การประกาศพระวาจาและศาสนบริการของผู้อ่าน

58.      ในที่ประชุมสมัชชาเรื่องพิธีบูชาขอบพระคุณ ได้มีผู้ขอร้องให้เอาใจใส่มากขึ้นเมื่อมีการประกาศพระวาจา[1] ดังที่ทราบกันแล้ว ในจารีตละตินพระสงฆ์หรือสังฆานุกรเป็นผู้อ่านพระวรสาร ส่วนบทอ่านที่หนึ่งและที่สองมีผู้อ่านชายหรือหญิงเป็นผู้อ่าน ที่ตรงนี้ข้าพเจ้าใคร่จะกล่าวย้ำถ้อยคำของบรรดาพระสังฆราชแห่งสมัชชาในเรื่องนี้ ที่กล่าวถึงความจำเป็นจะต้องจัดให้มีการเตรียมอย่างเหมาะสม[2]เพื่อให้หน้าที่ผู้อ่านในพิธีกรรมได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และโดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้อ่าน ซึ่งโดยธรรมชาติ ในจารีตละตินเป็นศาสนบริการของฆราวาส[3] จำเป็นที่ผู้อ่านที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ แม้ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทางการ จะต้องเป็นผู้เหมาะสมและได้รับการเตรียมตัวเป็นอย่างดี การเตรียมตัวเช่นนี้ต้องมีทั้งด้านพระคัมภีร์ ด้านพิธีกรรม รวมทั้งด้านเทคนิค "การอบรมด้านพระคัมภีร์ต้องมุ่งให้ผู้อ่านเข้าใจบทอ่านในบริบท และได้รับความสว่างของความเชื่อให้เข้าใจสาระสำคัญของข้อความที่ประกาศด้วย. การเตรียมตัวด้านพิธีกรรมต้องให้โอกาสแก่ผู้อ่านได้เข้าใจโครงสร้างของวจนพิธีกรรม และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวจนพิธีกรรมกับพิธีบูชาขอบพระคุณ การเตรียมตัวด้านเทคนิคต้องทำให้ผู้อ่านมีความชำนาญและศิลปมากยิ่งๆขึ้นเมื่ออ่านในที่สาธารณะ ทั้งด้วยเสียงของตนหรือโดยใช้เครื่องขยายเสียงช่วยด้วย"[4]



[1] Cfr Benedictus XVI, Adhorta.ap.postsynodalis Sacramentum caritatis (22 Februarii 2007), 45: AAS (2007), 140-141.

[2] Cfr Propositio 14.

[3] Cfr Codex Iuris Canonici, cann.230#2; 204#1.

[4] Ordo Lectionum Missae, 55.