“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันพุธที่ 22 กุมภาพันธ์ 2017
ฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตร อัครสาวก
1ปต 5:1-4...
1โดยเหตุที่ข้าพเจ้าเป็นผู้อาวุโสคนหนึ่ง เป็นพยาน ถึงพระทรมานของพระคริสตเจ้า และมีส่วนจะรับพระสิริรุ่งโรจน์ที่จะปรากฏในอนาคตด้วย ข้าพเจ้าขอร้องบรรดาผู้อาวุโส ในกลุ่มของท่านทั้งหลาย

2จงเลี้ยงดูฝูงแกะของพระเจ้าที่อยู่ในความดูแลของท่าน จงดูแลด้วยความเต็มใจตามพระประสงค์ของพระเจ้า มิใช่ดูแลด้วยจำใจ จงดูแลด้วยความสมัครใจ มิใช่ดูแลเพราะเห็นแก่อามิสสินจ้าง 3จงเป็นแบบอย่างแก่ฝูงแกะ มิใช่เป็นเหมือนเจ้านายเหนือผู้ที่อยู่ใต้ปกครอง 4เมื่อพระคริสตเจ้าพระผู้เลี้ยงสูงสุดจะทรงแสดงพระองค์ ท่านจะได้รับสิริรุ่งโรจน์เป็นมงกุฎที่ไม่มีวันร่วงโรยเลย

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• “ธรรมาสน์นักบุญเปโตร”

• เมื่อเวลาที่พ่อเรียนอยู่ที่กรุงโรม พ่อชอบเข้าไปในพระวิหารนักบุญเปโตรมากๆ เวลาเรียนเสร็จพ่อมักจะเดินกลับมาทางพระหารนักบุญเปโตร และมีเวลาเมื่อใดก็จะเข้าไปในพระวิหาร พระวิหารนักบุญเปโตรใหญ่และสวยงามเหลือเกิน พ่อประทับใจในความใหญ่โตและสวยงามทางศิลปะเหลือเกิน เป็นการทุ่มเทกำลังกายใจ กำลังศรัทธาที่พระศาสนจักรมีให้ต่อชาวประมงคนนั้นที่พระเยซูเจ้าเรียกและเลือกที่ให้เป็นรากฐานของพระศาสนจักรคือประชากรของพระองค์ “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” นั่นคือนักบุญเปโตร...
o ด้านในสุดของพระวิหารนักบุญเปโตร หลังพระแท่นกลาง ส่งสายตายมองลึกเข้าไปสุด จะมีสิ่งที่พ่อประทับใจมากๆ ชอบยืนดู ชอบภาวนา คือ ธรรมาสน์นักบุญเปโตร (ดูภาพประกอบที่พ่อโพสต์) ให้นะครับ หรือจินตนาการตามที่พ่อจะเล่าต่อไปนี้ก็ได้
o ความจริงธรรมาสน์นักบุญเปโตรเดิมที่สร้างถวายเกียรติแด่ท่านเดิมเป็นไม้ และเมื่อสร้างมหาวิหารใหม่และใหญ่หลังนี้ Bernini นักออกแบบและสร้างชื่อดังทางสถาปัตยกรรม หรือชื่อเต็มของเขาคือ Gian Lorenzo Bernini (1598-1659) ได้ออกแบบธรรมาสน์นักบุญเปโตรนี้ขึ้นมาใหม่...ให้เข้ากับมหาวิหาร
o ต้องเรียกว่า เป็นงานที่สวยงามเหลือเกินทางศิลปะ เป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อครอบเก้าอี้หรือธรรมาสน์ไม้เดิมที่มีขนาดเล็กๆ เพื่อเป็นการเก็บรักษาความหมายของธรรมาสน์ของนักบุญเปโตรไว้ตลอดไป พ่อชอบมองดูมากๆ เพราะเป็นเก้าอี้ขนาดใหญ่ที่เป็นบรอนซ์และมีองค์ประกอบหลายส่วนที่งดงามพ่อจะเล่าให้ฟังครับ

• กระจกสีที่เป็นหน้าต่างให้แสงเข้ามาสง่างาม
o เป็นกระจกสีโบฮีเมีย Bohemian glass มี 24 แฉกหรือแถบ 12 แถบรอบๆจากด้านในออกมาด้านนอกเป็นดังรังสี
o แทนที่จำนวน 12 เผ่าของอิสราเอลประชากรของพระเจ้า
o และอัครสาวกของพระเยซูทั้ง 12 องค์ด้วยกัน
o เหลืองอร่ามเป็นรูปนกพิราบอยู่เหนือธรรมาสน์ หมายถึงพระจิตเจ้า ที่มีแสงสว่างรังสีออกไปรอบทิศ (ดูภาพประกอบ) เป็นเครื่องหมายว่า คำสอนของท่านนักบุญเปโตร หรือคำสอนของผู้สืบตำแหน่งจากท่าน “พระสันตะปาปา” นั้น ได้รับการส่องสว่างและดลใจจากองค์พระจิตเจ้าเสมอ เป็นพระประสงค์ของพระเจ้า เป็นการประทานปรีชาญาณจากพระเจ้า โดยทางพระจิตเจ้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายของอำนาจสอนทางการที่ผู้นำพระศาสนจักรได้รับ พระจิตเจ้านี้คือจิตวิญญาณหรือลมหายใจของพระศาสนจักร คอยชี้นำพระศาสนจักรอย่างไม่สิ้นสุดตลอดไปเพื่อช่วยเหลือและเพื่อนำทาง

• รูปแกะสลักคือนิกรเทวดาใหญ่น้อยมากมายอยู่ด้านบนเช่นกัน อำนาจจากสวรรค์ นิกรเทวดาทั้งหลายที่เป็นเครื่องหมายของอำนาจที่มาจากสวรรค์ มาจากพระเจ้า การดลใจของพระจิตเจ้ามาจากพระเจ้า มาจากสวรรค์ที่ประทับของพระเจ้า รายล้อมด้วยทูตสวรรค์ของพระเจ้า และขณะเดียวกันก็รายล้อมด้วยสมาชิกของพระศาสนจักรบนโลกร่วมกันในสิริรุ่งโรจนและแสงสว่างขององค์พระจิตเจ้า...

• ธรรมาสน์ ขนาดใหญ่ดูว่าลอยอยู่ในอากาศ คือ ธรรมาสน์ที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจการสอน อำนาจการประกาศข่าวดี อำนาจแห่งการอภิบาลชีวิตที่ท่านนักบุญเปโตรได้รับจากพระเยซูเจ้า..
o “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” และ
o “ท่านคือศิลาและบนศิลานี้เราจะตั้งพระศาสนจักรของเรา ประตูนรกไม่มีวันเอาชนะพระศาสนจักรของเราได้...” และ
o “เรามอบกุญแจพระอาณาจักรสวรรค์ให้แกท่าน...”

• ธรรมาสน์นี้เป็นเครื่องหมายและอันที่จริงสร้างไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายระลึกถึงอำนาจการเป็นผู้นำพระศาสนจักรของท่านนักบุญเปโตร...

• เหนือเก้าอี้ตัวนี้มีทูตสวรรค์สององค์ที่แบกมงกุฎละกุญแจสองดอก เครื่องหมายถึงอำนาจของสันตะสำนัก บนธรรมาสน์มีสัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นพระวรสารที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับการมอบกุญแจแก่นักบุญเปโตร และคำสั่งให้เลี้ยงแกะของพระเยซูเจ้า และยังมีรูปการล้างเท้าบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าที่มอบแบบฉบับให้นักบุญเปโตรและบรรดาศิษย์ด้วย

• ธรรมาสน์นี้ดูเหมือนลอยอยู่ในอากาศ... ขาเก้าอี้สี่ขานั้น ลอยอยู่แต่อันที่จริงขาเก้าอี้ทั้งสี่นี้อยู่ในมือของนักปราชญ์ของพระศาสนจักรสี่องค์ด้วยกันคือ
1. นักบุญอับโบรส
2. นักบุญอาธานาส ทั้งสององค์อยู่ทางฝั่งซ้าย
3. และนักบุญยอห์นคริสโซสโตม
4. และนักบุญออกันติน สององค์นี้อยู่ฝั่งขวา

• มีความหมายดีมากครับ คำสอนของพระสันตะปาปาจากธรรมาสน์
o ได้รับการรับรองจากนักปราชญ์ของพระศาสนจักร
o ได้รับการดลใจจากพระจิตเจ้าจากเบื้องบน
o และเสริมกำลังจากปิตาจารย์ของพระศาสนจักรทั้งสี่ ทั้งจากพระศาสนจักรจารีตตะวันออกและตะวันตก... สุดยอดเลยครับ....

• โดยสรุป พ่อขอนำเสนอบางส่วนจากคำเทศน์ของพระสันตะปาปาเอง พระองค์สอนและอธิบายเกี่ยวกับธรรมมาสน์นี้อย่างที่พ่อได้จาระไนทางสถาปัตยกรรมไว้ก่อนแล้ว และในวันฉลองเมื่อปี 2006 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ขณะนั้น ได้ย้ำเวลานั้น ณ ตอนสุดท้ายของบทเทศน์ของพระองค์ในมหาวิหารนักบุญเปโตรดังนี้ว่า
o “ธรรมาสน์ หรือบัลลังก์ อันที่จริงหมายถึงที่นั่งของพระสันตะปาปา หรือที่นั่งของนักบุญเปโตร และคำนี้ใช้กับที่นั่งของบรรดาพระสังฆราชตามอาสนวิหาร เป็นเครื่องหมายถึงอำนาจของพระสังฆราช “อำนาจ” คำนี้ก่อนอื่นใดอย่าเข้าใจผิด ไม่ใช่อำนาจแบบที่กระแสโลกเขาคิดเขาทำ แต่เป็นอำนาจใน “อาจารยานุภาพ” Magisterium คืออำนาจสอนและประกาศข่าวดีประกาศพระวรสาร การสอนที่ถ่ายทอดความเชื่อ...
o พี่น้องชายหญิงที่รัก ในพระวิหารนักบุญเปโตรตามท่านทราบ เป็นสถานที่ประดิษฐานธรรมาสน์ของนักบุญเปโตร เป็นงานออกแบบที่มีความหมายอย่างมากของแบร์นีนี่ สร้างเป็นบรอนซ์ใหญ่โตงดงาม และสนับสนุนโดยนักปราชญ์ของพระศาสนจักรสององค์จากตะวันตก สององค์จากตะวันออก
o ข้าพเจ้าขอเชิญชวนทุกท่านให้หยุดเงียบสักครู่หนึ่งให้พร่ำภาวนาวิงวอนพระเจ้า เพื่อพันธกิจที่พระเจ้ามอบไว้ให้กับข้าพเจ้า ให้เราจ้องมองดูกระจกสีด้านบนเหนือธรรมาสน์ และร้องขอพระจิตเจ้าด้วยกันเพื่อว่าเราจะได้สามารถรักษาแสงสว่างและพลังของพระจิตในชีวิตประจำวันของข้าพเจ้าเพื่อรับใช้พระศาสนจักรทั้งมวล ขอให้ทุกท่านภาวนาเพื่อข้าพเจ้าเสมอเพื่อทำหน้าที่รับใช้ท่าน.... และข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกท่านจากใจจริง (Pope Benedict XVI ได้เทศน์สอนไว้เมื่อปี 2006 วันฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตร)

พี่น้องที่รัก ยังมีแง่มุมทางศิลปะอีกมากเกี่ยวกับธรรมาสน์นักบุญเปโตร พ่อจะเสนอภายหลังเมื่อมีเวลาเป็นเกร็ดความรู้ แต่พ่อมีข้อคิดจริงๆสำหรับวันนี้ครับ
• “อำนาจ” คือ อำนาจของการประกาศข่าวดี อย่าเข้าใจผิด ไม่ใช่อำนาจตามกระแสโลก แต่เป็นอำนาจในความจริง ในความดี ในการประกาศพระเยซูเจ้าเท่า และอำนาจในการประกาศสอนทางการเพื่อความดี...

• เครื่องหมายของอำนาจแท้จริง คือ “การให้อภัย” อำนาจที่จะยกบาป คืออำนาจแห่งความเมตตาสูงสุด ความรักสูงสุด พระเยซูเจ้าให้อำนาจแก่เปโตรถ้าจะแยกแยะคงมีประเด็นดังนี้
o “จงเลี้ยงดูแกะของเราเถิด” อำนาจแห่งการเลี้ยงดู เอาใจใส่ อภิบาล และช่วยเหลือเสมอไป ดูและด้วยความรัก คืออำนาจที่แท้จริง
o “ถ้าท่านยกบาปของผู้ใด บาปของผู้นั้นได้รับการอภัย” อำนาจแห่งการให้อภัย ยกบาปก็เป็นอำนาจแห่งความรัก...
o “จงไปกระกาศพระวรสาร...” อำนาจแห่งการประกาศ “ข่าวดี” เท่านั้นที่เป็นพระบัญชา...
o “ถ้าท่านไม่ให้เราล้างเท้าท่าน ท่านจะไม่มีส่วนกับเรา...” อำนาจแห่งการรับใช้เยี่ยงทาส คือต้องรับใช้ ปฏิเสธการรับใช้ไม่ได้... การล้างเท้า คือเครื่องหมายของการรับใช้ต่ำต้อยที่สุด เป็นงานที่ทาสทำให้กับนายของตน...

• พี่น้องที่รักครับ ที่สุดเราต้องฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตรครับ แม้ว่าบางปีวันฉลองนี้ตกอยู่ในเทศกาลมหาพรตด้วยก็ต้องฉลองครับ เพราะเป็นการฉลองความงดงามของบัลลังก์ของนักบุญเปโตร พระสันตะปาปาและบรรดาพระสังฆราชทั้งหลาย เป็นเครื่องหมายที่งดงามที่สุดของอำนาจแห่งการประกาศข่าวดีและการรับใช้ครับ ไม่มีอำนาจใดที่งดงามไปกว่านี้อีกแล้วครับ... อำนาจแห่งการประกาศข่าวดีและการรับใช้ด้วยความรักมากที่สุด.... นี่คือจิตตารมณ์ของอำนาจของเราคริสตชน อำนาจแห่งความรักแบบพระเยซูคือยอมสิ้นพระชนม์เพื่อเรา

• พ่อเชิญชวนให้เราฉลองธรรมาสน์นักบุญเปโตร ให้เราภาวนาเพื่อพระสันตะปาปา และบรรดาพระสังฆราช เพื่อพวกท่านจะเป็นเครื่องหมายแท้จริงของอำนาจที่อ่อนโยนที่สุดในการรักและรับใช้อย่างซื่อสัตย์ตลอดไป... พระสันตะปาปาฟรังซิสที่รักยิ่งของเราย้ำในคำสอนเตือนใจของพระองค์ Evangelii Gaudium ในข้อสุดท้ายที่ พระองค์ย้ำอย่างงดงามเหลือเกินว่า “เราก็กำลังก้าวมาสู่ความเชื่อถึงธรรมชาติของการปฏิวัติเรื่องความรักและความอ่อนโยนจริงๆได้อย่างแน่นอน” (EG 288)

• ขอพระเจ้าอวยพรทุกท่าน อ่านพระบทอ่านที่หนึ่งที่พ่อยกมาให้ด้วยนะครับและไตร่ตรองคำสอนของนักบุญเปโตรครับ น่าอ่านครับ และดูรูปที่พ่ออัพให้ดูด้วยนะครับ และรำพึงให้เพลินใจถึงอำนาจแห่งความรัก การรับใช้ และการให้อภัยนะครับ อย่าหลง อย่าเหลิง ผิดทางไปกับอำนาจตามกระแสโลเท่านั้นเป็นดีที่สุดครับ....

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก