“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ 2017
สัปดาห์ที่ 6 เทศกาลธรรมดา
มก 8:27-33

27พระเยซูเจ้าเสด็จพร้อมกับบรรดาศิษย์ไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณเมืองซีซารียาแห่งฟีลิป ขณะทรงพระดำเนิน พระองค์ตรัสถามบรรดาศิษย์ว่า “คนทั้งหลายว่าเราเป็นใคร” 28เขาทูลตอบว่า “บ้างว่าเป็นยอห์นผู้ทำพิธีล้าง บ้างว่าเป็นประกาศกเอลียาห์ บ้างก็ว่าเป็นประกาศกองค์หนึ่ง” 29พระองค์ตรัสถามอีกว่า “ท่านล่ะ ว่าเราเป็นใคร” เปโตรทูลตอบว่า “พระองค์คือพระคริสตเจ้า” 30พระองค์ทรงกำชับบรรดาศิษย์มิให้กล่าวเรื่องเกี่ยวกับพระองค์แก่ผู้ใด


31พระเยซูเจ้าทรงเริ่มสอนบรรดาศิษย์ว่า “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมาก จะถูกบรรดาผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์ปฏิเสธไม่ยอมรับ และจะถูกประหารชีวิต แต่สามวันต่อมา จะกลับคืนชีพ” 32พระองค์ทรงประกาศพระวาจานี้อย่างเปิดเผย เปโตรนำพระองค์แยกออกไป ทูลทัดทาน 33แต่พระเยซูเจ้าทรงหันไปทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ทรงตำหนิเปโตรว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง อย่าขัดขวาง เจ้าไม่คิดอย่างพระเจ้า แต่คิดอย่างมนุษย์”

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง

ประเด็นสำคัญ:

มีหลายประเด็นที่เราจะเดินทางเป็นศิษย์ติดตามพระเยซู จากกาลิลีสู่เยรูซาเล็ม... พ่อคิดว่ามีประเด็นสำคัญที่เราควรศึกษาพระวรวสารช่วงนี้อย่างพิเศษมากๆ
• ถ้อยคำที่ต้องเน้นอย่างยิ่งคือ “ขณะทรงพระดำเนิน” (On/In the Way) เพราะนับจากนี้คือ การเริ่มต้นการเดินทางไปยังเยรูซาแล็ม เราจะพบวลีนี้บ่อยๆ และโดยเฉพาะในตอนท้ายของพระวรสารช่วงนี้ คือ วลีสุดท้ายของเรื่องบาร์ทิเมอัส (มก 10:52) ทำให้เห็นเจตนาของมาระโกในตัวบทที่ท่านบันทึกในช่วงนี้
o ด้วยเทคนิคที่ท่านนักบุญมาระโกใช้ คือ “Inclusio” หมายถึง ผู้เขียนผูกเรื่องราวให้เป็นเรื่องเดียวกัน เพื่อแสดงเจตนาของผู้เขียน โดยใช้ คำศัพท์ วลี หรือ ประโยค ซ้ำข้อความ คำ หรือซ้ำความคิด ในตอนต้นและตอนท้ายของเรื่อง (บางทีเรียกว่า Envelop Structure)
• คำถามเรื่อง “พระแมสซียาห์” (Identity of Jesus: Who is Jesus) พระเยซูเป็นใคร มีสองคำถาม มีสองคำตอบ สองความเห็น....
o ความเห็นของประชาชนทั่วไป?
o ความเห็นของศิษย์ของพระเยซูเจ้า?
• การเริ่มจากซีซารียาห์แห่งฟิลิปปี จุดเริ่มต้นการเดินทางไปเยรูซาแล็ม การติดตามพระคริสตเจ้าแท้จริงเริ่มที่นี่ เป้าหมายคือ เยรูซาแล็ม “รหัสธรรมปัสกา” คือ พระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพ
• “พระคริสตเจ้า” (Christos, Messiah) คือ
o ผู้รับเจิมของพระเจ้า ผู้จะเสด็จมาเพื่อกอบกู้ประชากรของพระองค์ ตามคำทำนายของบรรดาประกาศกในพันธสัญญาเดิม
o บัดนี้เป็นจริงโดยคำประกาศของศิษย์ของพระเยซูเจ้า โดยการนำของเปโตร โดยที่เข้าใจกันว่าท่านเป็นหัวหน้า หรือตัวแทนของบรรดาศิษย์ทั้งหลาย คำประกาศนี้ถูกต้อง แต่อาจจะยังไม่สมบูรณ์ (พระคริสตเจ้า แต่เป็นพระคริสต์ที่ต้องรับทรมาน สิ้นพระชนม์ และกลับคืนพระชนมชีพ)
• ทำไมพระองค์กำชับบรรดาศิษย์ไม่ให้บอกกับใคร?
o หรือว่า พวกเขายังรู้ความจริงไม่ครบถ้วน?
o หรือว่ายังไม่ถึงเวลา?
o หรือว่าประชาชนคนอื่นยังไม่พร้อมที่จะรับรู้?
o หรือว่าเป็นเจตนาของมาระโกที่จะเน้นว่าความจริงนี้ก่อนอื่นต้องชัดเจนในท่ามกลางบรรดาศิษย์? หรืออะไรอื่น?

• พระองค์ทำนายถึงชะตากรรมที่จะต้องรับทรมาน สิ้นพระชนม์... หรือเราเรียกว่า “รหัสธรรมปัสกา”
o และการทำนายนี้ไม่ใช่เพียงการประกาศ แต่เป็นการ “สอน” (to teach, didaskein เป็นคำกริยาที่ใช้กับคำนามคือ didaskalos)
o พระเยซูเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ ในฐานะที่ทรงเป็นอาจารย์

• “บุตรแห่งมนุษย์” “The Son of man”
o คำนี้ในพันธสัญญาใหม่นั้นพบเฉพาะในพระวรสาร นอกพระวรสารพบอีกบางแห่งเท่านั้นคือ กิจการ 7:56 “ภาพนิมิตรที่สเทเฟนเห็น” ในฮีบรู 2:6 (ฮีบรูเป็นการอ้าง สดด 8:5)
o และในวิวรณ์ 1:13; 14:14 คำที่ใช้กับพระเยซูเจ้าเมื่อกล่าวถึงชะตากรรมของพระองค์ ในพระวรสารเมื่อกล่าวถึงชะตากรรมของพระเยซูเจ้า ในการทำนายถึงพระทรมานนั้นจะใช้คำนี้เสมอ

• ผู้เกี่ยวข้องกับการตายของพระเยซูเจ้า คือ สภาสูงของยิว สภาซันเฮดริน
o “ผู้อาวุโส มหาสมณะ และธรรมาจารย์” สามส่วนนี้รวมกันเป็น สภาฯ
o และข้อสังเกต เมื่อทรงสอนหรือทำนายถึงพระทรมาน การสิ้นพระชนม์นั้น พระเยซูเจ้าจะต้องกล่าวทำนายถึงการกลับคืนพระชนมชีพเสมอ
o และที่สำคัญจะเน้นน้ำหนักของกริยาเหล่านั้น “บุตรแห่งมนุษย์จะต้องรับการทรมานอย่างมาก”

• “พระองค์ทรงประกาศพระวาจานี้อย่างเปิดเผย”
o สังเกต ความแตกต่างกับขณะที่เปโตรประกาศว่าพระองค์เป็นพระคริสต์ พระองค์ทรงกำชับไม่ให้บอกใคร ดูเหมือนเป็นความลับ ที่พวกเขารู้ว่าพระองค์เป็นพระคริสต์
o แต่เมื่อพระองค์ทรงขยายความจริงเกี่ยวกับพระคริสต์ที่จะต้องรับทรมาน มาระโกยืนยันว่า นี่เป็นสิ่งที่พระองค์ทรงประกาศอย่างเปิดเผย

• ปฏิกริยาของเปโตร “เปโตรนำพระองค์แยกออกไป ทูลทัดทาน”
o คำ “ทูลทัดทาน” แปลมาจากภาษาอังกฤษว่า “to rebuke” และจากภาษากรีกต้นฉบับว่า “epitiman” คำกริยาคำนี้แปลว่า “ดุ”
o ซึ่งคำนี้ในพระวรสารใช้ในบริบทที่พระเยซูเจ้าทรงดุปีศาจให้เงียบ เมื่อพระองค์ทรงขับไล่มันออกไป เพื่อไม่ให้มันพูดว่าพระองค์เป็นใคร (มก 1:25; 3:12; 9:25) และทรงกำชับลมพายุ (มก 4:35)

• “แต่พระเยซูเจ้าทรงหันไปทอดพระเนตรบรรดาศิษย์ ทรงตำหนิ (to rebuke) เปโตร”
o “ซาตาน” (Satana ภาษาอารามายอิก อุปสรรค ขัดขวาง ขวางทาง) เหตุผลสำคัญ เพราะพระองค์กำลังเสด็จมุ่งหน้าไปเยรูซาแล็ม และดูเหมือนว่า เปโตรกำลังขวางทางเดินของพระองค์ และเป็นการหยุดสิ่งที่พระองค์ทรงกำลังมุ่งไป
o เหตุผลที่แสดงว่าเปโตรขวางทางพระองค์คือ พระองค์ตรัสว่า “เจ้าซาตาน ถอยไปข้างหลัง อย่าขัดขวาง” ประโยคนี้ในฉบับเดิมแปลว่า “ไปให้พ้น” แต่คำแปลใหม่นี้ย่อมถูกต้องและให้ความหมายมากกว่า เพราะภาษากรีกต้นฉบับใช้คำว่า “hupage h’ opiso mou” แปลว่า “Get behind me, Satan” (JB)
o แทนจะเดินตามพระเยซู พระอาจารย์ เปโตรขึ้นไปขวางทางพระองค์ เขาคิดว่า การไปเยรูซาเล็มจะไปเพื่อให้พระองค์เป็นกษัตริย์ และแน่นอน พวกเขาก็จะพลอยเป็นใหญ่ไปด้วย เพราะพวกเขาเชื่อว่า พระเยซูมีอำนาจ ขับไล่ปีศาจ รักษาโรค ปลุกคนตาย ทำได้หมด ทำไมจะโค่นอำนาจจักรวรรดิโรมันไม่ได้เล่า... และพวกเขาจึงมั่นใจเช่นนั้น พระองค์จะต้องไปเป็นกษัตริย์ที่เยรูซาเล็ม แต่จู่ๆ พระองค์กลับสอนถึงความตาย สอนถึงพระทรมานที่จะทรงรับและถูกตัดสินประหารชีวิต... พวกเขายากที่จะรับ เปโตรจึงขึ้นไปขวางทางพระองค์ “Satana แปล่ว่าอุปสรรคขัดขวาง”

การไตร่ตรอง:
ตกลงใครเดินนำ ใครเดินตาม ฤา เปโตรจะขึ้นไปกำหนดเส้นทางให้พระองค์ หรือจะให้พระองค์ทรงนำทาง
• เราในฐานะศิษย์ของพระเยซู เราได้รู้ก่อนอื่นใดว่า “พระเยซูเจ้าเป็นใคร” ถามตามสมัยเลย ที่เขาเน้น “ศิษย์พระคริสต์ 4.0” เรารู้จักพระคริสตเจ้าจริงๆเพียงใด ถ้าถามตรง ถ้าสอบความรู้เกี่ยวกับพระคริสตเจ้า... เราจะได้ 4.00 หรือเราจะรู้จักพระองค์ไม่ถึง 1.00 ก็ไม่ทราบ หรืออาจจะถึงขึ้นผลการเรียนของพ่อเองตอน ม. 1 เมื่อเข้าบ้านเณร พ่อเรียนได้ 0.98 คือ ไม่ถึงหนึ่งด้วยซ้ำ... ถามตัวเองว่าเราเป็นคนรู้จักและติดตามพระองค์ เรารู้จักพระองค์ในเกรดอะไรหนอ
o เราได้ประกาศด้วยความมั่นใจถึงพระคริสตเจ้าว่าพระองค์เป็นใครสำหรับชีวิต
o ในฐานะพระสงฆ์ นักบวช และคริสตชน เราประกาศตัวเป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า เป็นผู้ใกล้ชิดพระองค์ เราทราบอย่างแท้จริงไหมว่า “พระเยซูเจ้าเป็นใคร”?
o พระองค์นั้นเป็นที่รู้จักหรือปรากฏในชีวิตจริงของเราหรือไม่?
o เราแน่ใจไหมว่า ทุกวันนี้ เราแต่ละคนในกระแสเรียกติดตามพระคริสตเจ้า เป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้า เรากำลังเดิน “พร้อมกับพระเยซูเจ้า” ทั้งพระสงฆ์ นักบวช และเพื่อนพี่น้องคริสตชน???
o พระเยซูเจ้าเป็นใคร สำหรับเรา และเพื่อนพี่น้องคริสตชนในเขตวัด และสังฆมณฑลของเรา???

• พระเยซูเจ้าทรงทำนายถึงชะตากรรมของพระองค์ พระองค์ “สอน” Didaskein = to teach บรรดาศิษย์ให้เข้าใจพระองค์กำลังอบรมสังสอนให้พวกเจายอมรับพระทรมานของพระองค์... ซึ่งดูเหมือนจะเป็นแก่นแท้ของความหมายของการเป็นพระคริสต์
o พระองค์ท้าทายให้ศิษย์ของพระองค์ติดตามพระองค์ ในความเป็นพระคริสต์ทั้งครบ พระคริสต์แห่งพระสิริรุ่งโรจน์ และพระคริสต์ผู้รับทนทรมาน พระองค์ทรงสอนความจริงประการนี้ในฐานะพระอาจารย์
o เปโตรไม่สามารถที่จะยอมรับความจริงอีกส่วนหนึ่งของพระคริสต์ได้ พระองค์ต้องปราบดาภิเษกที่เยรูซาแล็ม ไม่ใช่ตายอย่างนั้น
o เปโตรขวางทางพระองค์ เปลี่ยนที่จากผู้ติดตามอย่างศิษย์ และคิดจะกำหนดทิศทางให้กับพระเยซูเจ้า ขัดขวางทางพระองค์
o พระองค์ไล่เปโตรที่ขึ้นมาขวางทางของพระองค์... จงไปอยู่ในที่ของเจ้า เจ้าเป็นศิษย์ จงเดินตามเรามา “Follow me” อย่ายืนผิดที่ อย่าเล่นผิดบทบาท

• ในฐานะศิษย์ของพระคริสตเจ้า ศิษย์พระคริสต์ 4.0 เราเดินตามพระคริสตเจ้าอย่างไร?
o เดินตามหนทางของพระองค์ หรือเราเป็นผู้กำหนดทางให้พระองค์เดิน?
o มีบ้างไหมที่เราเป็นอุปสรรคแก่ตัวเราเองในการติดตามพระคริสตเจ้า ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่เราตั้งขึ้นมากมาย??
o และซ้ำร้ายกว่าแน่ๆ ถ้านอกจากจะไม่ตามพระคริสตเจ้าแล้ว เรายังเป็นอุปสรรคไม่ให้คนอื่นติดตามพระองค์??
o ถ้าเรายอมรับความสุขว่าเป็นพระพรจากพระเจ้า เรายอมรับความทุกข์เช่นกันไหม???

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก