"พระคริสตเจ้าทรงเป็นผู้ใดสำหรับข้าพเจ้า" อธิบายพระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมาระโก โดย บาทหลวงฟรังซิส ไก้ส์
“ท่านปรารถนาให้เราทำสิ่งใด”

54. บุตรของเศเบดีขออภิสิทธิ์ (2)
- ทั้งสองคนทูลว่า “ได้ พระเจ้าข้า” เมื่อพระเยซูเจ้าตรัสถามนักบุญยากอบและนักบุญยอห์นว่า “ท่านดื่มถ้วยซึ่งเราจะดื่มได้ไหม หรือรับการล้างที่เราจะรับได้หรือไม่” แม้อัครสาวกทั้งสองคนไม่ได้เข้าใจความหมายคำถามของพระเยซูเจ้าอย่างถ่องแท้ เพราะมนุษย์เราดื่มถ้วยหลายใบ แต่ก็ตอบทันทีว่า “ได้ พระเจ้าข้า” เป็นคำตอบที่แสดงว่าเขาทั้งสองคนพูดโดยไม่คิดให้รอบคอบ


- พระเยซูเจ้าตรัสกับเขาว่า “ถ้วยที่เราจะดื่มนั้น ท่านจะได้ดื่ม และการล้างที่เราจะรับนั้น ท่านก็จะได้รับ พระเยซูเจ้าตรัสตอบทันทีเช่นเดียวกับเขาอย่างชัดเจนในความหมายที่ว่า “ถูกแล้ว แม้ท่านไม่ได้เข้าใจความหมายของการดื่มและการล้างที่แท้จริง ท่านก็จะได้ดื่มถ้วยและจะได้รับการล้างอย่างแน่นอน แม้ยังไม่รู้ว่าสิ่งนี้หมายถึงอะไร” โดยแท้จริงแล้ว นักบุญยากอบมีส่วนร่วมทางกายในชะตากรรมของพระเยซูเจ้า เพราะเขาถูกประหารชีวิตเป็นมรณสักขีในรัชสมัยของกษัตริย์เฮโรด อากริปปาที่ 1 (เทียบ กจ12:2)ส่วนนักบุญยอห์นคงเสียชีวิตโดยธรรมชาติเมื่อชราภาพมาก (เทียบ ยน21:23) หลังจากที่ได้รับทรมานและถูกเนรเทศ อย่างไรก็ตาม พระวาจาของพระเยซูเจ้าไม่มีความหมายเฉพาะเจาะจงว่า ต้องเป็นมรณสักขี แต่มีความหมายกว้าง ๆ ถึงการถูกเบียดเบียนและทนทุกข์ทรมานในการประกาศข่าวดี

- แต่การที่จะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายของเรานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะให้ แต่สงวนไว้สำหรับผู้ที่พระเจ้าทรงจัดเตรียมไว้” พระเยซูเจ้าทรงปฏิเสธไม่ยอมรับการร้องขอจากนักบุญยากอบและยอห์น เพราะพอพระทัยให้พระบิดาเจ้าทรงเป็นผู้ตัดสิน พระองค์ทรงยืนยันว่า การที่จะนั่งข้างขวาหรือข้างซ้ายในพระสิริรุ่งโรจน์ของพระอาณาจักรพระเจ้า ไม่ใช่สิทธิของมนุษย์หรือหน้าที่ของพระเจ้า แต่เป็นของประทานอิสระจากพระองค์ตามพระปรีชาญาณ ความยุติธรรมและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ไร้ขอบเขตของพระเจ้า พระองค์ไม่ทรงยอมให้มนุษย์มีใจกว้างมากกว่าพระองค์ และทรงปฏิบัติตามพระสัญญาอยู่เสมอ โดยแท้จริงแล้ว พระเยซูเจ้าทรงรับพระสิริรุ่งโรจน์เมื่อทรงถูกตรึงบนไม้กางเขน ดังนั้น ผู้นั่งข้างขวาและข้างซ้ายของพระองค์ในพระสิริรุ่งโรจน์คือโจรผู้ร้ายสองคนที่ถูกตรึงพร้อมกับพระองค์ และอีกนัยหนึ่ง อัครสาวกสองคนนี้ คนหนึ่งนั่งข้างขวาและอีกคนหนึ่งนั่งข้างซ้ายของพระเยซูเจ้าในแง่ที่นักบุญยากอบเป็นอัครสาวกคนแรกที่เสียชีวิต ส่วนนักบุญยอห์นเป็นอัครสาวกคนสุดท้ายที่เสียชีวิต ดังนั้น คนที่หนึ่งเป็นผู้เปิดห่วงโซ่ของผู้ที่อยู่ข้างขวาและข้างซ้ายของพระเยซูเจ้า และอีกคนหนึ่งเป็นผู้ปิดห่วงโซ่นี้ พระเยซูเจ้าจึงทรงตอบสนองคำขอร้องของเขาทั้งสองคน แต่ไม่ใช่ในความหมายที่เขาคิด

- เมื่อได้ยินดังนั้น อัครสาวกอีกสิบคนรู้สึกโกรธยากอบและยอห์น  ทำไมอัครสาวกคนอื่น ๆ รู้สึกโกรธนักบุญยากอบและยอห์นก็เพราะเขาอยากได้ตำแหน่งเดียวกันนี้เขาไม่รู้สึกโกรธเพราะพี่น้องสองคนไม่ได้เข้าใจความหมายคำร้องขอของตน แต่เพราะต้องการสิ่งเดียวกันกับเขา แม้ในกลุ่มแรกของบรรดาอัครสาวกสิบสองคน เราก็ยังพบว่ามีการต่อสู่กันเพื่อแย่งชิงอำนาจ

- พระเยซูเจ้าจึงทรงเรียกเขาทั้งหมดมาพบ ตรัสว่า “ท่านทั้งหลายย่อมรู้ว่า คนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น และผู้เป็นใหญ่ย่อมใช้อำนาจบังคับ  พระเยซูเจ้าทรงเปรียบเทียบพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์กับความเจริญรุ่งเรืองของผู้มีอำนาจเหนือผู้อื่น หัวหน้าเหล่านี้คิดว่า ความเจริญรุ่งเรืองของตนอยู่ในการกดขี่ข่มเหง มีอำนาจบังคับและเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น เป็นความเห็นแก่ตัวที่แสดงออกในการประสบความสำเร็จโดยตั้งตนอยู่เหนือผู้อื่น

- แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น และผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่งในหมู่ท่าน ก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคน พระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนตรงกันข้ามว่า เป็นการถูกต้องที่เราควรมุ่งมั่นสร้างความสำเร็จในชีวิตและเป็นผู้ยิ่งใหญ่ แต่ด้วยอีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นวิธีที่พระองค์เองทรงใช้คือ “ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น” ความยิ่งใหญ่แท้จริงคือการรับใช้ผู้อื่น ในพันธสัญญาใหม่ การรับใช้หมายถึงการรักผู้อื่น และการรักหมายถึงการรับใช้ผู้อื่น ดังนั้น ความยิ่งใหญ่แท้จริงของพระเจ้าและความสำเร็จแท้จริงของมนุษย์คือ ความสามารถที่จะรับใช้ผู้อื่น ยิ่งกว่านั้น ถ้าผู้ใดปรารถนาจะเป็นคนที่หนึ่ง ผู้นั้นก็จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ทุกคนน่าสังเกตว่า คำที่ใช้ต้นฉบับภาษากรีกในที่นี้ ถ้าแปลตามตัวอักษรคือ“ทาส” ไม่ใช่ “ผู้รับใช้”หมายความว่า ผู้รับใช้ทำงานเพื่อผู้อื่น แต่ทาสเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่น เป็นการแสดงความรักยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะเขายอมมอบให้เป็นของผู้อื่นซึ่งแสดงอิสรภาพสูงสุด ดังนั้น ถ้าผู้ใดต้องการเป็นคนที่หนึ่งก็ต้องเป็นทาสของทุกคน ต้องมีความรักสมบูรณ์ต่อผู้อื่นเช่นเดียวกับที่พระเยซูเจ้าทรงมี น่าสังเกตอีกว่า นักบุญมาระโกเคยอ้างพระวาจาประโยคนี้แล้วใน (9:35)เมื่อพระเยซูเจ้าทรงสั่งสอนเรื่องผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด พระวาจานี้ไม่ประณามผู้ที่ปรารถนาจะได้มีตำแหน่งรับผิดชอบเหนือผู้อื่น แต่ต้องการสอนว่าทุกคนรวมทั้งผู้ใหญ่ในกลุ่มคริสตชนต้องทำตนเป็นทุกสิ่งสำหรับทุกคน โดยมุ่งสู่ความดีสูงสุดของผู้อื่นอีกด้วย

- เพราะบุตรแห่งมนุษย์มิได้มาเพื่อให้ผู้อื่นรับใช้ แต่มาเพื่อรับใช้ผู้อื่น และมอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” พระฉบับของพระเยซูเจ้าเป็นข้อพิสูจน์ความจริงที่พระองค์ทรงสั่งสอน และเป็นกฎเกณฑ์สำหรับทุกคนที่ปรารถนาติดตามพระองค์ พระองค์เสด็จมาเพื่อรับใช้และรักผู้อื่นอย่างเป็นรูปธรรม โดยยอมรับใช้ผู้อื่นจนทรงมอบชีวิตเพื่อเขา การให้ชีวิตมีความหมายสองอย่าง คือการตายหรือการให้กำเนิด พระองค์ทรงรักเราอย่างมากจนประทานชีวิตเพื่อเรา แต่การประทานชีวิตนี้ทรงบันดาลให้มนุษย์เกิดใหม่ เพราะมนุษย์เกิดเมื่อรู้สึกว่ามีคนรักเขาและยอมรับเขาโดยไม่มีเงื่อนไข พระเยซูเจ้าเสด็จมาเพื่อการนี้ ซึ่งเป็นพระสิริรุ่งโรจน์ของพระองค์ พระวาจาที่ว่า“มอบชีวิตของตนเป็นสินไถ่เพื่อมนุษย์ทั้งหลาย” แม้ไม่คัดมาจากหนังสือประกาศกอิสยาห์ตามตัวอักษร แต่ก็ชวนให้คิดถึงผู้รับใช้ของพระยาห์เวห์ซึ่งเสียชีวิตเพื่อความรอดของนานาชาติ (เทียบ อสย53:10-12)หมายความว่าพระเยซูเจ้าพอพระทัยที่จะสิ้นพระชนม์เพื่อทดแทนและชดเชยบาปของมนุษย์ทุกคน