“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2015
สัปดาห์ที่สิบเก้า เทศกาลธรรมดา
มธ 19:13-15…

13ขณะนั้น มีผู้นำเด็กเล็กๆ มาให้พระองค์ทรงปกพระหัตถ์อวยพร แต่บรรดาศิษย์กลับดุว่าคนเหล่านั้น 14พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ปล่อยให้เด็กเล็กๆ มาหาเราเถิด อย่าห้ามเลย เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้” 15พระองค์ทรงปกพระหัตถ์ให้เด็กเหล่านั้น แล้วจึงเสด็จไปจากที่นั่น

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง 
• มีผู้นำเด็กเล็ก ๆ มาเฝ้าพระเยซูเจ้าเพื่อทรงสัมผัสอวยพร บุคลิกของพระเยซูเจ้าน่าจะเป็นที่ดึงดูดกับทุกคน แม้แต่เด็กๆ


• บรรดาศิษย์กลับดุว่าคนเหล่านั้น ทำไมบรรดาศิษย์จึงดุคนเหล่านั้น...พวกเขาไม่ต้องการให้ใครมารบกวนพระองค์ หรือ?? หรือว่าพวกเขาไม่ต้องการให้คนอื่น โดยเฉพาะเด็กๆ เข้ามาทำให้เสียเวลา เพราะในพระวรสารเน้นว่า พระองค์กำลังเสด็จไปเยรูซาเล็ม และพวกเขาคิดและมั่นใจว่าพระองค์จะไปเป็นกษัตริย์ และพวกเขาก็จะได้เป็นใหญ่เป็นโตกันแน่ๆ ดังนั้น เรื่องเด็กไม่ควรเข้ามายุ่งวุ่นวายที่ เพราะนี่ใกล้จะถึงเยรูซาแล็มแล้ว?? เสียเวลา ไร้สาระ???


• พระวรสารนักบุญมาระโกบันทึกตอนนี้ต่างไปเล็กน้อย คือเน้นว่า “พระองค์กริ้วบรรดาอัครสาวก” แน่นอนคงเป็นเพราะพระองค์เคยสอนว่า “ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็ก ๆ เช่นนี้ในนามของเรา ก็ต้อนรับเรา และผู้ใดที่ต้อนรับเรา ก็มิใช่ต้อนรับเพียงเราเท่านั้น แต่ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามาด้วย”???


• “พระอาณาจักรของพระเจ้าเป็นของคนที่เหมือนเด็กเหล่านี้” 

o พระอาณาจักรสวรรค์เป็นของคนเช่นใด?? 

o ให้เราดูคำสอนแรกในพระโอวาทตามพระวรสารนักบุญมัทธิว “ผู้มีใจยากจน ย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” (มธ 5) คนมีใจยากจนมีความสุขแท้ ใจยากจนคืออะไร?? 

o ความยากจนคำนี้ในภาษากรีกคือ “Ptochos” หมายถึง ยากจนทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ขนาดที่เขาคนนั้นไม่อาจมีชีวิต ถ้าไม่มีใครให้ความช่วยเหลือ

o ดังนั้น ใจยากจนคือ “สภาวะของจิตใจ สภาพจิตใจที่ยอมรับอย่างแท้จริงว่า ไม่อาจมีชีวิตได้ถ้าไม่มีพระเจ้าทรงช่วยเหลือ” 

o ลักษณะของเด็กเล็กๆ คือ การที่พวกเขายอมรับว่าต้องการพ่อแม่ช่วยเหลือเพื่อจะมีชีวิต ดังนั้นท่าทีต่อพระเจ้าเพื่อรับพระองค์นั้นบรรดาศิษย์ถูกเรียกร้องให้มี ท่าทีต่อพระเจ้าเช่นเด็กเล็กๆ

• “พระองค์ทรงปกพระหัตถ์ให้เด็กเหล่านั้น แล้วจึงเสด็จไปจากที่นั่น” (มธ 19:15) พระเยซูแสดงออกซึ่งความเป็นมนุษย์ที่ทรงเปี่ยมด้วยความอ่อนโยนและทรงพระ เมตตาอย่างมาก

• พี่น้องที่รัก พระวาจาขอพระเจ้าวันนี้ตอนสั้นๆเท่านั้น เราเห็นความอ่อนโยนของพระเยซูเจ้าในการต้อนรับเด็กเล็ก... การได้สัมผัสเด็กเล็กๆ พระองค์ทรงปกพระหัตถ์ประทานพระพรแก่พวกเขา พ่อคิดความรัก ความอ่อนโยนความรักต่อเด็กๆ เป็นธรรมชาติที่แสนงดงาม 


• ประสบการณ์ของพ่อ พ่อเองกับหลานๆ พ่อรู้สึกดีมากๆ เวลาได้เจอหลานๆ พวกเขาน่ารัก พ่อเห็นคนทั่วไปเวลาที่พบพระสงฆ์ ถ้าเขาจูงลูกจูงหลานมา เขาก็อยากให้เราพระสงฆ์ได้อุ้ม หรือได้ปกมืออวยพร

o สังเกตเวลารับศีลมหาสนิทสิครับ สมัยก่อนนั้น เด็กไม่ต้องออกมาเลย ไม่ใช่เรื่องของเด็ก แต่ปัจจุบัน น่ารักมากๆ พ่อแม่อุ้มลูกหรือจูงและให้เดินนำหน้าออกมารับศีล เด็กจะมอบพ่อแจกศีล ตาของเขาอยากรับศีลมากๆ ดูก็รู้ แต่เขายังรับไม่ได้ เขาเดินออกมาและพระสงฆ์ก็จะปกศีรษะและอวยพรเด็กก็ชื่นใจ

o พ่อคิดว่า ภาพของเด็ก คือ ภาพของ “พระอาณาจักรสวรรค์” พวกเขาไม่มีมารยา ไม่มีเล่ห์กล ไม่มีอุบายใด ใส่ซื่อแม้จะดื้อนิดๆก็ตามที แต่พวกเขาใสซื่อเสมอ พ่อไม่แปลกใจที่พระเยซูเจ้าทรงต้อนรับเด็กๆ ทรงปกพระหัตถ์อวยพระให้... พ่อคิดว่า ภาพแบบนี้งดงามที่สุดที่เราจะจินตนาการได้ 

o พ่อคิดว่า พ่อแม่เด็กก็ดีใจครับ ถ้าเด็กๆได้รับพรจากคนของพระเจ้า “พระสงฆ์” พ่อเคยเจอบ่อยๆ พ่อแม่ส่งลูกเล็กหรือแม้โตจะเข้ามาวิทยาลัยแล้ว และบอกว่า “ไปลูกให้พ่อปกหัวอวยพร หนูจะได้เรียนเก่ง หรือจะได้สอบผ่าน” และก็เป็นแบบนี้จริงๆ ครับ พ่อแม่ก็ปรารถนาเช่นนี้ เมื่อไม่นานมานี้ พ่อที่วัดเซนต์โทมัสอาไควนัส มีคุณแม่บอกลูกสาวที่กำลังจะสอบเรื่องเกี่ยวกับการทูตหรืออะไรสักอย่าง เขาบอกให้พ่ออวยพรสิจะได้สอบผ่าน.. พ่อก็ปกศีรษะและขอปรีชาญาณให้เขา... และเสริมกำลังคุยกันไป... จากนั้น ไม่นาน เฟสบุคพ่อก็มีคนเขียนเข้ามาถามว่าจำได้ไหมที่ให้พ่ออวยพรลูก เขาสอบติดได้ทุนไปเรียนแล้ว... โอ พ่อฟังแล้วก็อดดีใจด้วยไม่ได้.. แต่จำหน้าไม่ได้หรอกนะครับ รู้แต่ว่า เขาขอให้เราอวยพรให้

• พี่น้องที่รัก การอวยพร การปกศีรษะ แบบที่พระเยซูเจ้ากระทำกับเด็กทรงปกพระหัตถ์อวยพรพวกเขาที่อยากเข้ามาใกล้ๆ พระเยซูเจ้า แม้จะถูกบรรดาศิษย์ดุก็ตาม พ่อเชื่อว่า นี่คือ “บุคลิกลักษณะที่งดงามของพระเยซูเจ้าที่เราน่าเลียนแบบ” พ่อเชื่อว่า พระสงฆ์ พระสังฆราชทั้งหลาย น่าเลียนแบบที่สุด คือ ให้เวลากับเด็กๆ ให้เวลาแบบไม่ใช่อีเว่น แต่พร้อมเสมอที่จะต้อนรับและให้เวลากับพวกเขา

• ประสบการณ์ของพ่อบอกกับพ่อว่า การได้อยู่กับเด็กๆ อยู่ใกล้ชิดกับหลานๆ พ่อมีความสุขจริงๆ อยากขับรถไปเยี่ยมหลาน เจอหลานๆต้องเรียกเข้ามา ขอกอดที เป็นเวลาที่มีความสุขมากๆ พ่อมั่นใจว่าการต้อนรับเด็กๆ ที่อันที่จริงไม่สู้สำคัญสำหรับกิจการใหญ่ของผู้ใหญ่ผู้โตทั้งหลายหรอกครับ แต่ “การต้อนรับคือความรัก” ตรงนี้สิที่ทำให้พ่อต้องยอมรับว่า การต้อนรับเด็กเล็กๆที่ดูไม่มีความหมายหรือมีระดับกับงานหน้าที่ของเรา ยิ่งเราต้อนรับ ก็แปลว่าเรายิ่งรักมากขึ้นแน่นอนครับ

• พ่อเคยไปที่ทะเลตาย ในโรงแรมแห่งหนึ่ง พ่อชอบสิ่งที่เขาเขียนไว้หน้าโรงแรมเป็นคติพจน์ของเขา คือ “Hospitality is all about Love” (การต้อนรับคือความรักจริง) ตรงประเด็นจริงๆ การต้อนรับ การให้เวลา การให้โอกาส (โดยเฉพาะสำหรับผู้ด้อยโอกาส) คือ ความรักแท้จริงนั่นเอง

• พี่น้องที่รัก วันนี้เราเลียนแบบบุคลิกของพระเยซูเจ้ากันนะครับ ต้อนรับเด็กๆ ผู้เล็กน้อย คนที่มีความสำคัญน้อยทางสังคม เศรษฐกิจ การมือง ศาสนา ฯลฯ แต่ล้วนเป็นคนเหมือนกันเรา และมีศักดิ์ศรีเหมือนกับเราด้วยครับ และบ่อยครั้งพวกเขาก็ดีกว่า น่ารักกว่า มีคุณธรรมมากกว่าเรามากมายจริงๆครับ


• พี่น้องคิดและตระหนักดูสิครับ เวลาที่เราไม่ได้รับการต้อนรับ หรือถูกมองเหมือนอากาศธาตุ เหมือนไม่มีตัวตน “สุญญตา” เรารู้สึกอย่างไร เจ็บปวดนะครับ เราจะรู้สึกว่าเราไม่มีค่า ถูกกลืนหายไปในความไร้สาระเลย แต่ถ้าเราได้รับการต้อนรับ เพียงหันมามอง ยิ้มให้ ให้โอกาส ให้เวลา เราก็ดีใจมากๆใช่ไหมครับ...

• ดังนั้น พ่อคิดว่าถึงเวลาครับ ถึงเวลาที่เราจะกระทำกิจการของพระเยซูเจ้า เหมือนพระเยซูเจ้า ทรงให้เวลา ให้โอกาส และให้การต้อนรับเด็กๆ พ่อคิดว่าคำว่าเด็กๆที่นี้หมายถึงคนที่มีโอกาสน้อยหรือคนที่ด้อยโอกาสในรูป แบบต่างๆ และการต้อนรับนี้คือความรักจริงๆ ถึงเวลาหรือยังครับที่เราจะต้อนรับ ให้เกียรติ และทุ่มเทให้กับบรรดาผู้เล็กน้อยทั้งหลาย...

• พ่อขอเสนอ ร่างกฤษฎีกาสมัชชาใหญ่ 2015 ข้อที่ 25 ให้เราได้อ่านเพื่อสรุปกันครับ

o เพราะ “พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างเขาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก. 1:27) มนุษย์ทุกคนจึงมีคุณค่าและศักดิ์ศรีในฐานะลูกของพระเจ้า 

o ดังนั้น พระศาสนจักรต้องตระหนักว่าพันธกิจรักและรับใช้ด้วยชีวิตที่เป็นประจักษ์พยาน จะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์ได้รับการ เคารพตั้งแต่การปฏิสนธิ์และสิ้นสุดเมื่อความตายตามธรรมชาติมาถึง พระศาสนจักรมีพันธกิจที่จะต้องปกป้องชีวิต ส่งเสริมชีวิต มุ่งพัฒนาชีวิตและศักดิ์ศรีของมนุษย์แบบองค์รวม โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้โลกเป็นหนึ่งเดียวอย่างแท้จริง

o พระศาสนจักรทุกภาคส่วนต้องมองเห็นความสำคัญและร่วมมือกันปกป้องสิทธิมนุษยชน ยอมรับ ยกย่องให้เกียรติ และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน โดยส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาคุณภาพชีวิต ศักดิ์ศรีและสิทธิของครอบครัว เด็ก เยาวชน สตรี บุรุษ ผู้สูงอายุและสมาชิกกลุ่มพิเศษในสังคม ซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ๆ ของความยากจนและความอ่อนแอ เช่น บรรดาผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย กลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้ติดยาเสพติด ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้พิการ ผู้ต้องขัง บรรดาผู้สูงอายุที่อยู่โดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้ง เด็กและสตรีที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากสถานการณ์ที่ถูกทอดทิ้ง ถูกทารุณ ถูกทำร้ายด้วยความรุนแรง ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดทางเพศ และถูกล่วงละเมิดในรูปแบบอื่นๆ ตลอดจนบุคคลที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ และคนไร้สัญชาติ

o นอกจากนั้น พระศาสนจักรทุกภาคส่วนยังต้องร่วมมือกันปกป้องสิทธิและช่วยเหลือประชากรที่ ประสบปัญหาในมิติต่างๆ เช่น เกษตรกรรายย่อย แรงงานในสถานประกอบการต่างๆ ทั้งในบริบทสังคมชนบทและชุมชนเมือง ฯลฯ

o พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยต้องให้การอภิบาลด้วยการสร้างโอกาส พัฒนาศักยภาพ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาและฟื้นฟูชีวิตของพวกเขาให้มีความภูมิใจในคุณค่าและ ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เป็นลูกของพระเจ้า ตระหนักในบทบาทและหน้าที่ของตน เพื่อให้บุคคลทั้งหลายนั้นได้ “มีชีวิต และมีชีวิตอย่างสมบูรณ์” (เทียบ ยน. 10:10) มนุษย์ต้องเป็นศูนย์กลางหรือหัวใจสำคัญของชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร


• ขอพระเจ้าอวยพรทุกท่านครับ

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก