พระคัมภีร์และศีลศักดิ์สิทธิ์

53.      เมื่อกล่าวถึงความสำคัญของพิธีกรรมเพื่อเข้าใจพระวาจา สมัชชาพระสังฆราชเน้นความสัมพันธ์ของพระคัมภีร์กับการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะพิจารณาความสัมพันธ์ของพระวาจากับศีลศักดิ์สิทธิ์ ทั้งในงานอภิบาลของพระศาสนจักรและในงานค้นคว้าทางเทววิทยา[1] ไม่ต้องสงสัยเลยว่า "วจนพิธีกรรมเป็นส่วนสำคัญของการประกอบพิธีกรรมศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆของพระศาสนจักร"[2] แต่ในทางปฏิบัติงานอภิบาล บรรดาสัตบุรุษมักจะไม่สู้ตระหนักถึงความสัมพันธ์ประการนี้ และไม่เข้าใจว่าการกระทำกิจการที่เป็นจารีตพิธีกับพระวาจานั้นมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน "เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์และสังฆานุกร โดยเฉพาะเมื่อประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ ที่จะอธิบายให้สัตบุรุษเข้าใจว่า พระวาจาและศีลศักดิ์สิทธิ์ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันในศาสนบริการของพระศาสนจักร"[3] ความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจาและพิธีภายนอกของศีลศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม เป็นการแสดงกิจการที่พระเจ้าทรงกระทำในประวัติศาสตร์ความรอดพ้นอาศัยลักษณะการแสดงท่าทางเป็นการอธิบายพระวาจา พระวาจาและกิจการของพระเจ้าไม่แตกต่างกันในประวัติศาสตร์ความรอดพ้น พระวาจาของพระองค์แสดงให้ปรากฏว่ามีชีวิตและบังเกิดผล (เทียบ ฮบ 4:12) ตามความหมายของคำ dabar ในภาษาฮีบรู. ในการประกอบพิธีกรรมก็เช่นเดียวกัน เราอยู่ต่อหน้าพระวาจาที่ทำให้ความหมายของคำนั้นเป็นจริง ในพิธีกรรม เมื่อแนะนำประชากรของพระเจ้าให้ค้นพบลักษณะการแสดงออกถึงความหมายของพระวาจาของพระเจ้าในพิธีกรรม เราก็ช่วยเขาให้พบการกระทำของพระองค์ในประวัติศาสตร์ความรอดพ้นและในชีวิตของแต่ละคนด้วย



[1] Cfr Benedictus XVI, Adhor.ap.postsynodalis Sacramentum caritatis (22 Februarii 2007), 44-45: AAS 99 (2007), 139-141.

[2] Pontificia Commissio Biblica, L'interpretazione della Bibbia nella Chiesa (15 Aprilis 1993), IV, C, 1: Ench.Vat. 13, n.3123.

[3] Ibid., III, B,3: Ench.Vat. 13, n.3056.