะท้อนความไม่เมตตาในมุมมองทิศทางหนึ่งเช่นกัน ดังเช่น เรื่องเล่าถึง บุคคลที่ต้องรักเพื่อนมนุษย์ แต่ “สมณะผู้หนึ่ง..เห็นเขาและเดินผ่านไปอีกฟากหนึ่ง” และ “ชาวเลวีคหนึ่งผ่านมาทางนั้น เห็นเขาและเดินผ่านไปอีก ฟากหนึ่งเช่นกัน”

“บุคคลที่ต้องรักเพื่อนมนุษย์” เป็น “บุคคลแห่งพระ เมตตา”  แต่เมื่อเรารักตัวเองมากกว่า รักสถานภาพมากกว่า รักตัวตนในยืนตรงในสังคมมากกว่า รักหน้าตาที่ต้อง ไม่บูดเบี้ยวเสียโฉม เรารักตัวเองมากกว่าแล้ว

              ดังนั้น บุคคลที่พร้อมจะรักเมตตา พร้อมจะเป็น บุคคลแห่งความรักความเมตตา ดุจดังพระเจ้า องค์ความเมตตา จึงเป็นบุคคลที่เสียโฉมไปดุจดัง พระเยซูคริสตเจ้า เปลืองตัวไปเหมือนพระเยซูเจ้าที่ถูก กระทำ จากผู้ถือกฎ ผู้กอดเกณฑ์ ผู้จับวางพระบัญญัติ

รูปแบบของชาวสะมาเรีย คือ “การออกนอกกรอบ” การไม่ทำให้แข็งข้น นอนก้นเหมือนแช่แป้ง การปรับเปลี่ยน ตามสถานการณ์แห่ความรักควาเมตตาที่เรียกร้อง จากความจำเป็นที่บาดเจ็บ จากความขัดสนที่ร้องขอ จากความอ่อนด้อยที่นอนมอง และสถานการณ์แห่ง ความเมตตาก็ “มักจะเป็นแบบนี้”  

ไม่ให้การเตรียมตัว ไม่มีอะไรวางการณ์ไว้ล่วงหน้า ไม่มีอะไรแข็งข้นหมักแช่ไว้ก่อนได้  

ความรักความเมตตา “เรียกร้อง” ให้เราเป็นคนเพื่อคนอื่น ไม่ใช่ ยืนกรานเพื่อตัวเอง

ความรักความเมตตา ทำให้เราปรับเปลี่ยน ไม่ใช่ “ปรับคนอื่นมายืนข้างเรา”

และนี่แหละ เป็น “ภาพลักษณ์” ของความเมตตาที่ พระเจ้าองค์ความรักความเมตตากระทำต่อเรา และต่อเพื่อน พี่น้อง ผ่านทางเรา ที่จะกลับกลายเป็น “บุคคลแห่งความรัก ความเมตตาได้” ด้วย “กิจการความรักความเมตตาต่อพี่น้อง

            ดังนั้น จึงสอดคล้องกับพระวาจาที่บอกว่า “ท่านจงไปและทำเช่นเดียวกันเถิด”
ขอพระเจ้าองค์ความเมตตา อวยพรให้เราเป็น บุคคลแห่งความรักความเมตตาด้วย

 

 

(Credit จาก Facebook คุณพ่อฉลองรัฐ สังขรัตน์)

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก