“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

รำพึงพระวาจาประจำวัน โดยคุณพ่อสมเกียรติ  ตรีนิกร
วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2016

สัปดาห์ที่ 5 เทศกาลปัสกา 

กจ 15:22-31…

จดหมายของบรรดาอัครสาวก

22บรรดาอัครสาวกและผู้อาวุโสพร้อมกับคริสตชนทุกคนที่ชุมนุมกันตกลงใจเลือกสมาชิกบางคน เพื่อส่งไปยังเมืองอันทิโอกพร้อมกับเปาโลและบารนาบัส คือยูดาส ที่เรียกกันว่า บารซับบัส กับสิลาส ทั้งสองคนนี้เป็นคนเด่นในบรรดาพี่น้อง 23ที่ประชุมเขียนจดหมายมอบให้คนเหล่านี้ถือไปเนื้อความว่า


จาก บรรดาอัครสาวก ผู้อาวุโส และบรรดาพี่น้อง
ถึง บรรดาพี่น้องซึ่งเคยเป็นคนต่างศาสนาอยู่ที่เมืองอันทิโอก ในแคว้นซีเรีย และแคว้น ซีลีเซีย ขอให้ท่านมีความสุขเถิด

24เนื่องจากเรารู้ว่า พวกเราบางคนทำให้ท่านสับสนโดยกล่าวถ้อยคำที่ทำให้ท่านวุ่นวายใจ โดยไม่ได้รับคำสั่งจากเราเลย 25เราจึงตกลงกันเป็นเอกฉันท์เลือกบุรุษบางคนส่งมาพบท่านพร้อมกับบารนาบัสและเปาโลที่รักยิ่งของเรา 26ผู้เสี่ยงชีวิตเพื่อพระนามของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา 27ดังนั้น เราจึงส่งยูดาสและสิลาสมาเล่าเรื่องที่เขียนนี้ให้ท่านฟังโดยตรง 28พระจิตเจ้าและพวกเราตกลงที่จะไม่บังคับให้ท่านแบกภาระอื่นอีก นอกจากสิ่งที่จำเป็นต่อไปนี้ 29คืองดเว้นการกินเนื้อสัตว์ที่ถวายให้รูปเคารพแล้ว งดเว้นการกินเลือดและเนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย และงดเว้นการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้าท่านทั้งหลายงดเว้นการกระทำเหล่านี้ ก็จะเป็นการดี จงเจริญสุขเถิด

30เมื่อล่ำลากันแล้ว คณะผู้แทนก็เดินทางมาถึงเมืองอันทิโอก เขาเรียกบรรดาคริสตชนมาประชุมกันและมอบจดหมายให้ 31เมื่ออ่านจดหมายนั้นแล้ว ทุกคนต่างยินดีเพราะได้รับกำลังใจ

อรรถาธิบายและไตร่ตรอง
• เราได้อ่านเรื่องราวของกิจการอัครสาวกบทที่ 15 มาถึงจุดที่สำคัญ... เมื่อปัญหาได้รับการถกเถียงและพิจารณาจากสังคายนาที่กรุงเยรูซาเล็มแล้ว บัดนี้ มีคำสั่งจากสังคายนาในรูปของ “จดหมาย” หรือคำตักเตือนให้ส่งไปยังพระศาสนจักรที่ต้องการการแก้ปัญหาความขัดแย้งหรือการแก้ หรือการได้รับแนวทางที่มุ่งสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน

• ใช่แล้ว มีปัญหาเรื่องการเข้าสุหนัตที่ต้องไม่ควรบังคับให้คนต่างชาติที่ไม่ใช่ชาวยิว เมื่อกลับใจมาเชื่อในพระเยซูเจ้านั้น ไม่จำเป็นต้องรับสุหนัตเหมือนกับชาวยิว ปัญหานี้ได้รับการคลี่คลายจนได้ ด้วยการตัดสินใจของยากอบ พระสังฆราชที่กรุงเยรูซาเล็มในขณะนั้น พร้อมกับนักบุญเปโตร

• ภาพที่เราได้เห็นวันนี้ คือ “จดหมาย” ที่ส่งออกไปเพื่อให้แนวทาง ให้คำตักเตือน และแนวทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา

• จดหมายนี้มีรากฐานอำนาจแห่งคำสอนจากเยรูซาเล็มข้อความจากพระคัมภีร์ ทำให้เราเห็นฐานอำนาจชัดเจน อำนาจของพระศาสนจักรจริงๆ “จาก บรรดาอัครสาวก ผู้อาวุโส และบรรดาพี่น้อง ถึง บรรดาพี่น้องซึ่งเคยเป็นคนต่างศาสนาอยู่ที่เมืองอันทิโอก ในแคว้นซีเรีย และแคว้น ซีลีเซีย ขอให้ท่านมีความสุขเถิด”
o บรรดาอัครสาวก
o ผู้อาวุโส
o บรรดาพี่น้อง

• สามส่วนที่รวมกันเป็นพลังแห่งเอกภาพของพระศาสนจักร....
o แน่นอนที่สุด สำคัญคือบรรดาอัครสาวกคือคนที่ได้ใกล้ชิดกับพระเยซูเจ้า หรือผู้สืบหน้าที่อัครสาวกจากท่าน
o พร้อมกับบรรดาผู้อยู่รอบอัครสาวกในศาสนา คือ “ผู้อาวุโส” ผู้คงแก่ประสบการณ์และเป็นหลักที่เชื่อถือได้ อีกทั้งบรรดาคริสตชนที่กรุงเยรูซาเล็ม...
o ภาพนี้ ทำให้เราเห็นคำว่า “พระศาสนจักร” คือ “กลุ่มคนผู้มีความเชื่อมั่นคงและสืบเนื่ององค์พระเยซูเจ้า”

• เป้าหมายของการออกจดหมายไปนั้น ต้องยอมรับว่าเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งและเพื่อให้ทิศทางคำสอนของพระศาสนจักรก็จริง แต่เป้าหมายสำคัญมากที่สุดคือ “เพื่อความสุข ความยินดีของบรรดาคริสตชน”

• ข้อสังเกต เป้าหมายของการประชุมและการส่งจดหมายไปนั้น มีเป้าหมายสำคัญคือเพื่อสันติสุขและความยินดี ไม่มีเหตุผลอื่นๆสำคัญไปกว่า “สันติสุข หรือความชื่นชมยินดี” ของบรรดาผู้มีความเชื่อในพระเยซูคริสตเจ้า
o การตัดสินปัญหาที่เยรูซาเล็มหรือสังคายนานั้น ไม่ใช่เพียงการประชุมตามประสามนุษย์หรือตามความสามารถของมนุษย์ แต่พระเจ้ามีส่วนอย่างมากๆ คือ การภาวนา การใช้พระพรของพระเจ้าโดยทางพระจิตเจ้า...
o เพราะบรรดาอัครสาวกรวมตัวกันในความเชื่อในพระเจ้า เราสังเกตข้อความในจดหมายที่ส่งไปจากเยรูซาเล็ม...
o “พระจิตเจ้าและพวกเราตกลงที่จะไม่บังคับให้ท่านแบกภาระอื่นอีก นอกจากสิ่งที่จำเป็น” คำสอนหรือคำเรียกร้องของสังคายนานั้น มี “พระจิตเจ้า” เป็นผู้นำการตกลงร่วมกัน ในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบรรดาอัครสาวก

• การอ่านพระคัมภีร์วันนี้จากหนังสือกิจการอัครสาวกบทที่ 15 พ่ออยากให้เราได้สัมผัสความจริงของการทำงานของพระศาสนจักร คือ บรรดาอัครสาวกหรือผู้สืบหน้าที่จากพวกท่านเสมอมาในพระศาสนจักร พ่อคิดว่าเรื่องนี้เป็นข้อน่าสนใจ หรือเป็นเสน่ห์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรในเรื่องคำสอน และความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรเสมอมา
o ไม่ใช่งานของมนุษย์เท่านั้น แต่เป็นงานของ“พระจิตเจ้า” ลมหายใจแห่งความรักและความเป็นหนึ่งเดียว พระจิตเจ้าพลังแห่งคำสอน เอกภาพและการเปลี่ยนแปลง เพื่อการ “สร้างแผ่นดินขึ้นใหม่”
o เป็นงานของมนุษย์ ผู้แสวหาพระเจ้าด้วยความจริงใจ และเปี่ยมด้วยพระพร บรรดาอัครสาวก และผู้ทำหน้าที่ในพระศาสนจักร คือ บุคคลแห่งความเชื่อ และผู้แสวงหาพระเจ้าด้วยความจริงใจ และจริงจังในการแสวงหาทางเดินที่เหมาะสมเปี่ยมด้วยพระพรของพระเจ้าสำหรับสมาชิกในพระศาสนจักร
o เป็นการถ่ายทอดธรรมประเพณีปฏิบัติ เพื่อความดีส่วนร่วมของพระศาสจักรและความดีส่วนรวมของสังคม พระศาสนจักรต้องมุ่งความดี ศีลธรรม และจริยธรรม ทั้งหมดเพื่อความดีของพระศาสนจักรและมวลมนุษย์จริงๆ

• คำสั่งของบรรดาอัครสาวกที่ส่งออกไป ไม่มีเรื่องการเข้าสุหนัตว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่เรื่องจำเป็นที่ต้องปฏิบัติเหลือเพียงสามประการที่เรียกร้องให้ “งด” คือ
o งดเว้นการกินเนื้อสัตว์ที่ถวายให้รูปเคารพแล้ว คือ การต้องไม่ไปข้องแวะหรือเกี่ยวข้องใดๆกับพระเท็จเทียม หมายความว่าต้องซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าเที่ยงแท้แต่ผู้เดียว
o งดเว้นการกินเลือดและเนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตาย เพราะสำหรับชาวยิว “เลือดคือชีวิต” การรัดขอให้ตาย เลือดไม่ได้ออก แปลว่า ชีวิตยังอยู่ ความหมายลึกๆคือ การเคารพชีวิตที่เป็นของพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงสร้าง จึงต้องไม่ข้องแวะกับการกินชีวิต.. พวกเขาแยกชีวิต และร่างกายของสัตว์
o งดเว้นการแต่งงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เรื่องนี้เป็นเรื่องของศีลธรรมครอบครัว และความถูกต้องในเรื่องการละเมิดต่อร่างกายของเพื่อนมนุษย์

• แต่คำสั่งหรือผลการประชุมทั้งสามข้อที่ระบุมาในจดหมายนี้ ก็เป็นเรื่องธรรมเนียมที่แก้ปัญหาให้กับเรื่องการเข้าสุหนัตที่เปาโลได้พบปัญหามา แต่สำหรับเปาโลเอง เมื่อออกไปประกาศข่าวดีจริงๆ
• เปาโลได้สรุปธรรมเนียมทั้งสามเรื่องนี้ให้ไปสู่ประเด็นที่สำคัญกว่า มีค่ามากที่สุด ทำให้เปาโลได้สรุปเพื่อความดีของส่วนร่วม ของคนยากจนจริงๆ ไม่ใช่เรื่องธรรมเนียมอื่นๆ แต่เป็นธรรมเนียมแห่งความรักจริงๆ เปาโลเองได้ปรับคำสอนของเยรูซาเล็มให้เป็นจิตตารมณ์ใหม่ที่สำคัญเหลือเพียงประการเดียว... เราทราบเรื่องนี้จากจดหมายของเปาโลถึงชาวกาลาเทีย เมื่อเปาโลได้อ้างอิงถึงสังคายนาที่เยรูซาเล็ม และเปาโลได้ย่อเรื่องราวให้เหมาะสม ไม่ใช่ธรรมเนียมสามประการนั้น แต่เป็นธรรมเนียมใหม่ที่น่าสนใจกับสถานการณ์คำสอนของท่านต่อชาวกาลาเทีย พ่อจะอ้างอิงจดหมายถึงชาวกาลาเทียให้ดูกันครับ

• “ดังนั้น เมื่อยากอบ เคฟาสและยอห์น ซึ่งได้รับความนับถือว่าเป็นหลักรู้เรื่องพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานแก่ข้าพเจ้าแล้วก็จับมือกับข้าพเจ้าและบารนาบัส แสดงความเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ตกลงกันว่าเราจะไปพบคนต่างศาสนา ส่วนพวกเขาจะไปพบผู้เข้าสุหนัตแล้ว เขาเหล่านี้ขอเพียงแต่ไม่ให้เราลืมคนยากจน คำขอนี้เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะทำอยู่แล้ว” (กท 2:9-10)

• เปาโลสรุปเหลือเพียงคำขอจากสำสามข้อ เหลือเพียงข้อเดียว... คือ “ไม่ให้ลืมคนยากจน”
o ข้อนี้น่าคิด เปาโลสรุปเรื่องเดียวจากเยรูซาเล็ม ไม่มีอะไรสำคัญกว่านี้ และพ่อคิดว่านี่เป็นเสน่ห์แห่งคำสอนของพระศาสนจักร และเป็นหมายของพระศาสนจักรเสมอมาจนน่าทึ่งจริงๆ ธรรมเนียมหลายประการก็จริง แต่สรุปว่าธรรมเนียมของพระศาสนจักรคาทอลิกที่แท้จริงกลับเป็นเรื่องเดียวจริง “ความรักเมตตาต่อคนยากจน ไม่ทอดทิ้งคนยากจน” นี่ความห่วงใยของพระศาสนจักรเสมอมาอย่างน่าทึ่งที่สุด

• พี่น้องที่รัก พระศาสนจักรมีสมัชชา มีสังคายนาเสมอ และเป้าหมายสำคัญ ถ้าจะสรุป คือ
o เพื่อเดินให้เหมาะกับเครื่องหมายแห่งการเวลา
o แต่เป้าหมายของพระศาสนจักรนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมเนียมมากมาย แต่เพื่อพี่น้องที่อ่อนแอและต้องการความช่วยเหลือเสมอนี่คือเสน่ห์ของพระศาสนจักรของเราครับ

• ในยุคปัจจุบัน เราเพิ่งมีสมัชชาฯของบรรดาพระสังฆราชที่กรุงโรม เรื่อง “การประกาศพระวาสารแบบใหม่ เพื่อถ่ายทอดความเชื่อ...” และก็มีสัชชาฯเรื่องครอบครัวตามมา และผลตามมาคือ “พระสมณะสาสน์เตือนใจ” (Apostolic Exhortation) ที่ชื่อว่า “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” (Evangelii Gaudium) ซึ่งเอกสารฉบับนี้พ่อได้นำมาอ้างบ่อยๆ

• ใช่ครับ พระสันตะปาปาฟรังซิสได้สอนเรา เตือนเรา ให้เป้าหมายเรา คล้ายๆกับสิ่งที่เปาโลสรุปคำสอนจากเยรูซาเล็มและดูเหมือนเป็นเสน่ห์ที่มั่นคงเสมอ แม้แต่ในยุคของเรา พ่อจะยกพระดำรัสเตือนนี้ในประเด็นที่กำลังกล่าวถึงวันนี้ครับ พ่อขอยกมาเพื่อเป็นบทสรุปข้อไตร่ตรองของพ่อวันนี้ครับ...
o “การเลือกอยู่ข้างคนจนเป็นอันดับแรก” เรื่องนี้ต้องเป็นเทววิทยาชีวิตของพระศาสนจักรมากกว่าเป็นเพียงความคิดด้านสังคม พระสันตะปาปาจึงต้องการพระศาสนจักรที่ยากจน และเพื่อคนจากจน เพราะคนจนและความยากจนมีบทสอนเรามากเหลือเกิน (EG 198)
o ปัญหาความยากจนหยั่งรากลึก ดังนั้นไม่ใช่เพียงแต่จะแก้หรือพบทางออกได้ง่ายๆ และเรารู้และยอมรับว่าไม่มีสูตรสำเร็จที่จะใช้เพื่อปัญหาระดับโลกในเรื่องความยากจน (EG 202)
o พระสันตะปาปาฟรังซิสเตือนให้เราสนใจมากที่สุด คือ บรรดาสมาชิกผู้อ่อนแอที่สุดของสังคม คนไร้บ้าน คนติดยา ผู้อพยพลี้ภัย คนพื้นเมืองดังเดิม คนสูงอายุที่โดดเดี่ยวและถูกทอดทิ้งซึ่งมีจำนวนมาก ผู้อพยพย้ายถิ่น พระสันตะปาปาเตือนให้เราต้องเปิดใจรับให้มากที่สุด (EG210)
o “เหยื่อของการค้ามนุษย์ที่ก่อให้เกิด “ทาส” ในรูปแบบใหม่” เครือข่ายฆาตกรรมเหล่านี้ก่อตัวเกิดขึ้นในสังคมอย่างเงียบๆ และคนจำนวนมากมือเปื้อนเลือดเพราะเข้าไปมีส่วนร่วม “กระทำ” (EG 211)
o คนที่ยากไร้ยกกำลังสอง คือ บรรดาสตรีที่ตกอยู่ในสภาพที่ถูกกระทำ ถูกใช้อย่างโหดร้ายทารุณกรรมและรุนแรง (EG 212)
o พระศาสนจักรปรารถนาจะใส่ใจอย่างพิเศษ ด้วยความรักพิเศษเจาะจง คือ ทารกที่ถูกทำแท้ง พวกเขาไม่สามารถป้องกันตัวเลย พวกเขาบริสุทธิ์ที่สุดในท่ามกลางพวกเราทุกคน (EG 213) พวกเขาเป็นมนุษย์มีศักดิ์ศรี ห้ามลดทอนเด็ดขาด
o พระศาสนจักรจะต้องไม่เปลี่ยนจุดยืนต่อปัญหาเหล่านี้ ต้องไม่พยายามที่จะแก้ปัญหาโดยลดทอนหรือยอมแพ้ให้กับเรื่องคุณค่าชีวิตมนุษย์เด็ดขาด (EG214)

• คำสอนของพระศาสนจักรจากสมัชชา หรือจากสังคายนา มีเสน่ห์ที่น่าสนใจเสมอ และเสน่ห์คำสอนที่ต้องมุ่งปฏิบัติจริงๆ คือ ความรัก ความเมตตา ความใส่ใจต่อคนยากจน คนชายขอบสังคมจริงๆ พระวาจาวันสองสามวันนี้ เราได้เรียนรู้จักสังคายนาที่เยรูซาเล็ม และทำให้เราได้เรียนรู้มากทีเดียวกับชีวิตพระศาสนจักรของเราในเรื่องคำสอน และการฟื้นฟูตนเองเสมอในเรื่อง “วัฒนธรรมแห่งความรักและเมตตา” ตลอดไป

 

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก