ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับหนังสือสารบบที่สอง

หนังสือ โทบิต ยูดิธ และเอสเธอร์

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือ โทบิต ยูดิธ และเอสเธอร์

 

          1. ในพระคัมภีร์ฉบับแปลภาษาละติน (Vulgata) หนังสือ 3 ฉบับ คือ โทบิต ยูดิธ และเอสเธอร์ จัดไว้หลังหนังสือชุด “ประวัติศาสตร์” แต่สำเนาคัดลอกโบราณภาษากรีกที่สำคัญบางฉบับจัดไว้หลังจากหนังสือชุด “ปรีชาญาณ” หนังสือทั้งสามฉบับนี้มีลักษณะเฉพาะของตน แตกต่างจากหนังสือชุดอื่นๆ

          1.1 ตัวบทของหนังสือเหล่านี้คัดลอกตกทอดมาถึงเราเป็นหลายสำนวนแตกต่างกัน จนเป็นการยากที่จะกำหนดตัวบทต้นฉบับดั้งเดิมได้ ต้นฉบับดั้งเดิมของหนังสือโทบิตคงจะเป็นภาษาอาราเมอิก แต่ต้นฉบับดั้งเดิมนี้สูญหายไปแล้ว ไม่ตกทอดมาถึงเรา เรามีเพียงเศษของต้นฉบับภาษาฮีบรู และเศษของสำเนาสำนวนแปลภาษาอาราเมอิก 4 ฉบับในถ้ำที่กุมราน ต้นฉบับคัดลอกโบราณภาษากรีก ซีเรียค และละตินที่ตกทอดมาถึงเรา เมื่อนำมาเทียบกันก็เห็นว่าถ่ายทอดต่อกันมาเป็น 4 แบบ (Recensions) สองแบบที่สำคัญที่สุดคือแบบที่หนึ่งซึ่งพบได้ในต้นฉบับคัดลอกของหอสมุดวาติกัน (ซึ่งเราจะเรียกว่า “ฉบับวาติกัน” หรือ “B”) และต้นฉบับคัดลอกจากเมืองอเล็กซานเดรีย (ซึ่งเราจะเรียกว่า “ฉบับอเล็กซานเดรีย” หรือ “A”) ส่วนแบบที่สองพบได้ในสำเนาคัดลอกโบราณที่เรียกว่า Codex Sinaiticus ซึ่งพบในอารามที่เชิงภูเขาซีนาย (ซึ่งเราจะเรียกว่า “ฉบับซีนาย” หรือ “S”) และในฉบับแปลโบราณภาษาละติน (Vetus Latina) ตัวบทแบบที่สองนี้คงจะเป็นแบบที่เก่าแก่ที่สุด เพราะสอดคล้องกับเศษของสำเนาโบราณภาษาอาราเมอิกที่พบที่กุมราน จึงเป็นตัวบทที่ใช้ในการแปลของเรา แต่ในเวลาเดียวกันก็มีการเปรียบเทียบกับตัวบทแบบอื่นๆ ด้วย

           ต้นฉบับภาษาฮีบรูของหนังสือยูดิธก็สูญหายไปแล้วเช่นเดียวกัน ในสมัยกลางมีตัวบทภาษาฮีบรูของหนังสือนี้หลายสำนวนที่ใช้กัน แต่คงจะไม่ใช่ต้นฉบับ ดั้งเดิม ตัวบทสำนวนแปลภาษากรีกพบได้เป็น 3 แบบที่แตกต่างกันอย่างมาก ตัวบทภาษาละตินฉบับ Vulgata เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากต้นฉบับภาษากรีก และดูเหมือนว่านักบุญเยโรมเขียนตัวบท ฉบับนี้โดยเพียงแต่ขัดเกลาสำนวนแปลภาษาละตินที่มีอยู่ก่อนแล้วเท่านั้น โดยเทียบกับสำนวนแปลภาษาอาราเมอิก

            ตัวบทของหนังสือเอสเธอร์มีสองแบบ คือแบบสั้นภาษาฮีบรู และแบบยาวภาษากรีก ต้นฉบับภาษากรีกก็ยังพบได้เป็น 2 สำนวน คือสำนวนภาษากรีกที่นิยมใช้กันทั่วไป กับสำนวนแก้ไขของลูเซียนชาว
อันทิโอก (Lucian of Antioch) ตัวบทภาษากรีกมีข้อความเพิ่มเติมที่ไม่พบในสำนวนภาษาฮีบรูดังต่อไปนี้ (ก) ความฝันของโมรเดคัย 1:1a-r (ข) คำอธิบายความฝันนี้ 10:3a-k (ค) พระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับของกษัตริย์อาหสุเอรัส 3:13a-g และ 8:12a-v (ง) คำอธิษฐานของโมรเดคัย 4:17a-I (จ) คำอธิษฐานภาวนาของพระนางเอสเธอร์ 4:17k-z (ฉ) เล่าอีกครั้งหนึ่งเรื่องพระนางเอสเธอร์เข้าเฝ้ากษัตริย์อาหสุเอรัส 5:1a-f และ 5:2a-b (ช) ภาคผนวกอธิบายที่มาของสำนวนแปลภาษากรีก 10:3l นักบุญเยโรมจัดข้อความเพิ่มเติมเหล่านี้ไว้หลัง ตัวบทภาษาฮีบรู คือ 10:4 - 16:24 ตามต้นฉบับ Vulgata แต่ในการแปลฉบับนี้เราจัดข้อความที่เพิ่มเติมเหล่านี้ไว้ตรงตามที่ของมันในต้นฉบับภาษากรีก โดยใช้ตัวอักษรเอียง

           1.2 พระศาสนจักรรับหนังสือ 3 ฉบับนี้เข้าในสารบบพระคัมภีร์ในระยะหลัง พระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรูไม่ยอมรับหนังสือโทบิตและยูดิธ ต่อมาชาวโปรแตสตันท์จึงจัดหนังสือเหล่านี้ไว้ในหมวด Apocrypha แต่พระศาสนจักรคาทอลิกจัดหนังสือทั้งสองนี้ไว้ในหมวด “สารบบที่สอง” (Deuterocanonical) ซึ่งหมายความว่า “ปิตาจารย์บางท่านมีความสงสัยอยู่บ้าง” แต่หนังสือเหล่านี้เป็นที่รู้จักและถูกอ้างถึงมาตั้งแต่สมัยแรกๆ ของพระศาสนจักร และอยู่ในสารบบพระคัมภีร์ของพระศาสนจักรตะวันตกมาตั้งแต่สมัยสมัชชาพระสังฆราชที่กรุงโรมในปี ค.ศ. 382 และในสารบบพระคัมภีร์ของพระศาสนจักรตะวันออกตั้งแต่ปี ค.ศ. 692 (สภาสังคายนา “in Trullo” ที่กรุงคอนสตันติโนเปิ้ล) ข้อความภาษากรีกของ อสธ นับอยู่ในสารบบที่สองด้วย และมีประวัติการเข้าในสารบบพระคัมภีร์เช่นเดียวกับ ทบต และ ยดธ ธรรมาจารย์ชาวยิวในคริสตศตวรรษที่หนึ่งยังถกเถียงกันว่า อสธ อยู่ในสารบบพระคัมภีร์หรือไม่ แต่ชาวยิวในภายหลังยอมรับหนังสือ อสธ ซึ่งกลายเป็นหนังสือที่นิยมอ่านกันมาก

           1.3 หนังสือทั้งสามฉบับนี้มีแบบวรรณกรรมเหมือนๆ กัน คือเล่าเรื่องโดยใช้ข้อมูลทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างอิสระ ซึ่งมักจะไม่ตรงกับความเป็นจริงนัก เช่น ใน ทบต เล่าว่าโทบิตเป็นหนุ่มเมื่อกษัตริย์ซาโลมอนสิ้นพระชนม์และอาณาจักรแบ่งเป็นสองส่วนในปี 931 ก่อน ค.ศ. (ทบต 1:4) เขาถูกจับเป็นเชลยไปสู่ถิ่นเนรเทศพร้อมกับชนเผ่านัฟทาลีในปี 734 ก่อน ค.ศ. (ทบต 1:5, 10) โทบียาห์บุตรของเขาจะตายหลังจากกรุงนีนะเวห์ถูกทำลายในปี 612 ก่อน ค.ศ. (ทบต 14:5) หนังสือโทบิตยังเล่าว่ากษัตริย์เซนนาเคริบสืบราชสมบัติสืบต่อจากกษัตริย์ซัลมาเนเสอร์ (ทบต 1:15) แต่โดยแท้จริงแล้วกษัตริย์ซาร์กอนสืบราชสมบัติต่อจากกษัตริย์ซัลมาเนเสอร์ ในทำนองเดียวกัน หนังสือนี้กล่าวว่าเมืองราเกสตั้งอยู่ในแถบภูเขาห่างจากเมืองเอกบาทานาซึ่งตั้งอยู่ในที่ราบเป็นระยะทางเดินเพียงสองวัน (ทบต 5:6) แต่โดยแท้จริงแล้ว เมืองเอกบาทานาตั้งอยู่ในแถบภูเขาสูงประมาณ 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล และอยู่ห่างจากเมืองราเกสราว 320 กิโลเมตร หนังสือเอสเธอร์เล่าเรื่องใกล้เคียงกับประวัติศาสตร์มากกว่า เช่นรายละเอียดเกี่ยวกับเมืองสุสาและขนบธรรมเนียมของชาวเปอร์เซีย กษัตริย์อาหสุเอรัส (เป็นการเขียนพระนามของกษัตริย์เซอร์ซิสในภาษาฮีบรู) ก็เป็นที่รู้จักดีในประวัติศาสตร์และมีพระอุปนิสัยตรงกับที่เฮโรโดตัสนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกบันทึกไว้ แต่นับเป็นเรื่องแปลกที่กษัตริย์ในราชวงศ์ Achmenid ซึ่งรู้กันว่ายอมให้ชนชาติต่างๆ ในราชอาณาจักรปฏิบัติ ศาสนาและธรรมเนียมของตนได้อย่างอิสระ จะทรงยอมให้ออกคำสั่งทำลายล้างชนชาติยิว และที่แปลกกว่านั้น ทรงอนุญาตให้ชาวยิวฆ่าชาวเปอร์เซียถึง 75,000 คน โดยไม่ได้รับการต่อต้านเลย นอกจากนั้นในช่วงเวลาที่ อสธ กล่าวถึงพระราชินีแห่งเปอร์เซียและพระมเหสีของกษัตริย์เซอร์ซิสคือพระนางอาเมสตริส ไม่มีการกล่าวถึงพระราชินีที่ทรงพระนามว่าวัชทีหรือเอสเธอร์เลย และถ้าโมรเดคัยถูกจับเป็นเชลยในสมัยกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ (อสธ 2:6) เขาจะต้องมีอายุ 150 ปีเมื่อกษัตริย์เซอร์ซิสทรงเริ่มครองราชย์

          2. หนังสือยูดิธใช้รายละเอียดทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์อย่างอิสระมากกว่าอีก โดยเล่าว่าเหตุการณ์ที่กล่าวถึงเกิดขึ้นในสมัยที่ “กษัตริย์เนบูคัสเนสซาร์ทรงครองราชย์ปกครองชาวอัสซีเรียในนครนีนะเวห์ที่ยิ่งใหญ่” (ยดธ 1:1) แต่อันที่จริงกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ทรงเป็นกษัตริย์แห่งบาบิโลน และนครนีนะเวห์ถูกกษัตริย์เนโบโปลัสซาร์พระบิดาทำลายแล้วในปี 612 ก่อน ค.ศ. ยิ่งกว่านั้น ยดธ 4:3 และ 5:19 ยังกล่าวว่าชาวยิวกลับมาจากถิ่นเนรเทศในรัชสมัยของกษัตริย์ไซรัสแล้ว ชื่อ “โฮโลเฟอร์เนส” และ “บาโกอัส” เป็นชื่อเปอร์เซีย แต่เรื่องเล่าบรรยายถึงกิจกรรมที่สะท้อนขนบประเพณีของชาวกรีก (ยดธ 3:7-8; 15:13) นอกจากนั้น การเดินทัพของโฮโลเฟอร์เนสตามสถานที่ที่กล่าวถึงใน ยดธ 2:21-28 นั้นไม่มีทางเป็นไปได้ เมื่อโฮโลเฟอร์เนสมาถึงแคว้นสะมาเรียที่เรารู้จักดี ชื่อสถานที่ต่างๆ ในเรื่องล้วนแต่ไม่เป็นที่รู้จักเลย รวมทั้งเมืองเบธูเลียซึ่งเป็นฉากของเรื่องที่เล่าด้วย คำอธิบายดีที่สุดที่ว่าทำไมผู้เขียนไม่สนใจความถูกต้องทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ก็คือ เขาไม่มีเจตนาที่จะเขียนประวัติศาสตร์ ต้องการเพียงให้เป็นเรื่องสอนใจเท่านั้น เหตุการณ์ที่เล่าอาจมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง แต่ผู้เขียนได้เสริมรายละเอียดตามใจจนไม่มีทางจะรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไรแน่

          3. หนังสือโทบิตเล่าเรื่องของครอบครัวชาวบ้าน ชายคนหนึ่งจากเผ่านัฟทาลีชี่อโทบิต ถูกจับเป็นเชลยมาอาศัยอยู่ในนครนีนะเวห์ เป็นคนเลื่อมใสศรัทธาต่อพระเจ้า ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัด เป็นคนใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อทุกคน แต่บัดนี้ตาบอดไป ญาติคนหนึ่งของเขาชื่อรากูเอล อาศัยอยู่ที่เมืองเอกบาทานา มีบุตรสาวชื่อซาราห์ที่สูญเสียสามี 7 คนติดๆ กัน เพราะถูกปีศาจอัสโมเดอัสฆ่าในคืนแต่งงาน ทั้งโทบิตและนางซาราห์วอนขอพระเจ้าให้ทรงอนุญาตให้ตนตาย แต่พระเจ้าทรงตอบคำ อธิษฐานภาวนาของทั้งสองคนตามวิธีการของพระองค์ ทรงส่งทูตสวรรค์ราฟาเอลมาเป็นผู้นำทางโทบียาห์ บุตรของโทบิตไปพบรากูเอล จัดการให้เขาแต่งงานกับนางซาราห์ และช่วยรักษาตาบอดของโทบิต เป็นเรื่องสอนใจที่เน้นความสำคัญของการให้ทาน การช่วยฝังศพผู้ตาย รวมทั้งตัวอย่างและอุดมการณ์ของชีวิตครอบครัว ซึ่งเป็นการนำหน้าคำสอนเรื่องการแต่งงานแบบคริสตชน ทูตสวรรค์ราฟาเอลเป็นผู้แทนพระเจ้า ทั้งแสดงและซ่อนความมีพระทัยดีของพระเจ้า หนังสือนี้จึงสอนว่าพระเจ้าทรงเอื้ออาทรต่อเราเช่นนี้ทุกๆ วัน

           ผู้เขียนเล่าเรื่องของโทบียาห์ตามแบบเรื่องเล่าในพระคัมภีร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของบรรดาบรรพบุรุษในหนังสือปฐมกาล ในฐานะที่เป็นวรรณกรรมชิ้นหนึ่ง หนังสือนี้น่าจะเขียนขึ้นระหว่างช่วงเวลาของ โยบ และ อสธ หรือช่วงเวลาระหว่าง ศคย และ ดนล หนังสือนี้เล่าถึงบุคคลที่มีกล่าวถึงในหนังสือ “ปรีชาญาณของอหิการ์” (ดู ทบต 1:22; 2:10; 11:18; 14:10) ซึ่งเป็นหนังสือนอกสารบบพระคัมภีร์ที่เขียนขึ้นราวศตวรรษที่ 5 ก่อน ค.ศ. หนังสือโทบิตมีข้อความหลายตอนคล้ายกับใน บสร จึงน่าจะเขียนราวปี 200 ก่อน ค.ศ. ในแผ่นดินปาเลสไตน์ และอาจเขียนขึ้นเป็นภาษาอาราเมอิก

          4. หนังสือยูดิธเป็นเรื่องเล่าถึงหญิงชาวยิวคนหนึ่งช่วยให้ชาวอิสราเอล ประชากรที่พระเจ้าทรงเลือกสรร มีชัยชนะต่อศัตรู ชาวยิวซึ่งเป็นชนชาติเล็กๆ ต้องเผชิญกับกองทัพใหญ่โตของโฮโลเฟอร์เนส ที่ต้องการให้ชนชาติต่างๆ ทั่วโลกยอมสยบต่อกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ และต้องการทำลายศาสนาอื่นๆ ทั้งหมด นอกจากศาสนาที่ยอมนมัสการกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์เป็นพระเจ้า ชาวยิวในเมืองเบธูเลียถูกข้าศึกล้อม ต้องอดน้ำ คิดจะยอมจำนนอยู่แล้ว ในช่วงเวลานี้เองนางยูดิธก็เข้ามามีบทบาท นางเป็นม่าย ยังสาว หน้าตาสวยงาม เฉลียวฉลาด ยำเกรงพระเจ้า มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะช่วยบ้านเมือง ก่อนอื่นนางต้องขจัดความขลาดกลัวของเพื่อนร่วมชาติ และในที่สุดนางก็ชนะกองทัพอัสซีเรียได้ด้วย นางตำหนิผู้ปกครองเมืองที่ขาดความเชื่อต่อพระเจ้า แล้วนางก็อธิษฐานภาวนาและแต่งกายสวยงามออกไปจากเมืองเบธูเลีย เข้าไปในค่ายศัตรู มีทหารนำไปอยู่ต่อหน้าโฮโลเฟอร์เนสแม่ทัพ ซึ่ง หลงใหลในความงามและปฏิภาณของนาง ในที่สุดเมื่อโฮโลเฟอร์เนสนอนเมามายอยู่ตามลำพังกับนาง นางก็ตัดศีรษะเขา เมื่อชาวอัสซีเรียรู้ว่าแม่ทัพของตนถูกฆ่า ก็ตกใจกลัวหนีเอาตัวรอด ชาวยิวเข้าจู่โจมค่ายศัตรู ชาวเมืองเบธูเลียสรรเสริญนางยูดิธและไปทำพิธีขอบพระคุณพระเจ้าอย่างสง่าที่กรุงเยรูซาเล็ม

           ดูเหมือนว่าผู้แต่งเรื่องมีเจตนาจะให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ผิดๆ ไม่ตรงความเป็นจริง เพื่อชวนให้ผู้อ่านไม่สนใจเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ แต่ให้สนใจเรื่องความขัดแย้งและชัยชนะทางศาสนา เรื่องเล่าดำเนินไปอย่างน่าติดตามและมีลักษณะคล้ายวรรณกรรมประเภท “วิวรณ์” (Apocalyptic) โฮโลเฟอร์เนส สมุนมือขวาของกษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ นับได้ว่าเป็นตัวแทนของอำนาจความชั่วร้าย นางยูดิธ - ชื่อ “ยูดิธ” แปลว่า “หญิงชาวยิว” - เป็นผู้แทนชะตากรรมของชาวยิว ตามพระประสงค์ของพระเจ้า ประชากรนี้กำลังอยู่ในอันตราย แต่พระเจ้าก็ทรงใช้มือที่อ่อนแอของหญิงคนหนึ่งนำชัยชนะมาให้ ประชากรของพระเจ้าจึงไปฉลองชัยที่กรุงเยรูซาเล็ม เห็นได้ชัดว่าหนังสือฉบับนี้ให้ข้อคิดคล้ายกับหนังสือดาเนียล เอเสเคียล และโยเอล เหตุการณ์ที่เล่าในหนังสือนี้เกิดขึ้นในที่ราบเอสเดรโลน ใกล้กับที่ราบ “อาร์มาเกดโดน” ซึ่งเป็นสมรภูมิของสงครามยุคสุดท้ายของโลกตามที่มีเล่าในหนังสือวิวรณ์ (วว 16:16) ชัยชนะของนางยูดิธเป็นผลของคำอธิษฐานภาวนา และการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับเรื่องการละเว้นมลทินทางพิธีกรรมอีกด้วย ถึงกระนั้นหนังสือนี้มิได้มีวิสัยทัศน์จำกัดอยู่ในเรื่องชาตินิยมแคบๆ เท่านั้น เมืองเบธูเลียในแคว้นสะมาเรีย ที่อยู่ของประชาชนซึ่งชาวยิวรังเกียจอย่างยิ่งเพราะถือศาสนายิวอย่างไม่ถูกต้อง กลับเป็นเมืองที่ประกันความปลอดภัยให้แก่กรุงเยรูซาเล็ม ยิ่งกว่านั้น อาคิออร์ชาวอัมโมน (ยดธ 5:5-12) ยังกล่าวถึงความหมายทางศาสนาของการต่อสู้ครั้งนี้ด้วย ต่อมาอาคิออร์นี้ก็ได้กลับใจเปลี่ยนมานับถือพระเจ้าเที่ยงแท้ (ยดธ 14:5-10) หนังสือยูดิธนี้เขียนขึ้นในปาเลสไตน์ราวกลางศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาล ในบรรยากาศที่ชาวยิวมีความรู้สึกรักชาติและศาสนาอย่างแรงกล้าจากการก่อกบฏของพวกมัคคาบี

          5. หนังสือเอสเธอร์ก็เล่าถึงการที่หญิงคนหนึ่งช่วยชนชาติยิวให้รอดพ้นจากอันตรายของชาติเช่นเดียว กับหนังสือยูดิธ ชาวยิวในแคว้นเปอร์เซียถูกคุกคามจะทำลายล้างให้สิ้นชาติโดยฮามัน ซึ่งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ที่ทรงอำนาจและเป็นศัตรูของชนชาติยิว แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากพระนางเอสเธอร์ หญิงสาวชาวยิวที่ได้ขึ้นเป็นพระราชินี และปฏิบัติตามคำแนะนำของโมรเดคัยผู้เป็นลุง เหตุการณ์กลับตาละปัดหน้ามือเป็นหลังมือ ฮามันถูกโทษแขวนคอ และโมรเดคัยได้รับตำแหน่งคืน ชาวยิวกลับทำลายล้างศัตรูของตน วันฉลอง “ปูริม” ถูกตั้งขึ้นเพื่อระลึกถึงชัยชนะครั้งนี้ สั่งให้ชาวยิวทำการฉลองเป็นประจำทุกปี

           เรื่องนี้แสดงให้เห็นความเกลียดชังที่ชาวยิวได้รับจากชนต่างชาติในสมัยโบราณ ซึ่งเป็นผลมาจากวิถีชีวิตของเขาที่แตกต่างจากชนชาติอื่นๆ ทำให้เขามีความขัดแย้งกับผู้ปกครองที่ต้องการรวบอำนาจไว้ทั้งหมด เช่นเดียวกับที่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส เบียดเบียนชาวยิว ความรู้สึกชาตินิยมแบบสุดโต่งนี้เป็นแต่เพียงปฏิกิริยาเพื่อป้องกันตนเองเท่านั้น การเข่นฆ่าอย่างทารุณเพื่อล้างแค้นที่เล่าในหนังสือทำให้เราผู้อ่านรู้สึกว่าโหดเหี้ยมมาก แต่เราอย่าลืมว่าหนังสือนี้เขียนขึ้นก่อนคำสอนของพระคริสตเจ้า เรายังต้องระลึกถึงวิธีเขียนเล่าเรื่องด้วย การแข่งขันชิงดีกันของพวกนางสนมใน “ฮาเร็ม” และการฆ่าแบบล้างโคตรทำให้เจตนาของผู้เขียนชัดเจนขึ้น เจตนานี้เป็นเรื่องทางศาสนาโดยตรง การที่โมรเดคัยและพระนางเอสเธอร์ได้เลื่อนตำแหน่ง การที่ชาวยิวได้รับความช่วยเหลือให้รอดตาย ชวนให้ระลึกถึงเรื่องของดาเนียล และโดยเฉพาะเรื่องโยเซฟ ซึ่งแต่แรกถูกกลั่นแกล้งเบียดเบียน แต่แล้วในภายหลังก็ได้รับตำแหน่งทรงเกียรติเพื่อช่วยประชากรของตนให้รอดพ้น ในเรื่องโยเซฟในหนังสือปฐมกาล พระเจ้ามิได้ทรงสำแดงพระอานุภาพให้ปรากฏภายนอก พระองค์เพียงแต่คอยทรงนำเหตุการณ์อยู่เบื้องหลัง ในหนังสือเอสเธอร์ฉบับภาษาฮีบรูก็เช่นเดียวกัน ไม่มีการออกพระนามพระเจ้าโดยตรง แต่ก็แสดงให้เห็นว่า พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้าคอยควบคุมองค์ประกอบต่างๆ ของเหตุการณ์ที่เล่า ผู้อยู่ในเหตุการณ์รู้เรื่องพระญาณเอื้ออาทรดี และมีความหวังลึกๆ ในพระเจ้าว่าจะทรงช่วยเหลือตามแผนที่ทรงวางไว้ แม้ว่ามนุษย์ที่ทรงเลือกไว้ให้เป็นเครื่องมืออาจมีความลังเล (ดู อสธ 4:13-17) ซึ่งเป็นกุญแจไขให้รู้เจตนาของหนังสือ ข้อความที่เพิ่มเติมเป็นภาษากรีกมีลักษณะทางศาสนาชัดเจนกว่า แต่ก็บอกตรงๆ ว่าผู้เขียนฉบับภาษาฮีบรูละไว้ให้ผู้อ่านเข้าใจเอง พระศาสนจักรใช้ข้อความเพิ่มเติมของหนังสือเอสเธอร์นี้หลายตอนในพิธีกรรม

            คำแปลภาษากรีกเริ่มมีมาตั้งแต่ปี 114 (หรือ 78) ก่อน ค.ศ. เมื่อหนังสือนี้ถูกส่งไปถึงชาวยิวในอียิปต์เพื่อรับรองงานฉลอง “ปูริม” เป็นทางการ (ดู อสธ 10:3l และเชิงอรรถ) ตัวบทภาษาฮีบรูเขียนขึ้นก่อนหน้านั้น คือราวปี 160 ก่อน ค.ศ. ตามข้อมูลจาก 2 มคบ 15:36 เมื่อชาวยิวในปาเลสไตน์ฉลอง “วันโมรเดคัย” ซึ่งชวนให้คิดว่าเรื่องพระนางเอสเธอร์หรือหนังสือเอสเธอร์นี้เป็นที่รู้จักดีแล้วด้วย หนังสือนี้อาจเขียนขึ้นราวกลางศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาล แต่เป็นที่น่าสงสัยว่าแต่เดิมอาจไม่เกี่ยวข้องกับการฉลอง “ปูริม” เลยก็ได้ อสธ 9:20-32 มีลีลาการเขียนแตกต่างจากตอนอื่นและมีลักษณะคล้ายกับเป็นข้อความที่เพิ่มเติมเข้ามาในภายหลัง ประวัติความเป็นมาของวันฉลอง “ปูริม” ออกจะคลุมเครือ และเป็นไปได้ว่าหนังสือนี้ถูกนำมาเกี่ยวข้องกับวันฉลองในภายหลัง เพื่อให้การฉลองมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์รองรับ น่าสังเกตว่า 2 มคบ 15:36 ไม่เรียกวันฉลองนี้ว่า “ปูริม” แต่เรียกว่า “วันโมรเดคัย”

หนังสือมัคคาบี

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือมัคคาบี

 

          1. หนังสือมัคคาบีทั้งสองฉบับไม่อยู่ในสารบบพระคัมภีร์ภาษาฮีบรูของชาวยิว พระศาสนจักรคาทอลิกรับว่าหนังสือนี้ได้รับการดลใจ จึงจัดไว้ใน “สารบบที่สอง” (“Deuterocanonical” books) หนังสือทั้งสองฉบับนี้กล่าวถึงการที่ชาวยิวสู้รบกับกษัตริย์แห่งราชวงศ์เซเลวซิด เพื่อเสรีภาพทางศาสนาและการเมือง ชื่อ “มัคคาบี” ของหนังสือนี้ได้มาจากสมญา “มัคคา เบอุส” (Maccabaeus) ซึ่งยูดาสพระเอกของเรื่องได้รับ (1 มคบ 2:4) และต่อมาก็ใช้กับบรรดาพี่น้องของเขาด้วย

          2. หนังสือมัคคาบีฉบับที่หนึ่งเริ่มเล่าเรื่องราว ของคู่อริสองฝ่าย ซึ่งไม่มีวันจะเข้าดีกันได้ (คำนำ บทที่ 1-2) การแผ่อารยธรรมกรีกกำลังประสบชัยชนะ ชาวยิวบางคนนิยมชมชอบและสนับสนุนขบวนการนี้ แต่ชาวยิวส่วนใหญ่ที่ยังรักษาความซื่อสัตย์ต่อธรรมบัญญัติและพระวิหารต่อต้านไม่ยอมรับอารยธรรมนี้ ฝ่ายหนึ่งมีกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส เป็นผู้ลบหลู่พระวิหารและเบียดเบียนชาวยิว อีกฝ่ายหนึ่งมีมัทธาธีอัสเป็นผู้ริเริ่มการต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางศาสนา เรื่องราวในหนังสือแบ่งได้เป็น 3 ภาค แต่ละภาคเป็นเรื่องราวกิจกรรมของบุตร 3 คนของมัทธาธีอัส ซึ่งเป็นผู้นำขบวนการต่อต้านนี้สืบต่อกัน บุตรคนสำคัญ ยูดาสมัคคาบี (166-160 ก่อน ค.ศ.) ใน 3:1-9:22 มีชัยชนะแม่ทัพของกษัตริย์อันทิโอคัสหลายครั้ง ยึดพระวิหารคืนมาได้ ทำพิธีถวายพระวิหารและทำให้ชาวยิวมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ในรัชสมัยของกษัตริย์เดเมตริอัสที่ 1 เขาต้องเผชิญกับอุปสรรคภายในจากกลอุบายของอัลชีมัสมหาสมณะ แต่เขาก็ยังประสบความสำเร็จในสมรภูมิ นิคาโนร์ซึ่งยกทัพมาจะทำลายพระวิหารต้องประสบความพ่ายแพ้และถูกฆ่าตาย ยูดาสยังทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรกับชาวโรมัน แต่ในที่สุดเขาก็เสียชีวิตในการรบ หลังจากความตายของยูดาส โยนาธาน น้องชายเป็นผู้นำชาวยิวต่อมา (160-142 ก่อน ค.ศ.) 9:23-12:53 โยนาธานใช้การเมืองนำการทหาร โดยช่วยกำจัดคู่แข่งที่พยายามแย่งชิงราชบัลลังก์ของอาณาจักรซีเรีย กษัตริย์อเล็กซานเดอร์บาลัสทรงแต่งตั้งเขาเป็นมหาสมณะ กษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 ทรงรับรองการแต่งตั้งนี้ และกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 6 ก็ทรงรับรองอีกครั้งหนึ่งด้วย เขาทำสนธิสัญญากับชาวโรมันและชาวสปาร์ตา ได้ดินแดนเข้ามาปกครองเพิ่มเติม ชาวยิวรู้สึกว่ามีสันติภาพแน่นอนแล้ว แต่ในที่สุดโยนาธานก็เสียทีตกอยู่ในมือของตรีโฟ ซึ่งประหารชีวิตทั้งโยนาธานและยุวกษัตริย์อันทิ โอคัสที่ 6 หลังจากนั้น ซีโมนพี่ชายของโยนาธาน (142-134 ก่อน ค.ศ.) 13:1-16:24 ให้การสนับสนุนกษัตริย์เดเมตรีอัสที่ 2 ซึ่งทรงชิงราชบัลลังก์คืนมาได้ และทรงรับรองซีโมนเป็นมหาสมณะ แม่ทัพและผู้ปกครอง (Ethnarch) ของชาวยิว กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 7 ที่ทรงครองราชย์สืบต่อมาก็ทรงทำเช่นเดียวกัน ชาวยิวจึงได้รับอิสรภาพทางการเมืองและประกาศรับรองตำแหน่งต่างๆ ดังกล่าวของซีโมน เขาได้รื้อฟื้นสนธิสัญญากับชาวโรมันอีก ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาความเจริญรุ่งเรืองและสันติภาพ แต่กษัตริย์อันทิโอคัสที่ 7 กลับทรงเป็นอริกับชาวยิว และบุตรเขยของซีโมนได้ลอบฆ่าซีโมนพร้อมกับบุตรชายสองคน โดยหวังจะได้ความดีความชอบจากกษัตริย์

           เรื่องราวที่เล่าในหนังสือ 1 มคบ ครอบคลุมช่วงเวลาราว 40 ปี นับตั้งแต่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสทรงครองราชย์ในปี 175 ก่อน ค.ศ. จนถึงความตายของซีโมนในปี 134 ก่อน ค.ศ. เมื่อยอห์นฮีร์กัน บุตรของเขาขึ้นสืบตำแหน่งต่อมา หนังสือฉบับนี้เขียนเป็นภาษาฮีบรูแต่ตกทอดมาถึงเราในฉบับแปลภาษากรีก เท่านั้น ผู้เขียนเป็นชาวยิวในปาเลสไตน์ คงได้เขียนหนังสือนี้หลังปี 134 ก่อน ค.ศ. แต่คงก่อนที่ปอมเปย์ จอมทัพชาวโรมันจะเข้ายึดกรุงเยรูซาเล็มได้ในปี 63 ก่อน ค.ศ. บรรทัดสุดท้ายของหนังสือ (16:23-24) แสดงว่าหนังสือนี้เขียนขึ้นอย่างเร็วที่สุดราวปลายรัชกาลของยอห์นฮีร์กัน หรือน่าจะไม่นานหลังจากความตายของเขา คือราวปี 100 ก่อน ค.ศ. หนังสือฉบับนี้จึงมีคุณค่ามากที่ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับระยะเวลาช่วงนั้น แต่เราก็ต้องไม่เคร่งครัดกับข้อมูลมากนัก เมื่อคำนึงถึงลักษณะวรรณกรรมของงานเขียนที่ได้รับอิทธิพลจากการเขียนจดหมายเหตุของชาวอิสราเอลในสมัยโบราณที่หนังสือ 1 มคบ นี้ใช้เป็นแบบอย่าง และยังต้องคำนึงถึงเจตนาของผู้เขียนด้วย

            แม้ผู้เขียนจะบรรยายอย่างยืดยาวถึงการสู้รบและการแข่งขันชิงดีกันทางการเมือง แต่เขาก็ยังมีเจตนาเขียน “ประวัติศาสตร์ทางศาสนา” ด้วย เขาคิดว่าความทุกข์ยากของชาติเป็นการที่พระเจ้าทรงลงโทษบาปของประชากร และความสำเร็จของบุคคลสำคัญในเรื่องเป็นผลจากความช่วยเหลือของพระเจ้า ผู้เขียนเป็นชาวยิว มีความห่วงใยต่อความเชื่อที่เขารู้สึกว่ากำลังถูกคุกคาม เมื่อขนบประเพณีของชนต่างชาติพยายามแทรกซึมเข้ามาทำลายขนบประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เขาจึงเป็นอริอย่างที่สุดไม่ยอมรับอารยธรรมกรีก และมีความนิยมชมชอบอย่างยิ่งต่อบรรดาวีรบุรุษที่ต่อสู้เพื่อป้องกันธรรมบัญญัติและพระวิหาร จนได้รับอิสรภาพในการปฏิบัติศาสนกิจมาก่อน แล้วยังได้รับอิสรภาพทางการเมืองตามมาด้วย เรื่องเล่าของเขาเล่าว่าลัทธิยิวซึ่งเป็นผู้รักษาความจริงที่พระเจ้าทรงเปิดเผย ได้ทำหน้าที่อย่างไรเพื่อรักษาการเปิดเผยความจริงนี้ไว้ให้แก่ชาวโลก

           3. หนังสือมัคคาบีฉบับที่สองไม่ใช่เรื่องราวต่อจากฉบับที่หนึ่ง เรื่องราวใน 2 มคบ ส่วนหนึ่งซ้ำกับเรื่องราวใน 1 มคบ หนังสือ 2 มคบ เริ่มเล่าถึงเหตุการณ์ก่อนเหตุการณ์ใน 1 มคบ เล็กน้อย คือเริ่มตั้งแต่ปลายรัชกาลของกษัตริย์เซเลวคัสที่ 4 พระเชษฐาของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส แต่จบลงที่เรื่องยูดาสมัคคาบีรบชนะนิคาโนร์ เพราะฉะนั้นเรื่องราวใน 2 มคบ จึงครอบคลุมช่วงเวลาราว 15 ปี ตรงกับ 7 บทแรกในหนังสือ 1 มคบ

           ลักษณะวรรณกรรมของ 2 มคบ ยังต่างกับ 1 มคบ อีกด้วย หนังสือนี้เขียนขึ้นเป็นภาษากรีกตั้งแต่แรก และอ้างว่าเป็นการย่องานเขียนของนักเขียนชื่อยาโสนแห่งไซรีน (2:19-32) นำด้วยจดหมาย 2 ฉบับซึ่งชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มส่งไปถึงชาวยิวในอียิปต์ (1:1-2:18) ลีลาการเขียนเป็นลีลาของนักเขียนชาวกรีก แต่ก็ไม่ใช่ลีลาแบบดีที่สุด บางครั้งมีลีลาโอ่อ่า ยืดยาด มีลักษณะเป็นบทเทศน์มากกว่าประวัติศาสตร์ แต่ผู้เขียนก็แสดงว่าตนรู้จักสถาบันและบุคคลสำคัญร่วมสมัยดีกว่าผู้เขียน 1 มคบ

            ผู้เขียน 2 มคบ มีเจตนาให้ผู้อ่านได้รับความสนุกและเห็นแบบอย่างน่าประพฤติตาม (2:25; 15:39) ได้แก่เรื่องการสู้รบของยูดาสมัคคาบีเพื่ออิสรภาพ มีเรื่องอภินิหารการประจักษ์จากสวรรค์มาเสริมและจบลงด้วยความช่วยเหลือจากพระเจ้า (2:19-22) เขาเล่าว่าการที่ชาวยิวถูกเบียดเบียนเป็นการที่พระเจ้าทรงสำแดงความรักมั่นคงของพระองค์ เพื่อเตือนให้ประชากรสำนึกถึงความผิดก่อนที่จะทำผิดมากจนถูกพระองค์ลงโทษ (6:12-17) ผู้เขียน 2 มคบ เขียนถึงชาวยิวที่เมืองอเล็กซานเดรีย เพื่อปลุกความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องชาวยิวในแผ่นดินปาเลสไตน์ โดยเฉพาะเขาต้องการปลุกใจชาวยิวที่เมืองอเล็กซานเดรียให้สนใจต่อสถานภาพของพระวิหาร ซึ่งเป็นศูนย์กลางชีวิตของชาวยิวซึ่งปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ และเป็นเป้าโจมตีจากชนต่างชาติ ความห่วงใยเช่นนี้ปรากฏชัดในการเรียบเรียงเรื่องราวในหนังสือ

            หลังจากเล่าเรื่องเฮลีโอโดรัสล้มเหลวในการปล้นพระวิหาร (3:1-40) เขาแสดงให้เห็นว่าพระวิหารเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่มีใครล่วงละเมิดได้ เรื่องราวในภาคแรก (4:1-10:8) จบลงด้วยเรื่องการสวรรคตของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส ผู้เบียดเบียนชาวยิวและทำให้พระวิหารมีมลทิน ตามด้วยเรื่องการตั้งวันฉลองถวายพระวิหาร ภาคสอง (10:9-15:36) ก็จบด้วยเรื่องความตายของนิคาโนร์ ผู้เบียดเบียนชาวยิวอีกคนหนึ่ง ซึ่งคุกคามจะทำลายพระวิหาร และการตั้งวันฉลองระลึกถึงเหตุการณ์นี้ จดหมายนำทั้งสองฉบับก็สืบเนื่องมาจากความคิดหลักเดียวกัน (1:1-2:18) คือเป็นการเชิญที่ชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็มส่งไปถึงเพื่อนร่วมชาติร่วมศาสนาในอียิปต์ ให้ฉลองการชำระพระวิหารและฉลองการถวายพระวิหาร

             ความตายของนิคาโนร์เป็นเหตุการณ์สุดท้ายที่เล่าในหนังสือ จึงชวนให้คิดว่างานเขียนของยาโสนแห่งไซรีนนี้คงเสร็จไม่นานหลังจากปี 160 ก่อน ค.ศ. ถ้าผู้ที่สรุปย่อผลงานชิ้นนี้เป็นเจ้าของจดหมายนำทั้งสองฉบับในบทที่ 1-2 ด้วย (แต่เรื่องนี้ก็ยังเป็นที่ถกเถียงไม่ยุติ) น่าจะสรุปได้จากข้อสังเกตใน 1:9 ว่าหนังสือ 2 มคบ ในรูปแบบย่อฉบับปัจจุบันเขียนเสร็จในปี 124 ก่อน ค.ศ. หนังสือ 2 มคบ นี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อยด้วย แม้ว่าผู้สรุปงานของยาโสนแห่งไซรีน (หรืออาจเรียกว่า “ผู้เรียบเรียง”) รับเอาเรื่องเล่าลือไม่จริงที่อยู่ในจดหมายฉบับที่สอง (1:10ข-2:18) เล่าเรื่องน่าตื่นเต้นเกี่ยวกับเฮลีโอโดรัสในบทที่ 3 เรื่องการยอมตายเป็นมรณสักขีของเอเลอาซาร์ใน 6:18-31 และเรื่องการเป็นมรณสักขีของพี่น้องเจ็ดคนในบทที่ 7 ซึ่งเขาพบในผลงานของยาโสน และใช้เป็นตัวอย่างสนับสนุนความคิดทางศาสนาของเขาได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ ตาม เรื่องราวส่วนใหญ่ซึ่งตรงกับที่เล่าใน 1 มคบ เป็นประกันว่าเรื่องราวที่ได้มาจากแหล่งข้อมูล 2 แหล่งที่ไม่เกี่ยวกันนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง มีอยู่เรื่องหนึ่งที่แหล่งข้อมูลทั้งสองแหล่งขัดแย้งกัน และ 2 มคบ ดูเหมือนจะถูกต้องกว่า คือ 1 มคบ 6:1-13 เล่าว่าพิธีชำระพระวิหารเกิดขึ้นก่อนที่กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสจะสวรรคต แต่ 2 มคบ 9:1-29 เล่าว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นภายหลัง จดหมายเหตุลำดับเหตุการณ์แห่งบาบิโลนที่เพิ่งพิมพ์เผยแพร่พิสูจน์ว่าข้อมูลของ 2 มคบ ถูกต้อง กษัตริย์อันทิโอคัสสวรรคตในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปี 164 ก่อน ค.ศ. ก่อนพิธีถวายพระวิหารซึ่งมีขึ้นในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน เกี่ยวกับข้อความที่พบได้เฉพาะใน 2 มคบ เราไม่มีเหตุผลที่จะสงสัยว่าข้อมูลในบทที่ 4 เกี่ยวกับช่วงเวลาก่อนหน้าที่กษัตริย์อันทิโอคัสจะละเมิดพระวิหารนั้นจะไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม มีข้อผิดพลาดประการหนึ่งซึ่งต้องกล่าวว่ามาจากความผิดของผู้สรุปย่อ ไม่ใช่ความผิดของยาโสน คือเขาได้เพิ่มจดหมายอื่นหลายฉบับและเรื่องราวของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตอนปลายรัชกาลของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 4 ซึ่งน่าจะแทรกอยู่ระหว่างบทที่ 8 กับบทที่ 9 มารวมไว้กับพระราชสาสน์ของกษัตริย์อันทิโอคัสที่ 5 (2 มคบ 11:22-26)

            หนังสือ 2 มคบ มีความสำคัญเพราะยืนยันชัดเจนถึงความเชื่อเรื่องการกลับคืนชีพของผู้ตาย (ดู 7:9 เชิงอรรถ c; 14:46) เรื่องบำเหน็จรางวัลและการลงโทษในชีวิตหน้า (6:26) เรื่องการภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ (ข้อ 12:38 เชิงอรรถ j; ข้อ 41-46ฯ) เรื่องผลทางจิตของการเป็นมรณสักขี (6:18-7:41) เรื่องที่บรรดานักบุญอาจวอนขอพระเจ้าแทนเราได้ (15:12-16, ข้อ 14 และ 14 เชิงอรรถ e) ข้อเขียนตอนอื่นๆ ในพันธสัญญาเดิมกล่าวถึงคำสอนต่างๆ เหล่านี้อย่างคลุมเครือ การกล่าวยืนยันถึงคำสอนเหล่านี้ทำให้เห็นชัดว่าการที่พระศาสนจักรให้ความสำคัญแก่หนังสือ 2 มคบ นี้เป็นการถูกต้องแล้ว

           ในปัจจุบันเราเข้าใจได้ดีขึ้นถึงระบบนับลำดับเวลาที่หนังสือแต่ละฉบับใช้ จากการค้นพบเอกสารแผ่นดินเผาที่เขียนด้วยอักษรรูปลิ่ม (cuneiform) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลำดับพระนามกษัตริย์ราชวงศ์เซเลวซิด และลำดับพระนามนี้ทำให้เรากำหนดเวลาสวรรคตของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนสได้ถูกต้อง หนังสือ 1 มคบ นับลำดับเวลาโดยใช้ปฏิทินของชาวมาซิโดเนียที่เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 312 ก่อน ค.ศ. ขณะที่ 2 มคบ ใช้ปฏิทินของชาวยิวซึ่งนับลำดับเวลาตามอย่างชาวบาบิโลน ที่เริ่มตั้งแต่เดือนนิสาน (3 เมษายน) ปี 311 ก่อน ค.ศ. แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นอีกสองเรื่อง นั่นคือ หนังสือ 1 มคบ ใช้ปฏิทินของชาวยิว-บาบิโลนกำหนดเวลาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระวิหารและประวัติศาสตร์ของชาวยิว (1:54; 2:70; 4:52; 9:3, 54; 10:21; 13:41, 51; 14:27; 16:14) แต่จดหมายที่อยู่ใน 2 มคบ 11 ใช้ปฏิทินของชาวมาซิโดเนียเป็นตัวกำหนดเวลาดังที่น่าจะเป็น

             ตัวบทของหนังสือมัคคาบีตกทอดมาถึงเรา ใน ต้นฉบับอักษรตัวใหญ่ (uncial manuscripts) 3 ฉบับ คือ ฉบับจากภูเขาซีนาย (Codex Sinaiticus) ฉบับจากเมืองอเล็กซานเดรีย (Codex Alexandrinus) และฉบับจากเมืองเวนิส (Codex Venetus) และในต้นฉบับอักษรตัวเล็ก (minuscules) ราว 30 ฉบับ แต่น่าเสียดายที่ในต้นฉบับจากภูเขาซีนาย (S) ซึ่งเป็นตัวบทที่รักษาไว้ดีที่สุด ขาดข้อความที่ตรงกับ 2 มคบ ต้นฉบับอักษรตัวเล็กซึ่งมีรูปแบบตามที่พระสงฆ์ที่ชื่อ “ลูเซียน” (Lucian) ปรับปรุงแก้ไขราวปี ค.ศ.300 บางครั้งรักษาตัวบทที่เก่าแก่กว่าตัวบทในต้นฉบับโบราณภาษากรีกฉบับอื่นหลายฉบับ และเก่าแก่กว่าตัวบทฉบับที่ Flavius Josephus นักประวัติศาสตร์ชาวยิวใช้อ้างถึงในหนังสือ “ประวัติศาสตร์โบราณของชาวยิว” (Antiquities of the Jews) ตามปกติ Josephus มักเล่าเรื่องตาม 1 มคบ โดยไม่ใช้ 2 มคบ เลย สำนวนแปลภาษาละตินโบราณ (Vetus Latina) ยังแปลจากตัวบทภาษากรีกซึ่งบ่อยๆ ดีกว่าตัวบทของต้นฉบับที่เรารู้จักด้วย

หนังสือปรีชาญาณ

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือปรีชาญาณ

 

         1.       หนังสือ “ปรีชาญาณ” ซึ่งเขียนเป็นภาษากรีกเป็นหนังสือใน “สารบบที่สอง” บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรรู้จักและใช้หนังสือฉบับนี้ตลอดมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 2 และแม้ว่าจะมีปิตาจารย์บางท่านยังลังเลใจหรือไม่ยอมรับ โดยเฉพาะนักบุญเยโรม พระศาสนจักรก็รับรองว่าหนังสือฉบับนี้ได้รับการดลใจเหมือนกับหนังสือฉบับอื่นๆในสารบบของชาวยิว

          หนังสือฉบับนี้มีชื่อในพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata ว่า “Liber Sapientiae”  (หนังสือปรีชาญาณ) ภาคแรก (บทที่ 1-5) อธิบายถึงบทบาทที่ปรีชาญาณมีต่อชะตากรรมของมนุษย์ และยังเปรียบเทียบชะตากรรมของคนชอบธรรมและคนอธรรม ทั้งในชีวิตนี้และในชีวิตหลังความตาย ภาคที่สอง (บทที่ 6-9) กล่าวถึงบ่อเกิดและธรรมชาติของปรีชาญาณ ทั้งยังบอกวิธีที่จะได้ปรีชาญาณมาครอบครองด้วย ภาคสุดท้าย (บทที่ 10-19) กล่าวยกย่องบทบาทของปรีชาญาณและของพระเจ้าในประวัติศาสตร์ของประชากรอิสราเอลที่ทรงเลือกสรร และเน้นเป็นพิเศษ นอกเหนือจากอารัมภบทสั้นๆ ถึงเหตุการณ์วิกฤติในประวัติศาสตร์เพียงประการเดียว คือการที่พระเจ้าทรงช่วยประชากรอิสราเอลให้รอดพ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ ภาคที่สามนี้ยังมีข้อความยืดยาวกล่าวถึงเรื่องการกราบไหว้รูปเคารพแทรกเข้ามาด้วย ในบทที่ 13-15

          ผู้เขียนสมมติว่าตนคือกษัตริย์ซาโลมอน แม้เขาจะไม่ออกนามนี้ ดังจะเห็นได้ชัดจากข้อความใน 9:7-8, 12 และชื่อของหนังสือในภาษากรีกคือ “พระปรีชาญาณของกษัตริย์ซาโลมอน” ผู้เขียนแสดงตนในข้อความที่เขียนประหนึ่งว่าเป็นกษัตริย์ (7:5; 8:9-15) และกำลังให้คำแนะนำแก่เพื่อนกษัตริย์ด้วยกัน (1:1; 6:1-11, 21) แต่ก็เห็นได้ชัดว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้เป็นเพียงวิธีการทางวรรณกรรมเท่านั้น เช่นเดียวกับผู้เขียนหนังสือปัญญาจารย์และเพลงซาโลมอน เขาอ้างว่าตนคือกษัตริย์ซาโลมอน ผู้ทรงปรีชายิ่งใหญ่ที่สุดของอิสราเอล หนังสือปรีชาญาณนี้ทั้งเล่มเขียนเป็นภาษากรีก รวมทั้งภาคแรก (บทที่ 1-5) ซึ่งมีบางคนเข้าใจผิดคิดว่าแต่แรกเขียนเป็นภาษาฮีบรู เรื่องราวซึ่งต่อเนื่องกันอย่างดีในหนังสือแสดงให้เห็นได้ชัดว่าหนังสือฉบับนี้เป็นผลงานของผู้เขียนคนเดียวเท่านั้น หนังสือฉบับนี้ยังมีลีลาการเขียนคงที่ตลอดเล่ม เป็นลีลาวรรณกรรมที่ไหลลื่นน่าฟัง และบางครั้งเมื่อจำเป็น ยังเป็นลีลาที่เร้าใจแบบนักพูดปราศรัยต่อสาธารณชนผู้ฟังด้วย

          ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้เขียนเป็นชาวยิว เขามีความเลื่อมใสศรัทธาต่อ “พระเจ้าของบรรพบุรุษ” (9:1) และภูมิใจที่เป็นสมาชิกของ “ประชากรศักดิ์สิทธิ์ พงศ์พันธุ์ไร้มลทิน” (10:15) แต่เขาก็เป็นชาวยิวที่รับอิทธิพลของอารยธรรมกรีก การที่เขากล่าวยืดยาวถึงการอพยพโดย เปรียบเทียบชาวอียิปต์กับชาวอิสราเอล กล่าวประณามการนับถือกราบไหว้สัตว์เป็นเทพเจ้า แสดงว่าเขาพำนักอยู่ที่กรุงอเล็กซานเดรีย ราชธานีของโลกเฮลเลนิสต์ในสมัยราชวงศ์โทเลมี ที่ซึ่งมีชาวยิวโพ้นทะเลพำนักอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้เขียนอ้างข้อความจากพระคัมภีร์ (พันธสัญญาเดิม) จากตัวบทฉบับ LXX ซึ่งเป็นคำแปลพระคัมภีร์ภาษากรีกที่มีกำเนิดขึ้นในสังคมที่นั่น ผู้เขียนจึงน่าจะมีชีวิตอยู่หลังจากที่คำแปลพระคัมภีร์ฉบับนี้เสร็จบริบูรณ์แล้ว แต่ก็ก่อนสมัยของฟีโล (Philo :  20 ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 54) เพราะเขาไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงผลงานของนักปรัชญาผู้นี้เลย และฟีโลเองก็ดูเหมือนจะไม่ได้กล่าวอ้างอิงถึงข้อความในหนังสือปรีชาญาณนี้ด้วยเช่นเดียวกัน  ถึงกระนั้นเราก็พบความคิดคล้ายๆ กันหลายประการในข้อเขียนของคนทั้งสองนี้ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันและในช่วงเวลาใกล้เคียงกันด้วย นักวิชาการยังพิสูจน์โดยปราศจากข้อโต้แย้งไม่ได้ว่าผู้เขียนพันธสัญญาใหม่ใช้ข้อความจากหนังสือปรีชาญาณ แต่ดูเหมือนว่าเปาโลได้รับอิทธิพลจากลีลาการเขียนของหนังสือฉบับนี้ และยอห์นก็ดูเหมือนจะได้ยืมความคิดบางประการจากหนังสือปรีชาญาณมาใช้อธิบายเทววิทยาเรื่องพระวจนาตถ์ด้วย หนังสือฉบับนี้จึงน่าจะเขียนขึ้นตอนปลายศตวรรษแรกก่อนคริสตกาล นับได้ว่าเป็นหนังสือฉบับสุดท้ายของพันธสัญญาเดิม

          2.       เจตนาแรกของผู้เขียนหนังสือฉบับนี้คือ เขียนสำหรับเพื่อนร่วมชาติชาวยิว ซึ่งมีความเชื่อคลอนแคลน  เพราะได้รับอิทธิพลที่ดึงดูดความสนใจจากความก้าวหน้าด้านวิชาการที่กรุงอเล็กซานเดรีย จากระบบความคิดทางปรัชญาทันสมัยที่ทรงอิทธิพล จากความเจริญก้าวหน้าทางการศึกษาเรื่องธรรมชาติ จากความน่าสนใจของพิธีกรรมทางศาสนาลึกลับ จากโหราศาสตร์ จากรหัสยลัทธิหลายแบบ จากศาสนพิธีน่าเลื่อมใสซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมาก ถึงกระนั้น ผู้เขียนก็ยังคิดถึงคนต่างศาสนาที่ไม่ใช่ชาวยิวด้วย โดยหวังจะชักนำคนเหล่านี้ให้เข้ามาหาพระเจ้าผู้ทรงรักมนุษย์ทุกคน เจตนาดังกล่าวอาจสังเกตเห็นได้หลายครั้งจากวิธีพูดและวลีที่ใช้ ถึงกระนั้นเจตนานี้ยังคงเป็นเจตนารอง หนังสือปรีชาญาณสนใจมากกว่าที่จะปกป้องความเชื่อของชาวยิวมากกว่าที่จะดึงดูดคนต่างศาสนามาเข้าเป็นพวกเดียวกับตน

          เมื่อพิจารณาดูสภาพแวดล้อม ความรู้ การศึกษาและเจตนาของผู้เขียนแล้ว เราไม่แปลกใจเลยที่ผลงานของเขามีความสัมพันธ์หลายด้านกับความคิดแบบกรีก ถึงกระนั้น เราก็ไม่ควรเน้นย้ำเรื่องนี้มากเกินไป การศึกษาอบรมตามแบบอารยธรรมกรีกทำให้ผู้เขียนรู้จักถ้อยคำที่เป็นนามธรรมหลากหลายขึ้น และรู้จักใช้กระบวนการแสดงความคิดตามเหตุผลได้มากกว่าที่คำศัพท์และโครงสร้างทางไวยากรณ์ของภาษาฮีบรูเอื้ออำนวยให้แสดงออกได้ การอบรมศึกษาเช่นนี้ทำให้ผู้เขียนรู้จักศัพท์เฉพาะทางปรัชญาหลายคำ รู้จักจัดหมวดหมู่สิ่งของและประเด็นเรื่องราวต่างๆที่เขากล่าวถึงได้อย่างเป็นระเบียบ แต่อิทธิพลที่ผู้เขียนมีอย่างจำกัดและไม่ลึกซึ้งมากนักจากอารยธรรมนี้ก็มิได้หมายความว่าเขานิยมความคิดแบบกรีกอย่างเต็มที่ เขาเพียงแต่ยืมถ้อยคำมาเพื่อแสดงความคิดที่เขาได้รับมาจากพันธสัญญาเดิมเท่านั้น ความรู้ของเขาเกี่ยวกับปรัชญาสำนักต่างๆ และเกี่ยวกับวิชาโหราศาสตร์คงจะมีไม่มากไปกว่าผู้มีการศึกษาโดยทั่วไปร่วมสังคมร่วมสมัยเท่านั้น

           3.       ผู้เขียนไม่ใช่นักปรัชญาหรือนักเทววิทยา เขาเป็นเพียง “ผู้มีปรีชา” ตามแบบของอิสราเอลเท่านั้น เช่นเดียวกับนักเขียนวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณซึ่งมีชีวิตอยู่ก่อนหน้านั้น เขายกย่องส่งเสริมปรีชาญาณซึ่งมีกำเนิดจากพระเจ้า ว่าเป็นบ่อเกิดของความชอบธรรมและคุณความดีทุกประการ มนุษย์เราจะต้องอธิษฐานวอนขอปรีชาญาณนี้จากพระเจ้า แต่ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณมีความคิดก้าวหน้ากว่าผู้ที่มาก่อนเขา โดยเพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆที่มนุษย์เพิ่งค้นพบเข้ากับ “ปรีชาญาณ” ที่มีอยู่แล้วนี้ (ปชญ 7:17-21; 8:8)  ปัญหาเรื่องการให้รางวัลความดีซึ่งบรรดาผู้มีปรีชาในอดีตเคยศึกษาค้นคว้ามาเป็นเวลานานแต่ไม่พบคำตอบที่น่าพอใจ (ดู “ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมปรีชาญาณ” ข้อ 3) ในที่สุดก็พบคำตอบในหนังสือปรีชาญาณนี้ ผู้เขียนใช้ความรู้จากปรัชญาของพลาโตที่แยกวิญญาณกับร่างกายของมนุษย์ (ดู ปชญ 9:15) และคำสอนเรื่องอมตภาพของวิญญาณ เพื่อประกาศสอนว่าพระเจ้าทรงสร้างมนุษยชาติให้มีชีวิตอมตะ (ปชญ 2:23) และความไม่รู้เสื่อมสลายเป็นรางวัลจากปรีชาญาณและเป็นหนทางนำมนุษย์ไปพบพระเจ้า (ปชญ 6:18-19) ชีวิตในโลกนี้เป็นเพียงการเตรียมตัวไปรับชีวิตอีกชีวิตหนึ่งที่ผู้ชอบธรรมมีอยู่กับพระเจ้า ส่วนคนอธรรมจะต้องได้รับโทษ (ปชญ 3:9-10) ผู้เขียนไม่กล่าวพาดพิงถึงการกลับคืนชีพของร่างกาย แต่ก็ดูเหมือนว่าเขายอมรับว่าร่างกายอาจกลับคืนชีพมารับสภาพความเป็นอยู่แบบเดียวกับจิตได้ ซึ่งก็เป็นความพยายามที่จะประนีประนอมแนวความคิดแบบกรีกเรื่องอมตภาพของวิญญาณเข้ากับคำสอนของพระคัมภีร์ ซึ่งมีแนวโน้มกล่าวถึงเรื่องการกลับคืนชีพของร่างกาย (เทียบ ดนล)

          คำสอนของหนังสือปรีชาญาณที่ว่า “พระปรีชาญาณ” คือคุณลักษณะของพระเจ้านั้น เป็นคำสอนที่มีอยู่แล้วในพระคัมภีร์ พระปรีชาญาณมีส่วนร่วมงานของพระเจ้าในการเนรมิตสร้าง และนำประวัติศาสตร์ไปสู่จุดหมายปลายทาง คุณสมบัติของพระปรีชาญาณที่หนังสือฉบับนี้กล่าวถึงตั้งแต่บทที่ 11 เป็นต้นไปนั้นก็คือคุณลักษณะของพระเจ้าด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระปรีชาญาณก็คือคุณลักษณะประการเดียวกันกับที่พระเจ้าทรงใช้ ในการปกครองดูแลโลกจักรวาล เพียงแต่ว่า “พระปรีชาญาณเป็นสิ่งที่ไหลล้นจากพระสิริรุ่งโรจน์ของพระผู้ทรงสรรพานุภาพ...เป็นแสงสะท้อนความสว่างนิรันดร... เป็นภาพลักษณ์แห่งความดีล้ำเลิศของพระองค์” (ปชญ 7:25-26) เพราะฉะนั้น “(พระ)ปรีชาญาณ” จึงแตกต่างจากพระเจ้า แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นแสงสะท้อนออกมาจากพระธรรมชาติของพระองค์ ในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณไม่ได้ก้าวไกลไปกว่านักเขียนวรรณกรรมปรีชาญาณคนอื่นๆ (ดู “ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมปรีชาญาณ” ข้อ 2) ไม่ปรากฏว่าผู้เขียนให้พระปรีชาญาณมีความเป็นอยู่เป็นเอกเทศแยกจากพระเจ้า แต่ทว่าข้อความทั้งตอนเกี่ยวกับธรรมชาติของปรีชาญาณใน ปชญ 7:22–8:8 พัฒนาวิธีแสดงความคิดดั้งเดิมต่อไปอีกก้าวหนึ่ง และมีความเข้าใจถึงลักษณะต่างๆของปรีชาญาณลึกซึ้งยิ่งขึ้น

          ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณไม่ใช่คนแรก ที่บรรยายถึงประวัติศาสตร์ของชาวอิสราเอล ก่อนหน้านั้น “บุตรสิรา” ก็เคยทำมาแล้ว (บสร 44-50; ดู สดด 78, 105, 106, 135, 136 ด้วย) แต่ผู้เขียนหนังสือปรีชาญาณมีเอกลักษณ์เฉพาะของตนในสองเรื่อง เรื่องแรกคือเขาพยายามอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและให้ข้อสรุป “ปรัชญาประวัติศาสตร์ทางศาสนา” ซึ่งมีการอธิบายแบบใหม่ถึงเหตุการณ์ที่มีเล่าในพระคัมภีร์ ตัวอย่างเช่น เขาพยายามมองหาให้เห็นว่าพระเจ้าทรงใช้ “ความพอดี” ในการที่ทรงลงโทษชาวอียิปต์และชาวคานาอันใน ปชญ 11:15 – 12:27 ส่วนเรื่องที่สองที่มีความหมายมากกว่านี้ก็คือเขานำเรื่องราวที่มีเล่าอยู่แล้วในพระคัมภีร์มาเล่าใหม่ให้เข้ากับความคิดและคำสอนที่เขาต้องการแสดง ในบทที่ 16-19 เขาจะเปรียบเทียบรายละเอียดของเหตุการณ์ ที่มีผลต่อชะตากรรมต่างกันของชาวอียิปต์และของชาวอิสราเอล ผู้เขียนคิดค้นรายละเอียดมาเพิ่มเติมในการเล่าเหตุการณ์ต่างๆ บางทีก็นำเรื่องที่เกิดขึ้นต่างวาระกันมารวมเข้าไว้ด้วยกัน บางทีก็ขยายรายละเอียดของเหตุการณ์ให้ใหญ่โตยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นจริง วิธีการทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างดีเลิศของวิธีการที่บรรดาธรรมาจารย์ชาวยิวในสมัยต่อมาจะใช้อธิบายพระคัมภีร์ คือวิธีการที่นักวิชาการในปัจจุบันเรียกว่า “Midrash”

          รสนิยมของผู้อ่านได้เปลี่ยนไปพร้อมกับกาลเวลา และหนังสือปรีชาญาณก็ได้สูญเสียความนิยมที่เคยมีมาแต่ก่อน ถึงกระนั้น เรื่องราวในสองภาคแรก (บทที่ 1-9) ก็ยังมีข้อคิดหลายประการสำหรับบรรดาคริสตชน พระศาสนจักรจึงยังใช้ข้อความหลายตอนจากหนังสือปรีชาญาณในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

          ตัวบทของหนังสือปรีชาญาณมีเก็บรักษาตกทอดมาถึงปัจจุบัน ในเอกสารคัดลอกด้วยมือที่สำคัญ 4 ฉบับ ได้แก่สำเนาโบราณฉบับวาติกัน (B อายุตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 4) สำเนาโบราณฉบับภูเขาซีนาย (S อายุตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 4 เช่นกัน) สำเนาโบราณฉบับอเล็กซานเดรีย (A อายุตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 5) และสำเนาโบราณฉบับ C (Ephraemi rescriptus อายุตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 5) และยังพบได้อีกในสำเนาโบราณจำนวนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญในอันดับรอง สำเนาโบราณฉบับดีที่สุดคือสำเนาโบราณฉบับวาติกัน (B) ซึ่งใช้เป็นต้นฉบับในการแปลสำนวนนี้ ตัวบทนี้มีชื่อเรียกจากนักวิชาการโดยทั่วไปว่า “Textus receptus” (หมายความว่า “ตัวบทที่ทุกคนยอมรับ”) ส่วนสำนวนแปลโบราณภาษาละตินที่ปรากฏในพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata เป็นสำนวนแปลเก่าที่เรียกว่า “Itala” (ใช้อักษรย่อว่า Lat.) และนักบุญเยโรมไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขสำนวนแปลฉบับนี้ ทั้งนี้ก็เพราะท่านนักบุญองค์นี้ไม่ยอมรับหนังสือในสารบบที่สองนั่นเอง

 

หนังสือบุตรสิรา

ความรู้เกี่ยวกับหนังสือบุตรสิรา

(หรือ Ecclesiasticus)

            1.       หนังสือฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก แต่ไม่อยู่ในสารบบพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู จึงเป็นหนังสือพระคัมภีร์ใน “สารบบที่สอง” ซึ่งพระศาสนจักรรับรอง  หนังสือนี้เคยเรียกกันว่า “Ecclesiasticus” (ละคำว่า “Liber” จึงแปลได้ว่า “หนังสือของพระศาสนจักร”) แต่เราเรียกหนังสือในฉบับแปลนี้ว่า “บุตรสิรา” (เพราะเหตุผลที่จะกล่าวในภายหลัง) หนังสือฉบับนี้แต่เดิมเขียนเป็นภาษาฮีบรู นักบุญเยโรมและธรรมาจารย์ชาวยิวหลายคน (ซึ่งอ้างถึงหนังสือฉบับนี้) รู้จักตัวบทเดิมภาษาฮีบรูของหนังสือ เมื่อปี ค.ศ. 1896 มีผู้ค้นพบราว 2 ใน 3 ของตัวบทภาษาฮีบรูนี้ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของสำเนาฉบับคัดลอกในสมัยกลาง ในห้องเก็บหนังสือพระคัมภีร์ที่ใช้ไม่ได้แล้ว (Geniza) ของศาลาธรรมแห่งหนึ่งที่กรุงไคโร หลังจากนั้นยังมีผู้ค้นพบชิ้นส่วนเล็กๆจำนวนหนึ่งของหนังสือนี้ในถ้ำที่กุมราน (Qumran) และในปี ค.ศ. 1964 ยังมีผู้ค้นพบตัวบทยาวพอใช้ (บสร 39:27–44:17) ที่ Massada ตัวบทเหล่านี้เขียนมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่หนึ่งก่อนคริสตกาล การที่พบว่ามีสำนวนแปลต่างๆ ไม่เหมือนกันของหนังสือนี้ และสำนวนแปลเหล่านี้ยังแตกต่างไปบ้างจากสำนวนแปลภาษากรีกและซีเรียคอีกด้วยเช่นนี้ แสดงว่าหนังสือฉบับนี้ได้รับการขัดเกลาสำนวนและใช้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยแรกๆ แล้ว

          ตัวบทภาษากรีกเป็นตัวบทเดียวที่พระศาสนจักรรับรองว่าได้รับการดลใจ เราใช้ตัวบทนี้ในการแปล อันที่จริงตัวบทนี้ได้รับการคัดลอกไว้ในสำเนาโบราณสำคัญ 3 ฉบับ ได้แก่ฉบับภูเขาซีนาย (Codex Sinaiticus) ฉบับอเล็กซานเดรีย (Codex Alexandrinus) และฉบับวาติกัน (Codex Vaticanus) ตัวบทเหล่านี้โดยรวมแล้วก็เป็นตัวบทที่ใช้กันทั่วไป เรียกว่า “Textus receptus” (หรือ “ตัวบทที่ทุกคนยอมรับ”) ตัวบทนี้แตกต่างกันหลายแห่งกับตัวบทภาษาฮีบรู ซึ่งเราจะแจ้งไว้ในเชิงอรรถ

          ส่วนชื่อในภาษาละตินว่า “Ecclesiasticus (liber)” เป็นชื่อที่เกิดขึ้นในภายหลัง คือสมัยนักบุญซีเปรียน (กลางคริสตศตวรรษที่ 3) ชื่อนี้อาจมาจากการที่พระศาสนจักรยอมรับหนังสือฉบับนี้เป็นทางการ ในขณะที่ชาวยิวไม่ยอมรับ หนังสือนี้ในภาษากรีกได้ชื่อว่า “ปรีชาญาณของเยซูบุตรของสิรัค” (ดูข้อความใน บสร 51:30) และผู้เขียนยังออกนามตนเองใน 50:27 อีกด้วย ในปัจจุบันนี้เราเรียกหนังสือนี้ว่า “บุตรสิรา” (“Ben Sira” หรือ “Siracides” ซึ่งในภาษากรีกแปลว่า “บุตรของสิรัค”) ใน “คำนำ” (ข้อ 1-35) หลานปู่ของผู้เขียนเล่าว่าตนได้แปลหนังสือฉบับนี้เมื่อเขาเดินทางไปพำนักอยู่ที่อียิปต์ในปีที่ 38 รัชกาลกษัตริย์ Euergetes (ข้อ 27) กษัตริย์พระองค์นี้มิใช่ใครอื่นนอกจากกษัตริย์โทเลมีที่ 7 Euergetes (แปลว่า “ผู้กระทำความดี”) ซึ่งครองราชย์ในช่วงเวลาปี 170-117 ก่อน ค.ศ. ดังนั้นปีที่เขากล่าวถึงจึงตรงกับปี 132 ก่อน ค.ศ. บุตรสิราผู้เขียน (ซึ่งเป็นปู่ของผู้แปล) จึงน่าจะมีชีวิตอยู่และเขียนหนังสือนี้ราว 60 ปีก่อนหน้านั้น คือราวปี 190-180 ก่อน ค.ศ. ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือก็สนับสนุนความเห็นนี้ด้วย ใน บสร 50:1-21 บุตรสิรากล่าวสรรเสริญซีโมนมหาสมณะ คำชมนี้คงต้องมาจากความทรงจำของผู้เขียน มหาสมณะผู้นี้คือมหาสมณะซีโมนที่ 2 ซึ่งถึงแก่มรณภาพภายหลังปี 200 ก่อน ค.ศ.ไม่นาน

          ในช่วงเวลาที่กล่าวถึงนี้ ดินแดนปาเลสไตน์เพิ่งเข้ามาอยู่ใต้ปกครองของราชวงศ์เซเลวซิด (คือตั้งแต่ปี 198 ก่อน ค.ศ.) บรรดาผู้นำชาวยิวหลายคนในสมัยนั้นสนับสนุนการรับอารยธรรมกรีกในรูปแบบต่างๆเข้ามาในสังคม และหลังจากนั้นไม่นาน กษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส (175-164 ก่อน ค.ศ.) ก็ใช้กำลังบังคับให้ชาวยิวยอมรับอารยธรรมกรีก บุตรสิราเป็นคนหนึ่งที่พยายามใช้พลังทุกอย่างของธรรมประเพณีประจำชาติ ในการต่อต้านกระแสความนิยมใหม่ๆ น่าอันตรายนี้ เขาเป็นธรรมาจารย์ที่แสวงหาปรีชาญาณ อีกทั้งยังมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ เขามีความเลื่อมใสต่อพระวิหารและพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์และเคารพนับถือตำแหน่งสมณะอย่างมาก หนังสือต่างๆ ในพระคัมภีร์ยังเป็นอาหารหล่อเลี้ยงจิตใจของเขาด้วย เขาจึงศึกษาคำสอนของบรรดาประกาศก และยิ่งกว่านั้นยังศึกษาข้อเขียนของบรรดาผู้มีปรีชาของอิสราเอลด้วย เพราะฉะนั้น เขาจึงพยายามสั่งสอนปรีชาญาณนี้ต่อไปแก่ทุกคนที่กระหายอยากศึกษาหาความรู้ดังกล่าวด้วย (ดู 33:18; 50:27 เทียบ ข้อ 7-14 ของ “คำนำ”)

          หนังสือ “บุตรสิรา” นี้มีรูปแบบเหมือนกับหนังสือประเภทปรีชาญาณที่ผู้มีปรีชาคนอื่นเคยเขียนไว้ก่อนหน้านั้น ยกเว้นข้อความถวายเกียรติสรรเสริญพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าที่แสดงออกในธรรมชาติ (42:15–43:33) และในประวัติศาสตร์ (44:1–50:29) หนังสือนี้มีเนื้อหาคล้ายกับในหนังสือสุภาษิตและหนังสือปัญญาจารย์ ซึ่งก็ไม่สู้จะมีระเบียบความคิดต่อเนื่องเป็นหมวดหมู่แต่ประการใด หนังสือนี้กล่าวถึงเรื่องต่างๆ โดยไม่มีระเบียบความคิดต่อเนื่องกันนัก และมีการกล่าวซ้ำเรื่องเดียวกันอยู่บ่อยๆ ด้วย เรื่องราวแต่ละเรื่องถูกจัดไว้ในรูป “คำคม” “คำพังเพย” หรือ “สุภาษิต” เป็นกลุ่มๆ ที่ไม่มีความคิดต่อเนื่องกันเท่าใดนัก ตอนท้ายของหนังสือมีภาคผนวกอยู่ 2 ตอน คือ “บทเพลงขอบพระคุณพระเจ้า” ใน 51:1-12 และบทประพันธ์เรื่องการแสวงหาปรีชาญาณ ใน 51:13-30 มีผู้ค้นพบตัวบทภาษาฮีบรูของภาคสุดท้ายนี้ที่ถ้ำกุมราน (Qumran) แทรกอยู่ในเอกสารคัดลอกของหนังสือเพลงสดุดี จึงสรุปได้ว่าบทประพันธ์บทนี้แต่เดิมแยกอยู่ต่างหากก่อนที่บุตรสิราจะนำมาผนวกไว้ในหนังสือของตน

          คำสอนของหนังสือบุตรสิราเป็นคำสอนตามธรรมประเพณี เช่นเดียวกับรูปแบบของหนังสือปรีชาญาณ บุตรสิรายกย่องส่งเสริมว่าปรีชาญาณนี้มาจากพระเจ้า มีความยำเกรงองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นราก ปรีชาญาณนี้เสริมสร้างบุคลิกของเยาวชนและนำความสุขมาให้ บุตรสิรามีความเห็นยังไม่ชัดเจนเช่นเดียวกับโยบและปัญญาจารย์ในเรื่องชะตากรรมของมนุษย์ รวมทั้งปัญหาเรื่องบำเหน็จรางวัลความดีความชั่วด้วย เขาเชื่อว่าพระเจ้าจะประทานรางวัลแก่คนดีและลงโทษคนชั่ว เขาเข้าใจดีว่าเวลาที่คนเราต้องตายนั้นมีความสำคัญมาก แต่เขาก็ยังไม่เห็นว่าพระเจ้าจะประทานรางวัลให้แต่ละคนได้อย่างไรตามที่การกระทำของเขาควรจะได้รับ  (ดู “ความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมประเภทปรีชาญาณ” ข้อ 3) ใน บสร 24:1-22 เมื่อกล่าวถึงธรรมชาติของพระปรีชาญาณของพระเจ้า บุตรสิรานำข้อความเกี่ยวกับปรีชาญาณในหนังสือสุภาษิตและหนังสือโยบมาพัฒนาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          แต่ความคิดใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของบุตรสิราโดยเฉพาะ และไม่เคยมีใครกล่าวมาก่อนก็คือ ความคิดที่ว่าพระปรีชาญาณก็คือธรรมบัญญัติของโมเสส (บสร 24:23-24; บารุคก็จะทำเช่นเดียวกันในบทประพันธ์ยกย่องปรีชาญาณใน บรค 3:9–4:4) ความคิดที่บุตรสิรามีไม่เหมือนกับนักเขียนอื่นๆ ก่อนหน้านั้นก็คือ เขาให้ความสำคัญแก่ปรีชาญาณเหมือนกับให้ความเคารพนับถือต่อธรรมบัญญัติ  ยิ่งกว่านั้น เขาสอนว่าการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติคือการปฏิบัติหน้าที่ทางศาสนาอย่างละเอียดถี่ถ้วน (บสร 35:1-10) เขาจึงเป็นผู้สนับสนุนอย่างมั่นคงให้ทุกคนประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ด้วยความศรัทธา

             2.       ตรงข้ามกับบรรดาผู้มีปรีชาก่อนหน้านั้น บุตรสิราพิจารณาถึงประวัติศาตร์แห่งความรอดพ้นใน บสร 44:1–49:16 เขาพิจารณาถึงบุคคลสำคัญๆ ในพันธสัญญาเดิม ตั้งแต่เอโนคมาจนถึงเนหะมีย์ คำตัดสินของเขาต่อบุคคลสามคนเป็นคำตัดสินที่รุนแรงไม่แพ้คำตัดสินของผู้เขียนประวัติศาสตร์ตามแนวหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ (Deuteronomic historians) ได้แก่คำตัดสินกษัตริย์ซาโลมอน (แม้จะทรงได้รับพระนามว่าเป็นแบบฉบับของผู้มีปรีชาทั้งหลาย) กษัตริย์เรโหโบอัมและเยโรโบอัม เขายังประณามบรรดากษัตริย์ทุกองค์เหมือนกันหมด นอกจากกษัตริย์ดาวิด เฮเซคียาห์และโยสิยาห์ แต่ถึงกระนั้นเขาก็ยังภูมิใจในอดีตของประชากรของตน และกล่าวยืดยาวเป็นพิเศษถึงบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ในพันธสัญญาเดิม และยังกล่าวถึงการอัศจรรย์ต่างๆที่พระเจ้าทรงใช้ผู้ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เป็นเครื่องมือ เขาเล่าถึงการที่พระเจ้าทรงกระทำพันธสัญญากับโนอาห์ อับราฮัม ยาโคบ โมเสส อาโรน ฟีเนหัส และกษัตริย์ดาวิด ซึ่งเป็นเสมือนผู้แทนของประชากรทั้งชาติ แต่พระองค์ยังประทานสิทธิพิเศษแก่ครอบครัวบางครอบครัว  โดยเฉพาะแก่ครอบครัวบรรดาสมณะ ทั้งนี้ก็เพราะบุตรสิราให้ความเคารพนับถืออย่างมากแก่บรรดาสมณะ เขากล่าวถึงอาโรนและฟีเนหัสในตำแหน่งต้นๆของบัญชีรายชื่อบรรพบุรุษ นอกจากนั้น คำยกย่องบรรพบุรุษของเขาจบลงด้วยคำสรรเสริญยืดยาวต่อซีโมน มหาสมณะซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น บุตรสิรามองย้อนอดีตที่รุ่งเรืองด้วยความเศร้าอยู่บ้าง เมื่อเขาคิดถึงสภาพปัจจุบัน เขาอธิษฐานอ้อนวอนเมื่อคิดถึงบรรดาผู้วินิจฉัยและประกาศก ขอให้ “กระดูกของท่านเหล่านี้ผลิดอกขึ้นมาอีกจากหลุมศพ” (46:12; 49:10) ขอให้ท่านเหล่านี้มีผู้สืบตำแหน่งต่อไป เขาเขียนหนังสือฉบับนี้ไม่นานนักก่อนที่พวกมัคคาบีจะเป็นกบฏต่อต้านราชวงศ์เซเลวซิด เขาอาจมีชีวิตอยู่จนได้เห็นจุดจบของการกบฏนี้และคิดว่าพระเจ้าได้ทรงฟังคำอธิษฐานของตนแล้ว

              3.       แม้ว่าบุตรสิราให้ความสำคัญแก่คำสอนเรื่องพันธสัญญาในประวัติศาสตร์แห่งความรอดพ้นที่เขาเขียน แต่น่าจะเป็นความคิดถูกต้องด้วยว่าเขาไม่ได้มองไปข้างหน้าถึงการกอบกู้ที่พระเมสสิยาห์จะนำมาให้ จริงอยู่ที่คำอธิษฐานของเขาใน บสร 36:1-17 ทูลอ้อนวอนพระเจ้าให้ทรงระลึกถึงพันธสัญญาที่เคยทรงให้ไว้ ขอให้พระองค์ทรงสงสารกรุงเยรูซาเล็มและรวบรวมตระกูลต่างๆ ของยาโคบไว้ด้วยกัน ถึงกระนั้น การกล่าวทำนายถึงอนาคตแบบชาตินิยมเช่นนี้นับว่าไม่ธรรมดาสำหรับบุตรสิรา ดูเหมือนว่าเขาจะมีลักษณะของผู้มีปรีชาแท้จริงที่ยอมรับสภาพการณ์ปัจจุบันของเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งแม้จะเป็นสภาพการณ์ความตกต่ำแต่ก็ยังมีสันติภาพ เขามั่นใจว่าการกอบกู้จะมาถึง แต่การกอบกู้นี้จะเป็นรางวัลตอบสนองความซื่อสัตย์ต่อธรรมบัญญัติ ไม่ใช่เป็นผลงานของพระเมสสิยาห์ผู้กอบกู้

          บุตรสิราเป็นผู้แทนคนสุดท้ายของผู้มีปรีชาชาวยิวในปาเลสไตน์ ซึ่งได้รับการดลใจจากพระเจ้า      เขาเป็นตัวอย่างเด่นชัดของพวก “ฮาสิดิม” (หรือ “ผู้เลื่อมใส”) ของศาสนายูดาย (ดู 1 มคบ 2:42 เชิงอรรถ i) ซึ่งไม่นานหลังจากนั้นจะเป็นผู้ปกป้องความเชื่อของชาวยิวต่อต้านการเบียดเบียนของกษัตริย์อันทิโอคัส เอปีฟาเนส และจะรักษาผู้มีความเชื่อกลุ่มเล็กๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในอิสราเอล ในกลุ่มผู้มีความเชื่อเช่นนี้คำสอนของพระคริสตเจ้าจะหยั่งรากลงได้ในเวลาต่อมา แม้ว่าหนังสือบุตรสิรา (หรือ Ecclesiasticus) จะไม่ได้รับการยอมรับในสารบบพระคัมภีร์ของชาวยิว บรรดาธรรมาจารย์หลายคนก็อ้างถึงหนังสือนี้บ่อยๆ ในข้อเขียนของตน ในพันธสัญญาใหม่ จดหมายของยากอบยืมข้อความหลายตอนมาจากหนังสือฉบับนี้ พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวกล่าวพาดพิงถึงหนังสือฉบับนี้หลายครั้ง และจนกระทั่งในปัจจุบัน พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ก็ยังสะท้อนธรรมประเพณีปรีชาญาณโบราณฉบับนี้อยู่

หนังสือบารุค

 ความรู้เรื่องหนังสือบารุค

 

              หนังสือบารุคอยู่ในกลุ่มหนังสือ  “สารบบที่สอง”    ไม่พบใน พระคัมภีร์ฉบับภาษาฮีบรู พระคัมภีร์ฉบับภาษากรีกจัดหนังสือฉบับนี้ ไว้ระหว่างหนังสือประกาศกเยเรมีย์ และเพลงคร่ำครวญ ส่วนพระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับVulgata จัดหนังสือฉบับนี้ไว้ทันทีหลัง“เพลงคร่ำครวญ” เรารู้จากอารัมภบท (1:1-14) ของหนังสือนี้ว่าบารุค ซึ่งเป็นเลขานุการของประกาศกเยเรมีย์ เขียนหนังสือฉบับนี้ที่กรุงบาบิโลนหลังจากที่ชาวยิวถูกจับเป็นเชลยไปที่นั่น และส่งหนังสือนี้มาถึงชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็มสำหรับอ่านในการประชุมประกอบพิธีกรรม หนังสือนี้มีเนื้อหาดังนี้ [1] บทอธิษฐานภาวนาสารภาพความผิดที่ได้ทำ แต่ก็แสดงความหวัง (1:15 – 3:8); [2] บทประพันธ์เกี่ยวกับ “ปรีชาญาณ” (3:9 – 4:4) กล่าวว่า “ธรรมบัญญัติ” (Torah) คือปรีชาญาณ; [3] คำพยากรณ์ (4:5 – 5:9) ซึ่งกรุงเยรูซาเล็มกล่าวกับชาวยิวในถิ่นเนรเทศ และประกาศกปลอบโยนเขาทั้งหลายให้มีความหวังในพระเมสสิยาห์

          อารัมภบทเขียนเป็นภาษากรีก ส่วนบทอธิษฐานภาวนาใน 1:15 – 3;8 นั้นเห็นได้ชัดว่ามีต้นฉบับเป็นภาษาฮีบรูเช่นเดียวกับข้อความในภาคที่ [2] และ [3] ผลงานชิ้นนี้น่าจะเขียนขึ้นราวกลางศตวรรษแรกก่อนคริสตกาลแน่ๆ

          ในพระคัมภีร์ฉบับภาษากรีก หนังสือเพลงคร่ำครวญแยก “จดหมายของประกาศกเยเรมีย์” ออกจากหนังสือบารุค แต่พระคัมภีร์ภาษาละตินฉบับ Vulgata รวมจดหมายนี้ (โดยมีชื่อต่างหาก) ไว้กับหนังสือบารุค นับเป็นบทที่ 6 -- “จดหมาย” นี้เป็นข้อความต่อต้านการนับถือรูปเคารพ โดยพิสูจน์ให้เห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็นเรื่องไร้เหตุผล

ลีลาการเขียนไม่มีอะไรเด่นเป็นพิเศษ เป็นการขยายความคิดที่มีอยู่แล้วใน อสย 44:9-20; ยรม 10:1-16 การนับถือรูปเคารพที่ถูกต่อต้านเป็นการปฏิบัติของชาวบาบิโลนในสมัยหลัง จดหมายฉบับนี้น่าจะเขียนเป็นภาษาฮีบรูตั้งแต่แรก แต่ก็เป็นผลงานในสมัยชาวกรีกปกครอง แม้จะเจาะจงให้ชัดลงไปไม่ได้ว่าเขียนขึ้นเมื่อไร  ก็ดูเหมือนว่า 2 มคบ 2:1-3 กล่าวพาดพิงถึง “จดหมาย” ฉบับนี้

          นักวิชาการใช้หลักฐานทางโบราณคดีบอกได้ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆชิ้นหนึ่งของตัวบทภาษากรีกซึ่งพบได้ที่ถ้ำกุมรานมีอายุตั้งแต่ราวปี 100 ก.ค.ศ.

          ข้อเขียนทั้งหมดนี้ซึ่งถูกรวบรวมไว้ในชื่อของ “บารุค” ให้ข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับชุมชนชาวยิวซึ่งอยู่นอกแผ่นดินปาเลสไตน์ (Diaspora) ว่าเขามีวิธีการอย่างไรเพื่อรักษาความเชื่อทางศาสนาของตนไว้ ได้แก่การมีความสัมพันธ์กับกรุงเยรูซาเล็ม การอธิษฐานภาวนา ความเลื่อมใสต่อธรรมบัญญัติ ความกระหายอยากได้รับรางวัลตอบแทนจากพระเจ้า ความหวังในพระเมสสิยาห์  หนังสือบารุค เช่นเดียวกับหนังสือเพลงคร่ำครวญ เป็นพยานแสดงให้เห็นว่าชาวยิวยังมีความเคารพนับถืออย่างมั่นคงต่อประกาศกเยเรมีย์ หนังสือสั้นๆทั้งสองฉบับนี้อ้างว่าเป็นผลงานของท่านประกาศกและของศิษย์ของท่าน ชาวยิวยังให้ความเคารพต่อบารุคยิ่งขึ้นต่อๆมา ตั้งแต่ศตวรรษที่สอง ก.ค.ศ. มีหนังสือประเภท “วิวรณ์” นอกสารบบพระคัมภีร์ 2 ฉบับมีชื่อของเขา ฉบับหนึ่งพบได้ในภาษากรีก อีกฉบับหนึ่งพบได้ในภาษาซีเรียค (เรายังมีชิ้นส่วนคำแปลภาษากรีกของฉบับนี้อยู่บ้างอีกด้วย)