“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม 2016
สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์
พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท

    22ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปัง ประทานให้เขาเหล่านั้น ตรัสว่า “จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา” 23แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสขอบพระคุณ ประทานให้เขาและทุกคนดื่มจากถ้วยนั้น 24พระองค์ตรัสกับเขาว่า “นี่เป็นโลหิตของเรา โลหิตแห่งพันธสัญญาที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก 25เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นใด จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า”

• วันนี้เป็นวันที่พระเยซูเจ้าตั้งศีลมหาสนิท.. พ่อขอเสนอความเข้าใจเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทหน่อยนะครับ ปัสกาปีนี้เราต้องเติบโตในความเข้าใจความเชื่อของเรา... อ่านมาระโกเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทและตีความกันหน่อยครับ

• การนำเสนอเรื่องการตั้งศีลมหาสนิทนี้ มาระโกนำเสนอคล้ายกับมัทธิวมาก ดังนั้นควรที่จะพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างมัทธิวและมาระโกสักหน่อย

• มาระโกไม่ได้แสดงอย่างเปิดเผยว่าการเลี้ยงนี้ มีเฉพาะพระเยซูและบรรดาศิษย์เช่นเดียวกับมัทธิว สำหรับมาระโกเฉพาะใน 14:17s เท่านั้นที่ทำให้เราเข้าใจได้ว่าใน 14:22 นี้พระองค์ทรงหยิบขนมปังส่งให้บรรดาศิษย์
- มาระโก “ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระองค์ทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปัง ประทานให้เขาเหล่านั้น ตรัสว่า “จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา”
- มัทธิว “ขณะที่ทุกคนกำลังกินอาหารอยู่นั้น พระเยซูเจ้าทรงหยิบขนมปัง ตรัสถวายพระพร ทรงบิขนมปังประทานให้บรรดาศิษย์ ตรัสว่า “จงรับไปกินเถิด นี่เป็นกายของเรา” (มธ 26:26)

• สิ่งที่มาระโกแตกต่างจากมัทธิวอีกส่วนหนึ่งคือ ในมาระโกมีคำสั่งให้รับจากพระเยซูนั้น มีเฉพาะเมื่อทรงส่งขนมปังให้เท่านั้น “จงรับเถิด นี่เป็นกายของเรา” ในกรณีถ้วยไม่มีประโยคคำสั่งให้รับแต่อย่างใด “แล้วพระองค์ทรงหยิบถ้วย ตรัสขอบพระคุณ ประทานให้เขาและทุกคนดื่มจากถ้วยนั้น”

• มาระโกไม่ได้เน้นในพระวาจาของพระองค์ว่า เป็นประโยคคำสั่งในกรณีของถ้วยที่ให้ดื่ม และไม่ได้เน้นว่าโลหิตนี้เพื่อ “ยกโทษบาป” (“which is poured out for many for the forgiveness of sins.” RSV)

• มาระโกเน้นว่า บรรดาศิษย์ทุกคนได้ดื่มจากถ้วยกาลิกษ์ ซึ่งเป็นโลหิตของพระเยซูเจ้า ซึ่งเป็นโลหิตที่เป็น “โลหิตแห่งพันธสัญญา ที่หลั่งออกเพื่อคนจำนวนมาก”

• “เราบอกความจริงกับท่านทั้งหลายว่า” “Amen lego hymin” นี่เป็นวาจาที่พระองค์กล่าว “Amen” ซึ่งในอาหารค่ำสุดท้ายพระองค์กล่าวสองครั้ง (14:18,25) ซึ่งสร้างความเป็นหนึ่งเดียวแก่เนื้อหาโดยคำว่า “Amen” ระหว่างเมื่อทรงทำนายถึงผู้ทรยศกับการประกาศตั้งศีลมหาสนิท ดั้งนั้นความหมายที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ โดยพระกายและพระโลหิตอันเป็นของขวัญล้ำค่าสูงสุดของพระเยซูเจ้า พระองค์ทรงมอบให้แก่ทุกคน แม้ผู้ที่เป็นศัตรูกับพระองค์ เพราะพระองค์ทรงมอบพระองค์เป็นค่าไถ่เพื่อคนเป็นอันมาก

• “เราจะไม่ดื่มน้ำจากผลองุ่นใดจนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า” คำว่า “พระอาณาจักรของพระเจ้า” (14 ครั้งในมาระโก) ความหมายของประโยคนี้คือ
- เป็นการประกาศถึงเวลาสุดท้าย ที่พระองค์จะทรงเจริญชีวิตอยู่บนแผ่นดินดังเช่นที่เคย (แต่ไม่ใช่วาระสุดท้ายจริงๆ) เพราะว่า
- ขณะเดียวกันพระองค์ประกาศถึงการเลี้ยงอีกในอวสานกาล “จนกว่าจะถึงวันที่เราจะดื่มเหล้าองุ่นใหม่ในพระอาณาจักรของพระเจ้า”

บทบาทสำคัญของการประกาศตั้งศีลมหาสนิทในบริบทของเรื่องพระทรมานนี้คืออะไร

           1. หมายถึงการประกาศถึง “ความตายของพระองค์” เพราะเมื่อพระองค์ประกาศมอบขนมปัง “พระกาย” เหล้าองุ่น “พระโลหิต” แก่บรรดาศิษย์ เมื่อมอบให้กินและดื่มนั้น ย่อมหมายถึงพระองค์ต้องสิ้นพระชนม์ และแน่นอนย่อมหมายถึงพระองค์ประกาศถึงการสิ้นสุดในความสัมพันธ์กับบรรดาศิษย์แบบที่เคยผ่านมา แต่พระองค์ได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์แบบใหม่กับพระองค์ในพระอาณาจักรของพระเจ้า

             2. อธิบายให้เห็นถึงความหมายของความตายของพระองค์ เรื่องราวของพระวรสารการเดินทางจากกาลิลีไปเยรูซาเล็ม โดยตลอดได้ทำนายถึงความตายสามครั้ง (มก 8:31-10:45 เทียบ มธ 16:21-20:28) การทำนายครั้งแรกๆ เน้นกล่าวถึง พระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนม์ ตลอดเวลาที่ทำนาย พระองค์เพียงแต่ทรงกล่าวทำนายถึงสิ่งเหล่านี้ที่จะเป็นมาในอนาคต แต่ไม่เคยกล่าวถึงความหมายของสิ่งที่จะเกิดขึ้น มีแต่ในการทำนายครั้งที่สามเท่านั้นที่ทรงให้ความหมาย “เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์” (10:45 เทียบ มธ 20:28) ความหมายของความตายของพระองค์คือ คนจำนวนมากได้รอดพ้นจากความเป็นทาสของบาปและความตาย และความหมายนี้เองที่เป็นพื้นฐานอันลึกซึ้งที่สุดในการตั้งศีลมหาสนิท พระกายของพระองค์มอบให้เพราะความโปรดปรานต่อมนุษย์ พระโลหิต ก็มอบเพื่อเป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก ดังนั้นความตายของพระองค์มีผลคือ
- เพื่อเป็นค่าไถ่คนเป็นอันมาก
- เพื่อการคืนดีกับพระเจ้า
- นำความหวังให้มนุษย์เข้าสู่พันธสัญญานิรันดร์กับพระเจ้า

               ความหมายที่พวกเขาต้องกินและดื่มนั้น พบในพระวรสารนักบุญยอห์น “51เราเป็นปังทรงชีวิต ที่ลงมาจากสวรรค์ ใครที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป และปังที่เราจะให้นี้ คือเนื้อของเรา เพื่อให้โลกมีชีวิต” 52ชาวยิวจึงเถียงกันว่า “คนนี้เอาเนื้อของตนให้เรากินได้อย่างไร” 53พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ถ้าท่านไม่กินเนื้อของบุตรแห่งมนุษย์ และไม่ดื่มโลหิตของเขา ท่านจะไม่มีชีวิตในตนเอง 54ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเรา ก็มีชีวิตนิรันดร เราจะทำให้เขากลับคืนชีพในวันสุดท้าย 55เพราะเนื้อของเราเป็นอาหารแท้ และโลหิตของเราเป็นเครื่องดื่มแท้ 56ผู้ที่กินเนื้อของเรา และดื่มโลหิตของเราก็ดำรงอยู่ในเรา และเราก็ดำรงอยู่ในเขา 57พระบิดาผู้ทรงชีวิตทรงส่งเรามา และเรามีชีวิตเพราะพระบิดาฉันใด ผู้ที่กินเนื้อของเราจะมีชีวิตเพราะเราฉันนั้น 58นี่คือปังที่ลงมาจากสวรรค์ ไม่เหมือนปังที่บรรดาบรรพบุรุษได้กิน แล้วยังตาย ผู้ที่กินปังนี้จะมีชีวิตอยู่ตลอดไป” (ยน 6:51-58)

              3. ทรงเรียกร้องให้ศิษย์กระทำ “ดังนี้” เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ โดยที่การมอบพระกายของพระองค์นั้น พระองค์ทรงประกาศถึงการเลี้ยงในอวสานกาลด้วย ในเมื่อพระองค์มอบพระองค์โดยสมัครใจ ในกรณีนี้ พระองค์เรียกร้องให้บรรดาศิษย์ด้วยที่จะต้อง “โดยสมัครใจ” กระทำเช่นเดียวกันกับพระองค์ (ลก 22:19 เทียบ 1คร 11:24s)

• ดังนั้น “เรื่องการตั้งศีลมหาสนิทเป็นหัวใจของเรื่องราวพระทรมานของพระเยซูเจ้า” เพราะว่า “การตั้งศีลมหาสนิท” เป็นศูนย์กลาง และเป็นส่วนสำคัญอันเป็นพื้นฐานที่ทำให้เห็นว่า พระทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนม์ของพระเยซูเจ้าเพื่อมนุษยชาตินั้นเป็นส่วนสำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์แห่งความรอด

• “เรื่องการตั้งศีลมหาสนิท” ไม่ใช่เพียงเน้นพันธกิจที่มอบให้บรรดาศิษย์ แต่ประกาศถึงพระหรรษทานล้ำค่าแห่งความรอดพ้น ซึ่งพระเยซูเจ้าทรงมอบชีวิตของพระองค์เพราะความรักต่อมนุษย์

การไตร่ตรอง

• พระเยซูเจ้าทรงตั้งศีลมหาสนิท พระหรรษทานยิ่งใหญ่แห่งความรอดพ้นเพื่อเรา บูชามิสซาและศีลมหาสนิทมีความหมายต่อเรามากเพียงใด???

• พระองค์ถวายพระกายและพระโลหิต หมายถึงยอมสิ้นพระชนม์เพื่อเรา พ่อเองและบรรดาพระสงฆ์ผู้ถวายบูชาขอบพระคุณแห่งศีลมหาสนิทในฐานะสงฆ์ พ่อถามตนเองมากๆ ว่าเรายอมสละตนเองเพียงใด?? และเราในฐานะคริสตชนผู้รับพระกายของพระองค์ เราสำนึกถึงความรักของพระองค์เพียงใด??

• ทุกครั้งที่เราร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ เรามีความหวังในการเลี้ยงนิรันดรในพระอาณาจักรของพระเจ้ามากเพียงใด???

• การดำเนินชีวิตของเรา แสดงให้เห็นเพียงใดว่าเราเชื่อในพระอาณาจักรของพระเจ้า ซึ่งเราหวังว่าเราจะได้ร่วมโต๊ะกับพระเจ้าและเพื่อนพี่น้อง???

การล้างเท้าและบัญญัติแห่งความรัก
ยน 13:1-15….
1ก่อนวันฉลองปัสกา พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าถึงเวลาแล้วที่จะทรงจากโลกนี้ไปเฝ้าพระบิดา พระองค์ทรงรัก ผู้ที่เป็นของพระองค์ซึ่งอยู่ในโลกนี้ พระองค์ทรงรักเขาจนถึงที่สุด
2ระหว่างการเลี้ยงอาหารค่ำ ปีศาจดลใจ ยูดาส อิสคาริโอท บุตรของซีโมนให้ทรยศต่อพระองค์ 3พระเยซูเจ้าทรงทราบว่าพระบิดาประทานทุกสิ่งไว้ในพระหัตถ์ของพระองค์แล้ว และทรงทราบว่า พระองค์ทรงมาจากพระเจ้า และกำลังเสด็จกลับไปหาพระเจ้า 4จึงทรงลุกขึ้นจากโต๊ะ ทรงถอดเสื้อคลุมออกวางไว้ ทรงใช้ผ้าเช็ดตัวคาดสะเอว 5แล้วทรงเทน้ำลงในอ่าง เริ่มล้างเท้าบรรดาศิษย์ และใช้ผ้าที่คาดสะเอวเช็ดให้

6เมื่อเสด็จมาถึงซีโมนเปโตร เขาทูลพระองค์ว่า “พระเจ้าข้า พระองค์จะทรงล้างเท้าของข้าพเจ้าหรือ” 7พระเยซูเจ้าตรัสตอบเขาว่า “สิ่งที่เราทำอยู่ขณะนี้ ท่านยังไม่เข้าใจ แต่จะเข้าใจในภายหลัง” 8เปโตรทูลว่า “ข้าพเจ้าไม่ยอมให้พระองค์ล้างเท้าข้าพเจ้า” พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่า ”ถ้าท่านไม่ให้เราล้าง ท่านจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรา” ซีโมนเปโตรทูลว่า 9”พระเจ้าข้า อย่าล้างเฉพาะเท้าเท่านั้น แต่ล้างทั้งมือและศีรษะด้วย” 10พระเยซูเจ้าตรัสว่า “ผู้ที่อาบน้ำแล้วก็ไม่จำเป็นต้องล้างอะไรอีกนอกจากเท้า เขาสะอาดทั้งตัวแล้ว ท่านทั้งหลายก็สะอาดอยู่แล้ว แต่ไม่ทุกคน” 11ทั้งนี้ทรงทราบว่า ใครกำลังทรยศต่อพระองค์ จึงตรัสว่า “ท่านทั้งหลายสะอาด แต่ไม่ทุกคน”
12เมื่อทรงล้างเท้าของบรรดาศิษย์เสร็จแล้ว พระเยซูเจ้าทรงสวมเสื้อคลุมอีกครั้งหนึ่ง เสด็จกลับไปที่โต๊ะ ตรัสว่า “ท่านเข้าใจไหมว่าเราทำอะไรให้ท่าน” 13ท่านทั้งหลายเรียกเราว่าอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็ถูกแล้ว เพราะเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ 14ในเมื่อเราซึ่งเป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ยังล้างเท้าให้ท่าน ท่านก็ต้องล้างเท้าให้กันและกันด้วย 15เราวางแบบอย่างไว้ให้แล้ว ท่านจะได้ทำเหมือนกับที่เราทำกับท่าน

• พี่น้องที่รัก พ่ออยากเชิญชวนเราให้ไตร่ตรอง ณ อาหารคำสุดท้าย ในการบันทึกของศิษย์ที่ทรงรักหรือท่านนักบุญยอห์น

• ค่ำวันนั้น พระองค์สอนบรรดาศิษย์ด้วย “การกระทำ” “ทำให้ดู” ความจริงพระองค์สอนเสมอว่าใครเป็นใหญ่ให้รับใช้ ใครเป็นที่หนึ่งให้รับใช้เช่นทาส...

• เราอ่านพระวาจาจากมาระโกนี้กัน
o 41เมื่อได้ยินดังนั้น อัครสาวกอีกสิบคนรู้สึกโกรธยากอบและยอห์น 42พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกเขาทั้งหมดมาพบ ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่า คนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ 43แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ ผู้อื่น 44และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่าน ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคน 45เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์”

• “พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกเขาทั้งหมดมาพบ” พระองค์ทรงให้คำสอนที่สำคัญมากสำหรับการเป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้า ซึ่งพระองค์เน้นหนทางของพระองค์ที่ช่างแตกต่าง “พระประสงค์ของพระเจ้า” ไม่ใช่มาตรฐานหรือมาตรการเดียวกับที่มนุษย์พิจารณา “เจ้าไม่ได้คิดอย่างพระเจ้าแต่อย่างมนุษย์” (8:33) ดังนั้นพระองค์กำลังสอนเขาอย่างหนักแน่ถึงมาตรฐานความคิดและการกระทำที่ต้องแตกต่างจากที่คนทั่วไปเขาปฏิบัติกัน แต่ศิษย์ของพระองค์ต้องแตกต่างอย่างสิ้นเชิง

• “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่า คนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ”

• ข้อสังเกตสำคัญ คำแปลในข้อที่ 43 และ44 ภาษาไทยแปล “รับใช้” เหมือนกัน แต่น่าสังเกตว่าภาษากรีกต้นฉบับคำกริยาที่ใช้ทั้งสองแห่งไม่เหมือนกัน But it shall not be so among you; but whoever would be great among you must be your servant (diakonos), 44 and whoever would be first among you must be slave of all (doulos). (RSV)

• ความหมายของคำทั้งสองชัดในตัวเอง แต่น่าเสียดายที่ภาษาไทยฉบับคาทอลิกเรายังแปลด้วยคำที่เหมือนกัน เพราะในภาษาต้นฉบับนั้นคำทั้งสองมีเฉดที่แตกต่างกันอย่างมากทีเดียว ซึ่งในฉบับ RSV ยังเก็บความแตกต่างไว้ชัดเจน
- “diakonos” การรับใช้แบบผู้รับใช้ที่โต๊ะ การบริการ เอาใจใส่ช่วยเหลือ การรับใช้แบบนี้เป็นลักษณะของความสมัครใจ ไม่ได้ถูกบังคับโดยสภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นการรับใช้ด้วยหัวใจอิสระ
- “doulos” การรับใช้แบบทาสที่ขาดอิสระภาพ และเป็นการรับใช้ที่ไม่ใช่เพื่อค่าตอบแทน แต่เป็นการรับใช้ที่ติดมากับสภาพที่ไม่สามารถแยกออกจากสภาพของตนได้ ไม่สามารถทำตนเองให้เป็นอิสระจากหน้าที่นี้ คำตีความที่น่าจะดีที่สุดคือ “ศิษย์ของพระเยซูเจ้าที่ปรารถนาจะเป็นที่หนึ่งนั้นไม่สามารถเป็นโดยขาดซึ่งการรับใช้ทุกคน เป็นพันธะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

• “เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมวลมนุษย์” หลักการของพระเยซูเจ้า พระองค์อ้างถึงซึ่งหมายถึงพระองค์เอง “บุตรแห่งมนุษย์” ซึ่งสอดคล้องกับคำทำนายของพระองค์ทั้งสามครั้ง

• ดังนั้น การรับใช้แบบพระเยซูคือการเป็น “ทาสรับใช้”

• ณ อาหารค่ำตามพระวรสารนักบุญยอห์น เราพบว่าพระเยซูเจ้าทรงล้างเท้าบรรดาศิษย์

• ปกติในแผ่นดินทะเลทราย เมื่อเดินทางมาถึงบ้าน จำเป็นต้องล้างเท้าก่อนเข้าบ้าน ในบ้านของคนร่ำรวยจะมี “ทาส” ที่ทำหน้าที่นี้ให้กับแขกทุกคน เป็นงานของทาส และในค่ำคืนอาหารค่ำสุดท้ายนั้น เราได้เห็นว่า พระเยซูเจ้าซึ่งสอนให้รับใช้แบบทาส Doulos และพระองค์ทรงกระทำให้ดูและสอนให้ทำตามเช่นกัน

• การล้างเท้า คือ การรับใช้แบบทาส นี่คือคำสั่งและการให้แบบอย่างแก่ศิษย์ของพระองค์ทุกคน
o “ท่านเข้าใจไหมว่าเราทำอะไรให้ท่าน”
o ท่านทั้งหลายเรียกเราว่าอาจารย์และองค์พระผู้เป็นเจ้า ก็ถูกแล้ว เพราะเราเป็นอย่างนั้นจริง ๆ
o ในเมื่อเราซึ่งเป็นทั้งองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาจารย์ยังล้างเท้าให้ท่าน ท่านก็ต้องล้างเท้าให้กันและกันด้วย
o เราวางแบบอย่างไว้ให้แล้ว ท่านจะได้ทำเหมือนกับที่เราทำกับท่าน

• พี่น้องที่รัก...นี่คือแบบฉบับแห่งความรักและการเป็น “ทาสโดยสมัครใจ” อันที่จริง สมัครใจไม่ใช่ทาสที่ถูกบังคับอีกแล้ว แต่เพราะความรักเท่านั้นจริงๆ พ่อจึงเชิญชวนให้เราได้ตระหนักและไตร่ตรองถึงความรักที่สุดที่เป็น “บัญญัติ” แห่งอิสรภาพมากที่สุด ไม่ใช่การบังคับให้เทียมแอกแต่เป็นการเข้าเทียมแอกแห่งความรักด้วยความรักจริงๆ นี่คือชีวิตของเราคริสตชนที่ต้องเลียนแบบพระอาจารย์เจ้าของเรา...

• ทรงยอมเป็น “ทาส เพราะ ความรัก” เป็นทาสเพราะทรงมอบอิสรภาพและการรับใช้เพราะความรักจริงๆ น่าทึ่งครับ และนี่คือ “พระเยซูเจ้าทาสแห่งความรัก” ผู้เป็นผู้รับใช้ความรักลอดไป...

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก