พระเจ้าผู้ตรัส

พระเจ้าทรงสนทนากับมนุษย์

6.       ความใหม่ของพระคัมภีร์ คือการที่มนุษย์รู้จักพระเจ้าได้จากการที่พระองค์ทรงปรารถนาจะสนทนา[1]กับเรา ธรรมนูญ Dei Verbum บอกความจริงข้อนี้กับเราว่า "พระเจ้าซึ่งมนุษย์ไม่อาจแลเห็นได้ ตรัสกับมนุษย์อย่างเพื่อนด้วยความรักอันล้นเหลือของพระองค์และประทับอยู่ท่ามกลางพวกเขา เพื่อทรงเชิญและรับเขาเข้ามาสนิทกับพระองค์"[2] แต่เราคงยังจะเข้าใจคำสอนจากอารัมภบทของพระวรสารนักบุญยอห์นได้ไม่เพียงพอ ถ้าเราเข้าใจแต่เพียงว่าพระเจ้าทรงเข้ามาติดต่อกับเราด้วยความรักเท่านั้น อันที่จริงพระวจนาตถ์ที่พระเจ้าทรงสร้างทุกสิ่งอาศัยพระองค์ (เทียบ ยน 1:3) และที่ "ทรงรับธรรมชาติมนุษย์" (ยน 1:14) ก็คือพระวจนาตถ์ที่ทรงดำรงอยู่ "เมื่อแรกเริ่ม" (ยน 1:1) ด้วย ถ้าเราคิดว่าวลีนี้ชวนให้เราคิดถึงข้อความที่มีอยู่ในหนังสือปฐมกาล (เทียบ ปฐก 1:1) เราก็อยู่เฉพาะหน้าการ "เริ่มแรก" จริงๆที่บอกให้เรารู้จักพระชนมชีพภายในของพระเจ้า อารัมภบทของพระวรสารนักบุญยอห์นบอกเราให้รู้ว่า "พระวจนาตถ์ทรงดำรงอยู่ตลอดมา" และ "ทรงเป็นพระเจ้า" ตลอดนิรันดรด้วย ดังนั้นจึงไม่มีเวลาใดเลยที่พระวจนาตถ์ไม่ประทับอยู่กับพระเจ้า พระวจนาตถ์ทรงมีอยู่แล้วก่อนการเนรมิตสร้างโลก ดังนั้นในส่วนลึกของพระชนมชีพของพระเจ้าก็มีความสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่แล้ว ซึ่งเป็นของประทานประเสริฐสุด นักบุญยอห์นอัครสาวกผู้นี้ยังกล่าวอีกว่า "พระเจ้าทรงเป็นความรัก" (1 ยน 4:16) เพื่อจะบอกถึง "ภาพลักษณ์ของพระเจ้าในคริสตชน รวมทั้งภาพลักษณ์และจุดหมายแท้จริงของมนุษย์" ด้วย[3] พระเจ้าทรงทำให้เรารู้จักพระองค์ในฐานะธรรมล้ำลึกแห่งความรักไร้ขอบเขต ซึ่งพระบิดาทรงสำแดงพระวจนาตถ์ของพระองค์ในพระจิตเจ้าตั้งแต่นิรันดร เพราะฉะนั้น พระวจนาตถ์ซึ่งประทับอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่แรกเริ่ม และทรงเป็นพระเจ้า จึงทรงสำแดงพระเจ้าแก่เราในการสนทนาที่แสดงความรักระหว่างกันของพระบุคคลพระเจ้า และทรงเชิญพวกเราให้เข้ามามีส่วนร่วมในความรักนี้ด้วย และดังนี้พวกเราที่ถูกสร้างมาตามภาพลักษณ์เหมือนกับพระเจ้า จึงอาจเข้าใจตนเองได้ก็เมื่อเรายอมรับพระวจนาตถ์และเชื่อฟังงานของพระจิตเจ้าเท่านั้น ปัญหาต่างๆของธรรมชาติมนุษย์ได้รับคำอธิบายอาศัยแสงสว่างจากการเปิดเผย ที่พระวจนาตถ์ของพระเจ้าทรงสำแดงนี้เอง



[1] Cfr Relatio ante disceptationem, I.

[2] Conc. Oecum. Vat. II. Const. dogm. De divina Revelatione Dei Verbum, 2.

[3] Benedictus XVI, Litt.enc. Deus caritas est (25 Decembris 2005), 1: AAS 98 (2006), 217-218.