“ถ้าท่านทั้งหลายยึดมั่นในวาจาของเรา ท่านก็เป็นศิษย์ของเราอย่างแท้จริง" (ยน. 8:31)

พระคัมภีร์และกระแสเรียก

77.      ขณะที่เน้นความสำคัญที่ความเชื่อเรียกร้องจากภายใน ให้มีความสัมพันธ์กับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นพระวจนาตถ์ที่ประทับอยู่กับเรานี้ สมัชชายังปรารถนาชี้ให้เห็นอีกว่าพระวจนาตถ์องค์นี้ทรงเรียกเราแต่ละคนเป็นการส่วนตัวด้วย และยังเปิดเผยอีกว่าชีวิตเองก็คือกระแสเรียกให้อยู่ในความสัมพันธ์กับพระเจ้า ซึ่งหมายความว่า ยิ่งเรามีความสัมพันธ์เป็นการส่วนตัวกับพระเยซูองค์พระผู้เป็นเจ้าลึกซึ้งมากขึ้นเท่าใด เราก็ยิ่งเข้าใจมากขึ้นด้วยว่าพระองค์ทรงเรียกเราให้มุ่งหาความศักดิ์สิทธิ์โดยเลือกวิถีชีวิตเจาะจงเพื่อตอบสนองความรักของพระองค์ โดยรับภาระหน้าที่และศาสนบริการเพื่อเสริมสร้างพระศาสนจักร จากมุมมองนี้เราจึงเข้าใจว่าทำไมสมัชชาจึงเรียกร้องคริสตชนทุกคนให้มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับพระวาจาของพระเจ้า ในฐานะที่ได้รับศีลล้างบาป และในฐานะที่ได้รับเรียกให้ดำเนินชีวิตตามสภาพชีวิตเฉพาะของตนอีกด้วย ที่นี่เราสัมผัสคำสอนสำคัญเรื่องหนึ่งของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ที่เน้นว่าผู้มีความเชื่อแต่ละคนได้รับเรียกให้มีความศักดิ์สิทธิ์ตามสถานะชีวิตของตน[1] และในพระคัมภีร์เราพบว่าพระเจ้าทรงเปิดเผยกระแสเรียกของเราทุกคนให้เป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ "ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเราเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์" (ลนต 11:44; 19:2; 20:7) นักบุญเปาโลยังให้เหตุผลทางเทววิทยาเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยว่า พระบิดา "ทรงเลือกสรรเราในพระคริสตเจ้าแล้วตั้งแต่ก่อนการเนรมิตสร้างโลก เพื่อให้เราศักดิ์สิทธิ์และปราศจากมลทินเฉพาะพระพักตร์ของพระองค์ด้วยความรัก" (อฟ 1:4) เราจึงอาจได้ยินคำทักทายที่ท่านกล่าวแก่พี่น้องคริสตชนชาวโรมเป็นคำทักทายกับเราแต่ละคนได้ด้วยว่า "ถึงทุกท่าน....ผู้ที่พระเจ้าทรงรัก และทรงเรียกให้เป็นประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์ ขอพระหรรษทานและสันติสุขจากพระเจ้าพระบิดาของเรา และจากพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา สถิตอยู่กับท่านทั้งหลายเถิด" (รม 1:7)

ก) พระวาจาของพระเจ้าและศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวช

78.      ก่อนอื่น ข้าพเจ้าใคร่จะพูดกับศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวชของพระศาสนจักร เตือนให้คิดถึงคำแนะนำของสมัชชาที่ว่า "พระวาจาของพระเจ้าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเตรียมจิตใจของผู้อภิบาลที่ดีซึ่งต้องเป็นผู้รับใช้พระวาจา"[2] บรรดาพระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกรไม่อาจเข้าใจได้เลยว่า ตนจะดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกและพันธกิจของตนได้โดยไม่ตั้งใจแน่วแน่และรื้อฟื้นความตั้งใจที่จะทำตนให้ศักดิ์สิทธิ์ เสาหลักประการหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์นี้คือการสัมผัสกับพระวาจาของพระเจ้า

79.      สำหรับผู้ที่ได้รับเรียกให้เป็นพระสังฆราช ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้รับอำนาจให้เป็นผู้ประกาศพระวาจา ข้าพเจ้าใคร่จะย้ำข้อความที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ตรัสไว้ในพระดำรัสเตือนหลังสมัชชา Pastores gregis เพื่อหล่อเลี้ยงและส่งเสริมชีวิตจิต พระสังฆราชต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเสมอแก่การอ่านและรำพึงพระวาจาของพระเจ้า "พระสังฆราชแต่ละท่านจะต้องอุทิศตนและสำนึกว่าตนคือ ‘ผู้ถูกฝากฝังไว้กับพระเจ้าและกับพระวาจาแห่งพระหรรษทานของพระองค์ พระวาจานี้สร้างพระศาสนจักรและประทานมรดกให้ท่านรับร่วมกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายได้' (กจ 20:32) ดังนั้นก่อนจะเป็นผู้ประกาศพระวาจา พระสังฆราชพร้อมกับพระสงฆ์และเหมือนกับผู้มีความเชื่อแต่ละคน และเหมือนกับพระศาสนจักรเอง จะต้องเป็นผู้ฟังพระวาจา เขาต้องพำนักอยู่ ‘ภายใน' พระวาจา และยอมให้ตนได้รับการปกป้องและหล่อเลี้ยงจากพระวาจาประหนึ่งทารกในครรภ์มารดา"[3] ข้าพเจ้าแนะนำให้พระสังฆราชพี่น้องทุกคนของข้าพเจ้าให้อ่านพระคัมภีร์และเอาใจใส่ศึกษาพระคัมภีร์เป็นการส่วนตัวอยู่เสมอ ตามแบบฉบับของพระแม่มารีย์ พรหมจารีผู้ฟังพระวาจา และพระราชินีของบรรดาอัครสาวก

80.      สำหรับบรรดาพระสงฆ์ ข้าพเจ้าก็ปรารถนาให้ตระหนักถึงพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 ที่ตรัสไว้ในพระดำรัสเตือนหลังสมัชชา Pastores dabo vobis ว่า "ก่อนอื่นหมด พระสงฆ์คือผู้รับใช้พระวาจา เพราะเขาได้รับแต่งตั้งและส่งไปประกาศข่าวดีเรื่องพระอาณาจักรแก่มวลมนุษย์ เชิญชวนแต่ละคนให้มาปฏิบัติตามความเชื่อ และนำผู้มีความเชื่อให้มีความรู้และความสัมพันธ์กับพระธรรมล้ำลึกของพระเจ้าลึกซึ้งยิ่งขึ้นทุกๆวัน พระธรรมล้ำลึกนี้ได้รับการเปิดเผยและสื่อในองค์พระคริสตเจ้าให้เรารู้" เพราะฉะนั้น พระสงฆ์เองจึงต้องพยายามให้มีความคุ้นเคยและความรู้พระวาจาของพระเจ้าให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นทุกวัน "ความรู้ด้านภาษาและหลักการอธิบายความหมายพระคัมภีร์เท่านั้น แม้จะเป็นสิ่งจำเป็น จึงไม่เพียงพอ เขาต้องเข้าหาพระวาจาของพระเจ้าด้วยจิตใจที่ว่านอนสอนง่ายและรู้จักภาวนา เพื่อพระวาจาจะได้ซึมซาบเข้าถึงความคิดและความรู้สึกของพระสงฆ์อย่างลึกซึ้งและทำให้เขามีมุมมองใหม่ ที่เป็น ‘ความคิดขององค์พระผู้เป็นเจ้า' (1 คร 2:16)"[4] และดังนี้ พระวาจา พระประสงค์ และพระจริยวัตรของพระองค์ ยิ่งวันยิ่งจะต้องเป็นแสงสะท้อน เป็นการประกาศและเป็นพยานถึงข่าวดี "ถ้าพระสงฆ์เพียงแต่ ‘พำนักอยู่' ในพระวาจาเท่านั้น เขาก็จะเป็นศิษย์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าอย่างสมบูรณ์ แล้วเขาก็จะรู้จักแยกแยะความจริงและเป็นอิสระโดยแท้จริง"[5]

กล่าวโดยสรุป กระแสเรียกเป็นพระสงฆ์เรียกร้องให้เขาเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ "โดยอาศัยความจริง" พระเยซูเจ้าเองได้ตรัสอย่างชัดเจนถึงความจำเป็นประการนี้สำหรับบรรดาศิษย์ "โปรดบันดาลให้เขาศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยความจริง พระวาจาของพระองค์คือความจริง พระองค์ทรงส่งข้าพเจ้ามาในโลกฉันใด ข้าพเจ้าก็ส่งเขาไปในโลกฉันนั้น" (ยน 17:17-18) ในแง่หนึ่ง บรรดาศิษย์ "ถูกนำเข้ามาร่วมสนิทกับพระเจ้าโดยจุ่มตัวลงในพระวาจาของพระเจ้า พระวาจาจึงเป็นเสมือนอ่างน้ำที่ชำระล้างเขา เป็นพลังสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงเขาให้เป็นบุตรของพระเจ้า"[6] ในเมื่อพระคริสตเจ้าคือพระวจนาตถ์ที่ทรงรับธรรมชาติมนุษย์ (ยน 1:14) ทรงเป็น "ความจริง" (ยน 14:6) ดังนั้นคำอธิษฐานภาวนาของพระเยซูเจ้าต่อพระบิดาที่ว่า "โปรดบันดาลให้เขาศักดิ์สิทธิ์โดยอาศัยความจริง" จึงมีความหมายลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า "โปรดทำให้เขาเป็นหนึ่งเดียวกับข้าพเจ้า ผู้เป็นพระคริสตเจ้า โปรดรวมเขาไว้กับข้าพเจ้า โปรดนำเขาเข้ามาอยู่ในข้าพเจ้า เพราะพระสงฆ์ของพันธสัญญาใหม่มีเพียงองค์เดียว คือพระเยซูคริสตเจ้า"[7] จึงจำเป็นที่บรรดาพระสงฆ์จะต้องรื้อฟื้นการตระหนักถึงความเป็นจริงนี้อยู่ตลอดเวลา

81.      ข้าพเจ้ายังปรารถนาจะกล่าวถึงความสำคัญของพระวาจาในชีวิตของผู้ได้รับเรียกให้เป็นสังฆานุกรด้วย ไม่เพียงแต่ในฐานะที่ตำแหน่งนี้เป็นก้าวสุดท้ายก่อนไปรับตำแหน่งพระสงฆ์เท่านั้น แต่ในฐานะที่เป็นศาสนบริการถาวรด้วย ข้อแนะนำสำหรับสถาบันสังฆานุกรถาวรกล่าวไว้ว่า "เอกลักษณ์ทางเทววิทยาของสังฆานุกรกำหนดคุณสมบัติด้านชีวิตจิตอย่างชัดเจนของผู้ปฏิบัติหน้าที่นี้ ซึ่งเป็นการรับใช้ด้านจิตใจโดยเฉพาะ แบบฉบับเลอเลิศในเรื่องนี้ก็คือพระคริสตเจ้าในฐานะผู้รับใช้ พระองค์ทรงอุทิศพระชนมชีพทั้งหมดเพื่อรับใช้พระเจ้าและเพื่อความดีของมวลมนุษย์"[8] จากมุมมองนี้จึงเข้าใจได้ว่า ในมิติต่างๆของสังฆานุกร "องค์ประกอบเฉพาะด้านชีวิตจิตของสังฆานุกรก็คือพระวาจาของพระเจ้า สังฆานุกรได้รับเรียกมาให้เป็นผู้ประกาศเป็นทางการอย่างที่ว่าเขาต้องเชื่อสิ่งที่เขาประกาศ ต้องสอนสิ่งที่เขาเชื่อ และดำเนินชีวิตตามที่เขาสั่งสอน"[9] ข้าพเจ้าจึงขอเตือนบรรดาสังฆานุกรให้หล่อเลี้ยงชีวิตของตนด้วยการอ่านพระคัมภีร์ด้วยความเชื่อควบคู่กับการศึกษาและการภาวนา เขาจึงต้องได้รับการแนะนำให้เข้าถึงพระคัมภีร์และการอธิบายความหมายได้อย่างถูกต้อง เข้าใจความสัมพันธ์ของพระคัมภีร์กับธรรมประเพณี โดยเฉพาะให้รู้จักใช้พระคัมภีร์ในการเทศน์ การสอนคำสอน และงานอภิบาลโดยทั่วไป[10]

ข) พระวาจาของพระเจ้าและผู้สมัครรับศีลบวช

82.      สมัชชายังให้ความสำคัญพิเศษแก่บทบาทเฉพาะของพระวาจาของพระเจ้า สำหรับชีวิตจิตของผู้สมัครเป็นพระสงฆ์ศาสนบริกร "ผู้สมัครเป็นพระสงฆ์ต้องเรียนรู้ที่จะรักพระวาจา พระคัมภีร์ต้องเป็นจิตวิญญาณของการศึกษาอบรมทางเทววิทยาของเขาเหล่านี้ และต้องเน้นความสำคัญของความเกี่ยวข้องกันระหว่างการศึกษาพระคัมภีร์ เทววิทยา วิชาด้านชีวิตจิตและงานแพร่ธรรมด้วย"[11] ผู้ปรารถนาจะเป็นพระสงฆ์ศาสนบริกรได้รับเรียกให้มีความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวอย่างลึกซึ้งกับพระวาจาโดยเฉพาะโดยอาศัย lectio divina เพราะความสัมพันธ์นี้ย่อมหล่อเลี้ยงกระแสเรียก แสงสว่างและพลังจากพระวาจาจะช่วยให้เขาพบ เข้าใจ รัก และดำเนินตามกระแสเรียกของตน และทำให้พันธกิจของตนสำเร็จไปได้โดยหล่อเลี้ยงความคิดของพระเจ้าในจิตใจ แล้วความเชื่อซึ่งเป็นการตอบรับพระวาจาก็จะเป็นมาตรการใหม่ในการตัดสินและตีค่าบุคคลและสิ่งของ เหตุการณ์และปัญหาต่างๆ[12]

ความเอาใจใส่อ่านพระคัมภีร์ร่วมกับการภาวนาเช่นนี้ จะต้องไม่แยกเป็นอันขาดจากการศึกษาพระคัมภีร์ตามหลักวิชาการซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาอบรมด้วย สมัชชายังเตือนให้บรรดาสามเณรรับความช่วยเหลืออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจะได้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาพระคัมภีร์ทางวิชาการกับการภาวนาโดยใช้พระคัมภีร์ การศึกษาค้นคว้าพระคัมภีร์ต้องช่วยให้มีความตระหนักมากขึ้นถึงธรรมล้ำลึกเรื่องการเปิดเผยความจริงจากพระเจ้า และหล่อเลี้ยงการภาวนาให้เป็นการตอบสนองต่อองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ตรัสกับเรา นอกจากนั้น ชีวิตการภาวนาแท้จริงจะต้องทำให้ใจของผู้สมัครบวชมีความปรารถนามากยิ่งๆขึ้นที่จะรู้จักพระเจ้าผู้ทรงเปิดเผยพระองค์ในพระวาจา ว่าทรงเป็นความรักไร้ขอบเขต ดังนั้น จึงต้องเอาใจใส่อย่างมาก ให้บรรดาสามเณรได้เสริมสร้างความสอดคล้องกันระหว่างการศึกษาและการภาวนาไว้ในชีวิต เพื่อบรรลุจุดประสงค์นี้ บรรดาผู้สมัครบวชจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำให้รู้จักศึกษาพระคัมภีร์ด้วยวิธีการที่ส่งเสริมบูรณาการเช่นนี้

ค) พระวาจาของพระเจ้าและชีวิตของผู้ถวายตน

83.      เกี่ยวกับชีวิตของผู้ถวายตน สมัชชาได้เตือนเป็นพิเศษว่า "ชีวิตเช่นนี้เกิดขึ้นจากพระวาจาของพระเจ้า และรับพระวรสารเป็นกฎเกณฑ์ของชีวิต"[13] ชีวิตติดตามพระคริสตเจ้าผู้บริสุทธิ์ ยากจน และนบนอบเชื่อฟัง จึงเป็น "‘การอธิบายความหมาย' ของพระวาจาของพระเจ้าด้วยชีวิต"[14] พระจิตเจ้าซึ่งทรงดลใจให้เขียนพระคัมภีร์เป็นพระจิตองค์เดียวกันที่ "ทรงใช้แสงสว่างใหม่ส่องพระวาจาของพระเจ้าให้แก่บรรดาผู้ตั้งคณะทั้งชายและหญิง พระพรพิเศษและพระวินัยทุกแบบก็เป็นเครื่องหมายแสดงพระวาจาให้ปรากฏด้วย"[15] เป็นการเปิดทางดำเนินชีวิตคริสตชนที่สะท้อนลักษณะของพระวรสารที่ทรงอิทธิพลเปลี่ยนแปลงรากฐานของชีวิตได้

ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวถึงธรรมประเพณียิ่งใหญ่ของนักพรตในพระอาราม ซึ่งใช้พระคัมภีร์ในการรำพึงภาวนาเป็นองค์ประกอบชีวิตจิตของตนตลอดมา โดยเฉพาะในรูปแบบของ lectio divina (การอ่านพระคัมภีร์ควบคู่ไปกับการรำพึงภาวนา). ทุกวันนี้ด้วย รูปแบบทั้งเก่าและใหม่ของการถวายตนแบบพิเศษได้ชื่อว่าเป็นสำนักสอนชีวิตจิต ในสำนักเหล่านี้ เราต้องอ่านพระคัมภีร์ตามที่พระจิตเจ้าทรงดลใจในพระศาสนจักร เพื่อผลประโยชน์สำหรับประชากรทั้งหมดของพระเจ้า เพราะเหตุนี้สมัชชาจึงเตือนให้มีการฝึกอบรมอย่างมีหลักการเรื่องการอ่านพระคัมภีร์ด้วยความเชื่อในทุกชุมชนของผู้ดำเนินชีวิตถวายตนแด่พระเจ้า[16]

ข้าพเจ้ายังปรารถนากล่าวถึงความเอาใจใส่และการขอบคุณ ที่สมัชชาได้แสดงออกเกี่ยวกับรูปแบบต่างๆของชีวิตการเพ่งฌานภาวนา ซึ่งเป็นพรพิเศษที่จะอุทิศช่วงเวลายาวนานของแต่ละวันตามแบบฉบับของพระมารดาของพระเจ้า พระนางทรงเก็บรักษาพระวาจาและพระจริยวัตรทุกประการของพระบุตรไว้ในพระทัยอย่างหวงแหน (เทียบ ลก 2:19,51) หรือตามอย่างมารีย์แห่งเบธานี เธอนั่งแทบพระบาทขององค์พระผู้เป็นเจ้า ฟังพระวาจาของพระองค์ (เทียบ ลก 10:38) ข้าพเจ้ากำลังคิดถึงเป็นพิเศษถึงบรรดานักพรตชายและหญิงในพระอาราม ที่ปลีกตนจากสังคมเพื่อชิดสนิทยิ่งขึ้นกับพระคริสตเจ้าผู้ทรงเป็นเสมือนหัวใจของโลก พระศาสนจักรต้องการเป็นอย่างยิ่งให้มีการเป็นพยานยืนยันของผู้ที่สัญญาที่จะ"ไม่ปรารถนาสิ่งใดมากกว่าความรักของพระคริสตเจ้า"[17]"แสดงให้โลกสมัยของเราเห็นว่าสิ่งใดสำคัญที่สุด ยิ่งกว่านั้น มีเพียงสิ่งเดียวที่จำเป็น และเป็นเหตุผลสุดท้ายที่ทำให้ชีวิตนี้มีค่าน่ารักษาไว้ สิ่งนั้นก็คือพระเจ้าและความรักสุดจะหยั่งถึงได้ของพระองค์"[18] สังคมปัจจุบันนี้บ่อยๆถูกกิจกรรมภายนอกยึดไว้มากเกินไปและอยู่ในอันตรายที่จะถูกครอบงำ บุรุษและสตรีที่ดำเนินชีวิตเพ่งฌาน ใช้ชีวิตที่อุทิศแก่การภาวนา การฟังและรำพึงพระวาจาพระเจ้า เตือนพวกเราว่ามนุษย์ไม่ดำเนินชีวิตด้วยอาหารเท่านั้น แต่ยังด้วยพระวาจาทุกคำที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระเจ้า (เทียบ มธ 4:4) ดังนั้น ผู้มีความเชื่อทุกคนจึงต้องสำนึกว่ารูปแบบเช่นนี้ของชีวิต

ง) พระวาจาของพระเจ้าและคริสตชนฆราวาส

84.      สมัชชากล่าวบ่อยๆถึงคริสตชนฆราวาส ขอบคุณเขาสำหรับกิจกรรมต่างๆที่เขาปฏิบัติด้วยใจกว้างเพื่อเผยแผ่ข่าวดีในชีวิตประจำวันรูปแบบต่างๆ ในที่ทำงาน ตามโรงเรียน ในครอบครัว และในด้านการศึกษา[19] บทบาทเช่นนี้ซึ่งสืบเนื่องมาจากศีลล้างบาป ต้องเติบโตขึ้นอาศัยชีวิตคริสตชนที่ตระหนักยิ่งๆขึ้น และสามารถแสดง "เหตุผลแห่งความหวัง" (เทียบ 1 ปต 3:15) ที่อยู่ในตัวเราให้ปรากฏได้ พระเยซูเจ้าตรัสไว้ในพระวรสารตามคำบอกเล่าของมัทธิวว่า "ทุ่งนาคือโลก เมล็ดพันธุ์ดีคือพลเมืองแห่งพระอาณาจักร" (13:38)     พระวาจาเหล่านี้หมายถึงคริสตชนฆราวาสโดยเฉพาะ เขาดำเนินตามกระแสเรียกของตนให้บรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์ด้วยชีวิตในพระจิตเจ้าที่แสดงออก "โดยเฉพาะในการแทรกตนเข้าไปในเรื่องทางโลกและการมีส่วนในกิจกรรมของแผ่นดินนี้"[20] อาศัยความคุ้นเคยกับพระวาจาที่อ่านและศึกษาในพระศาสนจักร โดยมีผู้อภิบาลถูกต้องตามกฎหมายเป็นผู้แนะนำ ฆราวาสต้องได้รับการอบรมให้รู้จักแยกแยะว่าอะไรคือพระประสงค์ของพระเจ้า เขาน่าจะรับการศึกษาอบรมนี้ได้จากสำนักให้การศึกษาอบรมของพระศาสนจักรในด้านชีวิตจิต ธรรมประเพณีเหล่านี้ต้องมีพระคัมภีร์เป็นพื้นฐานเสมอ ถ้าเป็นไปได้ สังฆมณฑลเองควรจัดให้บรรดาฆราวาส ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบงานของพระศาสนจักรได้มีโอกาสรับการศึกษาอบรมอย่างต่อเนื่อง[21]

จ) พระวาจาของพระเจ้า การแต่งงานและครอบครัว

85.      สมัชชายังสังเกตเห็นความจำเป็นที่จะเน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจา การแต่งงาน และครอบครัวคริสตชน  จริงอยู่ "เมื่อประกาศพระวาจาของพระเจ้า พระศาสนจักรแสดงให้ครอบครัวคริสตชนเห็นอัตลักษณ์แท้จริงของตน นั่นคือเขาเป็นอะไรและต้องเป็นอย่างไรตามแผนการขององค์พระผู้เป็นเจ้า"[22] ดังนั้น เราต้องไม่ลืมเลยว่า "พระวาจาของพระเจ้าอยู่ที่จุดเริ่มต้นของการแต่งงาน" (เทียบ ปฐก 2:24) และพระเยซูเจ้าเองก็ทรงประสงค์ให้รวมการแต่งงานไว้ในสถาบันของพระอาณาจักรของพระองค์ (เทียบ มธ 19:4-8)" โดยทรงยกฐานะขึ้นให้เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ที่มีจารึกไว้ตั้งแต่แรกเริ่มในธรรมชาติมนุษย์ "ในการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์นี้ชายและหญิงกล่าววาจาพยากรณ์ว่าจะมอบชีวิตให้แก่กันจริงๆ เพื่อทั้งสองคนจะได้เป็น เนื้อเดียวกัน' เป็นเครื่องหมายความสัมพันธ์ของพระคริสตเจ้ากับพระศาสนจักร (เทียบ อฟ 5:31-32)"[23] ความซื่อสัตย์ต่อพระวาจาของพระเจ้ายังชวนให้เราสังเกตว่าในปัจจุบันสถาบันนี้ถูกโจมตีจากหลายด้านในความรู้สึกนึกคิดของสมัยนี้ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความสับสนในเรื่องความรักและวิธีคิดใหม่ๆที่ลดคุณค่าของร่างกายมนุษย์และความแตกต่างทางเพศ พระวาจาของพระเจ้าจึงกล่าวย้ำถึงความดีตั้งแต่แรกเริ่มของมนุษย์ ซึ่งพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างมาให้เป็นชายและหญิง อีกทั้งยังทรงเรียกมาให้มีความรักที่ซื่อสัตย์ต่อกันและบังเกิดผล

จากธรรมล้ำลึกยิ่งใหญ่เรื่องการแต่งงานนี้เอง บิดามารดาจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อบุตร อย่างที่ไม่อาจจะละเลยได้ การเป็นบิดามารดาที่แท้จริงจึงหมายถึงการถ่ายทอดและเป็นพยานถึงความหมายของชีวิตในพระคริสตเจ้า อาศัยความซื่อสัตย์และเอกภาพในชีวิตครอบครัว สามีภรรยาจึงเป็นคนแรกที่จะต้องประกาศพระวาจาของพระเจ้าแก่บุตรของตน ชุมชนของพระศาสนจักรต้องค้ำจุนและช่วยเหลือให้มีการภาวนา การฟังพระวาจา และความรู้จักพระคัมภีร์มากยิ่งขึ้นในครอบครัว เพราะเหตุนี้ สมัชชาจึงปรารถนาให้ทุกบ้านมีพระคัมภีร์ และเก็บรักษาไว้ในที่เหมาะสม เพื่อจะอ่านและใช้พระคัมภีร์ได้ในการภาวนา บรรดาพระสงฆ์ สังฆานุกร และฆราวาสที่ได้รับการเตรียมตัวอย่างดีจะต้องให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นได้ในเรื่องนี้ สมัชชายังเตือนให้จัดตั้งกลุ่มเล็กๆในครอบครัวเหล่านี้ เพื่อภาวนาและรำพึงข้อความจากพระคัมภีร์ร่วมกัน[24] สามีภรรยายังต้องระลึกไว้ด้วยว่า "พระวาจาของพระเจ้าให้ความช่วยเหลือที่มีคุณค่ายิ่งได้เมื่อเกิดมีความยากลำบากขึ้นในชีวิตคู่และครอบครัว"[25]

ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้ายังปรารถนาจะเน้นคำแนะนำที่สมัชชาให้ไว้เกี่ยวกับบทบาทของสตรีในความสัมพันธ์กับพระวาจาของพระเจ้า ทุกวันนี้ "ความรอบรู้ของสตรี"[26] - ตามสำนวนภาษาที่สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นปอลที่ 2 มักจะทรงใช้ - มีส่วนอย่างมากในการให้ความรู้เรื่องพระคัมภีร์แก่ชีวิตส่วนรวมของพระศาสนจักรมากกว่าแต่ก่อน และยังรวมถึงการศึกษาค้นคว้าด้านพระคัมภีร์อีกด้วย สมัชชายังพิจารณาเป็นพิเศษถึงบทบาทพิเศษของสตรีในครอบครัว ในการศึกษา ในการสอนคำสอน และในการสื่อสารคุณค่าต่างๆด้วย เธอเหล่านี้มีความสามารถที่จะ "ปลุกการฟังพระวาจา ชวนให้มีความสัมพันธ์เป็นส่วนตัวกับพระเจ้า สื่อความหมายของการให้อภัยและการแบ่งปันพระวรสาร"[27] เช่นเดียวกับที่เธอยังรู้จักเป็นผู้สื่อความรัก เป็นครูสอนความเมตตากรุณา และเป็นผู้สร้างสันติ สื่อความอบอุ่นและความเห็นอกเห็นใจกันในโลกที่บ่อยๆตัดสินผู้อื่นโดยใช้มาตรการเลวทรามที่คิดแต่จะเอาเปรียบและได้ผลกำไร



[1] Cfr Conc.Oecum.Vat.II, Const.dogm.de Ecclesia Lumen gentium, 39-42.

[2] Propositio 31.

[3] N. 15: AAS 96(2004), 846-847.

[4] N.26: AAS 84(1992), 698.

[5] Ibid.

[6] Benedictus XVI, Homilia in Missa Chrismatis (9 Aprilis 2009): AAS 101 (2009), 355.

[7] Ibid. 356.

[8] Congregatio de Institutione Catholica, Ratio fundamentalis institutionis diaconorum permanentium (22 Februarii 1998), 11: Ench.Vat. 17, n. 174-175.

[9] Ibid., 74: Ench.Vat. 17, n.263.

[10] Cfr ibid., 81: Ench.Vat. 17. n.271.

[11] Propositio 32.

[12] Cfr Iannes Paulus II, Adhort.ap. postsynodalis Pastores dabo vobis (25 Martii 1992), 47: AAS 84(1992), 740-742.

[13] Propositio 24.

[14] Benedictus XVI, Homilia in Die Internationalis Vitae Consecratae dicato (2 Februarii 2008): AAS 100 (2008): AAS 100 (2008), 133; cfr Iannes Paulus II, Adhort.ap. postsynodalis Vita consecrate (25 Martii 1996), 82; AAS 88 (1996), 458-460.

[15] Congregatio pro Institutis Vitae consecratae et Societatibus Vitae apostolicae, Instr. Contemplando il volto (19 Maii 2002), 24: Ench.Vat. 21, n. 447.

[16] Cfr Propositio 24.

[17] S.Benedictus, Regula, IV, 21: SC 181, 456-458.

[18] Benedictus XVI, Allocutio in visitatione Abbatiae "Heiligenkreuz" (9 Septembris 2007): AAS 99 (2007), 856.

[19] Cfr Propositio 30.

[20] Ioannes Paulus II, Adhort.ap. postsynodalis Christifideles laici (30 Decembris 1988), 17: AAS 81 (1989), 418.

[21] Cfr Propositio 33.

[22] Ioannes Paulus II, Adhort.ap. Familiaris consortio (22 Novembris 1981), 49: AAS 74 (1982), 140-141.

[23] Propositio 20.

[24] Cfr Propositio 21.

[25] Propositio 20.

[26] Cfr Ep.ap. Mulieris dignitatem (15 Augusti 1988), 31: AAS 80 (1988), 1727-1729.

[27] Propositio 17.

เช้าวันใหม่ใส่ใจพระวาจา

Lectio Divina-Daily 2022

เช้าวันเสาร์เราคิดถึงพระวาจา

Video อบรมพระคัมภีร์

ความรู้พื้นฐานพระคัมภีร์และหนังสือปฐมกาล

หนังสืออพยพและเลวีนิติ

หนังสือกันดารวิถีและเฉลยธรรมบัญญัติ

หนังสือโยชูวา ผู้วินิจฉัยและนางรูธ

หนังสือซามูแอล ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศ์กษัตริย์ ฉบับที่ 1 และ ฉบับที่ 2

หนังสือพงศาวดาร เอสราและเนหะมีย์

หนังสือโทบิต ยูดิธ เอสเธอร์และมัคคาบี 1 และ 2

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประกาศกและประกาศกอาโมส

หนังสือประกาศกโฮเชยาและมีคาห์

หนังสือประกาศกอิสยาห์

หนังสือประกาศกโยนาห์และประกาศกเศฟันยาห์

หนังสือประกาศกนาฮูมและฮาบากุก

หนังสือประกาศกเยเรมีห์-เพลงคร่ำครวญ-บารุค

หนังสือประกาศกเอเสเคียลและดาเนียล

บทเทศน์บนภูเขา มธ. 5-7

พระวรสารนักบุญมัทธิว 10,13,18

พระวรสารนักบุญมาระโก

หนังสือกิจการอัครสาวก