“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“จงระวังอย่าให้ใครหลอกลวงท่านได้”

68. ความทุกข์จะเริ่มขึ้น ความทุกขเวทนาอย่างใหญ่หลวงของกรุงเยรูซาเล็ม (มก 13:5-23)
      13 5พระเยซูเจ้าจึงตรัสตอบว่า “จงระวังอย่าให้ใครหลอกลวงท่านได้ 6หลายคนจะอ้างนามของเราพูดว่า ‘เราเป็นพระคริสต์’ และจะหลอกลวงคนจำนวนมากให้หลงผิดไป 7เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินข่าวลือเรื่องสงครามทั้งใกล้และไกล จงอย่าตกใจ เหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้น แต่ยังไม่ถึงวาระสุดท้าย 8ชนชาติหนึ่งจะลุกขึ้นต่อสู้กับอีกชนชาติหนึ่ง อาณาจักรหนึ่งจะลุกขึ้นต่อสู้กับอีกอาณาจักรหนึ่ง แผ่นดินไหวและความอดอยากจะเกิดขึ้นหลายแห่ง จะเป็นเหมือนการเริ่มต้นของความทุกข์ในการคลอดบุตร


         9“จงระวังตัวให้ดี เขาจะมอบท่านให้ศาล ท่านจะถูกทุบตีในศาลาธรรม และท่านจะยืนต่อหน้าผู้ว่าราชการและกษัตริย์เพราะเรา เพื่อเป็นพยานถึงเราต่อหน้าพวกเขา 10แต่ก่อนหน้านั้นข่าวดีจะต้องได้รับการประกาศแก่ชนทุกชาติแล้ว

          11“เมื่อเขานำท่านไปส่งมอบนั้น จงอย่ากังวลเลยว่าจะต้องพูดอะไร แต่จงพูดตามที่พระเจ้าทรงดลใจในเวลานั้นเถิด เพราะผู้พูดนั้นไม่ใช่ท่าน แต่เป็นพระจิตเจ้า 12พี่น้องจะกล่าวโทษกัน พ่อจะกล่าวโทษลูก ลูกจะลุกขึ้นมากล่าวหาพ่อแม่เพื่อให้ถูกประหารชีวิต 13ท่านทั้งหลายจะเป็นที่จงเกลียดจงชังของทุกคนเพราะนามของเรา แต่ผู้ใดยืนหยัดอยู่จนถึงวาระสุดท้าย ผู้นั้นก็จะรอดพ้น
14“เมื่อใดที่ท่านทั้งหลายเห็นผู้ทำลายที่น่ารังเกียจยืนอยู่ในที่ไม่สมควร ผู้อ่านจงเข้าใจเองเถิดว่าหมายถึงอะไร เมื่อนั้น ให้ผู้ที่อยู่ในแคว้นยูเดียหนีไปยังภูเขา 15ผู้ที่อยู่บนดาดฟ้าก็อย่าลงมาเก็บข้าวของในบ้าน 16ผู้ที่อยู่ในทุ่งนา จงอย่ากลับไปเอาเสื้อคลุมที่บ้าน 17น่าสงสารหญิงมีครรภ์และแม่ลูกอ่อนในวันนั้น 18จงอธิษฐานภาวนาอย่าให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในฤดูหนาว 19เพราะในเวลานั้น จะมีความทุกขเวทนาอย่างที่ไม่เคยมีตั้งแต่พระเจ้าทรงสร้างโลกมาจนถึงบัดนี้ และจะไม่มีต่อไปอีกเลย 20ถ้าองค์พระผู้เป็นเจ้ามิได้ทรงให้วันเหล่านั้นสั้นลงแล้ว มนุษย์ทุกคนก็จะพินาศ แต่พระองค์ทรงให้วันเหล่านั้นสั้นลงเพราะทรงเห็นแก่ผู้ที่พระองค์ทรงเลือกสรรไว้

      21“เวลานั้น ถ้าผู้ใดบอกท่านว่า ‘พระคริสต์อยู่ที่นี่’ หรือ ‘พระคริสต์อยู่ที่นั่น’ จงอย่าเชื่อ 22เพราะจะมีพระคริสต์เทียมและประกาศกเทียมหลายคนเกิดขึ้น จะทำเครื่องหมายอัศจรรย์และปาฏิหาริย์ ถ้าเป็นไปได้จะหลอกลวงผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรรไว้ 23ท่านทั้งหลายจงระวังให้ดี เราได้กล่าวถึงเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ให้ฟังไว้ก่อนแล้ว

อธิบายความหมาย
             คำปราศรัยของพระเยซูเจ้าเรื่องอันตวิทยาไม่เป็นความคิดที่ใช้ภาษาสัญลักษณ์เพื่อบรรยายการทำลายล้างโลก หรือเป็นความคิดที่ใช้จินตนาการเพื่อแสวงหาเครื่องหมายและคำพยากรณ์เกี่ยวกับอวสานของโลก แต่เป็นคำตักเตือนสำหรับผู้มีความเชื่อให้มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความตึงเครียด เพื่ออนาคตใหม่ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้จะเป็นจริง คริสตชนไม่รอคอยอวสานของโลก แต่รอคอยสิ่งที่เขาหวังไว้ให้สำเร็จลุล่วงไป เมื่อบุตรแห่งมนุษย์จะเสด็จกลับมา ในการพิจารณาบทนำของคำปราศรัยที่เราได้อ่านเมื่อครั้งที่แล้ว บรรดาศิษย์แสดงความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับเครื่องหมายกาลเวลาของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันสิ้นพิภพ ส่วนในข้อความนี้พระเยซูเจ้าไม่สนพระทัยความอยากรู้อยากเห็นของบรรดาอัครสาวก แต่ทรงต้องการให้กลุ่มคริสตชนในอนาคตกล้าเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในหมู่เขาและโดยรอบอย่างถูกต้อง

- พระเยซูเจ้าจึงตรัสตอบว่า “จงระวังอย่าให้ใครหลอกลวงท่านได้ บรรดาศิษย์อยู่ในอันตรายที่จะเข้าใจผิดและปล่อยให้ผู้ที่ไม่มีหลักศีลธรรมหลอกลวงเขา เมื่อโลกนี้ดูเหมือนจะแตกสลาย มนุษย์ต้องระวังพ่อค้าผู้ขายยาจอมปลอมที่โฆษณาสรรพคุณรักษาโรคทุกชนิด หรือบุคคลเท็จเทียมที่เสนอตนว่าเป็นผู้ช่วยให้รอดพ้น

- หลายคนจะอ้างนามของเรา ในบริบทนี้และตามพระวาจาที่เราจะพบในข้อ 21-22 การอ้างพระนามในที่นี้หมายถึงการแย่งชิงพระนามของพระคริสตเจ้า ดังนั้น พระเยซูเจ้าจึงทรงยืนยันอำนาจของพระเมสสิยาห์อย่างเป็นนัย ๆ

- พูดว่า ‘เราเป็นพระคริสต์’ และจะหลอกลวงคนจำนวนมากให้หลงผิดไป หมายถึงบุคคลที่ชาวอิสราเอลรอคอยด้วยความหวังคือพระเมสสิยาห์ ประวัติศาสตร์ของชาวยิวในศตวรรษแรกของคริสตกาลบันทึกชื่อของบุคคลหลายคนที่หลอกลวงหรือปลุกระดมประชาชน โดยอ้างว่าตนมีอำนาจวิเศษทางศาสนา (เทียบ กจ 5:35-37; 8:9-10; 21:38) บุคคลแรกในจำนวนนี้ที่ชาวยิวตั้งชื่อว่าพระเมสสิยาห์คือ บาร์ โคเซบา (Bar Koseba) หัวหน้าของผู้กบฏต่อรัฐบาลโรมในปี 132 -135

- เมื่อท่านทั้งหลายได้ยินข่าวลือเรื่องสงครามทั้งใกล้และไกล จงอย่าตกใจ เหตุการณ์เหล่านี้จำเป็นต้องเกิดขึ้น นี่ไม่ใช่การอ้างเหตุผลอธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิดสงครามและภัยพิบัติ แต่เป็นการอ้างทัศนคติของปัญญาชนในสมัยนั้นที่ใช้ภาษาสัญลักษณ์ เพื่ออธิบายประวัติศาสตร์มนุษย์ว่ามีจุดจบตามแผนการของพระเจ้า ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถคาดคะเนได้

- แต่ยังไม่ถึงวาระสุดท้าย ชนชาติหนึ่งจะลุกขึ้นต่อสู้กับอีกชนชาติหนึ่ง อาณาจักรหนึ่งจะลุกขึ้นต่อสู้กับอีกอาณาจักรหนึ่ง แผ่นดินไหวและความอดอยากจะเกิดขึ้นหลายแห่ง สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็จำเป็นต้องเกิดขึ้น (เทียบ อสย 19:2; 2 พศด 15:6) แต่ไม่เป็นจุดจบโลกเก่าแก่หรือเครื่องหมายของอวสานกาล เป็นเพียงเครื่องหมายแสดงการเริ่มต้นของความทุกขเวทนา ดังนั้น สงคราม แผ่นดินไหวและความอดอยาก ต้องไม่ทำให้บรรดาศิษย์หวาดกลัว เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์และไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการสิ้นพิภพ และไม่เป็นเครื่องหมายของอวสานกาลเช่นกัน พันธสัญญาเดิมเคยอ้างถึงภัยพิบัติเหล่านี้บ่อย ๆ พระเยซูเจ้าจึงไม่ตรัสถึงเหตุการณ์เฉพาะเจาะจงที่จะต้องเกิดขึ้นก่อนที่กรุงเยรูซาเล็มจะถูกทำลาย ดังที่บางคนตีความหมาย

- จะเป็นเหมือนการเริ่มต้นของความทุกข์ในการคลอดบุตร ภาพของ “ความทุกข์ในการคลอดบุตร” เป็นภาพที่มาจากวัฒนธรรมกรีก เพื่ออธิบายความเจ็บปวดที่รุนแรงมาก (เทียบ อสย 13:8; ฮชย 13:13; สดด 48:7; กจ 2:24; 1 ธส 5:3) และในเวลาเดียวกัน ยังเป็นการประกาศล่วงหน้าถึงความชื่นชมยินดีของโลกใหม่ (เทียบ มคา 4:10; ยน 16:21) บางทีพระวาจาของพระเยซูเจ้าอาจไม่ต้องการเน้นเหตุการณ์ที่เล่ามานี้ แต่ต้องการเน้นความหมายที่เหตุการณ์เหล่านี้เกริ่นนำไปสู่ยุคใหม่

- “จงระวังตัวให้ดี เขาจะมอบท่านให้ศาล ท่านจะถูกทุบตีในศาลาธรรม และท่านจะยืนต่อหน้าผู้ว่าราชการและกษัตริย์เพราะเรา เพื่อเป็นพยานถึงเราต่อหน้าพวกเขา นี่คือทัศนคติของผู้ที่ต้องการเป็นศิษย์ติดตามพระคริสตเจ้า เพราะพระองค์ทรงมีประสบการณ์เช่นนี้และทรงยืนหยัดจนถึงวาระสุดท้าย พระชนมชีพของพระองค์จะต้องปรากฏซ้ำอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของบรรดาศิษย์ นี่เป็นวิธีเดียวเพื่อเป็นพยานถึงพระองค์

- แต่ก่อนหน้านั้นข่าวดีจะต้องได้รับการประกาศแก่ชนทุกชาติแล้ว นี่เป็นภารกิจของคริสตชนที่จะต้องประกาศข่าวดีแก่นานาชาติ (เทียบ มธ 10:18; 24:14; ลก 21:24; รม 11:13-18) เป็นไปไม่ได้ที่การสิ้นพิภพจะเกิดขึ้นอย่างเร็ววัน เพราะยังมีชนชาติอีกมากมายที่จะต้องได้รับการประกาศข่าวดี

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก