“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันเสาร์ที่ 12 สิงหาคม 2017
สัปดาห์ที่สิบแปด เทศกาลธรรมดา
มธ 17:14-20…
        14เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับศิษย์ทั้งสามคนมาพบประชาชน ชายผู้หนึ่งเข้ามาเฝ้าพระองค์ คุกเข่าลงทูลว่า 15“พระเจ้าข้า โปรดสงสารลูกชายของข้าพเจ้าเถิด เขาเป็นโรคลมชัก ทนทรมานมาก เคยตกไฟตกน้ำหลายครั้ง 16ข้าพเจ้าพาเขามาหาศิษย์ของพระองค์ แต่เขารักษาให้หายไม่ได้”

17พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า “คนหัวดื้อ เชื่อยาก และชั่วร้าย เราจะต้องอยู่กับพวกท่านอีกนานเท่าใด จะต้องทนพวกท่านอีกนานเท่าใด พาเด็กมาพบเราที่นี่เถิด” 18พระเยซูเจ้าทรงขู่ปีศาจ มันจึงออกไปจากเด็ก เด็กก็หายเป็นปกติตั้งแต่นั้น 19บรรดาศิษย์จึงเข้าเฝ้าพระเยซูเจ้าเป็นการส่วนตัว ทูลถามว่า “ทำไมพวกเราจึงขับไล่มันไม่ได้” 20พระองค์ตรัสว่า “เพราะท่านมีความเชื่อน้อยเราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านมีความเชื่อสักเท่าเมล็ดมัสตาร์ด แล้วพูดกับภูเขานี้ว่า ‘จงย้ายจากที่นี่ ไปที่โน่น’ มันก็จะย้ายไป และไม่มีอะไรที่ท่านจะทำไม่ได้”

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง

• มาถึงพระวาจาตอนนี้ทีไร พ่อตื่นเต้นทุกทีกับการที่ต้องอธิบายอย่างระมัดระวัง และอันที่จริงต้องอธิบายเปรียบเทียบกับพระวรสารนักบุญมาระโกจะดีมากๆ (ดู มก 9:14-29) เพราะมาระโกเน้นเรื่องราวการลงจาภูเขาทาบอร์ ลงมาและพบกับเหตุการณ์ของเด็กที่เป็นโรคลมชักหรือ “โรคลมบ้าหมู” (Epileptic) ซึ่งเกิดกับเด็กชายคนนี้

• ประเด็นสำคัญคือเรื่องเดียวกันนี้ในพระวรสารนักบุญมาระโกไม่ได้บอกว่าเป็นโรคลมชักนะครับ แต่นักบุญมาระโกบอกว่า “เด็กคนนี้ถูกปีศาจสิงให้เป็นใบ้” และเมื่อในที่สุดพระองค์ขับไล่ปีศาจ พระองค์ได้เรียกเจ้าปีศาจตัวนี้ว่า “เจ้าปีศาจหนวกใบ้ เราสั่งเจ้าให้ออกไปจากเด็กคนนี้และอย่ากลับเข้ามอีกเลย”

• ดูประเด็นรายละเอียดของการบันทึกของมาระโก และมัทธิว มีจุดต่างกันอยู่ที่เราน่าสนใจนะครับ พ่อแยกมาให้ดูชัดๆครับ
o มัทธิว บันทึกเรื่องราวสั้นๆ และบอกว่าเด็กเป็นโรคลมชัก หรือลมบ้าหมู แต่เวลาที่พระองค์ได้พบเด็กคนนี้ พระองค์รักษาเขาโดยการขู่และขับไล่ปีศาจให้ออกไป แสดงว่า ความคิดของมัทธิว ไม่ได้ต่างจากมาระโกเลย
o มาระโก บันทึกยาวกว่ามาก และเน้นว่าเขาถูกปีศาจสิงทำให้เป็นใบ้ และพระเยซูเจ้าเรียกชื่อ “ปีศาจหนวกใบ้” และมาระโกเน้นว่า พระเยซูเจ้าสนใจถามว่าเด็กเป็นมาตั้งแต่เมื่อใด คำตอบคือตั้งแต่เป็นเด็กเล็กๆเลย

• ไม่แปลกที่มัทธิวเรียกว่า “โรคลมชัก” แต่มาระโกเรียกว่า “เจ้าปีศาจหนวกใบ้”... อันที่จริงอาการลมชักเป็นอย่างไร เราอาจจะต้องอ่านพระวรสารนักบุญมาระโกที่อธิบายได้ชัดดีมากๆ “ล้มลง น้ำลายฟูมปาก กัดฟัน และตัวแข็งทื่อ” อาการนี้คืออาการลมชัก หรืออาการที่กล่าวได้ว่า ไม่สามารถฟัง ไม่สามารถพูด และเป็นอาการของการ ไม่สามารถฟัง ไม่สามารถตอบสนองใดๆได้เลย... จะเรียกว่า อาการลมชัก หรืออาการปีศาจสิงทำให้ใบ้ หนวก พูดไม่ได้ ไม่สามารถตอบสนองนั่นเอง คิดดีๆ เวลาคนเราดื้อไม่อยากฟัง ไม่อยากยอมรับ ไม่อยากเชื่อ ไม่อยากตอบสนอง เป็นตายก็ไม่ยอมเชื่อ อาการจะเกร็ง กัดฟัน ขุ่นมั่ว ไม่ยอมฟัง ไม่ยอมพูด เหมือนคนหนวกใบ้คล้ายโรคลมชักเล่นงานเหมือนกัน... ดื้อๆๆๆ ตัวแข็งทื่อ ใจแข็งมาก อะไรทำนองนี้

• สิ่งที่น่าสนใจคือ ทำไมศิษย์ของพระองค์ขับไล่มันไม่ได้... ตรงนี้น่าสนใจมาก...

• ชายคนนั้นที่เป็นพ่อของเด็กได้ร้องบอกพระเยซูเจ้า “ข้าพเจ้าพาเขามาหาศิษย์ของพระองค์ แต่เขารักษาให้หายไม่ได้”
o เราเห็นความไม่สามารถของบรรดาศิษย์เมื่อพวกเขาอยู่ตามลำพัง โดยไม่มีพระเยซูเจ้า
o แน่นอนว่า ผู้ที่นำเด็กมาหาพวกเขาคิดว่าพวกเขาจะทำอะไรได้บ้าง คือทำได้อย่างพระเยซูเจ้า และ
o ดูเหมือนว่า บรรดาศิษย์ทั้งเก้าคนที่อยู่ที่เชิงเขานั้นคงได้ลองกระทำแล้วเป็นแน่ เป็นไปได้ไหมว่าพวกเขาได้พยายามลองทุกวิถีทางแล้ว เพราะพระวรสารบันทึกว่า “แต่เขาทำไม่สำเร็จ”

• พระเยซูเจ้าตรัสพ้อความไม่สามารถของบรรดาศิษย์ น่าอ่านครับ “คนหัวดื้อ เชื่อยาก และชั่วร้าย เราจะต้องอยู่กับพวกท่านอีกนานเท่าใด จะต้องทนพวกท่านอีกนานเท่าใด พาเด็กมาพบเราที่นี่เถิด” พ่ออ่านแล้วต้องร้องว่า “โอ้โห เป็นคำตัดพ้อ ตำหนิความไม่สามารถของพวกเขาที่เป็นคำตรัสที่แรงมาก”

• เรื่องราวนี้คล้ายๆกับเรื่องราวสมัยโมเสสขึ้นไปพบพระเจ้าบนภูเขาเหมือนกัน แต่เป็นภูเขาซีนัย และเมื่อกลับลงมาอาการของโมเสสเมื่อลงมาจากภูเขา และพบสภาพความวุ่นวาย “เมื่อโมเสสเข้ามาใกล้ค่าย เขาก็เห็นรูปลูกโคและเห็นประชากรกำลังเต้นรำ โมเสสโกรธมาก”
o ข้อสังเกตคือ พระเยซูเจ้าไม่ได้ตำหนิความไม่สามารถของพวกเขา
o แต่เนื้อหาที่พระองค์ตำหนิอย่างแรงคือ “ความหัวดื้อ และเชื่อยาก”
o ถ้าถามว่าที่พระองค์ตรัสว่า “หัวดื้อ เชื่อยาก” นั้น คือเชื่ออะไร? คำตอบที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือพวกเขายังไม่เชื่อว่าพระองค์เป็นพระคริสต์อย่างครบครันในความหมายของพระองค์ที่เสนอแก่เขานั่นเอง คือพระคริสต์ที่จะต้องรับทรมาน สิ้นพระชนม์และกลับคืนพระชนม์ และถ้าเราหันกลับไปพิจารณาสิ่งที่ศิษย์สามคนได้ขั้นไปบนภูเขาทาบอร์ก่อนหน้านี้ “เสียงของพระบิดาจากเมฆนั้น สั่งพวกเขา “จงฟัง...” (Shema) หรือเชื่อฟังพระองค์เถิด

• คนหัวดื้อ เชื่อยาก และชั่วร้าย เราจะต้องอยู่กับพวกท่านอีกนานเท่าใด จะต้องทนพวกท่านอีกนานเท่าใด พาเด็กมาพบเราที่นี่เถิด”
o สิ่งที่คำแปลภาษาไทยที่เราอ่านอยู่นี้ไม่ได้แปลไว้คือ... คำว่า “โอ” คำอุทานร้อง “โอ” นี้สำคัญและมีความหมายมากๆ ต้องอธิบาย ละไว้ไม่ได้เด็ดขาดเลยครับ เรามาดูคำแปลภาษาอังกฤษ และดูภาษาต้นฉบับกันครับ
o ดูภาษาอังกฤษ ครับ "O faithless and perverse generation, " (Mat 17:17 RSV)
o ดูภาษากรีกต้นฉบับยิ่งชัด “Ὦ γενεὰ ἄπιστος καὶ διεστραμμένη, (Mat 17:17 GNT)”

• คำร้องอุทาน “โอ” ในภาษาอังกฤษมี และในภาษากรีกบันทึกไว้โดยมัทธิว มาระโกก็บันทึกเหมือนกัน คือ ตัวอักษร “เอเมกา Ὦ ตัวใหญ่ด้วย” ดังนั้น เราพบเจตนาเต็มๆ ว่า พระเยซูเจ้าทรงอุทาน “โอ” กับอาการขาดความเชื่อ อาการหัวดื้อของบรรดาศิษย์” ที่พวกเขาไม่สามารถรักษาเด็กที่เป็นโรคลมชักคนนี้ (หรือถูกปีศาจหนวกใบ้สิง) พระเยซูเจ้าทรงชี้ให้เห็นความ ความไม่สามารถของพวกเขา มาจาก “การไม่เชื่อฟัง” พระเยซูเจ้าอย่างเต็มที่นั่นเอง

• เสียงอุทาน “โอ” คือเสียงแสดงอาการผิดหวัง “Oh” ซึ่งมีใช้ในพระวรสารอยู่อีกในบางตอน และการร้อง “โอ” นี้ ใช้เฉพาะในบริบทของ “การขาดความเชื่อ” ทั้งสิ้น (มธ 15:28, ลก 24:25)

• สิ่งที่เราควรไตร่ตรองอีกนิดคือ... ทำไมศิษย์รักษา หรือขับไล่ปีศาจออกไปจากเด็กคนนี้ไม่ได้??
o มัทธิวเน้นว่าเพราะพวกเขา “ขาดความเชื่อ”
o “ความเชื่อจำเป็นเพื่อรักษา หรือเพื่อขับไล่ปีศาจชนิดนี้ออกไปให้ได้

• เราจะเห็นว่า พระเยซูเจ้าทรงยืนยันถึงความสามารถนั้นมีรากฐานมาจากสิ่งที่สำคัญคือ “ความเชื่อ” และถ้าถามว่าเชื่อในอะไร หรือในใคร คำตอบของพระวรสารก็คือ เชื่อในพระองค์นั้นเอง ความเชื่อในบริบทของการอัศจรรย์นั้นควบคู่กันเสมอ (ดู มก 2:5; 5:34.36; 6:5 ; 9:23; 10:52)

• พี่น้องที่รัก พ่อสรุปครับ...
o จำเป็นครับ ที่เราต้องมีความเชื่อ เพื่อขจัดปีศาจความหนวกใบ้ หรือ ขจัดความหัวดื้อเชื่อยากให้ออกไปจากชีวิตของการเป็นศิษย์ติดตามพระคริสตเจ้าครับ
o เมื่อพระเยซูเจ้าไม่อยู่กับบรรดาศิษย์ที่เชิงเขานั้น พวกเขาเกิดความลำบากเพราะการไร้ซึ่งความสามารถเพียงใด และเมื่อพระองค์กลับมานั้น พระองค์เท่านั้นที่สามารถทำสิ่งที่ดูเหมือนเกินกำลังของพวกเขา จำเป็นครับ ที่ชีวิตของเราต้องมีพระเยซูเจ้าเป็นพลังเป็นความเชื่อที่สุดของเราคริสตชนจริงๆพี่น้องรู้สึกไหมว่า พี่น้องเชื่อและมีพระเยซูเจ้าอยู่ด้วยเสมอในชีวิต
o ในการทำหน้าที่ประจำวันของเรา ความสามารถที่แท้จริงของเรามีรากฐานอยู่ในพระองค์พระเยซู หรือเราคิดว่าความสามารถทั้งหลายนั้นอยู่ในกำลังของเราเอง???
o พวกศิษย์ตกอยู่ในวงล้อมของคนอื่นๆ เพราะขาดความสามารถด้วยว่าพระเยซูเจ้าไม่อยู่กับพวกเขา พี่น้องที่รักเราต้องไม่ตกอยู่ในวงล้อมหรือการครอบงำของกระแสโลกหรือกระแสของความหนวกใบ้บอด ตัวแข็งทื่อ แบบลมชักที่ไม่สามารถตอบโตกระแสโลก...พี่น้องเคยตกอยู่ในสภาพแบบนั้นไหม???
o เราเห็นความจำเป็นที่ชีวิตของเราต้องมีพระองค์ประทับอยู่ด้วยเพียงใด??
o ต่อความจริงของพระคริสตเจ้าที่พระองค์ทรงรับทนทรมาน สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพ พี่น้องที่รักครับ พี่น้องได้เห็น ได้ฟัง ความจริงนี้ชัดเจนเพียงใด หรือยัง “หนวกใบ้ กัดฟัน ตัวแข็งทื่อ น้ำลายฟูมปากแบบคนเป็นโรคลมชัก หรือถูกผีสิงให้เป็นใบ้ต่อความจริงของพระคริสตเจ้า พระเจ้าองค์ความรักและความเมตตา และองค์พลังแห่งความเชื่อของเรา”

• พี่น้องที่รัก... ขอให้เรามีความเชื่อเพียงเท่าเมล็ดมัสตาร์ดดังที่พระองค์ตรัส.. เราจะสามารถจริงๆนะครับ “เพราะท่านมีความเชื่อน้อยเราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านมีความเชื่อสักเท่าเมล็ดมัสตาร์ด แล้วพูดกับภูเขานี้ว่า ‘จงย้ายจากที่นี่ ไปที่โน่น’ มันก็จะย้ายไป และไม่มีอะไรที่ท่านจะทำไม่ได้”
o พ่อขอให้เรามาช่วยกันเคลื่อนภูเขาที่ขวางกันหนทางของพระเจ้า ภูเขาของกระแสโลก ความโลภ ความโกรธ ความเห็นแก่ตัว และสภาพของโลก สังคม การเมือง เศรษฐกิจที่มันอาจจะกำลังสิงตัวเรา สิงสังคมคริสตชน จนพวกเรามีอาการหัวดื้อ เชื่อยาก และตัวแข็งทื่อ ใจแข็งกระด้างในการกลับใจอย่างแท้จริง ในการก้าวเดินออกไปเป็นพระพร ความรัก ความเมตตา สำพี่น้องรอบข้าง
o ขอให้เรามีความเชื่อในพระองค์มากขึ้น และขอพระองค์ทวีความเชื่อให้เรากล้า มีกำลังที่จะออกจากความจำกัดไปสู่ความยิ่งใหญ่แห่งความรักเมตตาของพระเจ้านะครับ...

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก