"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพัง”

29.อัครสาวกกลับมาเฝ้าพระเยซูเจ้า ( มก 6:30-33 )
6 30บรรดาอัครสาวกกลับมาเฝ้าพระเยซูเจ้าและทูลรายงานให้ทรงทราบถึงทุกสิ่งที่เขาได้ทำและได้สอน 31พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพังในที่สงัดระยะหนึ่งเถิด” เพราะมีคนไปมาจนเขาไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะกินอาหาร 32พระเยซูเจ้าจึงทรงลงเรือไปยังที่สงัดตามลำพังพร้อมกับบรรดาอัครสาวก 33ประชาชนหลายคนเห็นพระเยซูเจ้ากับบรรดาอัครสาวกแล่นเรือออกไป ก็คาดคะเนได้ว่า พระองค์จะทรงไปที่ใด จึงรีบเดินเท้าออกจากเมืองต่างๆ ไปที่นั่นและไปถึงก่อน


a)    อธิบายความหมาย
ข้อความนี้เล่าเรื่องต่อเนื่องจากข้อความใน 6 :6ข-13 เมื่อพระเยซูเจ้าทรงส่งอัครสาวกทั้ง 12 คน ไปประกาศข่าวดี และในเวลาเดียวกันยังเป็นบทนำของเรื่องพระเยซูเจ้าทรงทวีขนมปัง เป็นบทนำที่ช่วยผู้อ่านให้เข้าใจความหมายของอัศจรรย์ประการนี้

- บรรดาอัครสาวกกลับมาเฝ้าพระเยซูเจ้า บรรดาอัครสาวกมีความสุขเพราะเหตุผล 2 ประการ ประการแรกเพราะได้ประสบความสำเร็จในการประกาศข่าวดี และยินดีที่จะรายงานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประการที่ 2 เพราะเขาได้กลับมาอยู่กับพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นจุดประสงค์กระแสเรียกของตน "พระองค์จึงทรงแต่งตั้งอัครสาวกสิบสองคนให้อยู่กับพระองค์ และเพื่อจะทรงส่งเขาออกไปเทศน์สอน" (มก 3:14)

- และทูลรายงานให้ทรงทราบถึงทุกสิ่ง บางทีบรรดาอัครสาวกได้แจ้งข่าวให้พระเยซูเจ้าทรงทราบว่า ยอห์นผู้ทำพิธีล้างถูกประหารชีวิตแล้ว ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้พระเยซูเจ้าทรงตัดสินพระทัยจะทรงนำบรรดาอัครสาวกไปตามลำพังในที่สงัดอีกด้วย

- ที่เขาได้ทำและได้สอน กริยาสองคำนี้แสดงลักษณะของการเทศน์สอนของบรรดาอัครสาวกคือ ก่อนอื่น เขาเล่ากิจการน่าอัศจรรย์ที่ได้กระทำ แล้วเสริมเรื่องที่เขาได้สั่งสอนประชาชน ในที่นี้ นักบุญมาระโกแสดงให้เห็นว่าบรรดาอัครสาวกปฏิบัติภารกิจตามพระฉบับของพระเยซูเจ้าอย่างดีเยี่ยม เพราะพระองค์ทรงประกาศข่าวดีของพระเจ้า (เทียบ มก 1:14, 38,39) ทรงสั่งสอน (เทียบ มก 1:21; 2:13; 4:1; 6:2-6) ทรงขับไล่ปีศาจ (เทียบ มก 1:26-27, 34, 39; 5:1-13) และทรงรักษาผู้ป่วย (เทียบ มก 1:31, 34, 41-42; ฯลฯ)

- พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพังในที่สงัดระยะหนึ่งเถิด” พระเยซูเจ้าทรงเป็นห่วงและทรงเอาพระทัยใส่บรรดาศิษย์ของพระองค์ การอยู่ห่างจากความวุ่นวายของประชาชนไม่มีจุดประสงค์เพียงเพื่อพักผ่อนเท่านั้น แต่เป็นโอกาสที่จะได้สนทนาอย่างเป็นกันเองในกลุ่ม เพื่อเขาทั้งหลายจะได้มีความรู้มากยิ่งขึ้นถึง "ธรรมล้ำลึกเรื่องพระอาณาจักรของพระเจ้า" (มก 4:11) เหมือนกับว่า การปฏิบัติภารกิจนี้มีสองจังหวะคือ การประกาศข่าวดีช่วงเวลาหนึ่ง แล้วหยุดมาอยู่ในที่สงัดอีกช่วงหนึ่ง เพื่อพักผ่อนและอธิษฐานภาวนา (เทียบ มก 1:35, 45; 6:46; 9:2) การกระทำทั้งสองจังหวะนี้มีความจำเป็นเพื่อทดสอบการปฏิบัติภารกิจและความซื่อสัตย์ต่อพระวาจาของพระเจ้า

- เพราะมีคนไปมาจนเขาไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะกินอาหาร การประกาศข่าวดีของพระเยซูเจ้าและของบรรดาอัครสาวกทำให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นต้องการพบพระองค์พร้อมกับบรรดาศิษย์ จนกระทั่งมีคนไปมาขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา การที่บรรดาอัครสาวกไม่มีเวลาแม้กินอาหารเป็นการเตรียมเรื่องที่จะเล่าต่อไปเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าทรงทวีขนมปัง (เทียบ มก 6:34-44)

- พระเยซูเจ้าจึงทรงลงเรือไปยังที่สงัดตามลำพังพร้อมกับบรรดาอัครสาวก ในที่นี้ไม่บอกว่าสถานที่เงียบสงัดอยู่ที่ใด อย่างไรก็ตาม โดยปกติพระเยซูเจ้าทรงเลือกเมืองคาเปอรนาอุมเป็นศูนย์กลางของการเทศนาสั่งสอน ที่สงัดนี้คงจะอยู่ไม่ไกลจากเมือง เพราะประชาชนเดินเท้าไปพบพระองค์ได้ (เทียบ มก 6:33)    นักบุญลูกาเล่าเรื่องเช่นเดียวกันโดยบันทึกว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่เมืองเบธไซดา (เทียบ ลก 9:10) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี ห่างจากเมืองคาเปอรนาอุมประมาณ 10 กิโลเมตร   

- ประชาชนหลายคนเห็นพระเยซูเจ้ากับบรรดาอัครสาวกแล่นเรือออกไป ก็คาดคะเนได้ว่า พระองค์จะทรงไปที่ใด จึงรีบเดินเท้าออกจากเมืองต่างๆ ไปที่นั่นและไปถึงก่อน ขณะที่พระเยซูเจ้ากับบรรดาอัครสาวกแล่นเรือข้ามทะเลสาบจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออก ประชาชนเดินเท้าเลียบไปตามชายขอบทะเลสาบและถึงสถานที่จุดมุ่งหมายของเรือก่อนพระเยซูเจ้ามาถึง