การเนรมิตสร้างมนุษย์

9.       ทุกสิ่งที่มีอยู่ล้วนเกิดขึ้นจากพระวาจา เป็นดังสิ่งสร้างของพระวาจา และทุกสิ่งได้รับเรียกให้มารับใช้พระวาจา การเนรมิตสร้างเป็นภูมิหลังที่เรื่องราวความรักทั้งหมดระหว่างพระเจ้ากับสิ่งสร้างพัฒนาขึ้น ดังนั้นความรอดพ้นของมนุษย์จึงเป็นแรงผลักดันทุกสิ่ง เมื่อเราพิจารณาดูจักรวาลในมุมมองประวัติศาสตร์ความรอดพ้น เราก็ต้องยอมรับรู้ว่ามนุษย์มีบทบาทและตำแหน่งพิเศษในบรรดาสิ่งสร้าง "พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างเขาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า พระองค์ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง" (ปฐก 1:27) ข้อความนี้ทำให้เราต้องยอมรับว่าศักดิ์ศรีของร่างกาย เหตุผล อิสรภาพ และมโนธรรมที่มนุษย์ได้รับนั้นเป็นของประทานประเสริฐสุดจากพระเจ้า ในเรื่องนี้เรายังพบสิ่งที่นักปรัชญาเรียกว่า "กฎธรรมชาติ" อีกด้วย[1] อันที่จริง "มนุษย์ทุกคนที่รู้สำนึกและรับผิดชอบย่อมรู้สึกว่าในส่วนลึกแล้วตนได้รับเรียกให้ทำดี"[2] และหลีกหนีความชั่วด้วย ตามคำสอนของนักบุญโทมัสอาไควนัส หลักการนี้เป็นพื้นฐานของบัญญัติอื่นๆทุกข้อของกฎธรรมชาติ[3] พระวาจาที่เราได้ฟังก่อนอื่นหมดชักนำเราให้คิดว่าจำเป็นต้องดำเนินชีวิตตามบัญญัติข้อนี้ "ที่มีเขียนไว้ในใจของเรา" (เทียบ รม 2:15; 7:23)[4] พระเยซูคริสตเจ้ายังทรงนำกฎใหม่มาให้มนุษย์ คือกฎของพระวรสาร ซึ่งยกกฎธรรมชาติขึ้นมาและทำให้สมบูรณ์ขึ้น โดยทำให้เราเป็นอิสระจากกฎของบาปซึ่งเป็นเหตุให้เราทำบาป ตามที่นักบุญเปาโลสอนว่า "ความปรารถนา(จะทำดี)นั้นข้าพเจ้ามีอยู่แล้ว แต่ขาดพลังที่จะทำ" (รม 7:18) อาศัยความช่วยเหลือจากพระหรรษทาน กฎพระวรสารนี้ยังทำให้มนุษย์มีส่วนในชีวิตพระเจ้าและเอาชนะความเห็นแก่ตัวที่มีมากเกินไปได้ด้วย[5]



[1] Cfr Propositio 13.

[2] Commissio Theologica Internationalis, Alla ricerca di un'etica universale: nuovo sguardo sulla legge naturale, Città del Vaticano 2009, n. 39.

[3] Cfr Summa Theologiae, Ia-IIae, q. 94, a.2.

[4] Cfr Pontificia Commissio Biblica, Bibbia e morale, Radici bibliche dell'agire cristiano (11 Maii 2008), Città del Vaticano 2008, n. 13,32,109.

[5] Commissio Theologica Internationalis, Alla ricerca di un'etica universale; nuovo sguardo sulla legge naturale, Città del Vaticano 2009, n. 102.