ข้อคิดจากพระวาจาประจำวัน  โดย..คุณพ่อฉลองรัฐ สังขรัตน์

วันพุธที่ 10 สิงหาคม 2016

น.ฌาน ฟรังซัวสื เดอ ซังตาล นักบวช
อสค 16: 59-63 / มธ 19: 3-12

บทอ่านจากพระวรสารตามคำเล่าของนักบุญมัทธิว
 เวลานั้น ชาวฟาริสีบางคนเข้ามาเพื่อจับผิดพระองค์ ทูลถามว่า “เป็นการถูกต้องหรือไม่ ที่ชายจะหย่าร้างกับภรรยาเนื่องด้วยเหตุใดก็ตาม”
พระองค์ทรงตอบว่า “ท่านไม่ได้อ่านพระคัมภีร์หรือว่า เมื่อแรกนั้นพระผู้สร้างทรงสร้างมนุษย์ให้เป็นชาย และหญิง และตรัสว่าดังนี้ ชายจะละบิดามารดาไปสนิทอยู่กับภรรยาของตนและชายหญิงจะเป็นเนื้อเดียวกัน ดังนี้ เขาจึงไม่เป็นสองอีกต่อไป แต่เป็นเนื้อเดียวกัน ฉะนั้น สิ่งที่พระเจ้าทรงรวมกันไว้ มนุษย์อย่าได้แยกเลย”


 ชาวฟาริสีจึงทูลถามว่า “แล้วทำไมโมเสสจึงสั่งให้ชายทำหนังสือหย่าร้างแล้วหย่าร้างได้เล่า” พระองค์ตรัสว่า “เพราะใจดื้อหยาบกระด้างของท่าน โมเสสจึงยอมอนุญาตให้หย่าร้างได้ แต่เมื่อแรกเริ่มนั้น หาเป็นเช่นนี้ไม่” “เราบอกท่านทั้งหลายว่า ผู้ใดหย่าร้างภรรยา และแต่งงาน           กับอีกคนหนึ่ง เขาก็ทำผิดประเวณี เว้นแต่ในกรณีแต่งงานไม่ถูกต้อง”
 บรรดาศิษย์ทูลพระองค์ว่า “ถ้าสภาพของสามีกับภรรยาเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ควรจะแต่งงานเลย” พระองค์ตรัสว่า “ไม่ใช่ทุกคนเข้าใจคำสอนนี้ คนที่เข้าใจคือคนที่พระเจ้าประทานให้ เพราะว่าบางคนเป็นขันทีตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา บางคนถูกมนุษย์ทำให้เป็นขันที และบางคนทำตนเป็นขันทีเพราะเห็นแก่อาณาจักรสวรรค์ ผู้ที่เข้าใจได้ ก็จงเข้าใจเถิด”

 (พระวาจาของพระเจ้า)

————

 ความเมตตา เลิกรา ไม่ได้
 “เลิกรา” ไม่ได้ จึงหมายถึง แม้ไม่น่ารัก ก็ไม่เลิกรัก
 แม้ไม่ยอมตาม ก็ไม่บังคับกะเกณฑ์
 แม้ไม่เห็นด้วย ก็ไม่บีบบังคับให้คล้อยตาม
 ความเมตตาของพระเจ้า ที่มีต่อเราก็เป็นอย่างนี้ จึงเห็นว่า
 ไม่น่ารัก ก็ยังอดทนรักได้
 ไม่ยอมตาม ก็รอคอยอดทนได้
 ไม่เห็นด้วย ก็จูงใจด้วยเหตุผล อดกลั้นที่จะให้ความเห็น
 ท่าทีของพระเจ้าองค์ความเมตตาต่อเราก็เป็นดังประกาศเอเสเคียลได้บอก
 “เราจะรื้อฟื้นพันธสัญญาของเรากับเจ้า เจ้าจะรู้ว่าเราเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า เพื่อเจ้าจะได้จดจำ และมีความละอาย และจะไม่อ้าปากพูดอีกเพราะความอับอาย เมื่อเราจะให้อภัยทุกสิ่งที่เจ้าได้ทำ”
 ความเมตตาของพระเจ้า เป็นเรื่องเข้าใจยาก ทำยาก เพราะเราอาจ “ไม่ได้สักเศษเสี้ยว” ของความอดทน ความพยายามผ่อนปรน รอเวลาให้โอกาส ไม่มีเงื่อนไขใดๆ เพื่อ “ได้ใจ” กลับมา ดังพระวาจาจากพระวรสารตอนสุดท้ายที่บอกว่า “ผู้ที่เข้าใจได้ ก็จงเข้าใจเถิด”
 นี่คือ “ลักษณะความเมตตาของพระ”

(Credit จาก Facebook คุณพ่อฉลองรัฐ สังขรัตน์)