พระวาจาของพระเจ้าและพิธีบูชาขอบพระคุณ

54.      ข้อความที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์โดยรวมนั้น มีความหมายลึกซึ้งเป็นพิเศษเมื่อเรากล่าวถึงพิธีบูชาขอบพระคุณ  ยิ่งกว่านั้น ความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างพระวาจาและพิธีบูชาขอบพระคุณเกิดขึ้นจากหลักฐานในพระคัมภีร์ (เทียบ ยน 6; ลก 24) บรรดาปิตาจารย์ของพระศาสนจักรได้สอนสืบต่อมา และสภาสังคายนาที่ 2 ยังประกาศย้ำอีกด้วย[1] ในเรื่องนี้เราคิดถึงคำเทศน์ของพระเยซูเจ้าเรื่องปังแห่งชีวิตในศาลาธรรมที่เมืองคาร์เปอนาอุม (เทียบ ยน 6:22-69) ที่ตั้งอยู่บนการเปรียบเทียบโมเสสกับพระเยซูเจ้า นั่นคือระหว่างผู้ที่สนทนากับพระเจ้าตัวต่อตัว (เทียบ อพย 33:11) กับผู้ที่เปิดเผยพระเจ้าแก่มนุษย์ (เทียบ ยน 1:18) คำเทศน์ครั้งนี้กล่าวถึงปัง (หรือ "อาหาร") ที่พระเจ้าประทานให้ ซึ่งโมเสสได้รับมาให้แก่ประชากรคือมานนาในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งที่จริงได้แก่ธรรมบัญญัติ (Torah) หรือพระวาจาของพระเจ้าที่ให้ชีวิต (เทียบ สดด 119; สภษ 9:5) พระเยซูเจ้าทรงทำให้รูปแบบแต่โบราณนี้สำเร็จไปในพระองค์เอง "ขนมปังของพระเจ้า คือขนมปังซึ่งลงมาจากสวรรค์และประทานชีวิตแก่โลก....เราเป็นปังแห่งชีวิต" (ยน 6:33-35) ที่นี่ "ธรรมบัญญัติกลายเป็นบุคคลหนึ่ง เราอาจกล่าวได้ว่าเมื่อพบกับพระเยซูเจ้า เราก็รับองค์พระเจ้าทรงชีวิตเป็นอาหาร เรากิน ‘ปังจากสวรรค์' จริงๆ"[2]พระวจนาตถ์ของพระเจ้าทรงรับสภาพมนุษย์ (แปลตามตัวอักษรว่า "กลายเป็นเนื้อ") แต่เมื่อทรงเทศน์สอน(พระเยซูเจ้าทรงบอกว่า) "เนื้อ" นี้กลายเป็น "อาหาร" เพื่อให้โลกมีชีวิต (เทียบ ยน 6:51) ดังนั้นจึงตรัสเป็นนัยว่าพระองค์จะทรงมอบพระองค์เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน และยังทรงยืนยันให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นอีกเมื่อตรัสถึงพระโลหิตที่จะประทานให้เรา "ดื่ม" (เทียบ ยน 6:53) เพราะฉะนั้น พระธรรมล้ำลึกเรื่องศีลมหาสนิทจึงแสดงให้เห็นว่ามานนาที่แท้จริง ปังแท้จริงที่ลงมาจากสวรรค์นั้นก็คือพระวจนาตถ์ (หรือ "พระวาจา") ของพระเจ้าที่ทรงรับธรรมชาติมนุษย์และมอบพระองค์ให้แก่เราในพระธรรมล้ำลึกปัสกา อารัมภบทของพระวรสารของยอห์นได้รับคำอธิบายให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในคำเทศน์สอนนี้ที่เมืองคาร์-เปอนาอุม เพราะในอารัมภบท

เรื่องที่ลูกาเล่าถึงศิษย์ที่กำลังเดินทางไปยังหมู่บ้านเอมมาอุส ก็เป็นโอกาสให้เราไตร่ตรองได้มากขึ้นถึงความสัมพันธ์ของการฟังพระวาจากับ "พิธีบิปัง" (เทียบ ลก 24:13-35) พระเยซูเจ้าทรงพบกับศิษย์ทั้งสองคนในวันต้นสัปดาห์ ทรงฟังเขาเล่าถึงความหวังของตนที่พังทลายลง ทรงร่วมเดินทางไปกับเขา "ทรงอธิบายพระคัมภีร์ทุกข้อที่กล่าวถึงพระองค์ให้เขาฟัง" (24:27) ศิษย์ทั้งสองคนนี้จึงเริ่มมองพระคัมภีร์ในรูปแบบใหม่พร้อมกับเพื่อนร่วมทางผู้นี้ซึ่งดูเหมือนจะคุ้นเคยกับชีวิตของตนอย่างคาดไม่ถึง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานั้นจึงดูเหมือนไม่ใช่ความล้มเหลวอีกต่อไป แต่เป็นเหมือนความสำเร็จและจุดเริ่มต้นใหม่ ถึงกระนั้นถ้อยคำเหล่านี้ดูเหมือนยังไม่เพียงพอสำหรับศิษย์ทั้งสองคนนั้น พระวรสารของลูกาบอกเราว่า "เขาก็ตาสว่างและจำพระองค์ได้" (24:31) เมื่อพระองค์ทรงหยิบขนมปัง ทรงถวายพระพร ทรงบิขนมปังและยื่นให้เขาเท่านั้น ขณะที่ก่อนหน้านั้น "ดวงตาของเขาถูกปิดบัง จำพระองค์ไม่ได้" (24:16) จากการประทับอยู่ของพระเยซูเจ้า เริ่มตั้งแต่ด้วยพระวาจา ตามด้วยการบิขนมปัง ศิษย์ทั้งสองคนจึงจำพระองค์ได้ บัดนี้เขาจึงเข้าใจประสบการณ์ที่เขาเคยมีเมื่ออยู่กับพระองค์ก่อนหน้านั้นได้ในรูปแบบใหม่ "ใจของเราไม่ได้เร่าร้อนเป็นไฟอยู่ภายในหรือ เมื่อพระองค์ตรัสกับเราขณะเดินทางและอธิบายพระคัมภีร์ให้เราฟัง" (24:32)

55.      จากที่กล่าวมานี้ทั้งหมดจึงเห็นได้ชัดว่า พระคัมภีร์นำเราให้เข้าใจความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือ ศีลมหาสนิท) "เราจึงต้องระลึกอยู่เสมอว่าพระวาจาของพระเจ้าที่พระศาสนจักรอ่านและประกาศในพิธีกรรมนั้น มีจุดประสงค์อยู่ที่การถวายบูชาแห่งพันธสัญญาใหม่และการเลี้ยงที่ประทานพระหรรษทาน ซึ่งหมายถึงพิธีบูชาขอบพระคุณนั่นเอง"[3] พระวาจาและพิธีบูชาขอบพระคุณจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด จนว่าเราจะเข้าใจสิ่งหนึ่งไม่ได้โดยไม่มีอีกสิ่งหนึ่ง พระวาจาของพระเจ้ากลายเป็นพระกายที่เป็นศีลศักดิ์สิทธ์ในการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณ พิธีบูชาขอบพระคุณเปิดใจเราให้เข้าใจพระคัมภีร์เช่นเดียวกับที่พระคัมภีร์ส่องสว่างและอธิบายพระธรรมล้ำลึกของพิธีบูชาขอบพระคุณ ถ้าเราไม่เข้าใจว่าองค์พระผู้เป็นเจ้าประทับอยู่จริงในพิธีบูชาขอบพระคุณ (หรือศีลมหาสนิท) เราก็ยังเข้าใจพระคัมภีร์ได้ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น "พระศาสนจักรจึงแสดงความเคารพเช่นเดียวกันต่อพระวาจาของพระเจ้าและพระธรรมล้ำลึกพิธีบูชาขอบพระคุณ แม้จะไม่ใช่ด้วยพิธีคารวะแบบเดียวกัน และยังคงปรารถนาและสั่งให้ปฏิบัติเช่นนี้ตลอดไปทุกแห่ง เพื่อปฏิบัติตามพระฉบับที่พระผู้ก่อตั้งทรงวางไว้ พระศาสนจักรไม่เคยเลิกเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกา มาชุมนุมพร้อมกันเพื่ออ่าน ‘พระคัมภีร์ทุกข้อที่กล่าวถึงพระองค์' (ลก 24:27) และทำให้งานกอบกู้ดำเนินต่อไปอาศัยพิธีระลึกถึงองค์พระผู้เป็นเจ้าและอาศัยศีลศักดิ์สิทธิ์"[4]



[1] Cfr Const.de sacra Liturgia Sacrosanctum Concilium, 48,51,56; Const.dogm.de divina Revelatione Dei Verbum, 21,26; Decr.de activitate missionali Ecclesiae Ad gentes, 6,15; Decr.de presbyterorum ministerio et vita Presbyterorum ordinis, 18; Decr.de accommodata renovatione vitae religiosae Perfectae caritatis, 6. ในธรรมประเพณีสำคัญๆของพระศาสนจักร เราพบข้อความสำคัญๆ เช่น "Corpus Christi intellegitur etiam [...] Scriptura Dei" (=เรายังเข้าใจว่าพระกายของพระคริสตเจ้าคือพระคัมภีร์); Waltramus, De unitate Ecclesiae conservanda: 1,14, ed.W.Schwenkenbecher, Hannoverae 1883,p.33: "Porro, quia caro Domini verus est cibus, et sanguis eius est potus....hoc solum habemus in praesenti saeculo bonum, si vescamur carne eius et cruore potemur, non solum in mysterio, sed etiam in Scripturarum lectione. Verus enim cibus et potus, qui ex verbo Dei sumitur, scientia Scripturarum est": S.Hieronymus, Commentarius in Ecclesiasten, 13: PL 23, 1092 A. (ยิ่งกว่านั้น เพราะว่าพระกายขององค์พระผู้เป็นเจ้าคืออาหารแท้ และพระโลหิตคือเครื่องดื่มแท้......ถ้าเรารับพระกายเป็นอาหารและดื่มพระโลหิต ไม่ใช่เพียงแต่ในศีลมหาสนิทเท่านั้น แต่ยังรับจากการอ่านพระคัมภีร์ด้วย อาหารและเครื่องดื่มแท้จริง ที่เรารับจากพระวาจาของพระเจ้า ก็คือความรู้เรื่องพระคัมภีร์)

[2] J.Ratzinger (Benedictus XVI), Gesù di Nazaret, Milano 2007, 311.

[3] Ordo Lectionum Missae, 10.

[4] Ibid.