ข้อคิดจากพระวาจาประจำวัน  โดย..คุณพ่อฉลองรัฐ สังขรัตน์

วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2016
วันครบรอบการถวายพระวิหาร น.เปโตร และเปาโล อัครสาวก
กจ 28:11-16, 30-31 /   มธ 14:22-33
บทอ่านจากพระวรสารนักบุญมัทธิว                    
    ทันทีหลังจากนั้น พระเยซูเจ้าทรงสั่งให้บรรดาศิษย์ลงเรือข้ามทะเลสาบล่วงหน้าพระองค์ไปในขณะที่พระองค์ทรงจัดให้ประชาชนกลับ เมื่อทรงลาประชาชนแล้ว พระองค์ก็เสด็จขึ้นไปบนภูเขาเพื่อทรงอธิษฐานภาวนาตามลำพัง ครั้นเวลาค่ำ พระองค์ทรงอยู่ที่นั่นเพียงพระองค์เดียว ส่วนเรืออยู่ห่างจากฝั่งหลายร้อยเมตร กำลังแล่นโต้คลื่นอย่างหนักเพราะทวนลม

 เมื่อถึงยามที่สี่ พระองค์ทรงดำเนินบนทะเลไปหาบรรดาศิษย์ เมื่อบรรดาศิษย์เห็นพระองค์ทรงดำเนินอยู่บนทะเลดังนั้น ต่างตกใจมากกล่าวว่า “ผีมา” และส่งเสียงอื้ออึงด้วยความกลัว

     ทันใดนั้นพระเยซูเจ้าตรัสแก่เขาว่า “ทำใจให้ดี เราเอง อย่ากลัวเลย” เปโตรทูลตอบว่า “พระเจ้าข้า ถ้าเป็นพระองค์ ก็จงสั่งให้ข้าพเจ้าเดินบนน้ำไปหาพระองค์เถิด”
     พระองค์ตรัสว่า “มาเถิด” เปโตรจึงลงจากเรือ เดินบนน้ำไปหาพระเยซูเจ้า แต่เมื่อเห็นว่าลมแรง เขาก็กลัวและเริ่มจมลง แล้วร้องว่า “พระเจ้าข้า ช่วยข้าพเจ้าด้วย” ทันใดนั้นพระเยซูเจ้าทรงยื่นพระหัตถ์จับเขา ตรัสว่า “ท่านช่างมีความเชื่อน้อยจริง สงสัยทำไมเล่า”
     เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นมาประทับในเรือพร้อมกับเปโตรแล้ว ลมก็สงบ คนที่อยู่ในเรือจึงเข้ามากราบนมัสการพระองค์ ทูลว่า “พระองค์เป็นพระบุตรของพระเจ้าอย่างแท้จริง”

 (พระวาจาของพระเจ้า)

—————

 เราต้องการ “เวลาทีสงบ” ที่ไม่มีเสียงใดๆ จอแจ ไม่มีการแทรกแซงใดๆที่รบกวนใจ เพื่อจะได้มีช่วงเวลาที่สำคัญในชีวิต “ตกตะกอน” ความเชื่อ
 นักบุญเปาโลใช้ช่วงเวลาบั้นปลาย ในที่คุมขัง และมีประสบการณ์แบบนี้คือ

 “เปาโลพักอยู่ในบ้านเช่าเป็นเวลาสองปีเต็ม และต้อนรับทุกคนที่มาเยี่ยม ประกาศพระอาณาจักรของพระเจ้าและสอนความจริงเรื่องพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างกล้าหาญโดยไม่มีอุปสรรคใดๆ”

 เวลาที่เงียบที่สุด อาจไม่ใช่ที่ไม่มีเสียง แต่เป็นเวลาที่ “หัวใจหยุด” “ความคาดหวังนิ่งนอนลง”

 เวลาที่เราปล่อยให้ ใจหวั่นไหว ความคาดหวังวิ่งไล่ล่า เรายังไม่มีเวลา “ตกตะกอนนอนก้น”

 ความเชื่อที่ อิ่ม งอกงาม เติบโต ต้องไม่ “ไล่ล่า” แต่ต้อง “นอนก้น ตกตะกอน” มีหัวใจคิดใคร่ครวญ ไม่ใช่หัวสมองคิดไปต่างๆ นานา

 การฉลองครบรอบการถวายพระวิหาร น.เปโตรและเปาโล เป็นการฉลองวัด “ภายใน” ของเรา ที่ต้องเป็นสถานที่ที่เรา ตกตะกอน มากกว่ามา “วิ่งไล่ล่า หาความต้องการส่วนตน”